Lifestyle

“มองผ่านเลนส์พ่อ” หนังสือเทิดพระเกียรติสุดล้ำค่า

Pinterest LinkedIn Tumblr

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
ภาพที่ปรากฏเจนตา ภาพที่เราจำกันได้ดี คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานทั่วทุกภูมิภาคอย่าง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่เว้นแม้แต่ในถิ่นทุรกันดาร ด้วยอุปกรณ์ประจำพระองค์คือ กล้องถ่ายรูปและแผนที่ ขณะทรงงานก็ทรงบันทึกภาพของประชาชนในทุกหัวระแหง ทุกภาพที่สะท้อนผ่าน “เลนส์พ่อ” ของกษัตริย์นักพัฒนา ขณะเสด็จเยี่ยมเยือนพสกนิกรชาวไทยในทุกถิ่นที่ นับเป็นการรวบรวมเรื่องราวผ่านมุมมองและความมีศิลปะส่วนพระองค์ มิติภาพของสถานที่และผู้คนในมุมมองแปลกตา อีกทั้งยังเป็นบันทึกข้อมูลประวัติศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศ ในฐานะกษัตริย์นักพัฒนาและองค์อัครศิลปินผู้ทรงประสานศาสตร์และศิลป์ ในการนำพาประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ให้ก้าวไปสู่วิถีแห่งความสุขและความเจริญอย่างยั่งยืน
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือปกแข็ง “มองผ่านเลนส์พ่อ” จำนวน 168 หน้า ซึ่งเป็นบันทึกแห่งคุณค่าและความงามที่จัดทำขึ้นโดย ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทุกคน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 7 รอบ
หนังสือมหามงคล “มองผ่านเลนส์พ่อ” แบ่งเนื้อหาเป็น 3 บท ได้แก่ บทที่ 1 ทรงครองดวงใจไทยทั้งหล้า บอกเล่าเรื่องราวพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนขึ้นครองสิริราชสมบัติ ความงดงามของสายสัมพันธ์อันแนบแน่นในราชสกุลมหิดล การสัมผัสครั้งแรกกับงานชลประทานและการปลูกป่า ความผูกพันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคนไทย ที่มีมากมายเกินกว่านิมิตหมายแห่งความเป็นชาติไทย
บทที่ 2 มองผ่านเลนส์พ่อ เป็นการประมวลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จำนวน 48 ภาพ ที่ร้อยเรียงเรื่องราวพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงงานตลอด 65 ปีที่ครองราชย์ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชดำริ ยุคลบาทย่างเยื้องทั่วถิ่นไทย หรือการประพาสรอนแรมแดนอีสาน รวมถึงน้ำพระทัยสู่ผู้ยากไร้ในวิธีปฏิบัติเมื่อเสด็จเยี่ยมราษฎร

ในส่วนของ บทที่ 3 พระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ นำเสนอพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับกล้องส่วนพระองค์ ดั่งเคยมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ ประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ เข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ในปี พ.ศ.2537 “การถ่ายรูปนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นเพียงแต่กดชัตเตอร์ไว้สำหรับเก็บให้เป็นที่ระลึก แล้วก็ถ้ารูปนั้นดี มีคนได้มาเห็นรูปเหล่านั้นและก็พอใจ ก็ทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้กับผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้เขามีโอกาส ได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป…”

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีเอ็มบี เซ็นเตอร์ 1558

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It