Lifestyle

“SACICT จิตอาสา” พัฒนาอาชีพกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยผ้าปักมือกองหลวง

Pinterest LinkedIn Tumblr

ผ้าปักมือกองหลวง
เซเลบออนไลน์ มีโอกาสร่วมเดินทางไปจังหวัดเชียงรายกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ในกิจกรรม “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยมี “ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา” หรือลุงปุ๊ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 เป็นวิทยากรจิตอาสาให้ความรู้ตลอดกิจกรรม
พิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี
เริ่มต้นทริปกันที่ “พิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี” ตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนบ้านห้วยส้านพลับพลา เคยเป็นสถานที่ประทับแรมของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5
ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา นำชม พิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี
ปัจจุบันจัดแสดงประวัติของเจ้าดารารัศมี เป็นแหล่งการเรียนรู้การทอผ้าแบบดั่งเดิม ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์แสดงสิ่งทอล้านนา ทั้งผ้าผ้ากั้ง(ผ้ากั้นประตู), ผ้าปูโต๊ะ, ผ้าห่อคัมภีร์, ผ้าหัวมุ้ง, ผ้าล้อ(ล้อหัวช้าง), ผ้าเจ๊ตหลวง, ผ้าตุงต่างๆ และผ้าซิ่นพื้นเมือง อย่าง ผ้าซิ่นบ้านโป่ง สปป.ลาว, ซิ่นด่อน, ซิ่นตาลื้อ, ซิ่นลื้อนาแล, ผ้าซิ่นลื้อจากเมืองต่างๆ
ผ้าซิ่นล้านนาที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์หอพลับพลาเจ้าดารารัศมี
สาธิตการทอผ้า
ส่วนชั้นล่างสาธิตการทอผ้าฝ้าย การปักผ้า และจำหน่ายสินค้าที่ระลึก
พระหยกเชียงราย
ไปชมพุทธศิลป์ล้านนากันต่อที่ วัดพระแก้ว สักการะ “พระหยกเชียงราย” ซึ่งแกะด้วยหยกจากแคนาดา ที่หอพระหยก ซึ่งเป็นอาคารทรงล้านนา ผนังภายในมีภาพเขียนเกี่ยวกับตำนานพระแก้วมรกต ส่วนพระอุโบสถประดิษฐาน “พระเจ้าล้านทอง” เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย พร้อมเข้าชมศิลปวัตถุที่สำคัญภายใน “พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว”
ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา อธิบายขั้นตอนการปักผ้า
จากนั้นเดินทางสู่ชุมชนชายขอบ หนองขำ(ลาหู่) และ โป่งป่าแขม (อาข่า) ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย โดยมีครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา พร้อมคณะครูจิตอาสา ไปถ่ายทอดวิธีการปักผ้าในแบบ “ผ้าปักมือกองหลวง” ให้แก่ชาวบ้านและชนเผ่า ครูสิริวัฑน์ ตั้งใจจะเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าทอพื้นเมืองทั้งฝ้ายและไหม รวมถึงเส้นใยธรรมชาติ จึงคิดลายผ้าซึ่งเป็นลวดลายล้านนาที่เห็นได้จากสถานที่ต่างๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะวัดวาอาราม นำมาวาดมือลงบนผ้าทีละผืน แล้วจึงใช้เทคนิคการปักแบบลูกโซ่ที่ละเอียดบรรจง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือและเพิ่มทางเลือกเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านเพราะ ผลงานที่สำเร็จ ครูสิริวัฑน์ จะเข้ามารับซื้อถึงชุมชน
ตัวอย่างผ้าพื้นที่วาดลายแล้ว

ผลงานปักผ้าดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์
สำหรับหญิงชนเผ่ามีฝีมือในการเย็บปักเป็นทุน เพราะต้องตัดเย็บเสื้อผ้าประจำเผ่าให้ตนเองและสมาชิกครอบครัว อย่าง อาข่า และ ลาหู่ เป็นกลุ่มที่มีฝีมือในการปักลายผ้า จากการเลียนแบบธรรมชาติและของใช้รอบตัว เช่น ลายดอกหญ้า ก้อนหิน ใยแมงมุม ก้างปลา ฟันหมา กลอง เป็นต้น รวมถึงการผสมเทคนิคเย็บผ้าปะติด แถมหญิงอาข่ายังนิยมปักเหรียญเงิน ลูกปัด เปลือกหอยเบี้ยประดับลงบนเสื้อผ้า แต่งานฝีมือเหล่านี้ต้องใช้เวลาและยังต้องทำในเวลาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตร ชิ้นงานที่ได้จึงมีจำนวนน้อย ไม่มีตลาดรองรับ และขาดการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำให้หลายคนละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเข้าเมืองเพื่อหารายได้
ผลงานปักผ้าดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์
ผลงานปักผ้าดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์
ตัวอย่างลายผ้าปักมือกองหลวง
ดังนั้นกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงานของ SACICT ในครั้งนี้ ช่วยให้เกิดการสร้างวัฏจักรของงานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเท่าเทียมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคม เช่น คนชายขอบ กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรม รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างให้เศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง พร้อมกับตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นในคุณค่าทางจิตใจของงานศิลปหัตถกรรม เกิดการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย
ตัวอย่างลายผ้าปักมือกองหลวง
บรรยากาศกิจกรรม SACICT จิตอาสา
สำหรับกิจกรรม “SACICT จิตอาสา” เกิดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้จัดกิจกรรม CSR ภายใต้ชื่อโครงการ “SACICT จิตอาสา” เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริในด้าน “จิตอาสา” และสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทย ของพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน”
อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ SACICT ชมฝีมือของชาวชนเผ่า
โดย “SACICT จิตอาสา” จัดรวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2562 มี 2 รูปแบบ คือ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” เพื่อการสร้างอาชีพแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจะจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 8 ครั้งใน 4 ภูมิภาค และกิจกรรมที่สองคือ “SACICT จิตอาสา นำพาความสุข” เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมไทยว่า งานศิลปหัตถกรรมสามารถสร้างความสุข ฝึกสมาธิ และช่วยบำบัดความเครียดแก่กลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเยียวยา เช่น กลุ่มผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ตามสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2 ครั้ง
อัมพวัน พิชาลัย และ ครูสิริวัฑน์ เธียรปัญญา

Comments are closed.

Pin It