Travel

นิทรรศการ “Platform 10” ที่ S Gallery โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท เผยเสน่ห์ที่คาดไม่ถึงของสถานีรถไฟไทย

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>นิทรรศการศิลปะ “Platform 10” ที่จัดแสดงใน เอส แกลเลอรี ของโรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท เป็นผลงานภาพถ่ายของ แรมมี่ นารูลา ศิลปินชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ที่เฝ้าเก็บภาพของชานชาลาหมายเลข 10 ของสถานีรถไฟหัวลำโพง ในช่วงเวลาและอารมณ์ที่แตกต่างกัน เกิดเป็นเสน่ห์ที่หาชมได้ยาก เผยให้เห็นกิจกรรมประจำวันในอีกมุมมองหนึ่งที่งดงามราวศิลปะ

แรมมี่ นารูลา เป็นช่างภาพในกรุงเทพมหานคร เขาชื่นชอบการเดินทางและการสำรวจถนนหนทางสายต่างๆ ผลงานของเขามีทั้งโปรเจกต์แบบส่วนบุคคล ภาพบุคคล และการถ่ายภาพที่ได้จากการใช้เวลานานหลายชั่วโมงเพื่อเดินทางไปตามถนนเส้นต่างๆ ในหลากหลายเมืองที่เขาได้เดินทางไป

ผลงานล่าสุดของเขาคือ Platform 10 หรือชานชาลาที่ 10 เป็นโปรเจกต์ที่เขาได้ถ่ายภาพ ณ บริเวณชานชาลาเดิมของสถานีรถไฟหัวลำโพงในกรุงเทพมหานคร ผลงานชุดนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นสมุดภาพถ่ายกับสำนักพิมพ์พีนัทเพรส (Peanut Press) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก โดยเมื่อปี ค.ศ. 2013 เขาได้จัดแสดงผลงานชุดแรกในชื่อชุด “Hua Lamphong Train Station” (สถานีรถไฟหัวลำโพง) ที่เป็นโปรเจกต์สีขาว-ดำ ปี ค.ศ. 2014 เขาได้จัดแสดงผลงานภาพถ่ายในชื่อชุด “Life is an Act” (ชีวิตคือการเคลื่อนไหว) ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เขาแอบถ่ายภาพตามท้องถนนสายต่างๆ ที่เขาได้เดินทางไปท่องเที่ยว และมาในปีนี้เขาได้จัดนิทรรศการศิลปะขึ้นอีกครั้งในชื่อผลงานชุด “Platform 10” (ชานชาลาที่ 10) ของสถานีรถไฟหัวลำโพง

แรมมี่ เล่าให้ฟังถึงความผูกพันที่เขามีต่อสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยเขาได้เดินทางไปที่นั่นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2012 และผลงานภาพถ่ายชิ้นแรกๆ ของเขาจะประกอบไปด้วยผู้คนในสถานีที่ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นสีขาว-ดำ จนสามารถรวบรวมจัดเป็นนิทรรศการให้ชมเมื่อปี 2013 หลังจากนั้นเขาก็ยังเดินทางกลับไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพงอีกเป็นประจำ เพื่อที่จะถ่ายภาพสถานีรถไฟในมุมมองใหม่ๆ

จนช่วงหนึ่งที่เขาไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานการถ่ายภาพอันโดดเด่นอีกเลยราวปีกว่า จนกระทั่งในวันหนึ่งกลางปี 2015 ระหว่างที่เขากำลังนั่งอยู่ในบริเวณชานชาลาอันเงียบเหงาที่อยู่ปลายสุดของสถานี และในขณะนั้นเองก็มีรถไฟขบวนสั้นๆ กำลังจอดเทียบชานชาลาเพื่อหยุดพักในช่วงสั้นๆ ราว 20 นาทีก่อนจะออกเดินทางไปตามเส้นทางต่อไป

แต่นั่นทำให้เขาได้ค้นพบว่าภาพที่เขาได้ถ่ายในวันนั้นให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากผลงานถ่ายภาพชิ้นก่อนๆ และนั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาได้ค้นพบในสิ่งที่เขาได้ตามหา และตลอดระยะเวลาในครึ่งปีหลังเขาได้กลับไปสถานที่นั้นทุกวันเพื่อถ่ายภาพผ่านห้วงเวลา ณ ชานชาลาเดิม คือ ชานชาลา 10 นั่นเอง

“ชีวิตผ่านไปอย่างรวดเร็ว และยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันสังเกต สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าเป็นสถานที่อันแสนเงียบเหงา แต่สถานที่แห่งนี้จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ในทุกๆ ครั้งที่มีรถไฟเข้าจอดเทียบชานชลาเพื่อหยุดพักในช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงเวลานั้นจะมีผู้โดยสารลงจากขบวนรถไฟ เจ้าหน้าที่การรถไฟก็จะคอยต้อนรับ เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงเริ่มทำงานซ่อมบำรุง ในขณะที่สินค้าต่างๆ ได้ถูกขนขึ้นรถไฟ ทุกอย่างเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นไปอย่างรวดเร็ว

ในฐานะของคนที่เฝ้ามองเหตุการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะที่ทุกสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกันนั้นทำให้รู้สึกได้ถึงความลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับเราได้นั่งดูการแสดงของวงออเคสตราโดยปราศจากวาทยากร ผมออกเดินทางเพื่อไปถ่ายภาพในห้วงเวลาสั้นๆ ณ ชานชาลาเดิม

ที่เป็นชานชาลาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ผสมบรรยากาศในขณะที่รถไฟสามโบกี้สั้นๆ กำลังเข้ามาเทียบชานชาลาแห่งนั้นเป็นเวลา 20 นาทีในแต่ละวัน ผมได้มุ่งเน้นไป ณ ช่วงเวลาเดียว การหยุดชั่วครู่ในขณะที่ทุกๆ สิ่งกำลังเคลื่อนไหว การหยุดนิ่งของตัวละครแต่ละตัวนั้นจับใจผม และสิ่งนั้นก็กลับกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของผม ผมสงสัยอยู่เสมอว่าแต่ละคนกำลังคิดอะไรกันอยู่ มีคนเคยบอกว่า ชีวิตนั้นคือการเดินทาง และผมก็เชื่อว่ากลุ่มผู้คนในชานชาลาที่ 10 นั้น คือ การเดินทางของผม”

โดยงานนี้นอกจากจะเป็นการแสดงผลงานให้ผู้ที่สนใจได้รับชม หรือซื้อหากลับไปประดับตกแต่งบ้านแล้ว เขายังมีหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์พีนัทเพรส(Peanut Press) ของมหานครนิวยอร์กวางจำหน่าย ในราคาเล่มละ 1,500 บาท และแบบลิมิเต็ด อิดิชัน จำนวนเพียง 100 เล่ม พร้อมลายเซ็นของศิลปินและมีการระบุลำดับ (เริ่มจากหมายเลข 001 – 100) จำหน่ายในราคาเล่มละ 5,500 บาท ให้เก็บสะสมเป็นที่ระลึก

ผลงานนิทรรศการภาพถ่าย “Platform 10” จัดแสดงที่เอส แกลเลอรี (S Gallery) ชั้นล็อบบี้ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ช่วงเวลา 10.00 – 22:00 น. ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 กุมภาพันธ์นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2126-9999 หรือที่มาร์ติน เกอร์ลิเย่ร์ ที่ปรึกษางานศิลปะแห่งมูนสตาร์ โทรศัพท์ 09-3582-6588 หรืออีเมล Martin.gerlier@gmail.com













Comments are closed.

Pin It