Travel

บินเดี่ยว เที่ยวอิหร่าน กับ MadameMonTour ตอนเช็กอินกรุงเตหะราน

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>คงเป็นเพราะว่าเราโดนครอบงำและโฆษณาชวนเชื่อด้วยข่าวสารต่างๆ ด้านลบเกี่ยวกับประเทศอิหร่านจากประเทศชาติมหาอำนาจ หลังจากที่มีมาตรการคว่ำบาตรประเทศที่ขัดขืน หรือไม่ยอมซูฮก จนทำให้ภาพของประเทศอิหร่านดูน่ากลัว ไม่ปลอดภัย และมีแต่ความวุ่นวาย แต่ครั้งนี้ถ้า MadameMonTour ไม่ได้มีโอกาสมาเยือนด้วยตัวเอง ภาพต่างๆ เหล่านั้นก็ยังคงถูกฝังราวกับน้ำหมึกในแผ่นศิลา

MadameMonTour มักทำงานหนักและออมเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ไปเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ๆ ยังต่างแดน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รักการไปเยือนและสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรม และจารีตประเพณีต่างๆ ของจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ในประเทศไทยมาแล้ว โดยส่วนตัวมีความสนใจศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ด้วยเพราะหลายประเทศแถบนั้นเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมหลากหลาย รวมถึงศาสนาพุทธของเราเองจริงๆ ก็มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนเทือกนั้น หรือแม้แต่ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ทั้งในประเทศต่างๆ ในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในโลกใบนี้ ก็ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากดินแดนแห่งนี้เช่นกัน

สำหรับประเทศอิหร่านนั้น MadameMonTour มีความสนใจมาเยือนหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้มาเยือนสักครั้ง ด้วยเพราะ MadameMontour เน้นการเดินทางคนเดียว แบบ Low Budget หลังจากที่เมื่อต้นปี (มีนาคม 2559) ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศจอร์แดน และย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว (กันยายน 2558) ได้ไปตะลุยเดี่ยวประเทศตุรกีมาแล้ว จนเมื่อเดือนนี้(กรกฎาคม 2556) สายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยแอร์เอเชีย ได้ประกาศการบินตรงจากประเทศไทยสู่ประเทศอิหร่าน จึงทำให้อดรีบจองตั๋วและแพ็กกระเป๋าไปเยือนแทบไม่ทัน

นอกจากราคาตั๋วจะถูกโดนใจแล้ว สนามบินที่ต้องขึ้นเครื่องบินไปจากเมืองไทย คือที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง ก็ใกล้บ้านอีกด้วย ที่สำคัญบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศอิหร่าน โดยเริ่มออกจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง เวลา 15.10 น.ก่อนที่จะเหินฟ้าไปถึงกรุงเตหะรานในเวลา 19.45 น. โดยใช้เวลาในการบินราวเกือบ 7 ชั่วโมง

หลังจากที่ทำการจองตั๋วเครื่องบินเสร็จ ก่อนการเดินทางก็พยายามค้นหาข้อมูลพวกรีวิวท่องเที่ยวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศอิหร่านจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกหลายเว็บไซต์ จนรู้สึกเวียนเศียรเล็กน้อย เพราะแต่ละคนต่างก็มีสไตล์และอารมณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวไม่เหมือนกัน จึงลองเช็กกับฝ่ายบริการลูกค้าของสายการบินไทยแอร์เอเชียว่าเมื่อไปถึงแล้วจะกินอยู่อย่างไร วีซ่าต้องทำอย่างไร โซนไหนของเมืองหลวงน่าพักผ่อนสุด หรือแม้แต่ถนนอะไรที่เลื่องชื่อในเมืองหลวงบ้าง จากนั้นทางสายการบินจึงให้เบอร์ติดต่อกับบริษัททัวร์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำงานทัวร์ในประเทศอิหร่าน

