“ราชดำเนิน” หนึ่งในย่านประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ และอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ที่มีความหมายในหน้าประวัติศาสตร์ ซัมซุง จึงได้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร คัดเลือกราชดำเนิน เป็น 1 ใน 4 ย่าน ร่วมด้วยย่านเจริญกรุง , เยาวราช และปทุมวัน นำเสนอใน แอพพลิเคชัน “คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ (Culture Explorer)” สื่อกลางสำหรับเหล่าเจนวายได้ท่องอดีต และหลงรักบางกอกยิ่งขึ้น โดยรำลึกถึงย่านเหล่านี้ของกรุงเทพมหานคร ผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ และภาพเก่าในแต่ละยุคสมัย โดยได้เชิญ อภิวัฒน์ โควินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านศิลปวัฒนธรรมของเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม เป็นวิทยากรที่มาบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ ย่านราชดำเนิน
ศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เผยว่า “แอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซัมซุง คัลเจอร์ คอนเน็ค (Samsung Culture.Connect) โดยจัดขึ้นในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น และมรดกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ให้ชุมชนในประเทศได้เรียนรู้ถึงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สถานที่ประวัติศาสตร์ ที่อาจจะไม่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน (Rediscover) และยังช่วยเชื่อมโยงคนแต่ละยุคสมัยไว้ด้วยกัน ผ่านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ (Reconnect) พร้อมทั้งสร้างความภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ ให้เกิดการจดจำ และรู้ถึงความเป็นมาของท้องถิ่นตน (Remember) โดยมีแอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน
โดยหลังการเปิดตัวแอพพลิเคชันอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เพราะมีผู้สนใจเข้ามาดาวน์โหลดแล้วกว่า 30,000 คน และยังได้รับความนิยมติด 1 ใน 10 ไลฟ์สไตล์แอพพลิเคชันที่ถูกดาวน์โหลดจากกูเกิลเพลย์สโตร์ด้วย ซึ่งความพิเศษของแอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ ไม่เพียงจะสามารถให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ที่เราอยู่นั้นชื่ออะไร แต่ยังมีข้อมูลของสถานที่นั้นๆ ทั้งในปัจจุบันและเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีต พร้อมทั้งมีภาพถ่ายเก่าในแต่ละยุคสมัย โดยสถานที่ที่มีผู้เข้ามาชมเรื่องราวประวัติศาสตร์มากที่สุด คือ ศาลาเฉลิมกรุง วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) และสนามหลวง อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นที่ให้ความเพลิดเพลิน อย่างฟังก์ชั่นการถ่ายภาพเซลฟี่ที่สามารถย้อนเวลา โดยสามารถนำภาพถ่ายตนเองนั้นมาซ้อนในภาพเก่าได้อีกด้วย ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายนี้ จะมีการนำแอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ ไปแนะนำให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งใน 4 ย่านนี้ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจ รู้ถึงประวัติศาสตร์ และภูมิใจในย่านที่ตัวเองอยู่”
ในครั้งนี้ซัมซุงได้นำเที่ยวถึง 4 สถานที่ที่นับเป็นจุดไฮไลท์ในย่านราชดำเนิน ได้แก่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย , ป้อมมหากาฬ , ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และเสาชิงช้า โดยใช้แอพพลิเคชัน “คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ เป็นเหมือนไกด์นำเที่ยว
โดยเริ่มที่แรก “ถนนราชดำเนิน เป็นถนนที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อใช้เสด็จพระราชดำเนินระหว่าง พระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต และเพื่อความสง่างามของบ้านเมือง และเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด ซึ่งถนนราชดำเนินนี้จะมีด้วยกัน 3 ส่วน คือถนนราชดำเนินใน นับจากพระบรมมหาราชวังจนมาถึงสะพานผ่านพิภพลีลา ถนนราชดำเนินกลาง นับจากสะพานผ่านพิภพลีลาจนกระทั่งถึงสะพานผ่านพิภพลีลาศ และถนนราชดำเนินนอก นับจากสะพานผ่านพิภพลีลาศจนถึงพระราชวังดุสิต ซึ่งถนนราชดำเนินแห่งนี้ยังเป็นที่ ตั้ง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ในยุครัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบโดย ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล และมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้รังสรรค์ผลงานประติมากรรมปูนปั้น โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 เมตร และปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ. 