ชิมโดย : ปราณ ชีวิน
ตอนนี้เชียงคานกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตที่คนกรุงเทพฯ กระหายใคร่ไปสัมผัสกลิ่นอายของบ้านเมืองเก่าๆ วิถีชีวิตของผู้คนที่เงียบสงบ และที่สำคัญ ความงดงามของพระอาทิตย์ยามลับขอบฟ้าตรงปลายสุดของแม่น้ำโขง ที่เชื่อมระหว่างสองชาติพันธุ์ไทยลาว
มีคนเปรียบว่าเชียงคานก็เหมือนหลวงพระบางของลาว ย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อนทางเวียงจันทร์ฝั่งลาวได้ตั้งเมืองเชียงคานขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน จนถึงรัชกาลที่ 3 ได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาฝั่งไทยที่เมืองปากเหือง และมีการตั้งชื่อใหม่ว่า เชียงคาน ต่อมารัชกาลที่ 5 จีนฮ่อเข้าตีหลวงพระบาง ทำให้ชาวเชียงคานฝั่งลาวอพยพมาฝั่งไทยจำนวนมาก จึงมีการอพยพผู้คนมาอยู่ ณ เชียงคานในปัจจุบัน
เมืองเล็กๆ แห่งนี้แอบซ่อนไว้ด้วยเสน่ห์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้องแถวไม้เก่าๆ ที่ยังคงมีอยู่ให้เห็นทั่วไป ถนนคนเดินยอดฮิตที่ขายสิ่งละอันพันละน้อย รวมถึงการตกแต่งร้านรวงและป้ายชื่อต่างๆ ที่เล่นคำ กลับกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้มาเยือนแต่ละคนอดไม่ได้ที่จะต้องกระหน่ำชัตเตอร์ไม่ยั้ง เพื่อบันทึกไว้เป็นความทรงจำ
เมื่อลองวีกเอนด์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนเชียงคานเป็นครั้งแรก อดไม่ได้ที่จะตระเวนหาของแปลกใหม่แบบพื้นเมืองของที่นี่มาลิ้มลอง สอบถามคนเชียงคานว่า มาเชียงคานต้องทานอะไรบ้าง ก็ได้รับคำตอบอย่างภาคภูมิใจว่า มีหลายเมนูที่หาทานที่ไหนไม่ได้นอกจากที่นี่ ลองมาดูว่า มาเชียงคานแล้วต้องทานอะไรกันบ้าง
ตื่นขึ้นมาตอนเช้าตรู่หลังจากสูดอากาศสดชื่นของริมน้ำโขงแล้ว ก็ต้องมาตักบาตรข้าวเหนียวกัน ภาพของชาวบ้านที่นั่งปูเสื่อเป็นทางยาว รอตักบาตรอยู่ริมทางเท้าหน้าบ้าน โดยมีพระสงฆ์เดินเป็นแถวมารับบาตร เป็นภาพที่ทำให้เกิดความสงบขึ้นในจิตใจทันที
หลังจากอิ่มบุญแล้วก็มาอิ่มท้องกันบ้าง คนเชียงคานจะนิยมกิน “ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว” กันตอนเช้า หน้าตาเหมือนต้มเครื่องในหมู แต่ใส่ขนมจีนเข้าไปด้วย โดยต้มน้ำซุปจากกระดูกหมูแล้วก็ใช้เครื่องในหมู ไม่ว่าจะเป็นปอด ไส้ กระเพาะ มาตุ๋นในหม้อซุปจนเปื่อยนุ่ม ส่วนผักก็มีถั่วงอกที่ใส่มาในชาม มีผักแนมอีกกระจาดใหญ่ ให้ทั้งผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักแพรว เวลาจะกินผักนั้น เขาให้เอามาจิ้มกะปิก่อนส่งเข้าปากด้วย รสชาติก็อร่อยทีเดียว สนนราคาทั่วไปอยู่ที่ 20 บาท