เมื่อทำการโทรศัพท์ไปขอข้อมูลก็ยิ่งทำให้ปวดเศียรหนักเข้าไปอีก เพราะจากคำแนะนำของพนักงานบริษัททัวร์ในประเทศไทยบอกว่าประเทศอิหร่านไม่สามารถท่องเที่ยวคนเดียวได้ วีซ่าก็ต้องยื่นทำจากประเทศไทยไปให้เรียบร้อย ย่านท่องเที่ยวหรือชอปปิ้งก็ไม่ได้เหมือนเมืองไทยที่จะมีย่านถนนสุขุมวิท ประตูน้ำ หรือสยามสแควร์ ให้เดินนวยนาดได้สวยๆ การเดินทางภายในประเทศก็ไม่สะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญไม่สามารถค้นหาหรือจองห้องพักล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์เหมือนกับประเทศอื่นๆ ได้ นั่นยิ่งตอกย้ำให้ MadameMonTour พะว้าพะวงมากขึ้นไปอีก แถมยังบอกว่าคุณต้องให้ทางบริษัททัวร์ของเราดำเนินการให้ถึงแม้ว่าคุณจะจองตั๋วเครื่องบินแล้วก็ตาม ซึ่งจะต้องจ่ายทั้งค่าวีซ่า โรงแรมที่พัก และค่าเดินทางไปยังเมืองต่างๆ รวมถึงบริการอื่นๆ บลาๆๆๆๆๆ รวมแล้วประมาณ 60,000 บาท Oh…My…Goddddd….(อะไรมันจะยากเย็นเพียงนี้)

MadameMonTour ไม่ลดละความพยายามค้นหาเบอร์โทรศัพท์ของสถานทูตอิหร่านในประเทศไทย แล้วสอบถามข้อมูลทั้งหมดเพิ่มเติมอีกครั้ง จึงได้คำตอบตรงกันข้ามกับพนักงานของบริษัททัวร์นั้นไซโคอิชั้นมาเลย ซึ่งเวลานั้นอยากจะโทรศัพท์ไปชมบริษัททัวร์หนักหน่อย แต่เอาเถอะน่ะ…คิดอีกด้านหนึ่งเขาก็ต้องทำมาหากินของเขา แล้วการที่เราไม่ได้เลือกใช้บริการของเขาก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ดังนั้นจึงตัดสินใจโกยเดี่ยวไปยังประเทศอิหร่านเลย

เวลาบ่ายโมงแกรปแท็กซี่มาเกยถึงหน้าบ้าน บอกให้ไปส่งสนามบินนานาชาติดอนเมืองหน่อยค่ะ ว่าแล้วพลขับก็บึ่งทำเวลาตามสไตล์ เมื่อไปถึงสนามบินเวลาเกือบบ่ายสองก็เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย แต่ตอนแรกเกือบเข้าไปเช็กอินแทบไม่ทัน เพราะช่องคิวสแกนกระเป๋านั้นยาวเหยียด อิชั้นก็ไม่ทราบไปยืนต่อคิวพวกอาซิ้มอาจุงม่า ที่ไหนได้เอะใจว่าพวกนี้กำลังจะบินกลับประเทศจีน จึงเคลื่อนกายไปข้างหน้าเพราะยังมีช่องทางให้เลือกสแกนกระเป๋าอีกมากมาย แถมคนก็โหรงเหรง

เมื่อยื่นหนังสือเดินทางไทย พร้อมกับตั๋วออนไลน์ที่พรินต์ไปจากเว็บไซต์โชว์ให้พนักงานดูอีกรอบเพื่อเช็กอิน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือบัตรเครดิตใบที่เราใช้จองตั๋วจะต้องเอาไปโชว์ด้วยว่า รายชื่อของเราในบัตรเครดิตตรงกับตั๋วที่จองไว้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นก็เป็นเรื่องอีก นางที่เคาน์เตอร์จะไม่ให้เราเช็กอินขึ้นเครื่องเด็ดขาด และอาจทำให้พลาดโอกาสในการเดินทาง

ด้วยเพราะเป็นมาดามที่ไม่ได้คลั่งไคล้การชอปปิ้งมากนักจึงพุ่งไปที่ประตูก่อนรอขึ้นเครื่องเลย ซึ่งผู้โดยสารมีไม่มากนัก ทั้งหมดประมาณ 30 กว่าคนเห็นจะได้ เพราะสายการบินไทยแอร์เอเชียเพิ่งเปิดเส้นทางการบินใหม่ตรงไปยังประเทศอิหร่าน แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวอิหร่าน นอกนั้นก็มีคนไทย ญี่ปุ่น และพวกนักท่องเที่ยวหน้าฝรั่งๆๆ (แต่เดาไม่ออกว่าชาติไหน) อีกไม่กี่คน ทำให้เที่ยวบินนี้อิชั้นนอนตีลังการาวกับนั่ง Business Class ไปถึงกรุงเตหะรานเลยทีเดียว หลังจากที่รับประทานอาหารเมื้อกลางวัน (แต่เลตพอสมควรสำหรับตัวเอง เพราะเวลาเครื่องออกคือ 15.10 น.) ด้วยอาหารไทยรสชาติถูกปาก พร้อมเครื่องดื่มพอประมาณ

ตามกำหนดการเดิม เดินทางถึงสนามบินนานาชาติอิหม่าม โคไมนี กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน คือเวลา 20.20 น. แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงซัมเมอร์ทำให้ลมพัดสอบช่วยให้เครื่องบินสามารถบินมาถึงที่นี่เร็วกว่าประมาณครึ่งชั่วโมง จึงทำให้เดินทางมาถึงประเทศอิหร่านเวลาประมาณ 19.45 น.

