Lifestyle

หอมหวลไปกับ 3 โกสต์ ไรเตอร์ มือทอง!

Pinterest LinkedIn Tumblr


หากเอ่ยถึง Ghost Writer หรือ นักเขียนผี หลายคนคงคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ ทว่า ด้วยชื่อที่ฟังดูน่าสะพรึงกลัว ประกอบกับการทำงานที่ต้องหลบซ่อน ไม่สามารถที่จะเปิดเผยตัวตนได้มากนัก ทำให้เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วหาผู้ที่สนใจทำอาชีพ Ghost Writer ยากเย็นเหลือเกิน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนจากศัพท์ที่ใช้เรียก Ghost Writer หรือ นักเขียนผี ก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นคำว่า “ผู้เรียบเรียง” แทน ซึ่งฟังดูสละสลวยและสื่อความหมายของคนทำงานด้านนี้ได้ดีกว่า และจุดนี้เองเสมือนเป็นจุดเปลี่ยนให้ผู้ที่ทำงานแบบไม่อยากเปิดเผยตัวมาก่อน ยอมที่จะก้าวเท้าจาก “มุมมืด” ออกมาหาเวทีของตนเองด้านงานเขียนกันมากขึ้น โดยบางคนถึงขั้นหันแหชีวิตตัวเองมาเดินทางบนเส้นทางอาชีพการเป็น “ผู้เรียบเรียง” อย่างจริงจัง
 

และถ้าหากถามว่าอาชีพ Ghost Writer หรือ ผู้เรียบเรียง เป็นอาชีพที่หอมหวลมั้ย?

ต้องตอบเลยว่า อาชีพนี้ หากเขียนได้ ภาษาดี ประกอบกับจังหวะดี ก็ประสบความสำเร็จ และรับผลตอบแทนให้สบายได้เลย อย่างเช่น วรินทร์ธร ธราณิชอิศม์เดช เจ้าของนามปากกา “วรินทร์ธรา”
วรินทร์ธร ธราณิชอิศม์เดช
วรินทร์ธร ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มีตำแหน่งเป็นถึง บก.สนพ. ฟิวเจอร์ พับลิชชิ่ง (ในเครือนิตยสารผู้หญิงวันนี้) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และหันมาจริงจังกับการเป็น “ผู้เรียบเรียงอิสระ” ที่ตนเองรักและชื่นชอบอย่างเต็มตัว ออกผลงานมาแล้วมากมายทั้ง “เมื่อเวรกรรม ไล่ล่าดาราดัง” ของ ปรียานุช ปานประดับ, Beauty Diary ของ ตั๊ก-มยุรา, สบาย สไตล์มยุรา, นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเเป็นนักเขียนบทละคร อาทิ กงจักรลายดอกบัว, โซ่เสน่หา ฯลฯ คว้ารางวัลมาแล้วนักต่อนัก
ด้วยความที่เคยเป็น บก. มาก่อนความถนัดในเรื่องการสัมภาษณ์และชอบขุดคุ้ยเรื่องราวของคนต้นเรื่องในแบบฉบับที่นักข่าวสายบันเทิงเองยังขอคารวะ แล้วนำมาจับประเด็นเขียนเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เร้าอารมณ์ ทำให้งานทุกชิ้นที่วรินทร์ธรรับหน้าที่เรียบเรียงติดตลาด Best Seller แทบทุกเล่ม
อย่างเช่นหนังสือ คู่คุย คู่คิด ของ ป๊อบ-อารียา สิริโสภา ทำในช่วงที่เธอรับหน้าที่เป็น บก.เล่ม และผลที่ได้รับก็ดีเกินคาดกับยอดจำหน่ายกว่าแสนเล่ม ซึ่งย้อนไปในยุคนั้นจำนวนนี้ถือว่าสูงมาก และชื่อของวรินทร์ธร จึงติดลมบนที่เขียนแต่ละครั้งยอดขายไม่เคยต่ำกว่า 2 หมื่นเล่ม
