Lifestyle

หนังสือแห่งปีฉลองพระชนมายุ ๑๐๐ พรรษา “องค์พระสังฆราชาไทย”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ถือเป็นอีกหนึ่งหนังสือที่ควรเก็บรักษาสำหรับ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ พระธีรโพธิ ภิกขุ หรือ อาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ประธานชมรมธุลีไท ที่ได้อ่านหนังสือเรื่อง “จิตตนคร” บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) ที่ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ เพื่ออธิบายและขยายความพุทธวัจนะที่ว่า “พึงรู้ว่ากายนี้มีอุปมาแตกง่ายเปรียบด้วยหม้อดิน พึงกั้นจิตที่มีอุปมาด้วยนครที่มีป้อมปราการสร้างไว้ดีแล้ว พึงรบชนะมารด้วยใช้ปัญญาเป็นอาวุธ” ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ด้วยการนำเรื่องราวของ “จิต” และ “ธรรมะ” ในแง่มุมต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องราวทำนองบุคลาธิษฐานคล้ายนิยายธรรมที่ลึกล้ำพิสดาร

เมื่อพระธีรโพธิ ภิกขุ อ่านเรื่อง “จิตตนคร” แล้วนั้น จึงเกิดแรงบันดาลใจในการคิดแปลงเนื้อหาธรรมในเรื่องจิตตนครออกมาเป็นภาพ เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนได้รับความรู้ ความซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอาศัยภาพเป็นสื่อ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” จึงถือกำเนิดขึ้นโดยการนอบน้อมต่อทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์อย่างแท้จริง

“ผลงานในครั้งนี้แม้จะทำออกมาในรูปแบบของนิยายภาพ แต่อยากให้เรียกว่า “จิตตกรรม” มากกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “จิตตนคร” ที่สมเด็จพระสังฆราชได้นิพนธ์เอาไว้ อีกทั้งยังเพื่อให้มีความหมายว่าเป็นการกระทำของจิต เพราะครั้งนี้ไม่ใช่การวาดรูปปกติ แต่เป็นการวาดรูปโดยใช้ภาวะจิตในการตีความบทธรรมคำสอนในเรื่องให้ออกมาเป็นภาพที่สื่อความหมายไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม สำหรับบทใหญ่ใจความของพระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชชิ้นนี้เป็นการอุปมา “กาย” ของมนุษย์ให้เป็นดั่งเมืองหนึ่งเมืองที่มีชื่อว่า “จิตตนคร” โดยมี “จิต” เป็นเจ้าเมือง อันมีบริวารคนสนิทอยู่ 2 คน คนแรกเป็นฝ่ายสีขาวมีชื่อว่า “คู่บารมี” เป็นเหมือนกับที่ปรึกษาของเจ้าเมืองที่คอยห้ามปรามตักเตือนในสิ่งที่ไม่ดี และชี้แนะหนทางที่ถูกต้อง บริวารอีกคนมีชื่อว่า “สมุทัย (ต้นเหตุแห่งทุกข์)” ผู้อยู่ในด้านสีดำที่คอยสนับสนุนให้เจ้าเมืองทำตามกิเลสหรือความต้องการของตน ในเรื่องนี้สมุทัยไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว แต่ยังมีลูกน้องอยู่อีก 3 คนที่คอยทำงานรับใช้เกื้อหนุนความต้องการของสมุทัยนั่น คือ โลโภ โมโห และโทโส พระนิพนธ์เรื่องนี้มีความเท่อยู่ในตัวเองสูงมาก เพราะนอกจากมีการนำหลักธรรมมาเปรียบให้เป็นตัวบุคคลแล้ว การดำเนินเรื่องยังเต็มไปด้วยการทับซ้อนของวิธีคิด รวมทั้งกิเลสต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวเราอย่างมีเหตุมีผล ตรงนี้แหละที่ทำให้เรื่องสนุกน่าติดตาม และสิ่งสำคัญคือเนื้อหาของเรื่องที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2513 ไม่ได้เชยลงแม้แต่น้อย” พระธีรโพธิกล่าว

ด้าน สุภชัย วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ และเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ ในฐานะผู้เล็งเห็นคุณค่าหนังสือ บอกว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของหนังสือชุด “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิวีระภุชงค์ และสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวจำนวน ๑๕,๐๐๐ เล่ม ถวายให้กับสำนักเลขาธิการสมเด็จพระสังฆราช เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในงานฉลองพระชนมายุ ๑๐๐ ปี ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และน้อมถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราชในปีมหามงคล

Comments are closed.

Pin It