Lifestyle

เดินทางขึ้นเหนือ สืบสานพระราชปณิธาน ส่งเสริมงานฝีมือชูคุณค่างานศิลปาชีพ

Pinterest LinkedIn Tumblr


เดินหน้าสืบสานพระราชปณิธาน พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ลงพื้นที่ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) จังหวัดลำปาง และการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากใยกัญชง จังหวัดเชียงใหม่ ชูคุณค่างานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์และการใช้งานที่โดนใจ คนรุ่นใหม่ รวมทั้งขยายสู่การใช้งานในรูปแบบหัตถอุตสาหกรรมได้ในอนาคต พร้อมเตรียมดันสู่การตลาดออนไลน์และการสื่อสารสร้างความนิยมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ


ครั้งนี้เราเดินทางไปศึกษาแนวทางการส่งเสริมงานศิลปาชีพ ตามโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปาชีพให้เป็นที่รู้จักและเกิดการสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ที่บ้านทุ่งจี้แห่งนี้ มีความโดดเด่นทั้งเรื่องของงานเซรามิคและงานหัตถกรรมจากชาวเขาเผ่าม้งที่แสดงถึงฝีมือในด้านงานสาน ผนวกกับการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งกว่าจะผลิตกระเป๋าแต่ละใบได้นั้นต้องอาศัยฝีมือและความใส่ใจเป็นอย่างมาก


โดยไม้ไผ่ที่นำมาใช้สานเป็นกระเป๋านั้นเป็นไผ่ที่ขึ้นในที่สูงจากระดับน้ำทะเล ใน 1 เดือนสามารถเข้าป่าไปหาตัดต้นไผ่เพื่อนำมาสานเป็นกระเป๋าได้เพียง 3 วันเท่านั้น โดยต้องตัดในคืนแรม 7-8-9 ค่ำ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้นไผ่จะคายน้ำทำให้ได้ไผ่ที่มีคุณภาพ จากนั้นต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกมากมาย ทั้งนำไปต้ม ตากแดด นำมาสาน จากนั้นก็ต้องรมควันก่อนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบพร้อมจำหน่าย


นอกจากนั้นในส่วนของงานเซรามิค ถือเป็นการสานต่อเมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานเครื่องปั้นดินเผาภายในโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ เมื่อปี 2540 เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่และห่างไกลจากยาเสพติด และส่งเสริมอาชีพด้านศิลปาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น


ถึงทำให้ปัจจุบันพื้นที่รอยต่อบ้านทุ่งจี้ มีงานด้านศิลปาชีพ ทั้งงานเครื่องปั้นดินเผา ผ้าปัก ผ้าทอ และแกะสลักไม้ อีกทั้งยังถือเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทำเซรามิก ตั้งแต่การขึ้นต้นแบบ การทำแบบพิมพ์ การเขียนลาย การขึ้นรูปทั้งแป้นหมุน การหล่อแบบ การปั้นอิสระ การเคลือบสี เป็นต้น ซึ่งในอดีตเตรียมยกระดับมาตรฐานงานเซรามิกและหัตถกรรมใยกัญชง หวังดันสู่ตลาดแพลตฟอร์มดิจิทัล


และอีกหนึ่งการเยี่ยมชมโครงการสานต่อ ก็คือการเยี่ยมชมชุมชนหัตถกรรมบ้านห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านในชุมชนกว่า 100 คน ภายใต้การนำของ “ครูนวลศรี พร้อมใจ” ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ชักชวนกลุ่มแม่บ้านมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมจาก “เส้นใยกัญชง” ซึ่งมีจุดเด่นที่กระบวนการผลิตล้วนมาจากธรรมชาติ ทั้งเส้นใยและการย้อมสี ผลิตภัณฑ์จึงมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นการสืบสานคุณค่างานศิลปาชีพ


เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “กัญชง” คือพืชพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมชาวเขาภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้ง (Hmong) รู้จักปลูกกัญชงและสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากกัญชงมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาได้ปลูกกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากงานหัตถกรรมปัจจุบัน “กัญชง” เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกําลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคนรุ่นใหม่ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน และสามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากมาย เส้นใยกัญชงของไทย จัดว่าเป็นวัสดุชั้นดี ระดับพรีเมี่ยม เพราะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี มีความเหนียวนุ่ม มีความทนทานสูงกว่าผ้าฝ้าย ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน ดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนล่อน ป้องกันรังสียูวีได้ดี เนื้อผ้ายังมีเนื้อสัมผัสที่มีเสน่ห์ สวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงโดนใจคนรุ่นใหม่เป็นพิเศษ


โดยงานนี้ “พรพล เอกอรรถพร” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT เป็นหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่หลักในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ โดยการสะท้อน “คุณค่าความเป็นไทย” ผ่านงานศิลปาชีพและงานหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น


นอกจากนี้ยังเตรียมยกระดับมาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในงานเซรามิกและหัตถกรรมใยกัญชง ให้มีรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของตลาด และเตรียมผลักดันเข้าสู่การซื้อ-ขายในตลาดออนไลน์ อีกทั้งยังมีแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้บริโภคในปัจจุบันได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

Comments are closed.

Pin It