Art Eye View

สัมผัสโลกใน “กล้องฟิล์ม” ของช่างภาพวัย 23 ปี “บิ๊ก – มีรัชต รุจิณรงค์”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ใครที่ผ่านไปบริเวณสี่แยกปทุมวัน ณ เวลานี้ อาจจะมีคำถามก็ได้ว่า

สถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม มีพื้นผิวภายนอกเป็นมันวาวและกระจกสะท้อน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คืออะไร

และทำไมจึงมีผู้คนเปิดประตูเข้าไปภายใน หรือไม่ก็ยืนโพสต์ท่าอยู่ด้านนอกนานสองนาน ราวกับว่าพวกเขากำลังถูกใครสักคนถ่ายภาพ


สถาปัตยกรรมหลังนี้ มีชื่อว่า RGB Installation เป็นผลงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ของ บิ๊ก – มีรัชต รุจิณรงค์ ช่างภาพและนักออกแบบวัย 23 ปี

และเป็นผลงานศิลปะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เทศกาลโฟโต้บางกอก 2015 (Photo Bangkok Festival 2015) เทศกาลภาพถ่าย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและอีก 19 แกลเลอรี่ทั่วกรุงเทพฯ

บิ๊กสร้างผลงานศิลปะชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปสัมผัสกับฟังก์ชั่นภายในของกล้องถ่ายภาพ ประเภทกล้องฟิล์ม

จากโลกของกล้องฟิล์มขนาดเท่ากล่องกระดาษ ที่เขาทดลองประดิษฐ์ขึ้น

สู่ผลงานศิลปนิพนธ์ ก่อนจบการศึกษาจากสาขาศิลปะเพื่อการสื่อสาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำเสนอกล้องฟิล์มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา จนผู้คนสามารถมุดเข้าไปอยู่ภายในนั้นได้

กระทั่ง เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่เคยนำไปแสดงในเทศกาลดนตรี วันเดอร์ฟรุ๊ต (WONDERFRUIT) เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ล่าสุด (30 ก.ค.-30 ส.ค.58) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผลงานถูกพัฒนาให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่สนใจได้มากขึ้น

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้บิ๊กสนใจศึกษาฟังก์ชั่นภายในของกล้องฟิล์ม และอยากจำลองโลกภายในของมันมาให้ผู้คนได้สัมผัส และเราจะสามารถมีส่วนร่วมกับผลงานศิลปะชิ้นนี้ของเขาได้อย่างไรบ้าง

ไปฟังคำตอบ ที่บิ๊กมีให้กับหลายคำถามต่อไปนี้…


  RGB Installation คืออะไร

มันเป็นเหมือนงานกึ่งสถาปัตยกรรม คือกล้องฟิล์มขนาดใหญ่เท่าไซต์คน ผมทำขึ้นมา เพื่อให้คนสามารถเข้าไปสัมผัสฟังก์ชั่นของกล้อง ด้วยตัวเราเอง
เหมือนเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกข้างใน แทนเฟือง แทนสปริง และสามารถเรียนรู้การโฟกัส การถ่ายภาพภายในนั้นได้เลย 
          
 Installation สื่อถึงงานศิลปะประเภทจัดวาง แล้ว RGB มีที่มาอย่างไร

ในการถ่ายภาพ ถ้าไม่มีแสงก็จะไม่มีภาพ และในแสงมีองค์ประกอบคือ Red Green Blue เป็นอิลีเม้นท์ของแสง ถ้าไม่มี ภาพก็จะไม่เกิด ผมก็เลยมองว่าแสงมันสำคัญมาก
          
งานศิลปะชิ้นนี้จำลองฟังก์ชั่นของกล้องฟิล์มในยุคไหนมาให้คนได้สัมผัส

ย้อนไปถึงกล้องรูเข็ม เป็นกล้องที่ใช้เลนส์เดียว และมีรูให้แสงเข้ามาด้านใน เพื่อจะเห็นภาพด้านนอก ผสมกับกล้องโบราณ Large Format Film Camera และจะมีฟังก์ชั่นมากกว่ากล้องฟิล์มในปัจจุบันหน่อย เช่น มีการโฟกัสที่มากกว่า 
          
