หลังจาก Little Boy และ Fat Man ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 มาจนถึง 11 มีนาคม พ.ศ.2554 ที่ “สึนามิ” ถล่มเกาะฮอนชู ติดตามมาด้วย “แผ่นดินไหว” และการรั่วไหลของโรงไฟฟ้า “ฟูกูชิมะ”
ทั้งความขัดแย้งในอดีตและการสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินผลิตผลงานศิลปะเพื่อสื่อสารถึงกัน
ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราคือ โครงการ ภาพถ่ายและศิลปะแสดงสด มินิมูฟ “คีซึนะ” จัดโดย Blur Borders กลุ่มศิลปินอิสระที่ทำงานแลกเปลี่ยนกับศิลปินต่างชาติมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งไม่เพียงจะเป็นโครงการที่ศิลปินไทยและศิลปินอีกหลายชาติ อยากส่งผ่านความห่วงใยถึงคนญี่ปุ่น ยังเชื้อเชิญศิลปินญี่ปุ่นเดินทางมาบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาประสบผ่านการทำงานศิลปะ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
ศิลปินที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้แก่ ยูซูรู เมดะ,มิโดริ คาโดคูระ,ฮิโรมิ ชิรัยอิ,โซนี อินดรา คุม, อารัย ชินอิชิ,ไค แลม,มงคล เปลี่ยนบางช้าง,นพวรรณ สิริเวชกุล, ผดุงศักดิ์ คชสำโรง,จักกริช ฉิมนอกและภัทรี ฉิมนอก
นพวรรณ สิริเวชกุล หนึ่งในตัวตั้งตัวตีของ โครงการ มินิมูฟ “คีซึนะ” ,ศิลปินผู้ขับเคลื่อนโครงการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ,ผู้จัดการโครงการให้กับ เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเอเชียโทเปีย และเริ่มก่อตั้งกลุ่ม Blur Borders เมื่อปี ค.ศ.2007 กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า
“มันเริ่มมาจากตัวเองซึ่งเป็นศิลปินด้านศิลปะแสดงสด และมีเพื่อนศิลปินชาวญี่ปุ่นเยอะ พอเกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม ก็เลยคิดว่าอยากจะทำงานศิลปะเพื่อแสดงถึงความผูกพันระหว่าง 2 ประเทศ คือ ญี่ปุ่นกับไทย
ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยทำงานกับ เทศกาลศิลปะแสดงสดเอเชียโธเปีย ซึ่งเป็นเทศกาลใหญ่ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2000 ถึงตอนนี้ก็นับ 11 ปีแล้ว เลยอยากจะลองทำงานเล็กๆ ของตัวเองดูบ้าง กลุ่ม Blur Borders จึงเริ่มต้นงานแรก เมื่อปี 2007 ด้วยงาน สายสัมพันธ์ 100 ปี ไทย-ญี่ปุ่น เป็นการแลกเปลี่ยนทางศิลปะระหว่างประเทศ เพราะส่วนใหญ่แล้วดิฉันจะทำงานที่เป็น Art Exchange ในปี 2007 มีญี่ปุ่นมาแสดงศิลปะที่บ้านเรา และเราก็ไปแสดงบ้านเค้า ต่อเนื่องไปที่พม่า สิงคโปร์ และกลับมาทำเรื่องญี่ปุ่นกันอีกครั้ง”
นพวรรณไขว่า “คีซึนะ” ในภาษาไทยหมายถึง “สายใย ความผูกพัน ที่ลึกซึ้ง” ดังนั้นโครงการ มินิมูฟ “คีซึนะ” จึงเปรียบเป็นแรงกระเพื่อมของกลุ่มคนทำงานศิลปะแสดงสดกลุ่มหนึ่ง ที่อยากจะสะท้อนถึงความห่วงใยและสะท้อนให้คนได้ตระหนักในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ชื่อก็บอกอยู่แล้ว มินิมูฟ (Mini Move) คือแรงกระเพื่อมน้อยๆของกลุ่มเราที่เพิ่งจะเติบโต อยากส่งแรงกระเพื่อมนี้ออกไปในสังคมบ้านเรา ให้ตระหนักถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้ว และแสดงความห่วงใยในเพื่อนบ้านของเราที่เป็นมิตรที่ดีต่อกันมาโดยตลอด”
