ART EYE VIEW — จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำหรับงาน 1st Edition PhotoJourn – Stories Through the Viewfinder งานนำเสนอผลงานภาพถ่ายสารคดีคุณภาพจากทั่วโลกกว่า 20 ผลงาน ผ่านการฉายสไลด์โชว์ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้กับช่างภาพที่มีความสนใจงานภาพถ่ายสารคดีได้เข้าร่วม
ก่อนไปร่วมงาน ART EYE VIEW มีบทสัมภาษณ์ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PHOTO JOURN (ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรม )สัมภาษณ์โดยทีมสื่อ PHOTO JOURN มาฝาก สำหรับผู้สนใจในกิจกรรมครั้งนี้ และอยากทราบถึงความตั้งของกลุ่มคนทำงานภาพถ่ายสารคดีกลุ่มนี้ที่พยายามผลักดันให้มีกิจกรรมดีๆเกิดขึ้นในประเทศไทย
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มช่างภาพสารคดีกลุ่มเล็กๆในเมืองไทย ที่พยายามถากถางเปิดพื้นที่ งานสารคดีเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมุมกว้าง โดยใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อกลางเสนอความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สังคมเกิดการรับรู้และเปลี่ยนแปลง
สุเทพ กฤษณาวารินทร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PHOTO JOURN บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มช่างภาพสารคดีที่เล่าเรื่องราว มุมอง ผ่านงานภาพถ่ายสารคดีกลุ่มนี้ โดยมีเนื้องานหลากหลายไม่ว่าจะเป็น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การเมือง ฯลฯ รวมทั้งกิจกรรมของเขาและเพื่อนๆที่ไม่เคยปรากฎขึ้นในเมืองไทยมากนัก ทั้งในส่วนของการแสดงภาพถ่าย และการจัดเสวนาให้ความรู้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างช่างภาพสารคดีไทยและต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 9 พ.ค. ที่จะถึงนี้
PhotoJourn คือใคร
คือกลุ่มช่างภาพกลุ่มหนึ่ง ที่ชอบงานสารคดีมานั่งคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรให้การทำงานสารคดีในเมืองไทย หรือในภูมิภาคก้าวหน้าขึ้นไป เราอยากเห็นอะไรแบบนี้ เป็นฐานให้รองรับ เป็นคล้ายสถาบันให้ความรู้ในเรื่องนี้ โดยเริ่มคุยกันมาประมาณสองปีที่แล้ว เพิ่งปีที่แล้วที่เป็นรูปร่างมากขึ้น นั้นคือ มีเวบไซต์ www.photojourn.net
การจัดกิจกรรมหอศิลปกรุงเทพฯถือเป็นครั้งแรก
ที่ผ่านมาเรามีสัมมนา และเวิร์คชอปมาแล้ว แต่งานที่ งานหอศิลปกรุงเทพฯถือเป็นงานครั้งแรกของกลุ่มที่เป็นสาธารณะ สู่คนกลุ่มใหญ่ เป้าหมายที่วางไว้ แบ่งเป็นหลายส่วน โดยจุดประสงค์คือ อยากเห็นงานสารคดีเข้าไปสู่กลุ่มคนหมู่มากมากขึ้น และต้องการให้คนทั่วไปเข้าใจ ในงานสารคดีภาพถ่ายมากขึ้น เป็นเวทีให้ช่างภาพ ได้แสดงงาน พัฒนางาน ได้ดูว่า ในระดับสากลเขาทำงานแบบไหน และเป็นมีทติ้งพอยต์ ระหว่างช่างภาพไทยกับช่างภาพต่างประเทศ นานาชาติ เลยอยากทำงานอย่างนี้ ขึ้นมา
เราอยากทำในสิ่งที่ถนัด นั้นคืองาน ภาพถ่ายสารคดี เน้นเรื่องราว เป็นสำคัญ ไม่ได้เน้นที่ตัวภาพถ่ายอย่างเดียว เรื่องราวต้องมี เป็นสิ่งสำคัญ ที่เกิดขึ้นบนโลก มันเป็นสารที่ต้องไปลึก สารที่ว่ามันต่างจากข่าว ซึ่งมันมันไปไม่ลึก เป็นออตนิวส์ เป็นประเด็นไป แต่ของเราไม่ใช่ จะฮอตหรือไม่ฮอต ไม่เกี่ยว แต่มันเป็นประเด็น สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลึกซึ้ง และให้ไปถึงที่ว่าเกิดเหตุผลกลใด ถึงเกิดเรื่องอย่างนี้