นอกจากผู้สนใจจะได้สัมผัสกับฟังก์ชั่นการทำงานของกล้องฟิล์ม ยังจะได้เรียนรู้อะไรอีกบ้าง

ในวันอื่นๆที่ไม่ใช่วันเสาร์และอาทิตย์ ผมจะเปิดให้คนที่สนใจเข้าไปชม เข้าไปสัมผัสเรียนรู้ ฟังก์ชั่นการทำงานของกล้องฟิล์ม ถ้าว่างผมก็อยากจะไปให้ได้ทุกครั้ง ยกเว้นวันไหนที่ติดงานอื่น อาจจะให้พี่อีกคนที่ช่วยงานอยู่ เข้าไปเปิดแทน เพราะว่าผมสร้างตัวนี้มาด้วยตัวเอง ผมจะรู้ทุกอย่าง อยากจะอธิบายให้ละเอียดกับทุกคนที่สนใจ

ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ผมจะอยู่ตลอด คนที่อยากได้ภาพถ่ายตัวเอง ที่ถ่ายด้วยกล้องตัวนี้ ผมจะเป็นช่างภาพถ่ายให้ ขณะเดียวกันคนที่รอถ่ายภาพเป็นคิวต่อไป เขาสามารถ เข้าไปอยู่กับเราข้างใน เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่า ผมมีวิธีการถ่ายด้วยกล้องตัวนี้อย่างไร ให้เขาได้ลองจับเลนส์ หรือถ้าเขาอยากจะถ่ายด้วยตัวเอง ผมจะแนะนำให้

คืออารมณ์ที่ได้รับจากกล้องนี้ก็คือ พอเราก้าวเข้าไป จะเห็นเหมือนเป็นช่องแสงที่เป็นภาพด้านนอกเข้ามา เหมือนเราอยู่ในอวกาศเลยฮะ มองแสงมองภาพนิ่งๆ ซึ่งคนที่เข้าไปอยู่กับเรา ผมจะบอกเขาว่า ตอนนี้เหมือนเรายืนอยู่ในกล้องเลยนะ เราสามารถปรับโฟกัสได้โดยการขยับจอ ที่เราเห็นเป็นภาพ ขยับเข้าออก ซึ่งมันเป็นเหมือนการหมุนเลนส์ หรือการกดหน้าจอของสมัยปัจจุบัน คือการโฟกัส รวมถึงมันจะมีฟังก์ชันอื่นแบบกล้องเก่า

และเวลาถ่ายภาพ แทนที่การกดชัดเตอร์ เราจะมีการเปิดม่านและปิดม่านให้แสงเข้าให้แสงออก แค่นี้ฮะ ให้คนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้ใช้กล้ามเนื้อในการจับโยก การเปิดปิด เพื่อให้คนได้เรียนรู้หลักการทำงานของกล้องที่ผมแปลออกมาให้คนเข้าใจอย่างง่ายๆ
เหมือนเราเป็นมดตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในกล้อง เมื่อเรารู้แล้วว่าทั้งหมดนี้คือกลไกของกล้องทั้งหมด เรายังสามารถล้างรูปที่ถ่ายออกมาได้เลย เพราะว่าพื้นที่ในกล้องที่เราเข้าไปยืน มันก็คือที่มืด(ห้องมืด)อยู่แล้ว 
         
มีค่าใช้จ่ายไหม

ถ้าเข้าไปชมหรือเรียนรู้การทำงานของกล้องเฉยๆไม่ต้องเสียอะไร แต่คนที่อยากได้ภาพถ่ายตัวเองที่ถูกถ่ายด้วยกล้องตัวนี้ ต้องจ่าย 100 บาท เพื่อเป็นค่าน้ำยา และกระดาษ
         