ช่วงเช้าอย่างนี้ถ้ามีเวลาลองเดินไปที่ตลาดสดเทศบาล ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนศรีเชียงคานซอย 9 เป็นตลาดใหญ่มีทั้งผัก ผลไม้ ปลาแม่น้ำโขง ฯลฯ. จุดหมายปลายทางที่รอนักท่องเที่ยวอยู่ในตลาดแห่งนี้ คือ “ปาท่องโก๋ยัดไส้” เป็นแป้งปาท่องโก๋ที่เรากินกันนี่แหละ แต่จะยัดไส้ซึ่งมีให้เลือกทั้ง ไส้หมูสับ หมูแดง ผักรวม เป็นต้น ที่ตลาดแห่งนี้มีอยู่ 2 ร้านที่ทำขาย ใครมาก่อนมาหลังไม่รู้ แต่มีคนเชียงคานเม้าท์ให้ฟังว่าตอนนี้กำลังเป็นความฟ้องร้องกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ร้านนี้ก็มีลูกค้าแน่นจนต้องแจกบัตรคิวเหมือนกรุงเทพฯ ชิ้นละ 20 บาท แถมน้ำจิ้มเหมือนน้ำจิ้มทอดมันใส่แตงกวาให้อีกด้วย ขอแนะนำว่าให้กินตอนร้อน ๆ จะอร่อย
มาเยือนเชียงคานต้องไม่พลาด “ส้มตำด๊องแด๊ง” ทีแรกได้ยินนึกว่าตั้งชื่อกันแบบสนุกๆ แต่ความจริงแล้วส้มตำนี้เป็นอาหารพื้นเมืองของถิ่นนี้มาตั้งนานแล้ว สอบถามแม่ค้าส้มตำร้านน้องบูมที่ถนนคนเดิน ได้รับคำตอบว่ามาจากเสียง “กระด๊องกระแด๊ง” ซึ่งหมายถึงเส้นเหมือนขนมจีนที่นำมาใส่ในส้มตำนั่นเอง ส้มตำจานนี้สูตรการตำก็เหมือนทั่วๆ ไป มีมะละกอสับ มะเขือสีดา มะเขือส้มสีเขียว พริกขี้หนู มะอึก มะนาว กุ้งแห้งฝอย ปลาร้า และที่พิเศษคือ เส้นด๊องแด๊ง ที่ทำจากแป้งสดแล้วกดจากเครื่องแบบขนมจีน เกือบทุกร้านจะทำเส้นกันสดใหม่ชามต่อชาม ลักษณะเส้นจะดึ๋งดั๋งเนื้อไม่เละเหมือนขนมจีน ผู้เขียนว่าน่าจะเหมือนเส้นอุด้งมากกว่า กินแล้วก็อร่อยดี สนนราคาจานละ 40 บาท
ข้าวเปียกเส้น เป็นอีกเมนูหนึ่งที่ชื่อแปลกๆ ลองสั่งมากินปรากฏว่าหน้าตาเหมือนก๋วยจั๊บญวน ต่างกันตรงเส้น ซึ่งก๋วยจั๊บญวนจะเป็นเส้นยาวใสเหมือนวุ้นเส้น แต่ข้าวเปียกเส้นนั้นเส้นใสใหญ่กว่าสั้นกว่า รสชาติก็อร่อยดีซดร้อนๆ ตอนอากาศเย็นๆ อุ่นสบายท้อง เมนูนี้กินได้ทั้งเช้าและเย็น
