ท่ามกลางอุบัติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต่างก็กำลังวิตกกังวลถึงปัญหาสุขภาวะอนามัยในสังคม ยังมีอีกหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัวที่อาจกำลังคุกคามชีวิตพวกเราทุกคนโดยไม่รู้ตัว อย่าง “โรคหัวใจ” โรคไม่ติดต่อ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในทุกขณะเวลา ซึ่งจากสถิติล่าสุดขององค์กรอนามัยโลก พบว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 17.9 ล้านรายต่อปี เป็นอันดับหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก ขณะที่ประเทศไทยเอง พบว่ามีอัตราตัวเลขการเสียชีวิตสูงกว่า 20,000 รายต่อปี หรือในทุก ๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 2 คน
29 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก โดยสมาพันธ์หัวใจโลก เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์กรการกุศลผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่เคียงข้างคนไทยมาอย่างยาวนาน จะมาเผยถึงแง่มุมการทำงานและอีกหลากหลายความหมายที่ยิ่งใหญ่ของ “หัวใจ” พร้อมเชิญชวนคนไทยทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการ “ให้… (กำลัง)ใจ” กันและกัน ในวันหัวใจโลกปีนี้
ดูแล ‘หัวใจ’ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง
“โรคหัวใจ” เป็นคำจำกัดความที่ครอบคลุมถึงหลายภาวะและมีหลายชนิด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือดเหล่านี้ มักมีความสัมพันธ์กับสาเหตุของการเกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง และอัมพฤกษ์ อัมพาต อย่าง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว 5-6 เท่า หลอดเลือดสมองอุดตัน 2.5-3 เท่า และเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-3 เท่า
ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง หากเกิดขึ้นกับหัวใจห้องล่าง คนไข้จะเสียชีวิตทันทีหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าไหลตาย แต่ถ้าหากเกิดกับหัวใจห้องบน จะส่งผลให้หัวใจเต้นไม่สัมพันธ์กัน หรือเรียกว่า “โรคหัวใจเต้นระริก” ที่ผ่านมาโรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีส่วนในการรณรงค์และผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจในโรคหัวใจเต้นระริกในสังคมไทยมาโดยตลอด เพราะโรคนี้สามารถป้องกันได้ หรือหากผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันท่วงที จะช่วยลดความเสี่ยงโรคอัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน รวมถึงอัตราการพิการและเสียชีวิตได้
อาจารย์ นายแพทย์ธัชพงศ์ งามอุโฆษ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ หัวหน้างานศูนย์รักษาหัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานองค์กรนานาชาติด้านโรคไฟฟ้าหัวใจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2020 หรือ APHRS ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “หัวใจเต้นระริก หรือภาวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติของหัวใจห้องบน จะส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งมีโอกาสที่จะหลุดออกจากหัวใจไปอุดกั้นหลอดเลือดสมอง นำมาซึ่งการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการของโรคหัวใจเต้นระริก โรคประจำตัวบางชนิดหรือหลายพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ อย่าง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น รวมถึง การสูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป รับประทานอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลสูงเป็นประจำ หรือแม้กระทั่งความเครียด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นระริกและเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ปัจจุบันภาวะหัวใจเต้นระริกสามารถรักษาได้ด้วยกันหลายวิธี แต่ทว่าผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีสัญาณเตือนก่อน จึงมักจะมาพบแพทย์เมื่อช้าไป ดังนั้นควรหมั่นสังเกตุตนเอง เช่น การเช็คชีพจรอย่างสม่ำเสมอ เป็นการตรวจตัวเองได้เบื้องต้น หรือการตรวจสุขภาพประจำปี ก็เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้”