แสงพระอาทิตย์ในประเทศอิหร่านยังไม่ทันอัสดงเลย ทั้งๆ ที่ตอนนี้เวลาประมาณเกือบสองทุ่มแล้ว ถ้าเป็นบ้านเราหนึ่งทุ่มก็เริ่มสลัวๆๆ ทำให้ไม่แน่ใจว่าดูเวลาผิดหรือลมช่วยพัดให้เครื่องบินมาถึงที่นี่เร็วก่อนเวลากำหนดเป็นแน่

MadameMonTour เช็กกระเป๋าใบย่อมที่ถือติดขึ้นเครื่องมาด้วย จากนั้นเดินทางตามๆ กันมากับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ และพลเมืองของประเทศอิหร่าน แต่เมื่อเดินไปถึงใกล้กับบริเวณทางเข้าช่องตรวจคนเข้าเมือง หรือ Immigration อย่าเผลอเดินตามพลเมืองของเขาเข้าล่ะ เพราะตอนนี้เราคือผู้มาเยือน หรือ Visitor จะต้องคอยดูป้ายชี้ว่าให้ไปทำวีซ่าเข้าประเทศก่อน

สำหรับนักท่องเที่ยวต้องไปยื่นขอวีซ่าแบบ On Arrival โดยแสดงหนังสือเดินทางไทย จากนั้นเจ้าหน้าที่จะยื่นเอกสารใบสีขาวขนาดกะทัดรัดให้เรากรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวว่าชื่อ นามสกุล อะไร มาจากไหน พักกี่วัน มาและกลับเที่ยวบินอะไรประมาณนี้ จากนั้นให้ไปยื่นชำระเงินค่าวีซ่าในช่องใกล้ๆ กัน จำนวน 75 ยูโร เมื่อได้รับใบเสร็จรับเงินแล้วก็เดินไปตรงข้ามกับช่องแรกที่ยื่นวีซ่าเพื่อไปชำระเงินค่าประกันการเดินทางจำนวน 16 ดอลลาร์สหรัฐ (แปลกไหมว่าค่าวีซ่าและค่าประกันภัยการเดินทางชำระด้วยเงินคนละสกุลกัน เพราะฉะนั้นต้องแลกเผื่อไปให้พร้อม) ขั้นตอนต่อไปนำใบเสร็จค่าวีซ่าและค่าประกันภัยไปยื่นในช่องแรกแก่เจ้าหน้าที่เพื่อไปพิจารณาและออกสแตมป์วีซ่าให้กับเรา ซึ่งขั้นตอนนี้จะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน แต่ครั้งนี้สำหรับอิชั้นแล้วถือว่าไม่นานมากนักประมาณ 30 นาที เจ้าหน้าที่ก็เรียกให้ไปรับเล่มหนังสือเดินทางที่มีสแตมป์วีซ่าทีละคน ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง เมื่อผ่านไปแล้วก็จะเจอด่านตรวจความปลอดภัยอีกครั้ง ก่อนที่จะไปรับกระเป๋าเดินทางได้

เมื่อมาถึงสายพานรับกระเป๋า MadameMonTour ก็พยายามมองหากระเป๋าตัวเองอยู่นาน เพราะบนสายพานกระเป๋าช่องสายการบินที่อิชั้นนั่งมาจากกรุงเทพฯ กลับเป็นของอีกเที่ยวบินหนึ่ง ก็ไม่มีอีก งงอยู่นานจึงไปชะเง้อเช็กดูจากบอร์ดตารางเที่ยวบินลง หรือ Arrival อีกครั้ง เอะ…ก็ตรงนี้นี่นา งกๆ เงิ่นๆ อยู่พักหนึ่งจึงมีพนักงานหนุ่มหล่อมาสะกิดถามว่าคุณมาจากประเทศไทยหรือเปล่า กระเป๋าของคุณอยู่กับเราตรงบริเวณนี้ อ่อ…ที่แท้พนักงานเก็บไว้ให้ ตรงใกล้บริเวณ Baggage Claim ระหว่างที่อิชั้นมัวไปรอทำวีซ่า