ความพิเศษของภาพถ่ายที่ได้

เมื่อเราถ่ายรูปด้วยกล้อง RGB ภาพที่ถ่ายออกมาจะเป็นภาพกลับสี เป็น Negative เหมือนภาพที่เราเห็นผ่านฟิล์มยุคเก่า กระดาษที่ใช้อัดภาพ เป็นกระดาษอัดภาพขาวดำ ภาพที่ออกมาจะดูไม่รู้เรื่อง แต่มันคือออริจินอลของการถ่ายภาพจริงๆ อย่างกล้องฟิล์มสมัยก่อน เวลาเราถ่าย พอล้างปุ๊บ ภาพจะออกมาเป็นเนกาทีฟ ดูไม่รู้เรื่องเหมือนกัน แล้วผมต้องการรักษาความเป็นออริจินอลนี้ไว้ เพราะว่าสมัยนี้คนมีไอโฟน มีมือถือ ถ่ายภาพออกมาเห็นเป็นภาพปกติ ยกเว้นจะเป็นช่างภาพที่ชอบถ่ายฟิล์ม หรือคนที่หลงรักฟิล์มจะได้เห็นฟิล์มเนกาทีฟอยู่บ่อยๆ แต่คนทั่วไปได้เห็นน้อย เขาจะได้มีโอกาสดู ผสมกับที่โลกดิจิตอลที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ทุกคนก็สามารถใช้แอพพลิเคชั่นในมือถือ มีหลายโปรแกรมที่โหลดมาดูได้ เช่น Line Camera จะมีฟังก์ชั่นเนกาทีฟนี้อยู่ เพื่อส่องดูภาพที่ผมอัดออกมาอีกที เหมือนเป็นการเซอร์ไพรส์ตัวเองอีกรอบนึ่ง
ตอนแรกๆคนที่ได้ภาพไปเขาดูไม่รู้เรื่อง สีหน้าเขาจะเฉยๆมาก แต่พอส่องดู ก็จะมีคำว่าอ๋อขึ้นมาทันที และรู้สึกว่าสิ่งนี้มันดูมีค่ามาก จากที่ตอนแรกเราดูไม่รู้เรื่อง พอเราดูรู้เรื่อง ภาพมันดูสวยงาม เป็นภาพสไตล์เก่าๆที่ยุคนี้กล้องสมัยนี้ก็ทำไม่ได้แล้ว 
          
อะไรทำให้สนใจอยากจำลองโลกของกล้องฟิล์มมาให้คนได้สัมผัส

ความอยากรู้ของผมเอง ที่อยากรู้ว่าภายในกล้องฟิล์มแต่ละตัวมันมีระบบการทำงานอย่างไรบ้าง ก่อนหน้านี้ผมก็เลยสร้างกล้องขึ้นมาเองขนาดเท่ากล่องกระดาษเพื่อจะเรียนรู้ว่า ระบบการทำงานในกล้องแต่ละตัวมันคือยังไงบ้าง แล้ววันนึงผมเอากล้องตัวนั้นที่ผมสร้าง ออกไปเดินตามที่ต่างๆไปแกลเลอรี่บ้าง ผลลัพท์ก็คือ คนในรุ่นผม สนใจ อยากเห็นในสิ่งที่ผมเห็น และมีคนรุ่นอายุมากแล้ว เขารู้ด้วยว่าอันนี้คืออะไร และเขาก็เหมือนได้รื้อฟื้นอดีตของเขาเหมือนกัน
ผมเลยรู้สึกว่า ทั้งที่สิ่งนี้มันไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่กลายเป็นสิ่งใหม่ของคนในยุคนี้ โลกดิจิตอล มันทำให้ความสะดวกสบายมีมากขึ้น แต่ก็ทำให้รสชาติและอารมณ์บางอย่างแบบกล้องฟิล์ม หรือการถ่ายภาพในยุคโบราณหายไป

