เพื่อพัฒนาและต่อยอดความรู้หัตถศิลป์ฝีมือช่างไทย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านหัตถศิลป์ในวัฒนธรรมร่วม ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี อัมพวัน พิชาลัย ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเป็นประธาน และ ดร.ไมสิง จันบุดดี ผอ.สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ ส.ป.ป. ลาว ให้การต้อนรับ
กิจกรรมนี้ดำเนินงานภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม ประจำปี พ.ศ. 2562 (Cross Cultural Crafts 2019)” เพื่อต่อยอดงานหัตถศิลป์ไทยผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างช่างฝีมือไทยและช่างฝีมือในประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่มุ่งอนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปหัตกรรมอันทรงคุณค่าที่ใกล้จะสูญหาย โดยเชื่อมโยงผู้ที่มีทักษะสูงและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างกลุ่มครูช่างและทายาท เข้ากับช่างฝีมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาและสืบสานให้งานศิลปหัตถกรรมที่กำลังจะเลือนหายไปในโลกยุคใหม่นี้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และสร้างเครือข่ายด้านงานหัตถกรรมเพื่อผนึกกำลังกันพัฒนาต่อไปในระดับโลกด้วย
ซึ่งในปี 2562 โครงการมุ่งเน้นการพัฒนางานหัตถกรรมเครื่องไม้ ผ่านการดำเนินงานร่วมกับประเทศที่มีความเชี่ยวชาญงานหัตถกรรมไม้ ทั้งแบบคลาสลิกและแบบร่วมสมัย ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีมรดกภูมิปัญญางานหัตถกรรมไม้ ที่มีเอกลักษณ์และมีรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 20 รูปแบบ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงทักษะและองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมไม้ที่ใกล้สูญหายให้เกิดมีมูลค่าเพิ่มจนสามารถพัฒนาสู่ตลาดสากลต่อไป
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วมมากว่า 4 ปี ภายใต้แนวคิด “Revival of the Forgotten Heritage” นี้ SACICT ได้ฟื้นฟูงานหัตถศิลป์ที่ใกล้สูญหายในภูมิภาค ตั้งแต่งานเครื่องรักและเครื่องเขิน งานดุนโลหะ งานเครื่องมุกและงานจักสาน ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรระหว่างประเทศในอีกหลายๆ ประเทศ เช่นในปีพ.ศ. 2561 นั้น SACICT ได้ร่วมงานกับเครือข่ายองค์กรที่สนับสนุนและพัฒนางานศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคอย่าง National Taiwan Craft Research and Development Institute (NTCRI) จากประเทศไต้หวัน และกลุ่ม Hacienda Crafts จากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ในด้านงานจักสาน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจนสามารถพัฒนางานหัตถศิลป์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ปีนี้ถือเป็น “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” และประเทศไทยเองก็เป็นประธานอาเซียน การได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องอย่างประเทศลาว ย่อมก่อให้เกิดคุณประโยชน์มหาศาลทั้งต่อชุมชนและเป็นเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดี ก่อให้เกิดการอนุรักษ์งานหัตถศิลป์อันเป็นเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมในภูมิภาค พร้อมพัฒนาต่อยอดให้หัตถกรรมงานฝีมือยั่งยืนต่อไป
Art Eye View
Comments are closed.