ขึ้นชื่อว่า “งาน” ใช่ว่าทุกอย่างในอาชีพการเป็นโกสต์ฯ จะราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป งานบางชิ้นที่วรินทร์ธรรับมาก็มีอุปสรรคเพื่อทดสอบความสามารถของเธอเช่นกันอย่างหนังสือ ธรรมะ…ชำระหนี้ ของ ทรงกลด พยัคฆาภรณ์ ที่มีเวลาในการทำงานเพียง20 กว่าวันเท่านั้นแต่ด้วยความเชี่ยวชาญในการทำงาน เวลาเท่านี้ก็ไม่เกินความสามารถของเธอ พร้อมหนังสือเล่มนี้ยังฮอตฮิตหนังสือขายดีนานหลายเดือน
ถึงแม้วรินทร์ธรจะเป็นที่ต้องการของหลาย สนพ. หรือหลายคน อยากให้เธอมาเป็นโกสต์ฯ ก็ใช่ว่าเธอจะตอบรับทุกงานที่มีคนมาเสนอให้ทำทุกเรื่อง แต่หากเรื่องนั้นไม่ช่วยเหลือสังคมก็จะปฏิเสธ ไม่รับทำงานชิ้นนั้นเลย
“เคยปฏิเสธงานอยู่หลายงาน อย่างคนหนึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแก้กรรม แต่เรามีความเชื่อว่ากรรมนั้นแก้ไม่ได้ ทำให้ปฏิเสธไป อีกงาน คือ เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นโสเภณีเคยสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 3-4 ครั้ง ประวัติน่าสนใจมาก เป็นผู้หญิงสู้ชีวิต แต่จุดหลักคือ เธอตั้งใจจะจับฝรั่งคนหนึ่งมาเป็นสามี เพื่อให้ชีวิตตัวเองเปลี่ยน เมื่อมาถึงจุดนี้ เราไม่อยากให้ผู้หญิงไทยมาทำแบบนี้ จึงไม่รับทำต่อ เพราะการเป็นโกสต์ของเรานั้นไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ประโยชน์กับผู้อื่นด้วย”
อย่างที่ วรินทร์ธร บอก การเป็นโกสต์ฯ ของเธอไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่าง แต่หากรายได้ที่เธอได้รับนั้นก็มากโขปีละเป็น “ล้าน” ก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่ปี 2541 ที่ตอนนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักก็จะรับเขียนเรื่องละ 50,000 บาท จนตอนนี้รับค่าเรื่องมากสุดอยู่ที่เล่มละ 500,000บาทต่อเรื่อง
“เริ่มแรกจะใช้วิธีเหมาจ่ายทีเดียว แต่เมื่อมีผลงานออกมาหลายเล่มจนเนื้อหอมจึงหันมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แทน อย่างเช่น สนพ.นี้ให้ 10 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ก็จะกลับมาคุยกับคนต้นเรื่องว่าจะแบ่งยังไง 5:5 หรือ 7:3 ก็ต่อรองกันไป และล่าสุดที่ใช้ตอนนี้ คือ การคิดแบบ 5 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ซึ่งเราจะต้องมั่นใจในผลงานที่จะทำออกมาในแต่ละชิ้นมากขึ้น ไม่เลื่อนลอย เพราะสิ่งสำคัญคือหากเรื่องดี ผลงานติดตลาด ก็จะทำให้เราได้เงินมากขึ้นด้วย โดยค่าเรื่องที่ได้รับมากสุดตอนนี้ คือ 5 แสนบาทต่อเรื่อง ” วรินทร์ธราอธิบายให้ฟัง
ณ วันนี้วรินทร์ธร เชื่อว่า “เราต้องมีเวที มีที่ยืน หรือมีเครดิตติดตัวไปบ้าง เมื่อเราแอบแฝงตามซอกตามหลืบก็ไม่ได้น่ารังเกียจอะไร เพียงแต่วันหนึ่งความจริงก็ควรถูกปรากฏ”

