เวียนมาอีกครั้งแล้วสำหรับงานประจำปีที่นักเขียน-นักอ่านต่างตั้งตารอ นั่นคือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 38 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 8 ซึ่งจะจัดพร้อมกัน ภายใต้แนวคิด “Reading maketh a full man การอ่านทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์”
ไฮไลต์ที่น่าสนใจสำหรับงานปีนี้ คงจะเป็นการมาเยือนครั้งแรกของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นหลายแห่ง ที่ต่างตกปากรับคำจะนำหนังสือในค่ายมาร่วมออกบูท โดยมี สมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Book Publishers Association) เจแปนฟาวน์เดชั่น และ สมาคมผู้จัดพิมพ์เพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (Publishers Association for Cultural Exchange) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประสานงานและสร้างสรรค์กิจกรรม
มร.คัทซึมิ คาคาสึ ผอ.บริหาร สำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้อำนวยการ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ในฐานะเป็นผู้แทนได้แสดงความคิดเห็นต่อตลาดหนังสือเมืองไทยในสายตาของสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นว่า ตลาดหนังสือเมืองไทยนั้นค่อนข้างเล็ก เพราะคนไทยอ่านหนังสือน้อย ขณะที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจในเรื่องการอ่านมาก เรียกได้ว่าอ่านหนังสือเกือบตลอดเวลาแม้ว่าจะเดินทางอยู่ในรถไฟใต้ดินก็ตาม ดังนั้น ตลาดหนังสือของญี่ปุ่นจึงกลายเป็นตลาดใหญ่มาก
การตัดสินใจมาร่วมงานสัปดาห์หนังสือในครั้งนี้ เพราะต้องการชักชวนให้คนไทยหันมารักการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนังสือที่นำมานั้นส่วนมากจะเน้นสะท้อนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของญี่ปุ่น ทั้งมรดกที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ศาสตร์และศิลปะร่วมสมัย รวมถึงแนวคิดใหม่ๆ ในแวดวงการจัดพิมพ์หนังสือ โดยจะแบ่งเป็น 3 โซนหลักๆ
โซนแรก คือ “หนังสือและการอ่าน” ครั้งนี้บรรดาสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นได้เลือกหนังสือและสิ่งพิมพ์หลากหลายประเภทกว่า 550 หัวเรื่อง มาจัดแสดง ณ ศาลาญี่ปุ่น (Japanese Pavilion) บูธเลขที่ L11 ภายใน Plenary Hall ประกอบด้วย มานุษยวิทยา/สังคมวิทยา 40 หัวเรื่อง, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และคหกรรมศาสตร์) 32 หัวเรื่อง, วรรณกรรม 27 หัวเรื่อง, หนังสือสำหรับเด็ก 88 หัวเรื่อง, ศิลปะ 19 หัวเรื่อง, งานอดิเรก/หนังสือเสริมทักษะ 12 หัวเรื่อง, พจนานุกรม/การเรียนรู้/ภาษา 14 หัวเรื่อง, นิตยสาร/Mook*/และการ์ตูน 91 หัวเรื่อง, วัฒนธรรมญี่ปุ่น 18 หัวเรื่อง, หนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย 46 หัวเรื่อง, หนังสือเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น 147 หัวเรื่อง รวมถึงหนังสือภาษาญี่ปุ่นและหนังสือแปลจากญี่ปุ่นอีกมากมาย
ใครที่สนใจแนวคิดและการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นลองแวะไปที่ โซน “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น ภายใน Reception Hall Zone A จะจัดแสดงหนังสือ 23 เล่มที่ได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมประจำปี 2552 (Book Design Concour 2009) ตัวอย่างชิ้นงานการห่อของด้วยผ้าสไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (Furoshiki) จำนวน 12 ชิ้น และผลงานการเขียนตัวอักษรญี่ปุ่นด้วยพู่กัน โดย มาริโกะ คิโนชิตะ (Mariko Kinoshita) ศิลปินเขียนตัวอักษรญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งให้เกียรติเป็นวิทยากรสาธิตและอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนอักษรญี่ปุ่นด้วยพู่กัน” ในงานนี้ด้วย
ส่วนกิจกรรมแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ระหว่างนักออกแบบและบรรณาธิการ ทั้งจากญี่ปุ่นและไทย ได้แก่ การประชุมโต๊ะกลมระหว่างสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือแห่งประเทศญี่ปุ่นและสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “Printed books vs. eBooks: Content, Technology, and Marketing Challenges”, การเสวนาเรื่อง “หนังสือสำหรับเด็ก” โดยบรรณาธิการหนังสือเด็กจากญี่ปุ่นและไทย, การเสวนาเรื่อง “Book Design” โดย มิลกี้ อิโซเบะ (Milky Isobe) นักออกแบบหนังสือที่มีชื่อเสียงจากญี่ปุ่น และ ธีรวัฒน์ วิญญรัตน์ จาก วิธีทำ ดีไซน์ สตูดิโอ ตัวแทนนักออกแบบจากประเทศไทย, การเสวนาเรื่อง “ลับแลญี่ปุ่น” โดย อุทิศ เหมะมูล และวิทยากรที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
สำหรับแฟนพันธุ์แท้การ์ตูนญี่ปุ่นต้องไม่พลาด เพราะงานนี้จะมีการแจกลายเซ็นและพบปะพูดคุยกับนักเขียนชื่อดังอย่าง โคจิ ซูซุกิ (Koji Suzuki) ผู้เขียน “Ring”, เคียวโกะ คุมาไก (Kyoko Kumagai) นักเขียนการ์ตูนชื่อดังเจ้าของผลงาน “Houkago Orange” (รักนาย เจ้าชายนักกีฬา) และ ฮิเดยูกิ มัทสึบาระ (Hideyuki Matsubara) นักเขียนนิยายสำหรับเยาวชนชื่อดัง เจ้าของผลงาน “Pasokon Tsuushin Tanteidan” (รหัสลับทัวร์ปริศนา)
เตรียมพบ งานสัปดาห์หนังสือฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27-มี.ค.- 4 เม.ย. 53 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิรกิติ์นอกจากจะได้เลือกซื้อหนังสือในราคาพิเศษแล้ว ยังได้เรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับดินแดงอาทิตย์อุทัยอีกด้วย
Comments are closed.