ก็เหมือนกับคนเขียนหนังสือ แต่เขียนไปในภาพ แต่เป็นบทความที่ค่อนข้างไปลึก ไม่ใช่เขียนแบบวันต่อวัน มันสามารถอธิบายถึงทีมาที่ไปของเรื่องนั้นๆได้ อาจจะเป็นข้างหลังภาพ ข้างหน้าภาพ ก็แล้วแต่ แต่ต้องอธิบายภาพนั้นได้ลึกซึ้งและเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อาจจะเป็นเรื่องที่คนไม่เคยเห็นมา ก่อน ที่เกิดขึ้นบนโลก เป็นความรู้ หลายแขนงไปตามเรื่องราวนั้นๆ การเมือง สิ่งแวดล้อม สงคราม มันไม่จำเป็นต้องเป็น ดราม่า บางครั้งมันก็เป็นเรื่องสวยๆงามก็ได้
ความงาม -ความจริง
เน้นเรื่องความจริง สื่อสารให้คนเข้าใจ โดยใช้ภาพถ่าย เป็นตัวกลาง ถ้าเราสามารถไปลึกได้ ว่าเหตุผลอะไรที่มันเกิดเรื่องราว ขึ้น มันก็ย่อมดีกว่า สำหรับบางคน อาร์ต อธิบายมาจากจิตใจ คิดมาจากหัวสมอง เหมือนคนวาดภาพให้ใครดูก็ได้ แต่เข้าใจภาพอยู่ไม่กี่คน ภาพที่ไม่สามารถส่งไปถึงคนให้เข้าใจได้ แล้วมันจะบอกอะไรได้
ประเด็นมันอยู่ที่ว่าการถ่ายภาพ จุดเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างกล้องขึ้นมาก็เพื่อบันทึกเรื่องราว แล้วคุณบันทึกเรื่องราวอย่างไร ให้คนเข้าใจอยู่คนเดียว ฉะนั้นประเด็นของการบันทึกการถ่ายภาพ คือ การเก็บบันทึกความทรงจำ ความทรงจำนั้นจะเป็นความทรงจำ ภาษาภาพ หมายถึง ถ้าคุณพยายามที่จะสื่อสาร ในภาษาที่คนเขาไม่เข้าใจ แล้วมันมีประโยชน์อะไร
ต้องมีทักษะและประสบการณ์
ช่างภาพประเภทนี้ไม่น่าจะเรียก ว่าทักษะถ่ายภาพอย่างเดียว จะต้องเรียกว่า การเข้าหาผู้คน เข้าใจเรื่องราวนั้นๆ ศึกษาเรื่องก่อน การตัดสินใจว่า คุณจะไปเสี่ยงในสถานการณ์อย่างนั้นทำไม เช่น การถ่ายภาพสงคราม บอกความจริง ว่ามันเกิดสงครามตรงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
บาง ทีมันใช้ทักษะหลายอย่าง ในการประสานงาน การเรียนรู้ วิถีชีวิต เรียนรู้ภาษา เรียนรู้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งการเกาะติดสถานการณ์ ทั้งความรวดเร็ว และเชิงลึกด้วย นี้คือ สถานการณ์ ทั้ง บีฟอร์แอนด์ อาฟเตอร์ด้วย บางเรื่องเกาะทำกันเป็นสิบกว่าปีก็มี
ความแตกต่างช่างภาพสารคดีไทยกับต่างประเทศ
มันพูดยาก หายากที่จะเห็นคนไทยทำงานในเชิงลึก อาจจะด้วย เหตุผลเศรษฐกิจ ทำไปก็ไม่มีตลาดรองรับ แต่ในระยะหลายปีทีผ่านมา เริ่มที่จะมีขึ้นมา ค่อยเติบโตขึ้นและมีอนาคต ในทิศทางที่ดี
อนาคตของช่างภาพสารคดีไทย
เริ่มมีพื้นที่ น่าจะเป็นแบบนั้น เป็นตลาดคนไทย เป็นตลาด ที่เขาไม่ค่อยยอมรับความจริง บางทีมันไม่จำเป็นเฉพาะเรื่องดราม่าก็ได้ เลือกที่จะปิดความจริงไม่อยากฟัง ฟังด้านเดียว ถ้าใครจะสาวลึกก็ทำไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่มีตลาด แกล้งทำเป็นไม่รับรู้ เพิกเฉยมัน
แต่บางทีเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย แต่เราก็อยากจะรู้ซะนั่น ตรงนั้น มันก็ทำให้ช่างภาพไม่รู้จะผลิตงานออกมาให้ใครดู ขนาดคนในประเทศยังไม่สนใจ แล้วเป็นคนต่างประเทศเขาจะสนใจหรือเปล่า
หัวใจสำคัญงานถ่ายภาพสารคดี
ก่อนที่จะทำงาน ต้องคิดก่อน สำหรับผม เรื่องนี้มันน่าสนใจสำหรับผม หรือ ยังไม่มีคนกล่าว ไม่มีคนพูดถึง แต่มันมีประเด็นที่จะต้องให้คนรับรู้ เพราะมันมีผลกระทบ ก่อนที่จะทำงานเราจะคิดเรื่องประเภทนี้ก่อนว่าเรื่องนี้น่าสนใจมั้ย และเรื่องนี้ทำไมไม่มีคนพูดถึงเลย เราน่าจะทำ ก่อนที่จะคิดไปถึงว่าจะไปถ่ายรูปอะไร
ช่างภาพสารคดีต่างประเทศงานไปได้ไกลกว่า
ยอมรับว่าตลาดเขามี มีคนสนใจ ใฝ่หาความรู้ ผมไม่แน่ใจว่านี้เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ทัศนคติต่อเรื่องราวมันสำคัญและคนไทย ไม่ค่อยสนใจในเรื่องที่มันค่อนข้างหนักหน่วงในแง่ชีวิตหรือเปล่า
เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม
มัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องภาพถ่าย ภาพถ่ายมันเป็นสื่อ ส่วนคนที่จะใช้ภาพถ่ายเป็นอาร์ต ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่เราใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อ สื่อกลาง เพื่อบอกเล่าสารต่างๆ
ของเราเป็นเรื่องของการสื่อสารกับสังคม เราเป็นตัวกลางเพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง จริงๆก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของสื่อมวลชนทั่วไป ซึ่งสื่อมวลชนส่วนใหญ่ ก็ลืมคิดถึงข้อนี้ไป หรือแกล้งทำไม่รับรู้เมื่อถึงสถานการณ์จริงๆ
คนที่สนใจถ่ายภาพสารคดี
อันดับแรก ไม่กลัวที่จะอดตาย เพราะส่วนใหญ่จะท้อกันตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ขายไม่ได้ ไม่มีเงิน จะอย่างไรก็ต้องทนสภาวะนั้นอยู่แล้วช่วงหนึ่ง ยกเว้นคนที่โชคดีจริงๆ ตลาดบ้านเราเริ่มที่จะดีขึ้น แต่จะข้ามไปอินเตอร์นั้นยังยากอยู่ เพราะปิดตาตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง
สำหรับ PhotoJourn ไม่ได้ขายอะไรกัน เป็นสถาบันให้ความรู้ เป็นสถาบันที่ จะผลักคน มันเป็นอีกแบบหนึ่งแต่สิ่งทีส่วนอื่นเขาทำเน้นเอเจนซี่เป็นส่วนใหญ่ มันไม่ได้ผลักเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอด
เราไม่ได้ว่า ฝรั่งดีกว่า แต่คุณต้องทำอย่างไรให้ระดับสากลเขายอมรับ สิ่งที่เราทำด้วย ถ้าคุณอยากต่อยอดให้มันถึง ช่างภาพเมืองไทยต้องมองดูตัวเองว่า ตัวเองทำอะไรอยู่
ผมว่าเขาต้องเห็นงานดีๆ สิ่งที่เขาทำกัน ถ้าแม้กระทั่งก้าวออกจากนอกบ้าน เขายังไม่กล้าก้าว ไม่กล้าข้ามกำแพงรั้วบ้านเลยแล้วเขา จะเห็น อะไรดีๆได้อย่างไร มีน้องหลายคนที่ไปอังกอร์ (อังกอร์ โฟโต้กราฟฟี่ เฟสติวัล) กลับมา บอกว่า พี่มันเปลี่ยนโลกผมไปหมดเลยน่ะ
แต่ขณะนี้บางทีมันกลายเป็นเหมือนคิดเรื่องหากินตรงหน้ามากเกินไปหรือเปล่า เฉพาะหน้ามากเกินไป หรือแม้กระทั่งการไม่มีจุดยืน การไม่มีจุดยืน ผมไม่รู้ว่า อันไหนมันถูกหรือผิด แต่จุดยืนมันสำคัญ เมื่อมีจุดยืนแล้ว คุณต้องยืนตรงนั้นให้ถูกต้อง ผมไม่รู้ว่ามันถูกไม่ถูก แต่มันต้องมีจุด ที่คุณยืนแล้วยึดมั่น
ความจริง ก่อนสไตล์
มัน ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น งานสารคดี คุณต้องรู้เรื่องเข้าใจเรื่อง ที่เขาบอกว่า ช่างภาพบางคนไม่สนใจ คือ บางทีเรื่องราวมันมีอยู่น้อยมาก มันคือเรื่องของช่างภาพ เรื่องของสไตล์ แทน
ความ จริงต้องเอาออกมา ส่วนความงามเป็นส่วนประกอบเสริม นี้คือ หลักของงานสารคดีทุกแขนง หลักของการบอกเล่าความจริง ที่เกิดขึ้น คุณจะไป บอกว่าเรามีวิธีการเล่าอีกเยอะแยะ แต่ว่า การดึงความสนใจครั้งแรก ควรจะที่เรื่องราว ไม่ใช่ไปเทคที่ สไตล์คุณ หรือ วิธีการเล่าของคุณ
สำหรับงานของ photojourn เรานำเสนอเฉพาะงานสารคดีเป็นหลัก เสนอความจริง ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย โดยมีประเด็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเมืองสงคราม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เรา พยายามสร้างฐานตัวเอง ในสิ่งที่อยากทำ และกระจายความรู้ ให้ความรู้วงกว้างกระเพื่อมงานภาพสารคดีสู่สังคมให้มากที่สุด และต่อยอดไปถึงสถาบันที่ให้ความรู้ในงานประเภทนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง… ผมไม่ใช่ฮีโร่ของ “โรฮิงญา” สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีชั้นนำ ผู้ตามติดชนกลุ่มน้อยของพม่า ไปสุดขอบโลก
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.