เมื่อหากระเป๋าเจอแล้วจึงรีบเดินหน้าตั้งไปยังประตูทางออก เพราะพะวงว่าขนาดกระเป๋ายังถูกอีพนักงานเก็บไว้ แล้วอีคนขับรถที่จะมารับฉันล่ะ ไม่กลับบ้านไปนอนกับเมียแล้วหรา และนี่เวลาก็ปาเข้าไปสามทุ่มกว่าแล้ว แต่โชคดีพ่อคุณยังยืนเมาท์กับเพื่อนโชเฟอร์อยู่เลย พร้อมกับป้ายกระดาษที่มีชื่อของอิชั้นห้อยเหี่ยว แต่ยังดีจำชื่อโรงแรมได้ จึงเข้าไปทักแล้วโกยแน่บไปยังลานจอดรถ

จริงๆ MadameMonTour ไม่อยากใช้บริการรถของโรงแรม เพราะราคาค่อนข้างสูง ประมาณ 27.75 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 900 บาทเห็นจะได้ แต่เคยเจอประสบการณ์โดนโขกค่าแท็กซี่ตอนเกือบเที่ยงคืนเมื่อครั้งไปประเทศตุรกีมาพันกว่าบาท ซึ่งการเดินทางมาถึงต่างประเทศยามค่ำคืนจึงขอเอาแบบสะดวกและรวดเร็วไว้ก่อน ดีกว่าไปเสี่ยงโดยที่เราไม่รู้ว่าถ้าไปเรียกรถแท็กซี่จากสนามบินเข้าเมืองจะโดนโขกอีกเท่าไหร่ แล้วเขาจะพาเราถึงโรงแรมโดยสวัสดิภาพหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นการเรียกใช้บริการรถจากโรงแรมจึงค่อนข้างมีความมั่นใจ

คุณลุงพลขับใจดีพาอิชั้นขึ้นรถของโรงแรม ซึ่งเป็นรถยนต์เปอโยต์ รุ่น 405 สีขาว ถ้าจำไม่ผิดรถรุ่นนี้สไตล์นี้เคยนิยมในบ้านเราเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน แต่ความแรงนั้นไม่เบาเลยทีเดียวต้องยอมรับ ถนนทางหลวงมุ่งหน้าสู่กรุงเตหะรานก็ดีมากทีเดียว บนท้องถนนช่วงเวลาสามทุ่มนี่ คึกคักไม่น้อย รถยนต์ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันจะเป็นรถยนต์จากประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะยี่ห้อเปอโยต์นี่แหละ ซึ่งคล้ายๆ กับรถยนต์ยอดฮิตยี่ห้อโตโยต้า หรือฮอนด้า ในเมืองไทยบ้านเรานั่นเอง แต่ส่วนใหญ่จะมีแต่สีขาวเหมือนกันหมด เรียกว่าแทบจะไม่เห็นสีดำ สีเทา หรือสีอื่นๆ เลย

ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินมายังในเมืองประมาณเกือบ 40 นาที อิชั้นก็เช็กอินเข้าโรงแรมที่พัก ชื่อ เคย์ยัม (Khayyam Hotel) (อีเมล : hotelkhayyam@hotmail.com) ตั้งอยู่บนถนน อาเมียร์ คาเบียร์ (Amir Kabir Street) ย่าน Baharestan เป็นโรงแรมขนาด 2 ดาว ราคาคืนละ 34 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณพันกว่าบาท โดยก่อนที่จะจองโรงแรมนี้อิชั้นก็อ่านรีวิวเว็บไซต์ท่องเที่ยวต่างประเทศมาเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็แนะนำว่าให้มาพักที่โรงแรมแห่งนี้ เพราะราคาถูก สะอาด และปลอดภัย เมื่อมาสัมผัสของจริงก็ไม่แตกต่างกับคำแนะนำมากนัก

ต้องยอมรับว่าในกรุงเตหะรานมีโรงแรมให้เลือกไม่มากนัก แต่มีให้เลือกแบบทั้งหรูหราราคาแพง มาจนถึงแบบราคาย่อมเยาสไตล์แบ็กแพกเกอร์ แต่ก่อนที่เราจะมาพักได้จะต้องค้นหาในอินเทอร์เน็ต เมื่อมั่นใจเลือกโรงแรมได้แล้วจึงอินบ็อกซ์เข้าไปสอบถามข้อมูลว่า ขนาดของห้องพักมีแบบไหนบ้าง และราคาต่อคืนเท่าไหร่ พร้อมกับกรอกข้อมูลส่วนตัวของเราเข้าไป เช่น ชื่อ นามสกุล สัญชาติ ประเทศ เพศ วันและเวลาที่จะเดินทางมาถึง หรือจำนวนวันที่ต้องการจะพัก เป็นต้น เมื่อเราตกลงเลือกโรงแรมแห่งนั้นแล้วทำการยืนยัน ทางผู้จัดการโรงแรมก็จะส่งข้อความตอบรับมาให้ทางอีเมลว่ามีห้องว่างตามที่เราต้องการหรือไม่ จากนั้นให้เราพรินต์จดหมายตอบรับในอีเมลติดไปด้วย เพื่อเป็นการยืนยัน เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศเขาได้ถ้าไม่ได้เปิดโรมมิ่ง หรือไปซื้อซิมการ์ดจากประเทศเขา

