Art Eye View

“แด่นักสู้ผู้จากไป” ภาพถ่ายอุทิศเพื่อผู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ทำให้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพในการเป็นเจ้าของในที่ดินทำกินของตนเอง ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง การจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมในชุมชนของตนเองถูกข่มขู่ คุกคาม บังคับให้สูญหายและตายไปเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลขององค์กร PROTECTION international ระบุอย่างชัดเจนว่าในช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา มีนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรียนร้องการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพในกระบวนการขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนถูกบังคับให้สูญหายและตายไปกว่า 59 คน โดยชื่อของทุกคนค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ไม่ต่างจากกระบวนการยุติธรรมที่นักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ได้รับ

เพื่ออุทิศให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย องค์กร PROTECTION international ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนาดา โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) และภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการภาพถ่าย“แด่นักสู้ผู้จากไป” For Those Who Died Trying

ในวันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป ณ ห้องโถงหน้าหอสมุดชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวันที่นิทรรศการเปิดแสดงให้ชมเป็นวันแรก

นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายและการบอกเล่าเรื่องราวของนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับสูญหายในประเทศไทยจำนวน 37คน ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่

การกล่าวเปิดงานโดยคุณ Donica Pottie เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ,การฉายสารคดีสั้นเรื่อง “นักป้องสิทธิมนุษยชนไทย” โดย Luke Duggleby ช่างภาพเจ้าของโครงการ For Those Who Died Trying ผู้เป็นเจ้าของผลงานภาพถ่ายนิทรรศการ (โดยเมื่อปีที่ผ่านมาภาพถ่ายชุดนี้ของเขาเคยถูกนำไปจัดแสดง ระหว่างวันที่ 9 -11 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และอีกหลายประเทศ) พร้อมกันนี้เขายังจะมาบอกเล่าถึงแนวคิดของโครงการ รูปแบบในการถ่ายรูปและถ่ายทำสารคดีสั้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของนักป้องป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับสูญหายในประเทศไทย

การบรรเลงบทเพลงเพื่อนักปกป้องสิทธิ Musical DNA live performances จากวง The 90s string quartet โดยบทเพลงที่บรรเลงนั้นถูกแต่งขึ้นโดย Frank Horvat นักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ของแคนาดา โดยการแกะโน้ตดนตรีจากชื่อภาษาอังกฤษของนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหาย,การพูดคุยและแลกเปลี่ยนถึงสถานการณ์ของการถูกบังคับให้สูญหายและตายของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย วิทยากรโดย อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของ เจริญ วัดอักษร นักต่อสู้ที่ถูกลอบสังหาร

รวมไปถึงเวทีรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของนักต่อสู้เคลื่อนไหวในประเทศไทยและการเปิดตัวคู่มือการปกป้องความปลอดภัยสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนโดย ปรานม สมวงศ์ จาก PROTECTION international จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน และครอบครัว ผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส แกนนำชาวบ้านที่ถูกลอบสังหารจากการออกมาต่อต้านการลักลอบทิ้งกากสารเคมีอุตสาหกรรมและขยะมีพิษ ในเขตพื้นที่ ต.หนองแหน และตำบลใกล้เคียงจำนวนหลายจุด เขต อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

หลังจากนั้นนิทรรศการภาพถ่าย“แด่นักสู้ผู้จากไป” For Those Who Died Trying จะจัดให้ผู้สนใจได้ชมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง…

แด่ “นักต่อสู้” ผู้ถูกฆ่าและหายสาบสูญ ภาพถ่ายชวนให้ขนลุก ของ Luke Duggleby


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It