กว่า 700 แห่ง คือจำนวนจิตรกรรมฝาผนัง อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี และบ้างก็มีอายุมากถึง 400 ปี ซึ่งมีกระจายอยู่ตามโบสถ์ วิหาร หอไตร กุฏิ ฯลฯ ในวัดต่างๆทั่วประเทศ ที่ อ.สมศักดิ์ แตงพันธ์ ผู้คลุกคลีอยู่กับ แวดวงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง มากว่า 40 ปี บอกเล่าว่า สภาพกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต และรอคอยการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน และอย่างถูกวิธี
ท่ามกลาง “ปัญหาการอนุรักษ์ศิลปกรรมในประเทศไทย” ที่ จิราภรณ์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญอีกท่าน บอกว่า นอกจากปัญหาด้านอื่นๆ แล้ว หนึ่งในปัญหา ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเสื่อมสภาพและทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังถูกทำลาย คือ การขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านการอนุรักษ์อย่างแท้จริง
“อย่างที่คุณสมศักดิ์เคยพูดว่าประเทศเรามีนักอนุรักษ์อยู่ไม่เกิน 10 คน และนักอนุรักษ์อย่างดิฉัน ก็มีไม่อยู่ต่ำกว่า 5 คน เพราะฉะนั้นมันไม่พอ มันจะต้องมี conservation school เกิดขึ้นที่ใดสักแห่งหนึ่ง
ขณะนี้สำหรับประเทศไทย เราไม่มีหลักสูตร คนของเราที่ทำงานด้านการอนุรักษ์อยู่แล้วเนี่ย เป็นประเภทที่จับมาเรียนเป็น on the job training หรือที่เขาเรียกว่า in house training แต่ว่า ยังไม่มีผู้บริหารให้ความสนใจ ให้งบประมาณในการที่จะเอาคนจำนวนหลายคนมานั่งเรียน ยังไม่มีหลักสูตรอย่างนี้เกิดขึ้น การอนุรักษ์ก็เลยทำงานกันไปตามมีตามเกิด ตามบุญตามกรรมไปอยู่อย่างนี้ ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมาเยอะแยะไปหมด
เคยมีเจ้าหน้าที่ของเราท่านหนึ่งได้ดูงานที่เมืองจีน ไปเห็นห้อง Lab ด้านการอนุรักษ์ของเขาใหญ่โต มีเจ้าหน้าที่เยอะแยะไปหมด ก็มีความคิดที่จะทำโครงการตั้งศูนย์อนุรักษ์ขึ้นมา มาเล่าให้ดิฉันฟัง ดิฉันก็ถามคำเดียวว่า มีบุคลากรแล้วหรือยัง เขาบอก ก็ไม่เห็นจะยากเลย รับๆเข้ามา เด็กว่างงาน จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยต่างๆเยอะแยะ ที่เมืองจีน ก็เด็กๆทั้งนั้นที่ทำงานอยู่ แต่เขาไม่รู้อยู่อย่างหนึ่งว่า เมืองจีนเขามีหลักสูตรที่สอนด้านการอนุรักษ์ ตั้งแต่ปริญญาตรียันปริญญาเอก ดังนั้นพอเขามี Lab เขาสามารถรับเด็กเข้ามาทำงานได้เลย ในขณะที่ของเราไม่มี รับเด็กจบปริญญาตรีเข้ามา ต้องส่งไปเรียน ต้อง Train ต้องอะไรอีก อย่างน้อย 5 -10 ปี กว่าจะทำงานได้”
เหตุผลที่ประเทศไทยสมควรต้องบุคลากรที่มีความรู้ด้านการอนุรักษ์อย่างแท้จริง ในสายตาของ อ.สมศักดิ์ เพราะช่างไทยในปัจจุบัน แตกต่างต่างจากช่างในสมัยอดีตที่มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับงานศิลปกรรม ก็สามารถใช้ความเชี่ยวชาญที่มีแก้ไขปัญหา และทำให้งานศิลปกรรมที่ทำการอนุรักษ์ออกมาเป็นเนื้อเดียวกันได้
ที่สำคัญ “กึ๋นของการเป็นนักอนุรักษ์” คือ การพยายามรักษาของเก่าเท่าที่เหลืออยู่ไม่ให้ชำรุดมากไปกว่านี้ ต้องเป็นการพบกันครึ่งทาง โดยการทำให้ของเก่าและของใหม่อยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่การแปลงสภาพให้คนแก่ผมหงอก กลายเป็นเด็กสาวผมดกดำ ซึ่งไม่เป็นการสวยสมวัย
