Travel

ทริปเส้นทางสตรอเบอร์รี่ ตามรอยพระปณิธานของพ่อหลวง

Pinterest LinkedIn Tumblr


ปีนี้อากาศหนาวมาเยือนช้าไปหน่อย เราจึงได้เห็นสตรอเบอร์รี่ซึ่งเป็นผลไม้ฤดูหนาวยังคงมีให้ลิ้มลองความหวานฉ่ำมาจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งปกติจะเป็นช่วงก้าวเข้าสู่หน้าร้อนแล้ว โดยเฉพาะโครงการเกษตรหลวงฯ อ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกสตรอเบอร์รี่ที่มีชื่อเสียงที่สุด ผลสตรอเบอร์รี่สีแดงสด ลูกโต ๆ ยังมีให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมบนแปลงเพาะปลูกพร้อมลิ้มลองความฉ่ำหวานอีกด้วย

และผู้ที่บุกเบิกนำสตรอเบอร์รี่มาสู่ดอยอ่างขางเป็นคนแรกคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯนั่นเอง ด้วยทรงมีพระปณิธานที่จะช่วยชาวเขาที่ปลูกฝิ่นให้หันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน ผ่านไป 47 ปีไร่ฝิ่นบนดอยอ่างขางหมดไป ภูเขาที่เคยหัวโล้นเพราะถูกชาวเขาทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น กลับมาเขียวชอุ่มด้วยพืชผักผลไม้และดอกไม้เมืองหนาวเข้ามาแทนที่ พร้อมกับวิถีชีวิตของชาวเขาที่เปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
เพื่อให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของเกษตรกรชาวเขาบนดอยอ่างขางอย่างใกล้ชิด บริษัท ดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จำกัด จึงพาสื่อมวลชนไปทริป “ดอยคำ- เกษตรเพื่อชุมชน ผลผลิตเพื่อคนไทย : เส้นทางสตรอเบอร์รี่ “เพื่อตามรอยพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เส้นทางของสตรอเบอร์รี่บนดอยอ่างขางนั้นเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จฯผ่านมายังดอยอ่างขาง ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวเขาตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น ทรงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนผืนดินที่ปลูกฝิ่นของชาวเขาที่นี่ให้กลายเป็นพื้นที่การเกษตร โดยทรงแนะแนวทางแก้ปัญหาว่าต้องไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวเขา จึงทรงตั้งโครงการหลวงขึ้นมาเพื่อให้มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชทดแทนฝิ่น สอนให้ทำและรับซื้อผลผลิตถึงแหล่งที่เพาะปลูก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ก้อนแรกมาเป็นทุนในการดำเนินการ ในภายหลังจึงมีการตั้งโรงงานขึ้นบนดอยอ่างขางเพื่อนำผลผลิตที่รับซื้อจากชาวเขามาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปภายใต้ชื่อ”ดอยคำ”

ปี 2516 ชาวบ้านจึงเริ่มเห็นสตรอเบอร์รี่ต้นแรกบนดอยอ่างขาง ซึ่งโครงการหลวงทดลองปลูกบนแปลงสาธิต และอีก 10 ปีต่อมา พื้นที่ 75 ไร่ในโครงการเกษตรหลวงฯอ่างขาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของหมู่บ้านนอแลและหมู่บ้านขอบด้งจึงกลายเป็นแหล่งปลูกสตรอเบอร์รี่ที่ใหญ่และมีชื่อเสียง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวเขาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวแทนการปลูกฝิ่น ส่งผลให้แต่ละครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทุกปีในวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เกษตรกรชาวเขาบนดอยอ่างขางจะถือเป็นฤกษ์ดีในการเริ่มฤดูกาลปลูกสตรอเบอร์รี่ ทุกไร่จะนำไหลของสตรอเบอร์รี่ที่เตรียมไว้มาปักลงแปลงดิน ต้นสตรอเบอร์รี่เริ่มให้ผลผลิตในเดือนพฤศจิกายน แต่ถ้าไร่ของใครโชคดีมีผลผลิตออกมาก่อนในปลายเดือนตุลาคม ก็สามารถขายสตรอเบอร์รี่ได้ถึงกิโลกรัมละ 500 บาททีเดียว ซึ่งสตรอเบอร์รี่จะให้รสชาติหวานอร่อยที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม เพราะอยู่ในช่วงอากาศกำลังหนาว ต่อจากนั้นผลผลิตก็จะลดน้อยลงไปจนหมดในปลายกุมภาพันธ์

