Lifestyle

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ผุด QR Code สแกนแผนผังบูทเป็นครั้งแรก ลดการใช้กระดาษในสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ

Pinterest LinkedIn Tumblr


เป็นอีกหนึ่งำอเดียที่ผุดมาใช้ใน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 13 (43rd Nation Book Fair and 13th Bangkok International Book Fair 2015)” ล่าสุด ดนุพล กิ่งสุคนธ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่าในงานครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้นำนวัตกรรมล่าสุด “QR Code” มาใช้ในการสแกนแผนผังบูธแทนกระดาษแผ่นพับ เพื่อหวังลดการใช้ปริมาณกระดาษนับล้านแผ่นในงานสัปดาห์หนังสือฯ

“เป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยีอย่าง QR Code มาใช้ในการสแกนแผนผังบูธ แทนการใช้กระดาษอย่างที่ผ่านมา เพราะในทุกๆปีเราต้องสั่งพิมพ์แผ่นพับผังบูธเป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อผู้เข้าชมงานในระดับเป็นล้านคน และล่าสุดผู้เข้าชมงานได้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 3 ล้านคนแล้ว ดังนั้นปริมาณกระดาษที่ต้องใช้สำหรับพิมพ์แผ่นพับก็มีปริมาณสูงตามไปด้วย ซึ่งหลังจากงานจบลง เรากลายเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างขยะปริมาณมหาศาลให้กับโลก

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเราจึงหันมาพิจารณาถึงเทคโนโลยีที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ ก็คือ QR Code นั่นเอง โดยวิธีใช้ง่ายมากเพราะผู้เข้าชมงานสามารถใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับสแกน QR Code (ซึ่งสามารถโหลดฟรีได้จาก Apps Store ของ iOS และ Google Play Store ของ Android) มาสแกนภาพ QR Code ตามสื่อต่างๆภายในงานคือ Directory Board, Program Board, Information ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในงาน รวมถึงบริเวณจุดรับฝากของ จุดคอมพิวเตอร์ค้นหา และโปสการ์ดที่ระลึกจากโครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น จากนั้นเว็บไซต์ผังบูธจะปรากฏขึ้นมา ผู้เข้าชมงานจะสามารถค้นหาบูธที่ต้องการ เปิดดูแผนที่ภายในงาน ตรวจสอบวัน เวลา และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ และรับข้อมูลข่าวสารอื่นๆที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจะเผยแพร่ต่อไปได้ ซึ่งเราได้รับความอนุเคราะห์ Free Wi-Fi ถึง 2 ชั่วโมงจากบริษัท เคิร์ซ จำกัด (KIRZ) โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้อินเตอร์เน็ตจาก Free Wi-Fi นี้เพื่อโหลดแอพพลิเคชั่นในการสแกน QR Code ได้เลย”

นอกจากนี้ ดนุพล ยังกล่าวด้วยว่าหากได้รับผลตอบรับที่ดี จะสามารถลดปริมาณการใช้กระดาษและขยะในระหว่างจัดงานสัปดาห์หนังสือฯลงไปได้จำนวนมาก และจะเป็นโครงการนำร่องของทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนวัสดุสิ้นเปลืองมากขึ้นในอนาคต

Comments are closed.

Pin It