Art Eye View

เปิดใจให้ Jazz กับ นักดนตรียิปซี เจเรอมี่ มอนเทรโร ในมหกรรม Jazztastic !

Pinterest LinkedIn Tumblr

เจเรอมี่ มอนเทรโร
เสน่ห์ของ ดนตรีแจ๊ส (Jazz) ที่ทำให้เขาสามารถพรมนิ้วเล่นเครื่องดนตรีที่ถนัดไปตามอารมณ์ได้ดั่งใจ และสามารถแสดงออกซึ่งความรู้สึกได้มากกว่า

เป็นเหตุผลที่ทำให้ เจเรอมี่ มอนเทรโร (Jeremy Monteiro)นักแต่งเพลงและนักเปียโนมากรางวัลจากประเทศสิงคโปร์ ผู้เริ่มต้นเรียนเปียโน เมื่ออายุ 7 ขวบ ,หันมาสนใจดนตรีแจ๊ส เมื่ออายุ 14 ปี และเริ่มต้นงานแรกด้วยการเป็นนักเปียโน ในวงดนตรีแจ๊ส เมื่ออายุ 16 ปี ไม่มีความคิดที่จะหยุดฝึกฝน และละความสนใจไปจากแจ๊ส มาจนกระทั่งบัดนี้

ที่ผ่านมา เจเรอมี่ เคยเป็นโปรดิวเซอร์ ที่โปรดิวซ์งาน Jazz Festival หลายๆงาน ทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย และเคยร่วมเล่นดนตรี ในงาน Jazz Festival ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, เมืองเอดินเบิร์ก ประเทศสกอตแลนด์ และเมืองมอนโทรซ์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังจากเมื่อก่อนที่เคยทำสัญญาการเล่นกับบางโรงแรมในประเทศบ้านเกิด เวลานี้เขาเปลี่ยนตัวเองมาเป็น “นักดนตรียิปซี” ที่มีโปรแกรมเดินทางไปเล่นดนตรีในหลายประเทศทั่วโลก

หนึ่งในจำนวนนั้นคือที่ประเทศไทย ณ ห้อง The Living Room โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท สถานที่ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น Jazz Avenue แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่เขาเดินทางมาเล่นดนตรีและทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ให้กับที่นี่ และเพื่อร่วม ฉลอง 10 ปี ของ The Living Room เขาได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัด Jazztastic ! มหกรรมแจ๊สครั้งสำคัญ ที่เชื้อเชิญสุดยอดศิลปินเพลงแจ๊สจากทั่วเอเชีย และทวีปยุโรป มาเล่นดนตรีให้คอเพลงแจ๊สในประเทศไทยได้เลือกรับฟัง ตลอดเดือนมิถุนายน 54 ได้แก่นักดนตรีและวงดังต่อไปนี้

โทนี่ ลากาตอส นักแซ็กโซโฟนชาวฮังกาเรียน,ยูจีน เปา นักกีต้าร์มือทองของเอเชียจากฮ่องกง ,ท๊อตส์ โทเลนติโน่ นักเป่าแซ็กโซโฟนชื่อดังจากฟิลิปปินส์ ,ชนุตร์ เตชะธนนันท์ มือกลองแนวแจ๊สร่วมสมัยชาวไทยผู้ได้รับรางวัลมากมายในระดับนานาชาติ ,โก้ มิสเตอร์แซกแมนและแมว – จีระศักดิ์ ปานพุ่ม

รวมถึงวงต่างๆดังต่อไปนี้ เดอะ ไมเคิล วีระเพน ทรีโอ ,เดอะ ชอว์น เคลลี่ ทรีโอ,เดอะ เอเชียน แจ๊ส ออล์สตาร์ พาวเวอร์ ควอร์เต็ต และเดอะ แรนดี้ แคนนอน พาวเวอร์ ทรีโอ ที่นำโดย แรนดี แคนนอน(นักเปียโน),คริสต์ สวีย์นี่(มือกลอง),เทิดศักด์ วงค์วิเชียร(มือเบส),สตีฟ แคนนอน (นักเป่่าแตรทรัมเปต)

และนักดนตรีที่เป็นไฮไลท์สำคัญของมหกรรมครั้งนี้ก็คือ เออร์นี่ วัตส์ นักแซ็กโซโฟนแถวหน้าของโลก ผู้เคยรับรางวัลชนะเลิศ แกรมมี่ อวอร์ดส์ มาแล้วถึง 2 ครั้ง และเคยบรรเลงบทเพลงผ่านแผ่นเสียง มากถึง 500 เพลงให้กับศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ แคนนอนบอล แอดเดอร์เลย์ และแฟรงค์ ซัปปา

