ขึ้นชื่อว่าการแบ่งปัน ไม่มีข้อกำหนด ไม่มีรูปแบบ หรือขอบเขตที่จะมากะเกณฑ์แบบตายตัว การแบ่งปันเป็นการให้ที่ผู้ให้มุ่งที่จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายหรือขาดแคลนให้แก่อีกฝ่าย สิ่งที่ได้กลับคืนมาอาจจะไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง รางวัล หรือข้าวของมีค่าแต่อย่างใด หากแต่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ และความมหัศจรรย์ที่สุดของการแบ่งปันก็คือ เมื่อผู้รับได้รับการแบ่งปัน ก็จะส่งต่อการแบ่งปันในรูปแบบต่างๆ สู่ผู้อื่นต่อเนื่องกันไป และบนโลกกลมๆ ใบนี้ มีเรื่องราวการแบ่งปันในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งในรูปของการแบ่งปันปัจจัยสี่ หรือในรูปแบบอื่นๆ ที่จะทำให้เราทุกคนได้ยิ้มตามอย่างมีความสุข
Free Hugs Campaign มากอดกัน!
มีคนบอกว่ากอดเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการมอบความรักและความอบอุ่น แถมยังทำได้ง่ายๆ ทำได้กับคนใกล้ตัว พ่อแม่ ลูก เพื่อน คนรัก ไปจนถึง คนแปลกหน้า ใช่แล้ว… ถ้าวันนั้นเป็นวันแย่ๆ แล้วได้ใครสักคนกอดเราคงจะดีไม่น้อย ไอเดีย Free Hugs Campaign จึงเกิดขึ้น ริเริ่มโดยหนุ่มออสเตรเลียนคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า Juan Mann เขาพบว่าการกอดช่วยให้รู้สึกเชื่อมโยง และสร้างพลังขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นับตั้งแต่วันที่เขาถือป้าย Free Hugs และมีหญิงชราเดินเข้ามากอดเขา หลังจากนั้นพลังแห่งการกอดก็แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก ยืนยันความเชื่อที่ว่าความรู้สึกดีๆ ส่งต่อให้กันได้ แม้เราจะไม่รู้จักกันมาก่อนก็ตาม
Nothing But Nets มุ้งช่วยชีวิต
ตอนอายุ 5 ขวบเราอาจจะกำลังเล่นซนตามประสาเด็กๆ ขณะที่เด็กคนหนึ่งได้รับรู้เกี่ยวกับภัยของโรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา แล้วเกิดไอเดียว่า “ต้องทำอะไรสักอย่างแล้วนะ!” เด็กน้อยที่ชื่อ แคทเธอรีน คอมเมล จึงเก็บเงินค่าขนมทีละเล็กละน้อย รวมทั้งเปิดท้ายขายของกับแม่ เพื่อนำเงินไปซื้อมุ้งและบริจาคให้องค์กรการกุศลที่ชื่อ Nothing But Nets จนใครๆ ต่างก็ทึ่งในความแน่วแน่ของเด็กน้อย จากการให้เล็กๆ ก็สร้างความตระหนักในวงกว้างถึงภัยร้ายแรงของไข้มาลาเรีย โดยได้แรงสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงและผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เบคแฮม และอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน แม้เวลาจะผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว แต่แคทเธอรีนและแม่ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กร Nothing But Nets เดินทางออกไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก รวมทั้งช่วยชีวิตคนได้อีกนับล้านในทวีปแอฟริกา
The Missing Piece กระตุ้นแนวคิดแห่งการแบ่งปันในวันเกิด