รุ่งสาย MadameMonTour ลงมารับประทานอาหารเช้าแบบพื้นเมือง ที่ทางโรงแรมเตรียมไว้บริการ ซึ่งกินไม่ยาก มีคะบาบกินคู่กับเนย ไข่ลวกหรือทอด (แบบไข่ดาว) ตามประสงค์ ปิดท้ายด้วยชา และผลไม้ เช่น แตงโม หรือแตงกวา (แปลกดี แตงกวาที่นี่จัดว่าเป็นผลไม้) แต่สำหรับอิชั้นยังไม่พอ ปิดท้ายด้วยมาม่ารสแซบที่หนีบไปจากไทยอีก 1 ห่อ กินคู่กับไข่ลวกยามเช้า เอิ่ม…ฟินไปทั่วท้องจริงๆ

เมื่อกลับขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัวแล้ว จึงเตรียมออกไปสัมผัสเมืองหลวงของอิหร่านอย่างกรุงเตหะราน โดยขอทำตัวอาร์ตนิดนึงด้วยการขอข้อมูลจากพนักงานโรงแรมว่า สนใจจะไปมิวเซียม แถมๆ นี้มีบ้างหรือเปล่า จึงได้คำตอบว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิหร่าน” (National Museum of Iran) อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่พักมากนัก เดินไปเพียงแค่ 15 นาทีก็ถึง รวมถึงสถานที่สำคัญๆ อื่นๆ ละแวกนั้นอีกหลายแห่ง

จากโรงแรมที่พัก MadameMonTour เดินมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ บนถนนอาเมียร์ คาเบียร์ ก่อนไปบรรจบกับถนนอิหม่าม โคไมนี (Emam Khomeyni Street) ที่สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์รถยนต์ มีตั้งแต่น้ำมันเคลือบรถ น้ำมันเครื่อง เปลี่ยนถ่ายยางรถยนต์ ไปจนถึงเบาะและอุปกรณ์ชุดแต่งรถยนต์อีกมากมาย ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ย่านวงเวียน 24 ของกรุงเทพฯ เรายังไงยังงั้น เพราะฉะนั้นบรรดาช่างๆ ทั้งหลายจึงดูมอมแมมเล็กน้อย แต่รูปร่างหน้าตานั้นไม่อยากจะสาธยาย เพราะหนุ่มอิหร่านหุ่นดี กำยำ ส่วนใหญ่ผิวขาว และรูปหน้าคมสไตล์เปอร์เซีย ซึ่งระหว่างทางด้วยความสวยเปรี้ยวของสาว (ไม่แท้) ไทยๆ ของอิชั้น จึงสะกดสายตาทุกคู่ได้ไม่น้อย ทำให้อิชั้นจินตนาการไปว่า ตัวเองเป็นดั่ง “แองเจลิน่า โจลี่” ที่ครั้งหนึ่งได้มาเยือนประเทศกัมพูชา แล้วมีหนุ่มๆ มาต้อนรับด้วยรอยยิ้มและสายตาอันเย้ายวนยังไงยังงั้น…ว่าไปนั่น!?

เดิน (หลงตัวเอง) ลอยชายมาสักพักก็ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิหร่าน บนถนน 30th Tirตัวอาคารภายนอกทำจากอิฐสีโอลด์โรสประดับประดาด้วยกระเบื้องสีชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ก่อนอื่นต้องชำระเงินค่าเข้าประมาณ 300 บาท (300,000 เรียล) จากนั้นจึงเดินเข้าไปชมบรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้ชมวัตถุโบราณมาแล้วกว่า 70 ปี และไม่ได้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ที่มีโบราณวัตถุหลายยุคหลายสมัยจัดแสดงไว้ที่นี่มากกว่า 300,000 ชิ้นอีกด้วย





จากนั้นเดินลัดเลาะไปตามถนนนอร์ธ ฮาเฟซ (North Hafez Avenue) ซึ่งพื้นถนนแปลกตรงที่ไม่เหมือนกับพื้นถนนบริเวณอื่น ตรงที่ทำจากหินคล้ายทางเดินในยุโรปต่อเรียงกันยาวนับกิโลเมตร แล้วช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนสองฟากทางจึงเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ที่ยืนต่อไล่เลี่ยกันไป ซึ่งถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวมีหิมะตกลงมาด้วยคงจะโรแมนติกดีไม่น้อย