เพื่อส่งเสริมให้คนไทยทุกคนหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง และเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่ต้องการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในเบื้องต้น สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันThai CV risk calculator บนระบบ iOs และ Andriod เพื่อให้ทราบถึงเปอร์เซนต์ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคเส้น เลือดหัวใจตีบตัน และโรคเส้นเลือดสมองตีบตันในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าได้ด้วยตนเอง*
ซึ่งแบบประเมินนี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างขึ้น เพื่อติดตามศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทย ภายใต้โครงการศึกษาพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี เพื่อคนไทยทุกคน
หัวใจของผู้ให้ ส่งต่อกำลังใจสู่ผู้ป่วย
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะกับตนเองหรือคนรอบข้าง ไม่ว่าช้าหรือเร็ว ก็ต้องประสบพบเจอ พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ หนึ่งในผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยและการแพทย์ไทยมากว่า 10 ปี กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาหลายเดือนมานี้ หลายคนที่เคยมองข้ามหรือละเลยความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ การป้องกัน ส่งเสริม และรักษาสุขภาพ เริ่มหันกลับมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองและสุขภาวะอนามัยในสังคมมากขึ้น แต่จริง ๆ แล้ว ในทุกนาที ความเจ็บป่วยและความเสี่ยงต่อโรคร้ายมีอยู่ตลอดเวลา นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยังคงและจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด”
เชื่อว่า ความสุขของทุกคน คือการได้เห็นสมาชิกในครอบครัวของตนเองมีความสุขทั้งกายและใจ เช่นเดียวกันกับ ผู้ป่วยยากไร้จำนวนมาก ที่ไม่เพียงปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ปราศจากโรคร้าย แต่ยังปรารถนาให้ครอ บครัวและคนรักมีความสุขในหัวใจที่ได้เห็นพวกเขาพ้นจากความทุกทรมานทางร่างกายอีกด้วย “เนื่องในโอกาสวันหัวใจโลกปีนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ นอกจากอยากให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพกายใจของตนเองและคนรอบข้างให้แข็งแร็งแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ ดิฉันในฐานะตัวแทนของมูลนิธิ จึงอยากขอเชิญชวนทุกคนในสังคมร่วมสืบสานวัฒนธรรมแห่งการให้และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อ “กำลังใจ” หยิบยื่นพลังบวกให้กันและกัน ร่วมสร้างและส่งต่อกำลังใจนี้ไปยังผู้ป่วยยากไร้ที่กำลังเฝ้ารอความหวังในการรักษา ที่ไม่เพียงจะมอบคุณค่าทางจิตใจอย่างมหาศาลให้ผู้รับ หากแต่ยังช่วยเติมเต็มความอบอุ่นในหัวใจของผู้ให้ทุกๆท่านอีกด้วย ร่วมแบ่งปันความสุขที่ยิ่งใหญ่ สุขในการเป็นผู้ให้ชีวิต ต่อลมหายใจของผู้ป่วยและสร้างความหวังในหัวใจของพวกเขาและครอบครัวด้วยกันนะคะ” พรรณสิรี กล่าวปิดท้าย
ตลอดระยะเวลากว่า 51 ปี ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในฐานะศูนย์กลางระดมทุนและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หัวใจหรือความหมายมั่นสำคัญขององค์กร คือ การสร้างสุขภาวะหรือความมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ที่ผ่านมาได้ดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ รวมถึงผู้ป่วยจากโรคและภาวะหัวใจ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น กองทุนหัวใจเต้นผิดจังหวะ กองทุนเพื่อผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว และอีกหลากหลายโครงการ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วม ให้… (กำลัง)ใจ เป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตผู้ป่วยยากไร้ ผ่านการร่วมสมทบทุนกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ หรือสนับสนุนของที่ระลึกที่มีสัญลักษณ์หัวใจอินฟินิตี้ เส้นสายหัวใจสีแดงที่ต่อกันเป็นรูป ‘อินฟินิตี้’ ที่ใช้สื่อถึงความหมายของ ‘คำว่า ไม่สิ้นสุด (infinity)’ ทุกกำลังใจ ทุกกำลังทรัพย์ ที่ทุกท่านมอบให้ จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งการให้ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อใช้สร้างและพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์และความเท่าเทียมในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง เติมเต็มโอกาสและความหวังในการรักษาที่ดียิ่งขึ้นให้กับพี่น้องคนไทยทุกคนต่อไป ดังปณิธานที่ว่า คำว่าให้…ไม่สิ้นสุด
Comments are closed.