สตรอเบอร์รี่ที่ปลูกบนดอยอ่างขางนั้นมีหลากหลายพันธุ์มาก อาทิ พันธุ์ 329 มีขนาดเล็ก รสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลผลิตของสายพันธุ์นี้ส่วนมากจะส่งไปที่โรงงานดอยคำเพื่อแปรรูปเป็นสตรอเบอร์รี่อบแห้งหรือแยมสตรอเบอร์รี่ต่อไป ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังนิยมมากในปัจจุบันคือ พันธุ์ 80 ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์โดยโครงการหลวง เป็นสตรอเบอร์รี่ลูกโต สีแดงสด เมื่อสุกจัดรสชาติหวานหอม นิยมรับประทานสด ๆ เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวมาก ขายได้ราคาดี
โครงการหลวงมีหน้าที่พัฒนาสายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ใหม่ ๆ ขึ้นตลอดเวลา โดยทุกครั้งที่ผสมพันธุ์ใหม่ออกมาได้สำเร็จก็จะตั้งชื่อตามวาระครบรอบเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ อาทิ พันธุ์ 60 , พันธุ์ 72 และพันธุ์ 80 เป็นต้น และ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงเจริญพระชันษา 88 ปีในปี 2560 คนไทยจะได้มีโอกาสลิ้มลอง “สตรอเบอร์รี่88” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์60 กับพันธุ์ 80 ซึ่งได้สตรอเบอร์รี่ที่ลูกโตทรงรูปกรวย ไส้ในเป็นสีชมพูและกลิ่นหอมรสหวาน จะเริ่มทดลองให้เกษตรกรปลูกปลายปีนี้และคนไทยจะได้ลิ้มลองความหวานหอมของสายพันธุ์ 88 อย่างเต็มที่ภายในปี 2560
มนัสนันท์ รมัยธัชพล เจ้าของไร่ฐานันท์
เนื่องจากสตรอเบอร์รี่บนอ่างขางได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากนักท่องเที่ยวที่ขึ้นดอยอ่างขางเพื่อไปลิ้มลองความอร่อยถึงไร่ ทำให้เกษตรกรชาวเขาขายผลผลิตหน้าไร่ได้ราคาดีมาก จนผลผลิตไม่เพียงพอส่งโรงงาน ปัจจุบันบริษัทดอยคำฯจึงเข้ามาส่งเสริมให้ชาวเขาพื้นที่บริเวณรอบ ๆ โรงงานดอยคำปลูกสตรอเบอร์รี่เพิ่มมากขึ้น

ดังเช่นที่อำเภอฝาง ไร่ฐานันท์ ของมนัสนันท์ รมัยธัชพล ผู้ปลูกสตรอเบอร์รี่ เล่าว่าเขาเกิดและเติบโตที่นี่ เมื่อก่อนปลูกส้มและลิ่นจี่ขายมีรายได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น จนโครงการหลวงมาแนะให้ปลูกสตรอเบอร์รี่และรับซื้อผลผลิตเข้าโรงงานจึงทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 3 แสนบาทจากการขายผลผลิตสตรอเบอร์รี่ ส่งผลให้เขาสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี จึงรู้สึกสำนึกบุญคุณในหลวงที่ทรงบุกเบิกผืนดินบนดอยอ่างขางเพื่อให้พวกเขามีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมีความสุข



เส้นทางของสตรอเบอร์รี่บนดอยอ่างขาง ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แม้เกษตรกรชาวเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะทั้งโครงการหลวงและดอยคำคงมีหน้าที่สานต่อโครงการนี้ต่อไป โดยพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยากรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้รับสนองพระราชปณิธานของในหลวงได้กล่าวถึงภารกิจที่จะต้องทำว่า
พิพัฒพงศ์  อิศรเสนา ณ อยุธยา
“การทำเศรษฐกิจชาวบ้านให้ดีขึ้นนั่นหมายถึงการกินดีอยู่ดีของชาวบ้าน ตามพระราชปณิธานของในหลวง ซึ่งต้องการให้คนไทยทุกคนอยู่ดีกินดี เมื่อคนเรามีกินทุกมื้อก็จะสามารถพัฒนาสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้ ดังนั้นมูลนิธิโครงการหลวงจึงเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกพืช ส่วนโรงงานก็ทำหน้าที่รับซื้อผลผลิตจากชุมชนมาแปรรูปเพื่อส่งไปจำหน่ายทำการตลาด ทั้งหมดนี้ชาวบ้านได้ เป็นการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐาน เมื่อทุกคนอยู่ดีกินดีก็รักบ้านเกิด จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”

Comments are closed.

Pin It