แยกขวาจากถนนเส้นนี้ไปจะพบกับสถาปัตยกรรมโบราณหลายแห่ง เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์อิหร่าน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิหร่าน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยศิลปะ ตัวอาคารโดดเด่นสะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซียที่ได้รับอิทธิพลมาจากอียิปต์ และกรีก ทำจากอิฐสีโอลด์โรสประดับประดาด้วยกระเบื้องสีที่ต่อกันเป็นรูปดอกทิวลิปอันเป็นศิลปะประจำชาติของอิหร่าน และบริเวณนี้เองสามารถเดินเชื่อมเข้าทางด้านหลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิหร่านได้ไม่ยาก เมื่อเดินผ่านมหาวิทยาลัยศิลปะของอิหร่านก็พยายามจะเข้าไปภายใน แต่ช่วงนี้ปิดเทอมประตูจึงถูกปิด แล้วภายในมีการรีโนเวตบริเวณที่มีการชำรุดหลายแห่งจึงพลาดโอกาสเข้าไปเดินชมเล็กน้อย


เมื่อฟินกับสถาปัตยกรรมโบราณสไตล์เปอร์เซียแล้ว จึงกลางแผนที่พร้อมกับถามทางหนุ่มๆ แถวนั้นเพื่อเดินมุ่งหน้าไปยังถนนแวลิแอส์ร (Valiasr) ซึ่งเป็นถนนสายชอปปิ้งอันเลื่องชื่อของกรุงเตหะราน คล้ายกับถนนสุขุมวิทบ้านเรา คนท้องถิ่นบอกว่าในช่วงฤดูหนาวถนนเส้นนี้จัดว่าโรแมนติกมาก โดยเฉพาะในช่วงทางเหนือของถนน ต้นไม้จะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวพิสุทธิ์สองข้างทาง แต่ระหว่างทางเดินผ่านถนนจอมฮูริ (Jomhouri Street) วันนี้ ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยร้านค้าเกี่ยวกับไอทีเต็มไปหมด ทั้งโทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย บริเวณนี้เข้าใจว่า ถ้าคุณจะมาหาซื้อสายชาร์จโทรศัพท์ไม่ควรพลาดจริงๆ เพราะของยี่ห้อดังราคาถูกมาก ประมาณ 50 บาท เท่านั้นเอง บ้างก็ถือโทรศัพท์มือถือไอโฟนมายืนขายข้างถนนกันเลย คล้ายตลาดมืด แต่ดูแล้วไม่น่าจะใช่ของแท้


หอบร่างเดินไปเกือบทั่วเมืองเตหะราน เมื่อมาถึงถนนแวลิแอส์รจึงขอแวะเข้าร้านฟาสต์ฟูดคล้ายกับเคเอฟซีเพื่อเติมพลัง ภายในมีเมนูพิซซ่า และไก่ทอดกินคู่กับเฟรนช์ฟรายให้เลือก แต่ที่สะดุดที่สุดดูเหมือนจะไม่ใช่อาหารซะแล้ว กลับเป็นหนุ่มหล่อหน้าใสที่ยืนหั่นเนื้อย่างสไตล์ตุรกีอยู่หน้าร้านนั่นเอง ทำให้อิชั้นอดส่งตาหวานใส่ไม่ได้

และแล้วพระเจ้าก็เป็นใจ เขาเดินเข้ามาทักทายเป็นภาษาเปอร์เซียแต่อิชั้นฟังไม่ออกจึงชี้ไปที่เมนูก่อนจะเลือกสั่งไก่ทอดมากิน หนุ่มน้อยหน้าหล่อก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี (มากๆๆๆๆ) คอยเข้ามาเทกแคร์อยู่ไม่ห่าง แถมชวนคุยนั่นนี่ บ้างครั้งก็เดินโฉบเฉี่ยวเราไปมา จนมาทราบชื่อภายหลังว่า “มาเมด” ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้คนในอิหร่านมีอัธยาศัยดีมาก โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าเรามาจากประเทศไทย และเป็นนักท่องเที่ยว เพราะเขารู้สึกภูมิใจที่เราเข้ามาเยือนประเทศของเขา ที่สำคัญเขารู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างพัทยา หรือภูเก็ต