เมื่อพูดถึงโกสต์ฯ บางคนก็ต้องการที่จะเผยตัวตนต่อที่แจ้ง ทว่าก็ยังมีบางคนที่ขอไม่เผยตัวต่อที่สว่างด้วยเหตุผลที่อาจส่งผลกระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ อย่าง ศรีสุวรรณ ปราบปัญจะ กับการเป็นโกสต์ในที่มืดมากว่า 5 ปี ส่งผลงานออกมาผ่านตานักอ่านแล้วหลายเล่ม ทั้งแนวชีวประวัติบุคคลสำคัญ และ ฮาวทู ซึ่งฝีไม้ลายมือมิได้ลดหย่อนกว่าคนอื่นเลย รวมถึงเล่มที่สร้างชื่อเสียงให้ชื่อ ศรีสุวรรณ เป็นที่รู้จักในวงการน้ำหมึกมากที่สุดเห็นทีจะเป็น “ภารกิจ Delete กรรม โดย เจน ญาณทิพย์” เล่มนี้
สาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจรับงานนี้มาแบบไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังเลย คงเป็นเพราะ ความสนิทสนมกับ บก. หนังสือเล่มนั้น และ บก.ท่านนั้นก็เล็งเห็นถึงความสามารถที่เธอสามารถเขียนหนังสือได้ เพราะอาชีพหลักของเธอก็ทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์มากว่า 11 ปี และอีกปัจจัยหนึ่งคือตัวเธอนั้นสนใจใคร่รู้ในเรื่องของสัมผัสพิเศษที่เหนือธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้การทำงานในเล่มนี้ไม่ยากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับผลงานที่ผ่านมาทั้งหมด
หากวิธีการทำงานของเธอก็เหมือนกับโกสต์ฯ ทั่วไป จะแตกต่างก็ตรงที่เธอยังยืนยันที่จะใช้นามปากกา ศรีสุวรรณ ปราบปัญจะ ให้เป็น “ผู้เรียบเรียง” แทนการใช้ชื่อจริงของตนเอง เนื่องจาก ไม่ต้องการที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตนเองต่อสาธารณะ รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องข้อบังคับของบริษัทที่ทำงานเป็นพนักงานประจำด้วย
สาธิตา โสรัสสะ
อีกหนึ่งอาชีพที่ก้าวกระโดดมาเป็นโกสต์ฯ คือ “อาชีพนักข่าว” เพราะมากกว่า 50 % ของนักข่าวต่างหันมารับจ็อบเป็นโกสต์ฯ กันท่วนหน้า คงเพราะข้อได้เปรียบทางด้านการเขียน และการจับประเด็น เฉกเช่น “สาธิตา โสรัสสะ” ที่ผ่านเวทีคนทำข่าวมากว่า 25 ปี ด้วยประสบการณ์นักข่าวสายเศรษฐกิจ พ่วงตำแหน่งอดีตหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจของเครือเนชั่น ที่ทำงานมาแล้วทั้งกรุงเทพธุรกิจ เนชั่นแชนนอล และวิทยุเนชั่น ปัจจุบันเธอผันตัวเองมาจับงานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คอย่างเต็มตัว และยังเป็นคอลัมนิสต์ท่องเที่ยวของ นสพ.คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ คอลัมน์ตะลอน ตะลอน ที่พาท่องเที่ยวไทยในทุกรูปแบบ และยังเป็นประธานนโยบายชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว
จุดเริ่มต้นของการเป็นมาเป็นผู้เรียบเรียงนั้นเริ่มจาก ได้รับการติดต่อจากแหล่งข่าวในบางองค์กร ที่เห็นว่าเธอมีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านงานเขียน จนทำให้ตอนนี้เธอผ่านงานเขียนพ็อคเก็ตบุ๊คมาแล้วกว่า 20 เล่ม ทั้งเชิงธุรกิจ, ท่องเที่ยว, เมดิคัล ทัวริซึ่ม ฯลฯ และบางครั้งงานเขียนของตัวเอง เธอก็ยังเป็นโกสท์ ของหนังสือตัวเองก็มี โดยใช้นามปากกาว่า “ธิตา มหาสมุทร”
ด้วยยึดถือว่าทำงานเป็นผู้เรียบเรียง ทำให้สาธิตา ไม่ขอเปิดเผยตัวตันของแหล่งข่าวที่เธอทำงานให้ เพียงแต่แย้มว่าเป็นนักธุรกิจพันล้านคนดัง 2-3 คน ส่วนพ็อคเก็ตบุ๊คของตัวเองที่เธอใช้นามปากกาก็มีหลายเล่ม เช่น 5 ทัวร์ฮิป 10 ทริปฮอต และ 5 Theme หรู 10 Theme เก๋ รวม 100 โรงแรมดังมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร การทำงานในหนังสือแต่ละเล่มเธอต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน โดยเฉพาะกระบวนการค้นหาข้อมูลและเรียบเรียง แต่เธอสามารถทำพร้อมกันไปได้หลายๆ เล่มในครั้งเดียว เพราะงานเขียนเป็นความถนัดของเธออยู่แล้ว
“ขั้นตอนการสัมภาษณ์บุคคลที่ต้องการให้เราเขียนงานให้ อาจต้องใช้เวลามากกว่างานเขียนของตัวเอง เพราะต้องศึกษาเรื่องราวของเขา โดยเฉพาะแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ ต้องพยายามดึงออกมา หากเขาหรือทีมงานของเขาเขียนให้เอง อาจมองไม่เหมือนเราที่เป็นนักข่าว เพราะเราเป็นนักข่าวมาตลอดต้องมี Nose for News แต่ก็ต้องแจ้งให้เขาทราบด้วยว่าเราจะเขียนเรื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย และนั่นเองเป็นเหตุผลว่า ทำไมอาชีพนักข่าวจึงเป็นงานที่ความต้องการให้ทำงานเป็น โกสต์ ไรเตอร์กันมาก”
ในเรื่องหัวใจของการทำงานเป็นโกสท์ของสาธิตาอาจไม่เหมือนคนอื่น เธอมองว่า พัฒนาจากงานเขียนที่ทำมากว่า 25 ปี มาสู่ความรักในอาชีพ และอาจต้องเป็นคนชอบทำงานเบื้องหลัง เพราะจะไม่ได้ออกหน้าออกตาเหมือนพิธีกรรายการทีวี หรือมีคนฟังมากมายแบบนักจัดรายการวิทยุ แต่การมี “ปากกา” อยู่ในมือนั้นน่าสนใจยิ่งกว่า เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกทาง

และนี่เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เริ่มมีผู้ให้ความสนใจกับการเปิดเผยตัวตนกันมากขึ้นตั้งแต่นักเขียนมืออาชีพจนถึงมือสมัครเล่น เพราะรายได้ที่ได้รับชั่งล่อตาล่อใจหลายๆ คนซะเหลือเกิน ที่สำคัญหากไม่มี Ghost Writer หรือ ผู้เรียบเรียง อยู่ในสังคมเมืองไทยอย่างทุกวันนี้ เราคงไม่เห็นพ็อคเก็ตบุ๊คดีๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างแน่นอน

Text by : ASTV ผู้จัดการรายวัน: สังคม-สตรี

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It