Art Eye View

ดีไซเนอร์ดัง จับคู่ ผู้ประกอบการท้องถิ่น 4 จังหวัด “ทวารวดี” รังสรรค์สินค้าดีไซน์สุดเก๋

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เพื่อนำเสนอนวัตกรรมศิลปะการออกแบบที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งด้านคุณค่าและมูลค่า ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโครงการศิลปะ การออกแบบเพื่อการพัฒนาสินค้าคืนสู่มาตรฐานสินค้าระดับสากลและการแสดงสินค้าเชิงปัญญา “Design Arts Project of Universal Standard Development for Local Goods and Wisdom Goods Expo” เพื่อมุ่งหวังพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) สู่ความเป็นเลิศในตลาดสากล

โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนใน 4 จังหวัดอาณาจักรทวารวดีเดิม ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ด้วยศิลปะการออกแบบที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลงานที่สร้างจากภูมิปัญญาดั้งเดิม จนได้เป็นสินค้าที่เหมาะกับชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าต้นแบบที่รังสรรค์ขึ้นแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้มองเห็นเส้นทางการพัฒนาผลงานต่อไป ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ “dva dva” (ทวา ทวา)


รองศาสตราจารย์ปรีชา ปั้นกล่ำ ประธานกรรมการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบ และในฐานะประธานโครงการฯ กล่าวถึงที่มาว่า “หลักสูตรศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับผิดชอบในการสร้างพลวัตด้านศิลปะการออกแบบ สร้างมหาบัณฑิตเข้าสู่สังคมเพื่อเป็นฟันเฟืองพัฒนาประเทศในด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้คณาจารย์ได้ลงพื้นที่เพื่อเฟ้นหา 40 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับ 4-5 ดาวผู้มีศักยภาพในเขตจังหวัดทวารวดี ประเมินศักยภาพเพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับดีไซเนอร์ที่มีผลงานประจักษ์ในเวทีระดับโลกด้านการออกแบบแต่ละด้าน เพื่อเติมความรู้ เสริมไอเดีย และเพิ่มมูลค่า เป็นสินค้าเชิงปัญญา หรือ Wisdom Goods อันหมายถึงสินค้าที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างมีอัตลักษณ์ เพื่อนำเสนอภูมิปัญญาไทยสู่ระดับสากล”

ด้าน รัฐ เปลี่ยนสุข ผู้ก่อตั้ง Sumphat Gallery เจ้าของรางวัล DEmark (Design Excellence Award) ประเทศไทย และ G Mark (Good Design Award) จากประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในดีไซเนอร์เลือดไทยที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในโครงการฯ นี้ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อสินค้าด้วย 2 เหตุผลหลัก ได้แก่ ซื้อเพราะประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้งาน และซื้อเพราะสุนทรียภาพหรือความงดงามทางศิลปะ การผลักดันให้สินค้าชนิดหนึ่ง ๆ ไปไกลกว่าเพียงคุณค่าด้านการใช้สอย สู่คุณค่าทางอารมณ์และประสบการณ์ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้นหลายเท่าตัว

“สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับคือ องค์ความรู้ด้านการออกแบบจากดีไซเนอร์และแนวคิดเรื่องการดัดแปลงวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการบริหารทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการมองเห็นตลาดสำหรับสินค้าของตนเอง และเข้าใจโครงสร้างราคาที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างเครือข่าย รู้ว่าแต่ละคนอยู่ตรงจุดไหนของสายอาชีพ แล้วช่วยกันส่งเสริมทั้งระบบให้เติบโตไปด้วยกัน”

ด้าน 1 ใน 40 ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินไทย บุญตา เกตุบุญลือ วิสาหกิจชุมชนศิลปะประดิษฐ์ดินไทยไทยธรรม จากจังหวัดนครปฐม ที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า เดิมทีที่บ้านทำนาบัว จึงนำดินไทยมาปั้นเป็นดอกบัว ใบตอง และพานดอกไม้ในลักษณะเหมือนจริง ใช้สำหรับบูชาพระ หลังจากเข้าร่วมเวิร์คช็อป จึงนำเอาคำแนะนำจากนักออกแบบมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังคงไว้ซึ่งความพลิ้วไหว แต่เพิ่มเติมอารมณ์ความงดงามตามธรรมชาติในห้วงอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านโทนสีที่ปรับให้ดูนุ่มนวลอ่อนหวานมากขึ้น จึงนอกจากจะทำขึ้นเพื่อไหว้พระ ก็ยังเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย

“การเข้าร่วมโครงการฯ นี้จะทำให้ได้พัฒนาตัวเอง การสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างจะทำให้เป็นที่จดจำ โดยนักออกแบบมีส่วนช่วยในการเสริมไอเดียต่าง ๆ ที่คิดไม่ถึง ต้องเข้าใจด้วยว่าเราไม่ได้เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในจังหวัด การที่เราตัดสินใจเข้าโครงการนี้เพราะต้องการเอาชนะตัวเองให้ได้ อย่าลืมว่าถ้าเราพัฒนาช้า คนอื่นที่เขาเร็วกว่าเราก็มี ถ้าเราพัฒนาให้เร็วได้ ย่อมดีกว่าจะไปทีละน้อย ทีละน้อย”

งานแสดงสินค้าเชิงปัญญา หรือ Wisdom Goods Expo อาทิ งานหัตถกรรมจักสาน งานเครื่องหนัง งานปั้น งานผ้า และงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯลฯ จำนวน 120 ร้าน ของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจากโครงการศิลปะ การออกแบบเพื่อการพัฒนาสินค้าคืนสู่มาตรฐานสินค้าระดับสากลและการแสดงสินค้าเชิงปัญญา “Design Arts Project of Universal Standard Development for Local Goods and Wisdom Goods Expo” จำนวน 40 ราย และผู้ประกอบการอีก 80 รายที่ผ่านการคัดเลือก

จัดแสดงระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม ตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/DesignArtsDvaravati และ 081-920-8995

หมายเหตุ : ทวา ทวา (dva dva) แบรนด์สินค้าหัตถกรรมร่วมสมัย ทวา ทวา เป็นผลผลิตจากการทำงานร่วมกันระหว่างช่างฝีมือท้องถิ่นกับนักออกแบบไทย ที่มองย้อนไปหา ‘ทวา’ ราวดี ในอดีต แล้วนำพาประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่มาออกแบบให้ภูมิปัญญางานหัตถกรรมท้องถิ่นกลายเป็น ‘ทวา’ ในสมัยปัจจุบัน ความเชื่อมโยงระหว่างทวา (เก่า) และ ทวา (ใหม่) นั้น มีทั้งองค์ประกอบรูปธรรมที่นำมาปรับประยุกต์กับชิ้นงานต่างๆ อาทิ รูปสัญลักษณ์ ตัวอักษร วัสดุ และสี อีกทั้งแนวความคิดเชิงนามธรรมของทวาราวดีที่บอกเล่าถึงดินแดนอันสงบสุข ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็ถูกนำมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ ทวา ทวา













ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It