ช่วงวันหยุดหลายวันที่ผ่านมา นับเป็นข่าวดี เมื่อ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้เชิญคณะสื่อมวลชนไปเที่ยวยัง เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่
“มุมไบ” เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนริมฝั่งทะเลอาระเบียน ท่ามกลางชายฝั่งที่ทอดยาว กับภูเขาสูงที่ปกคลุมด้วยป่าเขตร้อนชื้นและป่าผลัดใบ เมืองนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่า และเป็นศูนย์กลางทางการค้า การท่องเที่ยว ที่ผสมผสานโลกสมัยใหม่ เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างลงตัว เปรียบเสมือนโลกแห่ง 2 ยุค ที่ไม่เคยหยุดหมุน และหยุดนิ่ง
เสน่ห์ของ “มุมไบ” ส่วนหนึ่งมาจากความมีชีวิตชีวาที่มุมไบ ได้โอบรับเอาไว้กับบทบาทที่ร่วมสมัยของเมือง เป็นเมืองแห่งความฝัน มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน
ต้องจำกันได้แน่ว่า ที่นี่คือศูนย์กลางธุรกิจหนังฮินดี้ที่เราเรียกอย่างชื่นชอบว่า “บอลลีวู้ด” ซึ่งแต่ละปีผลิตหนังมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น คาดหวังได้เลยว่า ที่นี่จะเป็นแหล่งบันเทิงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีทางวัฒนธรรม ละคร การร่ายรำ หรือระบำฟ้อน ที่จะทำให้คุณตื่นตาตื่นใจไปกับการเดินทางไปในห้างและตลาดที่เต็มไปด้วยของที่มีสีสัน หรือสนุกสุดเหวี่ยงในไนท์คลับ ผับ บาร์ และร้านอาหาร
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “มุมไบ” จะไม่มีอดีตอันเรืองรองเสียเลย และไม่ได้หมายความว่าจะปราศจากอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ หรือสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ ครั้งหนึ่ง มุมไบครอบคลุมอาณาเขตเกาะทั้ง 7 แต่ปัจจุบันเมืองมุมไบ ตั้งอยู่เลียบโค้งอ่าวที่กว้างใหญ่
ก่อนหน้าปี 1534 มุมไบไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าชุมชนชาวประมง หลังจากนั้นก็ถูกยกให้โปรตุเกสไป แม้ตอนนั้นโปรตุเกสจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก จนกระทั่งเกาะทั้ง 7 ที่ว่าตกมาอยู่ในมือของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ในฐานะส่วนหนึ่งของสินสอดบรรณาการ เมื่อตอนที่พระองค์อภิเษกสมรสกับ แคทเธอรีน เดอ บรากันซ่า ในปี 1661 มุมไบถึงได้มีการพัฒนาอย่างจริงจังจนกลายเป็นเมืองใหญ่
ในยุคอาณานิคมอังกฤษ ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเมืองท่าชายฝั่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่ขยายอาณาเขต และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากช่วงเวลานั้นเอง ที่อนุสรณ์สถานที่โดดเด่นที่สุดหลายแห่งเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ สัญลักษณ์ประจำเมืองที่เรียกกันว่า “ประตูแห่งอินเดีย” (GeteWay of India) มีลักษณะเป็นประตูโค้งใหญ่ สร้างด้วยสไตล์ผสมผสานคุชราติ และ อินโด-ซาราเซนิค เพื่อระลึกถึงการเสด็จเยือนอินเดียของพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระราชินีแมรี่เมื่อปี ค.ศ. 1911
ตัวประตูเมืองสร้างด้วยหินบะซอลต์ มีความสูง 26 เมตร ตรงกลางประตูเป็นโดม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 เมตร ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อ จอร์จ วิตเต็ท
ประตูสู่อินเดีย เป็นศิลปะของศาสนาฮินดูและมุสลิมผสมกัน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 2.1 ล้านรูปี ถือว่าสูงมากในสมัยนั้น
สถาปัตยกรรมที่น่าสนใจอื่นก็เช่น สถานีรถไฟวิกตอเรีย ซึ่งสร้างเสร็จในปี 1887 เป็นสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเป็นป้อมปราการ หอคอย และยอดแหลมของตึก รวมทั้งขอบปูนลวดลายสลักเป็นรูปนกยูงและสัตย์ต่างๆ เต็มไปหมด ดูเหมือนปราสาทประหลาดๆ มากกว่าสถานีรถไฟ สถาปัตยกรรมในยุควิกตอเรียที่น่าประทับใจพอๆ กันคือ มหาวิทยาลัยบอมเบย์และศาลสูง
แต่ที่แปลกกว่าส่วนอื่นๆ ทั้งอาคารบ้านเรือนและบรรยากาศอย่างบริเวณเนิน Malabar ซึ่งอยู่ในด้านเหนือที่ยื่นออกมาของเมือง ถึงแม้ว่าแถบนี้จะเป็นบ้านพักตากอากาศของผู้มีอันจะกินที่โดดเด่นตระการตา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามสุดยอดเหนืออ่าวและเห็นตัวเมืองทั้งหมด แต่แถบนี้ก็มีจุดที่น่าสนใจที่หลากหลายเลยทีเดียว ตั้งแต่ Hanging Gardens สวนพื้นที่สีเขียวสำหรับหย่อนใจ กมลา เนห์รู พาร์ค สวนป่าขนาดใหญ่ และยังมีอุทยานวัด Banganga สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของมุมไบ
ตรงส่วนโค้งของอ่าวมีถนนที่มีชื่อเรียกว่า Marine Drive และหาดชื่อดัง Chowpatty Beach เป็นบริเวณยอดนิยมสำหรับการมานั่งเล่นจู๋จี๋ พลอดรักกันเป็นคู่ๆ เพื่อรอชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่นี่มีผู้คนหมุนเวียนมานั่งกว่า 3,000 คน สถานที่นี้จึงบ่งบอกความเป็นมุมไบได้มากที่สุด ทั้งผู้คนที่คลาคล่ำมากมาย ร้านขายของ หมอนวด และร้านอาหารข้างทาง ถั่วเผา ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นขายกันอย่างพลุกพล่าน
อีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจคือ ELEPHANTA CAVES เดินทางจากบริเวณ Gateway of India ด้วยทางเรือไปยังถ้ำ Elephanta Caves ซึ่งถูกเรียกตามรูปสลักช้าง ที่ทำด้วยหินขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบภายในถ้ำโดยชาวโปรตุเกส รูปสลักที่มีชื่อเสียงที่สุดในถ้ำแห่งนี้คือ รูปปั้น Trimurti รูปปั้น 3 เศียร มีความสูงเกือบ 20 ฟุต ซึ่งเป็นรูปสลักของ “พระศิวะ” นอกจากนี้ สถานที่แห่งนี้ยังมีงานเทศกาล Elephanta ซึ่งเป็นการเต้นรำแบบโบราณ และเป็นเทศกาลดนตรี จัดขึ้นช่วงเดือน ก.พ. ของทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีโรงละคร Prithvi Theatre และ National Centre for Performing Arts ที่มีชื่อเสียง ขณะที่ ในโลกศิลปะ มุมไบยังมี Jehangir Art Gallery และ National Gallery of Modern Art ให้นักเสพศิลปะรับรสแห่งสุนทรียภาพ
พิพิธภัณฑ์คานธี อีกหนึ่งสถานที่ที่ต้องไปเยือน ที่นี่เป็นบ้านเดิมของคานธีที่อาศัยมากว่า 14 ปี สถานที่แห่งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลของคานธี ตั้งแต่เด็กจนกลายมาเป็นผู้นำคนสำคัญของการเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย จากการเป็นประเทศอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ด้วยวิธี “อหิงสา” ซึ่งภายหลังเป็นต้นแบบของการประท้วงแบบสันติ จนได้รับการยกย่อง
มุมไบ เป็นเมืองที่มีความแตกต่างทางสังคมสูงมาก สามารถเห็นบรรดาเศรษฐีนักธุรกิจเดินเข้าออกในตึกรูปทรง French Colonial โดยที่มีคนไร้บ้านนอนพิงเสาหินทรายอยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นภาพที่ปกติทั่วไปของที่นี่
สภาพเศรษฐกิจนั้น มุมไบ เคยถูกจัดให้เป็นเมืองที่มีความน่าลงทุนทางธุรกิจมากที่สุด เป็นอันดับ 4 ในเอเชีย (อันดับหนึ่งคือฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้ และกัวลาลัมเปอร์) และมีอีกหนึ่งสถิติที่ยังคงรักษาไว้ได้เหนียวแน่นคือ เป็นเมืองที่มี “สลัม” ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย
นอกจากจะเป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ใกล้ๆ สลัมยังมีลาน “ซักผ้า” ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ถูกถ่ายทอดเรียนรู้มายาวนานกว่า 2,000 ปี ที่นี่ใช้วิธีการซักผ้าโดยนำผ้าไปฟาดกับน้ำ ซึ่งแตกต่างกับการซักผ้าที่ประเทศไทยที่ใช้วิธีขยี้ผ้า โดยที่ซักผ้าของมุมไบจะโบกปูนแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม แต่ไม่มีหลังคายาวสุดลูกหาลูกตา แต่ละคนจะมีช่องเป็นของตัวเอง ไม่ซักรวมกัน และเมื่อแหงนหน้าขึ้นอีกหน่อย ก็จะพบกับราวตากผ้ายาวระเกะระกะ จึงไม่แปลกใจที่ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในหนังหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Slum Dog Millionaire, Hisss รวมถึงหนังที่ชื่อ Dhobi Ghat อีกด้วย
หากคุณอยากสัมผัสความหลากหลายในหลายๆ ด้านของเมืองนี้ ลองใช้บริการของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่เปิดให้บริการบินตรงกรุงเทพฯ-มุมไบ 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยให้บริการทุกวันยกเว้นวันอังคาร ด้วยเครื่องบินแอร์บัส 319 ใช้เวลาบินประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งระหว่างอยู่บนเครื่องก็แสนสบาย แถมมีอาหารอินเดียเสิร์ฟอีกหนึ่งมื้อใหญ่ด้วย
สำหรับที่พักนั้น มีให้เลือกตั้งแต่ถูกที่สุด แค่เก็บกระเป๋าซุกตัวเข้าไปนอน ถึงโรงแรมหรูระดับ 5ดาว สนใจลองเข้าไปชมได้ที่ www.agoda.com รับรองว่าการไป มุมไบ ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.