ในฐานะผู้จัด นพวรรณบอกถึงความพิเศษของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นว่า นอกจากผลงานของ ไค แลม ศิลปินเมืองลอดช่องที่มีแฟนเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำโครงการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังผ่านงานศิลปะที่ประเทศสิงคโปร์ ยังมีผลงานของ โซนี อินดรา คุม ศิลปินชาวเกาหลีที่เกิดในญี่ปุ่น รวมถึง Artist Talk ที่ต้องไม่พลาดไปล้อมวงฟัง
“เรื่องและงานของเขาน่าสนใจ เพราะว่าเขาเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ของเกาหลี ที่เกิดที่ญี่ปุ่น หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เละผลงานของเขาก็เป็นงานวีดีโออาร์ต ที่เล่าเรื่องตัวเองผ่านคน 3 เจเนอเรชั่น คือ ยาย แม่ และตัวเขา
ส่วน Artist Talk ศิลปินญี่ปุ่น 2 คน เขาจะพูดถึงเรื่องราวของตัวเองกับ เหตุการณ์ คนหนึ่งบ้านจะอยู่ใกล้กับ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ จะมาเล่าให้ฟังว่า ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องปิดประตูหน้าต่าง ต้องกินอาหารระวังอย่างไร
อีกคนเป็นศิลปินชาวญี่ปุ่่นอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ แต่บ้านอยู่ที่ เมืองนาโงย่า หลังเกิดเหตุการณ์เขาเดินทางกลับไปญี่ปุ่น 2 รอบแล้ว เพื่อไปบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งมุมมองของเขาอาจจะแตกต่างกับภาพที่เราเห็นตามข่าว เพราะเป็นการนำเสนอผ่านมุมมองของศิลปินคนหนึ่ง
พร้อมกับ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้เคยได้รับทุนจาก เจแปนฟาวน์เดชั่น ไปดูงานในพื้นที่ต่างๆ หลังเกิดเหตุการณ์ จะมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เราตระหนักและเห็นภาพเปรียบเทียบ ถ้าเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเกิดขึ้นในเมืองไทย เราจะเป็นอย่างไร”
มินิมูฟ “คีซึนะ” 6 – 28 ส.ค.54 ณ BKK ARTHOUSE ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน โทร. 089 -7811463 และ bkkarthouse@gmail.com
6 ส.ค.54 เวลา18.00 น. ชมภาพถ่ายจากการทำงานศิลปะแสดงสดของศิลปินรับเชิญ และวีดีโอ อาร์ต โดย โซนี อินดรา คุม ศิลปินเกาหลีเหนือที่เกิดในแผ่นดินญี่ปุ่น สำเร็จปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโตเกียวและเดินทางกลับไปยังประเทศเกาหลีเพื่อทดลองใช้ชีวิตในแผ่นดินแม่ของตัวเอง
25 ส.ค.54 เวลา 10.00-19.00 น. Sound Workshop โดย ไค แลม ศิลปินชาวสิงคโปร์ หนึ่งในผู้อำนวยการ เทศกาลศิลปะแสดงสด R.I.T.E.S (Rooted in the Ephemeral Speak) และเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานและคณะกรรมการจัดงาน Future of Imagination (FOI) เทศกาลศิลปะ แสดงสดนานาชาติ ที่จัดขึ้นทุกปี ณ ประเทศสิงคโปร์
26 ส.ค.54 เวลา15.00 – 16.30 น. ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสองศิลปินชาวญี่ปุ่น ยูซูรู เมดะ,มิโดริ คาโดคูระ และ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ ในประเทศญี่ปุ่น
17.00-20.00 น. ชมศิลปะการแสดงสด โดย ยูซูรู เมดะ ,ฮิโรมิ ชิ, อารัย ชินอิชิ ,นพวรรณ สิริเวชกุล และ จักกริช ฉิมนอก
27 ส.ค.54 เวลา17.00 – 20.00 น. ชมศิลปะแสดงสด โดย มิโดริ คาโดคูระ, โซนี อินดรา ,คุม ไค แลม ,มงคล เปลี่ยนบางช้าง ,ผดุงศักดิ์ คชสำโรง และ ภัทรี ฉิมนอก
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.