ก่อนกลับอิชั้นโปรยเสน่ห์อีกครั้งด้วยการชวนถ่ายรูปคู่กับมาเมด หนุ่มหล่อเจ้าเสน่ห์สไตล์เปอร์เซียน พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ที่โรงแรมไว้ หากเขาเลิกงานเราต้องการไกด์จำเป็นพาเราเที่ยวเมืองเตหะรานแบบคอร์สสั้นๆ จากนั้นจึงไปเดินชมร้านรวงต่างๆ ที่ขายของอยู่เรียงรายสองข้างทาง มีทั้งรองเท้า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และทุกสิ่งที่คุณอยากได้ แต่สไตล์เปรี้ยวจัดแบบอิชั้นนั้นขอไม่ซื้ออะไรเลยจะดีกว่า เพราะซื้อไปก็คงไม่ได้ใส่ ดีไซน์ดูเรียบง่ายไปหน่อย

เศรษฐกิจภายในประเทศอิหร่านมีความคึกคักไม่น้อย ดูจากสภาพแวดล้อมของตลาด และตามถนนหนทางที่มีแต่ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยสินค้ากันอย่างเพลิดเพลิน ยิ่งตกค่ำผู้คนยิ่งออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ขาดสาย แต่ละร้านพนักงานขายแทบไม่มีเวลาได้นั่งพักเล่น ทำให้อิชั้นเกิดไอเดียว่าคืนสุดท้ายก่อนกลับจะมาหาโรงแรมนอนแถวถนนเส้นนี้ เพราะจองที่โรงแรมเก่าไว้เพียงแค่ 2 คืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นมีโปรแกรมจะเดินทางไปยังตอนใต้ของประเทศอิหร่าน ชื่อเมือง “อิสฟาฮาน”


MadameMonTour ใช้เวลาเดินหาโรงแรมบนถนนแวลิแอส์รอยู่นานก็ไม่เจอโรงแรมสักแห่ง จนเดินผ่านร้านขายยาแห่งหนึ่งจึงเข้าไปถามว่าบนถนนแห่งนี้มีโรงแรมราคาย่อมเยาให้เช่าบ้างไหม โชคดีที่ลูกชายเจ้าของร้านพูดภาษาอังกฤษได้ เขาจึงบอกว่า มีเหมือนกันแต่ต้องเดินย้อนกลับขึ้นไปทางเหนือของถนนแวลิแอส์ร แต่เขาจำชื่อโรงแรมไม่ได้ และไม่ทราบว่าราคาต่อคืนเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่คนอิหร่านอัธยาศัยดีเขาจึงช่วยค้นหาในอินเทอร์เน็ตให้ จึงทราบว่าโรงแรมแห่งนั้นราคาประมาณ 250 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 9,000 พันบาทเลยทีเดียว (อุบส์…ไม่ไหวจะเคลียร์!!!)

อิชั้นจึงบอกไปว่า ไม่เอาดีกว่าราคามันแพงไปสำหรับฉัน เพราะที่พักอยู่ปัจจุบันราคาแค่พันกว่าบาทเอง พอเขาได้ยินเช่นนั้นก็หัวเราะแล้วเอ่ยปากชักชวนขึ้นมาเลยว่า ไปพักบ้านผมก็ได้นะถ้าไม่รังเกียจ แต่อยู่ห่างจากตัวเมืองหน่อย พร้อมกับหันไปพูดภาษาเปอร์เซียกับพ่อของเขา แล้วบอกกับอิชั้นว่า พรุ่งนี้ (วันศุกร์) เป็นวันหยุด ร้านเขาปิดถ้าไม่ซีเรียสจะไปเที่ยวด้วยกันก็ได้นะ อิชั้นได้ยินเช่นนั้นจึงแทบจะกล่าวคำขอบคุณกับเขาแทบไม่ทัน แต่ปฏิเสธไปว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้จะไปเมืองอิสฟาฮานทางตอนใต้ของอิหร่าน เมื่อเจ้าลูกค้าได้ยินจึงตอบกลับมาว่า ไม่เป็นไรงั้นถ้ากลับมาจากอิสฟาฮานให้โทรศัพท์มาบอกเขา ถ้าสนใจจะไปพักที่บ้านก็บอกมา พร้อมกับส่งนามบัตรให้ ซึ่งมาทราบชื่อภายหลังว่า “ฟาร์ซาด” (Farzad) เพิ่งเรียนจบวิศวกรรมโยธา ส่วนคุณพ่อของเขาเป็นเภสัชกรชื่อ “เอมรูซ” (Emrooz) ผู้เป็นเจ้าของร้านขายยาดังกล่าว ชั้นกล่าวขอบคุณพ่อลูกน้ำใจงาม แล้วบอกว่าถ้าไม่มีโรงแรมที่พักจริงๆ จะโทรศัพท์มาบอก จากนั้นจึงถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันเล็กน้อย