ขณะที่หนังสือพิมพ์ LA City Beat ได้เคยเขียนบทวิจารณ์หลังจากที่ได้ชมลีลาการเป่าแซ็กโซโฟนของ เออร์นี่ วัตส์ ว่า

“สิ่งที่วิเศษที่สุดของการแสดงของวัตส์ นั่นคือ ความสมบูรณ์แบบที่ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ไพเราะประหนึ่งฟังอัจฉริยะแห่งแจ๊สอย่าง Coltrane เคล้าไวน์ชั้นเลิศ ร้อนแรงและเข้าถึงอารมณ์ดั่งเปลวเพลิงที่ร้องไห้ การเป่าแผ่วเบาอย่างนุ่มลึก และความสามารถที่ทำให้ทุกจังหวะมีชีวิต”

ก่อนหน้านี้เราอาจเคยไปร่วมงานมหกรรมแจ๊สมาแล้วมากมาย แต่ครั้งนี้ถือเป็นมหกรรมแจ๊สในโรงแรมครั้งแรกของเมืองไทย ดังนั้นเสน่ห์ของการฟังเพลงแจ๊สครั้งนี้สำหรับเจเรอมี่ ก็คือ

“ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงความเป็นส่วนตัว มีความใกล้ชิดกับศิลปิน เพราะในช่วงพักเบรค ผู้ฟังสามารถเดินเข้าไปพูดคุยกับศิลปินได้ และสามารถเข้าถึงเพลงแจ๊สได้มากกว่า ซึ่งในโอกาสหน้าผมคิดว่า เราน่าจะมีการจัดมหกรรมแจ๊สขึ้นอีกในหลายๆโรงแรมของประเทศไทย นอกเหนือจากที่ The Living Room ซึ่งถือเป็นJazz Avenue ของโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท”

นอกจากมหกรรมครั้งนี้ เจเรอมี่จะมาโชว์การเล่นเปียโน ร่วมกับ เออร์นี่ วัตส์ เขายังจะมาโชว์การเล่นออร์แกน ร่วมกับวง เดอะ เอเชียน แจ๊ส ออล์สตาร์ พาวเวอร์ ควอร์เต็ต อีกด้วย

โก้ มิสเตอร์แซกแมน พูดถึงนักเปียโนจากเมืองลอดช่องรายนี้ ผู้ที่เขานับถือและคุ้นเคยเป็นอย่างดีว่า

“ผมรู้จักคุณเจเรอมี่ จากชื่อก่อน เพราะเขาดังมาก ก่อนหน้านี้ขณะที่ผมยังคงเป็นนักดนตรีตัวเล็กๆคนหนึ่งอยู่ที่เมืองไทย แต่เวลานั้นเจเรอมี่ เขาดังไปทั่วเอเชีย นักดนตรีแจ๊ส ใครๆต่างก็รู้จักเขา และผมก็เคยบินไปดูการเล่นดนตรีของเจเรอมี่อยู่เรื่อยๆ ทั้งที่สิงคโปร์ หรือในเวลาที่เขามาเมืองไทยก็ต้องตามไปฟัง เริ่มจากการเป็นแฟนเพลงของเขาก่อน ตอนหลังพอเขารู้ว่าผมเป็นนักแซ็กโซโฟน ก็เลยชวนมาแจมกัน เละเปิดโอกาสให้

เจเรอมี่เป็นคนที่ใจดีมาก ไม่ว่าจะเป็นหัวใจที่ให้กับคน และการแสดงออกมาทางการเล่นเพื่อที่จะให้ความสุขกับคนด้วย ไม่ใช่เล่นเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เล่นเพื่อคนฟัง เล่นเพื่อสร้างบรรยากาศของวงให้ดีขึ้น จะยิ้มให้สมาชิกที่เล่นด้วยกัน ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญนะ หลายครั้งเวลาที่ผมไปเล่นแจมกับนักดนตรีคนอื่นๆ อารมณ์แบบไม่ยิ้มให้กูเลย มึงจะโกรธกูไปถึงไหน กูเล่นไม่ดีหรือเปล่า แต่กับเจเรอมี่ไม่เลย เป็นคนที่ใจดีมาก ให้โอกาสคน และ สอนผมหลายครั้ง”