แล้วต่อมากล้องขนาดเท่ากล่องกระดาษ ถูกพัฒนามาเป็นกล้องขนาดใหญ่ที่คนสามารถมุดเข้าไปดูได้ และเป็นงาน Thesis (วิทยานิพนธ์)ของผม แต่ขนาดเล็กกว่าที่หน้าหอศิลป์ กทม. นิดนึง มีลักษณะเป็นผ้าดำคลุม เวลาที่คนเห็นจะให้อีกอารมณ์หนึ่ง เวลาลมพัด ผ้าก็จะปลิวไปเรื่อยๆ
          
  ทำไมรูปลักษณ์ภายนอกจึงเป็นอย่างที่เห็น สร้างด้วยอะไร

ด้านนอกเป็นพลาสติคอะคริลิคที่มีกระจกทับ ที่ทำแบบนี้ผมนึกถึงเวลาที่คนเดินผ่านสิ่งที่มีเงา เขาจะหันดูตัวเอง เช็คตัวเอง ว่ารูปร่างหน้าตาเราเป็นอย่างไรนะ คือคนสมัยนี้ติดรูปลักษณ์ครับ พอผมใช้อะคริลิคที่มันมีลักษณะบิดโค้ง มีความวาบนิดนึง เวลาที่คนที่ส่องเข้าไปจะให้อารมณ์คล้ายๆละครสัตว์ ทำให้รูปลักษณ์ภายนอกของกล้องตัวนี้ สามารถให้ความสนุกกับคนไปในตัวด้วยครับ และเวลาเข้าไปข้างใน เราก็สามารถมองเห็นกิจกรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นข้างนอกได้ด้วย
          
 ดูเหมือน RGB Installation จะเป็นมากกว่ากล้องฟิล์มตัวหนึ่ง แต่เป็นงานศิลปะจัดวางที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่านั้น

งานของผมชิ้นนี้มันไม่น่าจะมีพื้นฐานจากภาพถ่ายด้วยซ้ำ แต่เป็น Interaction ที่เล่นกับคนดู ให้คนดูเข้ามาสัมผัส เพราะผมคิดวิธีการสื่อสารใหม่ คือ ให้คนเข้ามาทดลองปฏิบัติ กับสิ่งที่ผมนำเสนอ จริงๆ ปัจจุบันนี้ก็มีช่างภาพคนอื่นๆทั้งคนไทยและต่างชาติที่สนใจสร้างกล้องขนาดใหญ่เท่าไซต์คน เหมือนกัน แต่พวกเขาทำมันขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลลัพท์เรื่องการถ่ายภาพอย่างเดียว และก็มีบางคนที่ Modify (ดัดแปลง)กล้องเข้ากับรถตู้ ขับรถไปได้ทุกที่แล้วก็เปิดรถถ่ายภาพ เหมือนรถคันนั้นเป็นกล้องตัวหนึ่ง

แต่งานชิ้นนี้ของผมคือ ผมอยากให้ความรู้คน งานมันจึงเป็นเหมือน Community Project สื่อสารเพื่อให้ความรู้กับคนที่สนใจมากกว่า เป็นเหมือนแลนด์มาร์ค เป็นจุดที่ให้ความรู้ด้วย ทำให้คนเกิดมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง และเข้าใจเรื่องกล้องง่ายขึ้น
          
การที่ช่างภาพบางคนประดิษฐ์กล้องฟิล์มที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพในแง่ไหน

นอกจากจะใช้เป็นห้องมืดไปด้วยในตัว การที่กล้องมีไซต์ใหญ่ขึ้นมา จะทำให้ภาพที่เข้ามาใหญ่ขึ้น ความละเอียดของภาพก็จะมากขึ้น อย่างกล้องของผม ภาพที่เขามาก็ค่อนข้างที่จะใหญ่มาก ประมาณ 1.20 *1.20 เมตร บางคน เขาสามารถเอากระดาษหรือทำเป็นแผ่นอะลูมิเนียมเพื่อไปถ่ายเป็นภาพไซต์ใหญ่ ได้เลย มันคือการรองรับเรื่องขนาด ความละเอียดของภาพ และสไตล์ของแต่ละคนด้วย เช่นอยากได้รายละเอียดของภาพที่ใหญ่และสามารถสร้างรถเป็นเหมือนกล้องตัวหนึ่ง ขับเข้าไปถ่ายภาพในป่า เหมือนว่ากำลังใช้กล้อง Large Format Film Camera ที่ความละเอียดมากกว่ากล้องฟิล์มตัวเล็กที่คนส่วนใหญ่ถือไปถ่ายภาพกัน