อีกตัวอย่างของความสุขจากการแบ่งปันที่นำเสนอผ่านโอกาสวันเกิดของทุกๆ คน โดยใช้อาหารเป็นสื่อกลางในการส่งต่อแนวคิดของการแบ่งปัน ผ่านชุดอาหาร บาร์บีคิวพาให้ ของร้านปิ้งย่างที่รู้จักในนาม บาร์บีคิวพลาซ่า โดยทางร้านใช้การสร้างสรรค์เมนูปิ้งย่างมาจัดเรียงในรูปแบบของเค้ก สัญลักษณ์ของการฉลองวันเกิด เสิร์ฟมาพร้อมกับซอสโมมิดาเระ ที่ใส่มาในถ้วยที่ดูเหมือนถ้วยเครื่องดื่มของการฉลองวันพิเศษ และที่สำคัญเค้กที่เสิร์ฟมานั้นเป็นเค้กที่ออกแบบมาภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Missing Piece” หรือเค้กที่ไม่เต็มก้อน มีบางส่วนของเค้กที่ขาดหายไป ซึ่งเป็นความตั้งใจของบาร์บีคิวพลาซ่าที่ต้องการสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ให้ทุกคนลองคิดที่จะแบ่งปันความสุขในวันเกิดสักส่วนหนึ่งของเราเพื่อไปเติมเต็มความสุขให้แก่ผู้อื่น เช่น เด็กกำพร้า คนยากจน คนด้อยโอกาส หรือคนชราที่อาศัยอยู่ตามบ้านพักคนชรา ชุดอาหารดังกล่าวทำออกมาจำหน่ายในช่วงโอกาสเดือนเกิดของบาร์บีกอนจนถึงเดือนสิ้นเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น
Local Alike มาเที่ยวอย่างสร้างสรรค์กันเถอะ
จะดีแค่ไหนถ้าการไปเที่ยวไม่ใช่เพียงไปเก็บเกี่ยวความสุขให้ตัวเอง แต่ยังเผื่อแผ่ความสุข กระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนไปในตัว ด้วยแนวคิดเล็กๆ นี้ Local Alike จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวโดยชุมชน กับนักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไว้ด้วยกัน การไปเที่ยวในแบบ Local Alike จึงเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ให้ชาวบ้านในชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการเอง ส่วน Local Alike คือฝ่ายโปรโมตและส่งต่อนักท่องเที่ยวถึงชุมชน โปรแกรมต่างๆ คิดขึ้นมาโดยยึดศักยภาพของชุมชนเป็นหลัก ผลที่ได้คือนักท่องเที่ยวจะไม่ได้มาเพียงเก็บเกี่ยวความสุขและภาพถ่ายกลับไป แต่ยังได้ความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง แถมรายได้ก็คืนให้ชุมชนโดยตรงเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นต่อไปด้วย
Grandpa Kitchen เด็กๆ มา! เดี๋ยวตาทำให้กิน
หลายคนคงเคยผ่านตาคลิปไวรัลในยูทูปที่มีชายชราชาวอินเดียนั่งอยู่กับอาหารจานมหึมา และไม่เคยซ้ำเมนูกันสักครั้ง การทำอาหารแบบ “จัดหนักจัดเต็ม” ของคุณตาไม่ใช่เพียงเพื่อเรียกยอดวิว หากใครที่เคยคลิกเข้าไปดูจะพบว่าคุณตาและลูกหลานต่างใช้เวลาเตรียมวัตถุดิบทุกอย่างและตั้งใจปรุงอย่างดี ก่อกองไฟกลางทุ่งแบบง่ายๆ ทอดเฟรนช์ฟราย ต้มแกง หุงข้าว ในปริมาณที่มหาศาลจนไม่น่าเชื่อว่าชายชราคนนี้จะมีแรงทำไหว แต่เมื่อถึงตอนท้ายคลิป บางคนอาจถึงกับน้ำตาซึมเมื่อได้เห็นว่าอาหารเหล่านี้ถูกส่งต่อให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ให้เด็กๆ ได้กินกันอย่างอิ่มหนำ เรียกว่าเป็นการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนอย่างน่าทึ่ง จนทุกวันนี้มีผู้บริจาคเงินให้องค์กรของคุณตาเพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร และยังได้เผื่อแผ่ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางด้านอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย
Comments are closed.