2475 เป็นปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีกนก 4 ด้าน หมายถึงการปกป้องคุ้มครองพานรัฐธรรมนูญ ที่ฐานพานรัฐธรรมนูญ จะมีประตู 6 บานด้วยกัน ซึ่งหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์ ได้แก่ เอกราช , ปลอดภัย , เศรษฐกิจ , เสมอภาค , เสรีภาพ , การศึกษา
ในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ยังมี ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่ในอดีตเคยเป็นโรงภาพยนตร์ที่โอ่อ่ามากที่สุดของประเทศในยุคสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ “ศาลาเฉลิมไทย” ซึ่งโรงภาพยนตร์เป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ นับเป็นเครื่องแสดงออกถึงความหรูหรา ทันสมัย ที่นี่ยังเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมป๊อปคอร์นสำหรับโรงภาพยนตร์ไทยอีกด้วย กระทั่งเมื่อคราวฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย เพื่อเป็นการเปิดทัศนียภาพที่สวยงามให้แก่โลหะปราสาท ซึ่งสร้างอยู่ในวัดราชนัดดา โดยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ซึ่งในอดีตโลหะปราสาทมีด้วยกัน 3 แห่ง คือที่อินเดีย ศรีลังกา และประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแห่งเดียวในโลกคือประเทศไทย โดยโลหะปราสาทหลังแรก สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา แห่งเมืองสาวัตถี สร้างขึ้นถวายพระพุทธเจ้า โดยโลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท 3 ชั้น มียอดซึ่งทำจากทองแดง 37 ยอด หมายถึง พระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องตรัสรู้ ดังนั้นเมื่อรื้อถอนศาลาเฉลิมไทยออก จึงได้มีการสร้าง ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ขึ้น เพื่อสำหรับการต้อนรับราชอาคันตุกะ หรือประมุขของต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยแต่ละสถานที่ที่ไปเยี่ยม สามารถสนุกกับฟังก์ชั่นถ่ายภาพซ้อนอดีต ซึ่งที่นี่นับเป็นแห่งหนึ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ในขณะที่ด้านฝั่งตรงข้าม ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่ยังคงหลงเหลือประวัติศาสตร์ให้เห็นอย่างชัดเจน กับ ป้อมมหากาฬ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพมหานคร ในอดีตนั้นกำแพงเมืองยังเป็นไม้เพนียด จากนั้นค่อยสร้างกำแพงเมืองรอบกรุงเทพ โดยมีป้อมป้องกันข้าศึกทั้งหมด 14 ป้อม แต่ปัจจุบันได้มีการอนุรักษ์เอาไว้เหลือเพียง 2 ป้อม ก็คือป้อมมหากาฬ และป้อมพระสุเมรุ โดยด้านบนของป้อมมหากาฬเป็นที่ตั้งของปืนใหญ่ และตั้งอยู่ที่ริมคลองมหานาคที่เชื่อมมาบรรจบกับคลองโอ่งอ่าง และได้รับการบูรณะส่วนที่ชำรุด และทาสีใหม่หลายครั้ง
จุดหมายปลายทางที่สุดท้ายของการเที่ยวย่านราชดำเนิน คือ เสาชิงช้า สถาปัตยกรรมที่สร้างจากไม้สักขนาดใหญ่เพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพิธีตรียัมปวายของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยพิธีตรียัมปวายนี้ เป็นการต้อนรับพระอิศวรและพระนารายณ์เสด็จมาเยี่ยมโลก ในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ โดยพิธีโล้ชิงช้านี้ได้มีการยุติลงในสมัยรัชกาลที่ 7”
ยังมีสถานที่อื่นๆ อีกมากมายในย่านราชดำเนิน เช่น สนามหลวง สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น ที่รอให้ทุกท่านไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพียงดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์ ได้ที่ Google Play Store และ Galaxy Apps และหากใครมีภาพเก่าในอดีตของ 4 ย่าน ได้แก่ เจริญกรุง , ราชดำเนิน , ปทุมวัน และเยาวราช มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาพประวัติศาสตร์กันได้ เพียงส่งภาพเก่าของคุณมาที่ info@cultureconnectthai.com และภาพดังกล่าวของคุณ จะกลายเป็นหนึ่งในภาพความทรงจำใน แอพพลิเคชัน คัลเจอร์ เอ็กซ์พลอเรอร์
Comments are closed.