RGB installation เคยนำไปแสดงที่ไหนมาก่อนหรือยัง

ปีที่ผ่านมา(2557) ผมเคยนำไปจัดแสดงที่งาน WONDERFRUIT (เทศกาลดนตรีและศิลปะ ที่ สยาม คันทรี คลับ เมืองพัทยา )
          
ผลตอบรับเป็นอย่างไร

ดีนะครับ เพราะงานนั้นเป็นเทศกาลดนตรีมีหลายวันติดกันแล้วผมก็ไม่ได้หยุดเลย ทั้งถ่ายภาพและให้ความรู้ เพราะคนสนใจค่อนข้างเยอะ เหมือนคนต้องการมาสนุกกัน และพอมีงานศิลปะมาร่วมด้วย เขาก็สนุกกันมากขึ้น แล้วผมก็สนุกไปด้วย เวลาได้ถ่ายภาพคนมันมีความสนุกอยู่แล้ว ทำไปเรื่อยๆจนค่ำเลยครับ
          
ผลตอบรับของการจัดแสดงด้านหน้าหอศิลป์ กทม. เป็นอย่างไร

คนที่ผ่านมา ก็จะสนใจมาถามว่ามันคืออะไร พอได้คุยและได้เข้าไปในกล้อง เขาก็จะรู้สึกประหลาดใจ และตรงกับคอนเซ็ปต์ที่ผมตั้งไว้ ซึ่งว่าด้วยเรื่อง ยุคสมัย เมื่อเด็กสมัยนี้เข้ามาเห็นก็จะรู้สึกว่า มันคืออะไรเนี่ย เราไม่เคยเจอมาก่อน กลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเขา และผมก็มีความสุขที่จะให้ความรู้ ชาวต่างชาติก็สนใจเยอะมากครับ มาแลกเปลี่ยนข้อมูล คุยกัน เหมือนเราเปิดคลาสๆหนึ่ง แล้วคนทั่วไปที่ผ่านมา ได้เรียนรู้ สนุกดีครับ


เจ้าของผลงานเรียนจบมากี่ปีแล้ว

ประมาณปีครึ่งครับ
          
เวลานี้ทำอาชีพอะไร

ผมเป็นนักออกแบบและทำงานศิลปะภาพถ่าย แต่ส่วนใหญ่จะทำงานภาพถ่าย ถ่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
ส่วนงานออกแบบนอกจากผมจะออกแบบสิ่งของ งานออกแบบกราฟิก ก็มีโอกาสได้ทำเหมือนกัน 
          
งานศิลปะภาพถ่ายของคุณมีสไตล์เป็นอย่างไร

ผมจะเป็นคนเรียบๆง่ายๆ งานของผม จึงค่อนข้างจะนิ่งๆ ประมาณมินิมอล เป็นคนที่ชอบถ่ายงาน Still Life ถ่ายสิ่งที่นิ่ง หรือภาพพอร์เทรตคนที่ดูนิ่งๆ อะไรพวกนี้ครับ ปีที่แล้วก็เคยแสดงนิทรรศการไปครั้งหนึ่งที่ RMA institute

และก่อนจะมาร่วมแสดงผลงานในเทศกาลโฟโต้บางกอก ครั้งนี้ ผมเคยไปช่วยงานคุณปิยทัต เหมทัต (ช่างภาพเจ้าของ RMA institute และ ผู้อำนวยการเทศกาลโฟโต้บางกอก) และได้ช่วยกันสร้าง RGB installation ขึ้นมา เหมือนเป็นทีมที่ช่วยกันพัฒนา




ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It