หลังจากนั้น MadameMonTour เดินมุ่งหน้ากลับโรงแรมที่พัก เพราะพรุ่งนี้สายๆ จะต้องเดินทางไปอิสฟาฮาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่านไปประมาณ 500 กิโลเมตร ตั๋วรถบัสก็ยังไม่ได้ซื้อ โรงแรมที่พักที่อิสฟาฮานก็ยังไม่ได้จอง เมื่อไปถึงที่พักพนักงานโรงแรมถามว่าไปไหนมาบ้าง พร้อมทำเสียงตกใจเมื่อรู้ว่าอิชั้นเดินกลับด้วยเท้าจากถนนแวลิแอส์ร เพราะเขาบอกว่าที่นี่มีซับเวย์ (Subway) ทำไมไม่ใช้บริการ ราคาถูก และสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินให้เมื่อยล้า แต่ในความเป็นจริงแล้วอิชั้นทราบอยู่แล้วว่ามีรถไฟใต้ดินหรือซับเวย์ เพียงแต่ต้องการเดินสำรวจเมือง เพื่อให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเตหะรานจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ที่สัมผัสมาทั้งวันนั้นบอกได้เลยว่า ที่ประเทศอิหร่านผู้คนอัธยาศัยดีจริงๆ และมีความปลอดภัยกว่าเมืองอื่นๆ ที่อิชั้นเคยไปเยือนในประเทศแถบตะวันออกกลางมา อย่างจอร์แดน หรือตุรกี

แล้วพบกับ “บินเดี่ยว เที่ยวอิหร่าน ใครว่าประเทศนี้น่ากลัว ตอน เช็กอินอิสฟาฮาน เมืองมรดกโลก {2}” ในครั้งต่อไปนะคะ พร้อมกับเรื่องราวปิดท้ายที่กรุงเตหะรานก่อนเดินทางกลับประเทศไทย หรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวกับ MadameMonTour ได้ที่บล็อก https://madamemontour.wordpress.com/ หรือที่ Facebook : https://www.facebook.com/MadameMonTour/

Fact File

1.เตหะราน ภาษาเปอร์เซียน แปลว่า อ้อมเขาอันอบอุ่น

2.เตหะราน เป็นเมืองหลวงของประเทศอิหร่านที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบประเทศตะวันออกกลาง

3.เตหะราน ยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่สำคัญเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจ การบินพาณิชย์ ในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วย


4.ถนนหนทาง และระบบขนส่งในอิหร่านนับว่าสะอาด และมีราคาถูก อย่างเช่น ราคาตั๋วนั่งรถไฟใต้ดิน หรือ Subway สุดสายประมาณ 10-15 สถานี เพียงแค่ 9.5 บาทเท่านั้นเอง

5.ช่วงเย็นไม่แนะนำให้เดินทางด้วยแท็กซี่ หรือรถเมล์ประจำทาง เพราะจะเบียดเสียดไปด้วยผู้คนยิ่งกว่ากรุงเทพฯ 10 เท่า

6.วิธีการคำนวณค่าเงินง่ายๆ ถ้าเป็นธนบัตร 100,000 เรียล (Rial) คือเท่ากับ 100 บาท ถ้าเป็นธนบัตร 500,000 เรียล เท่ากับ 500 บาท



7.สำหรับนักท่องเที่ยวผู้หญิง ที่ประเทศอิหร่านมีกฎข้อบังคับว่าต้องสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และต้องโพกผ้าคลุมศีรษะทุกคนก่อนลงเครื่องบิน แต่ไม่ซีเรียสว่าจะต้องเป็นสีอะไร ถ้าใครแฟชั่นหน่อยจะโพกผ้าที่มีสีสันก็ได้

8.ก่อนออกจากโรงแรมที่พัก หรือจะไปไหนก็ตาม แนะนำให้พนักงานเขียนสถานที่ที่จะไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วตามด้วยภาษาเปอร์เซียไปด้วย เพราะหลายคนไม่ทราบภาษาอังกฤษ เมื่ออ่านภาษาเปอร์เซียแล้วจึงจะเข้าใจ และแนะนำเราได้ถูก

9.สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีบินตรงจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง กรุงเทพฯ สู่สนามบินนานาชาติอิหม่าม โคไมนี กรุงเตหะราน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ คือ วันจันทร์,วันพุธ และวันศุกร์ ขาไปเที่ยวบินที่ XJ450 ออกเวลา 15.10 น. ถึงเวลา 20.20 น. ส่วนขากลับเที่ยวบินที่ XJ451 ออกเวลา 21.50 น. ถึงเวลา 08.00 น. คลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.airasia.com/th

Comments are closed.

Pin It