มากไปกว่านั้นเจเรอมี่ยังเคยแต่งเพลงที่มีชื่อว่า Malibu Sunset ให้กับโก้ด้วย โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่วงเวลาที่เขากำลังนั่งมองพระอาทิตย์ตกบนหาดมาลิบู ในแอลเอ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขาชวนโก้ไปบันทึกเสียงเพื่อทำอัลบั้มๆหนึ่งที่อเมริกา เมื่อประมาณ 6 – 7 ปีที่แล้ว และจากนั้นมันก็ได้กลายเป็นหนึ่งเพลงที่ไม่ว่าโก้จะไปเล่นที่ไหนผู้ฟังมักจะขอให้เล่น

แต่สำหรับมหกรรม Jazztastic ! โก้จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ จำนวน 2 บทเพลงที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ ยามเย็น และ แก้วตาขวัญใจ มาเล่นให้ชาวไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง ฯลฯ ที่ต้องการมานั่ง Hang out ในย่านสุขุมวิทได้รับฟัง

“ผมเติบโตมาพร้อมกับบทเพลงของในหลวง ตอนเด็กๆ ก็จะเล่นเพลงของในหลวง เพราะถือเป็นแบบฝึกหัดชั้นดีของนักดนตรีฝึกหัดเช่นผมในตอนนั้น หลายวันก่อนเราอยู่ที่ฮอลแลนด์ เพื่อบันทึกเพลงของในหลวง นักดนตรีที่นู่นชื่นชมเพลงของในหลวงมาก และบอกว่าเพราะมาก เพราะจนอยากจะฟังที่มิกซ์เสียงเอาไว้ เพราะตอนนี้ยังเรียบเรียงไม่เสร็จดีฮะ”

ทั้งที่เป็นคอเพลงแจ๊สอยู่แล้วและอาจยังไม่รู้จักแจ๊สดีพอ มิสเตอร์แซกแมนผู้นี้เชื่อว่า หากได้ลองเปิดใจให้แจ๊สดูบ้าง แน่นอนว่าช่องว่างที่หลายคนเคยรู้สึกว่ามี ย่อมถูกทำลายไปสิ้น

“แจ๊สฟังไม่ยากนะ บางคนอาจจะบอกว่าต้องปีนบันไดฟัง ก็อย่าไปคิดว่ามันยาก นั่งๆฟังไป เออ… เพราะดี สนุกดี แค่นั้นพอก่อน โห ..โซโล่กันเมามันมาก ตีกลองโซโล่ด้วย เด็กๆมาฟังอาจจะเห็นมือกลองตีแต่ในวง คราวนี้มีมาตีกลองโซโล่ด้วย แล้วก็โซโล่ดับเบิลเบสด้วย

ซึ่งหากถามว่าจำเป็นต้องรู้ไหมว่านักดนตรีแจ๊สเขาทำอะไรกันมากน้อยขนาดไหน ไม่จำเป็นมาก แค่ appreciate(ซาบซึ้ง)กับดนตรีก่อน แล้วค่อยๆศึกษาให้ลึกลงไป ค่อยๆ enjoyไป และความพิเศษของมหกรรมแจ๊สครั้งนี้สำหรับผมนะฮะ มันคือ Quality ที่สูงที่สุด ”

ไม่ต่างกันกับที่อัจฉริยะและตำนานเพลงแจ๊สตลอดกาลอย่าง ธีโลเนียส มังค์ (Thelonious Monk) เคยกล่าวไว้ว่า

“ผมไม่มีคำจำกัดความที่จะบรรยายคำว่า ‘แจ๊ส’ แต่คุณจะซาบซึ้งถึงคำว่า ‘แจ๊ส’ ได้ เมื่อคุณสัมผัสและฟังด้วยตัวคุณเอง”

ทำให้หวนนึกถึง พระราชดำรัสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกัน ในรายการวิทยุเสียงจากอเมริกา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งที่ประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป”

สอบถามโปรแกรม มหกรรม Jazztastic! และสำรองที่นั่งล่วงหน้าทีได้ 0-2649 – 8353,อีเมล์ dining.sgs@luxurycollection.com หรือ เข้าไปชมได้ที่ www.eatdrinkandmore.com/bangkok

Text by ฮักก้า photo by ศิวกร เสนสอน









ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It