ใครที่เดินเล่นบนถนนคนเดิน ขอแนะนำให้ลองแวะกิน “หมูยอกระบอกไม้ไผ่” เป็นแผงลอยที่ไม่มีชื่อร้าน อยู่ริมทางฝั่งที่ติดแม่น้ำโขง ที่แปลกเพราะปกติหมูยอจะห่อด้วยใบตอง แต่ร้านนี้คิดสูตรใช้กระบอกไม้ไผ่สดๆ แทนจึงได้กลิ่นหอมของไผ่ แถมหมูยอร้านนี้ยังใส่ “ใยไหม” ซึ่งใช้ใส่ในเครื่องสำอางเพื่อให้ผิวสวย แต่เจ้าของสูตรบอกว่า ได้รับคำแนะนำมาจากจังหวัด นำมาใส่ในหมูยอจะช่วยให้เนื้อหมูยอเหนียวนุ่มขึ้น แต่รับรองความปลอดภัย หมูยอกระบอกยาวประมาณ 6 นิ้ว นึ่งร้อนๆ ราคา40 บาท ถ้าต้องการยำด้วยคิดราคา 50 บาท
ใครมาเชียงคานต้องแวะ แก่งคุดคู้ เพื่อล่องเรือชมทิวทัศน์สองฟากของแม่น้ำโขง ที่ตลาดแก่งคุ้ดคู้มี “กุ้งทอดสมุนไพร” ที่แปลกและอร่อย ขายกันหลายเจ้าทีเดียว กุ้งฝอยที่นี่มีแยอะเพราะงมได้จากแม่โขง กุ้งทอดสมุนไพรที่พิเศษคือ ใส่สมุนไพรสดทั้งใบเตย ใบมะกรูด ตะไคร้ แครอทซอยละเอียด คลุกลงไปกับแป้งด้วย ทอดกรอบๆ แป้งฟูๆ แผ่นใหญ่ๆ เป็นของกินเล่นที่เคี้ยวหอมอร่อย ยามเดินชมเมืองเพลิดเพลินใจจริงๆ
พูดถึงกุ้งฝอย ผู้เขียนเดินเล่นบนถนนคนเดินก็เห็นมีคนเอากุ้งฝอยมาเสียบไม้ย่าง ราคาไม้ละ 10 บาท ซื้อแล้วเดินกินก็เพลินดี รสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ (จากมันกุ้ง) เสียอย่างเดียวหัวกุ้งชอบตำเหงือกให้รำคาญ
ยังมีของฝากอีก 2 อย่างที่ต้องลิ้มลองให้ได้ ถือเป็นไฟล์ตบังคับ เพราะในคำขวัญของเชียงคานระบุไว้เลยว่า …เชียงคาน เมืองคนงาม ข้าวหลามยาว มะพร้าวแก้ว เพริศแพร้วเกาะแก่ง แหล่งวัฒนธรรม น้อมนำศูนย์ศิลปาชีพ…
ใครที่เดินทางไปเที่ยวแก่งคุดคู้ จะเห็นสองฟากฝั่งถนนเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวแก้ว สอบถามแม่ค้าเล่าให้ฟังว่ามะพร้าวนั้นต้องนำมาจากเพชรบูรณ์ นำมาแยกเนื้อมะพร้าวออก แล้วคัดเนื้อมะพร้าวนำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ ก่อนจะนำไปต้มแล้วค่อยเคี่ยวกับน้ำตาลทรายอีกครั้ง พองวดแล้วจะตักขึ้นมาผึ่งลมให้แห้งก่อนที่จะบรรจุใส่ถุง
มะพร้าวแก้วที่ขายตามท้องตลาดนั้นมี 3 เกรด 3 ราคา คือถ้าใช้เนื้อมะพร้าวอ่อนจะเป็นเกรดเอราคาประมาณ 120- 130 บาท ส่วนเนื้อมะพร้าวแก่หน่อยเป็นเกรดบี ส่วนเกรดซีจะเป็นเนื้อมะพร้าวแก่แล้วเพิ่มสีสันให้ดูสวยงาม
ส่วนข้าวหลามนั้นนับว่าแปลกเพราะยาวที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา คือยาวเกือบ 1 เมตร ราคากระบอกละ 50 บาท แต่ไม่ค่อยมันเหมือนข้าวหลามหนองมน
ใครที่กำลังวางแผนจะไปเยือนเชียงคาน อย่าพลาดกับอาหารพื้นเมืองของที่นี่ แล้วขอให้เที่ยวอย่างอร่อยนะคะ
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net
Comments are closed.