สอดคล้องกับสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ เช่น รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน พยายามนำเสนอให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของการมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะอย่างถูกหลักวิชาการ โดยส่วนหนึ่งได้ยกตัวอย่าง การทำงานของ GIUSEPPINA BRAMBILIA นักอนุรักษ์หญิงชาวอิตาลี ผู้ถูกมอบหน้าที่ให้ทำการซ่อมภาพ The Last Supper ผลงานชิ้นเอกของ ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
แม้จะเป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปี แต่ผลของการรอคอยได้และการใช้ความความรู้ที่ถูกหลักวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญ ส่งผลให้คนในยุคปัจจุบันยังคงได้ชื่นชมกับความงามของงานศิลปะที่มีอายุหลายร้อยปีของอัจฉริยะเช่น ดาวินชี
รศ.ดร.กฤษณา ให้ความรู้ด้วยว่า ในต่างประเทศหรือในระดับสากล เรียกการทำงานดังเช่น GIUSEPPINA BRAMBILIA ว่า … การอนุรักษ์ซ่อมสงวน (Preventive Conservation)
20 กว่าปีที่แล้ว บุคคลที่ทำงานทางด้านนี้ในต่างประเทศอาจจะไม่ใช่คนที่เรียนจบมาทางด้านนี้โดยตรง แต่เมื่อมีการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ซ่อมสงวน ซึ่งเป็นการซ่อมแบบที่พยายามรักษาของดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด จึงเกิดเป็นการเรียนการสอนจนถึงระดับปริญญาเอก และเป็นอาชีพของคนที่ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะควบคู่กันไป
“จะว่าไปแล้ว การอนุรักษ์ซ่อมสงวนที่แท้จริงในปัจจุบัน มันเป็นกระบวนการของการที่จะทำให้มันดีขึ้นมา จะด้วยเหตุผลทางด้าน aesthetic (สุนทรียภาพ) หรือว่าความมั่นคงแข็งแรงของชั้นสี มันจึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นงานของคนที่เขียนรูปเป็น เพราะคนที่เขียนรูปเป็น มาคัดลอกภาพอาจจะอันตราย และอาจจะนำไปสู่การเขียนทับ ในประเทศไทยหากว่าจะมีการอนุรักษ์ซ่อมสงวน โดยการสร้างวิชาชีพนี้ขึ้นมา มันต้องเป็นสาขาที่เป็นเอกเทศ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคณะวิชาที่เป็นทางด้านศิลปะ
สาขาวิชาอนุรักษ์ซ่อมสงวน มันไม่มีในประเทศไทย แม้เราจะมีการซ่อมภาพจิตรกรรมหรือว่าโบราณวัตถุ โบราณสถาน โดยกรมศิลปากรก็ตามที แต่ว่าคนที่ซ่อม ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง และโดยทั่วไปก็จะใช้วิธีดูงาน ซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า และคนรุ่นเก่าก็เอามาสอนคนที่ทำงานในกรมศิลปากร บางครั้งยังไม่รู้เลยว่า ในระดับสากล เขาได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการซ่อม น้ำยา หรือว่า กาวที่ใช้ประสานงานให้เข้าด้วยกัน เขาใช้อะไรบ้างและไปถึงไหนกันแล้ว วิธีการซ่อมสงวนมันมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ใช่แค่การไปดูงาน 1-2 เดือนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะกลับมาทำการอนุรักษ์ซ่อมสงวนได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่เราจะต้องสร้างสาขาวิชาชีพนี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพื่อที่งานศิลปกรรมทุกประเภทของเราในปัจจุบันที่กำลังเสื่อมสลายลงอยู่ทุกวันจะได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง”
หน่วยงานที่กำลังผลักดันให้มีการเรียนการสอนด้าน การอนุรักษ์ซ่อมสงวน ขึ้นในประเทศไทย คือ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจาก ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ วิจิตรเวชการ คณบดี ของคณะฯ ได้รับแรงบันดาลใจ จากการได้รู้จักกับ รศ.ดร.กฤษณา ผู้มีความสนใจเรื่อง การอนุรักษ์ซ่อมสงวน มานาน และอยากนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ซ่อมสงวน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์บูรณาการกับศาสตร์ทางด้านศิลปะ ขณะที่นักศึกษาของคณะฯ วิษณุ เซ็นบัว ก็มีความสนใจศึกษาเรื่อง การวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์จากจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งผู้รู้ต่างทราบว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการทำลายจิตรกรรมฝาผนัง
และในเบื้องต้นคณะฯได้มีการจัด สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การอนุรักษ์ซ่อมสงวนภาพจิตรกรรมฝาผนังจากการถูกทำลายด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อม” นอกจากการบรรยาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นถึงขั้นตอนของการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทยและในระดับสากล ยังมีการนำผู้เข้าร่วมสัมมนาลงพื้นที่ จ.เพชรบุรีและสมุทรสงคราม เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตรกรรมฝาผนัง ในวัด 7 แห่ง ได้แก่ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร,วัดเกาะแก้วสุทธาราม,วัดมหาสมณาราม,วัดบางกุ้ง,วัดอัมพวัน,วัดบางกะพ้อมและวัดบางแคใหญ่ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เรามองเห็นภาพรวมของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตรกรรมฝาผนังของวัดทั่วประเทศ และเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนักอนุรักษ์ซ่อมสงวนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
แม้ ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ จะไม่สามารถบอกได้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกับการที่จะเปิดการเรียนการสอนทางด้านนี้ขึ้นดังเช่นในต่างประเทศ แต่เธอจะพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้มีความเป็นไปได้
“ดิฉัน กับ รศ.ดร.กฤษณา มีความตั้งมุ่งมั่นที่ผลักดันให้มีหลักสูตรด้านการอนุรักษ์ซ่อมสงวน เกิดขึ้นให้ได้
และมีหลากหลายคำแนะนำที่ได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนาที่บ้างเห็นว่าว่าน่าจะเปิดสอนในระดับปริญญาโทเสียก่อน บ้างเห็นว่าให้เปิดเป็นหลักสูตรต่อเรื่อง หรือไม่ก็ในลักษณะ summer camp
แต่ในเบื้องต้นดิฉันเห็นด้วยกับแนวทางของ อ.จิราภรณ์ ว่าน่าจะมีการนิมนต์พระที่อยู่ตามวัดที่มีงานศิลปกรรมเก่า มารับฟังเพื่อให้ท่านได้เข้าใจถึงแนวคิด
และคงจะได้คุยกันอีกทีว่าอะไรคือสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่สุด ต่อจากนี้ไปอาจจะมีการระดมความคิดกันระหว่างวิทยากรท่านต่างๆ และอาจจะเชิญวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญมาจากต่างๆประเทศ หรือไม่เราก็อาจจะต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะหาองค์ความรู้มาคุยกันให้ตกผลึก ว่ารูปแบบไหนที่เกิดขึ้นได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด”
หากไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ รศ.ดร.กฤษณา กล่าวว่า เราอาจจะได้รู้ซึ้งถึงคำกล่าวที่ว่า “พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว” ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจจะสลดใจดังเช่นที่ อ.สมศักดิ์ เคยประสบมาบ่อยครั้ง ตลอดระยะเวลาของการทำงานบนเส้นทางการอนุรักษ์
“เราสลดใจกับการที่ไปเห็นปัญหา แล้วรู้ว่าบุคลากรยังไม่พอเพียง เหมือนโรงพยาบาลที่มีคนไข้เยอะ แต่หมอมันน้อย แล้วคนไข้ก็ป่วยลงทุกวัน และหมอที่เรามีก็เป็นหมอผิดประเภท เพี้ยนบ้างอะไรบ้าง บางทีอุตริสร้างตัวเป็นหมอก็มี ไม่สนใจ ฉันทำอย่างนี้ก็ได้ ขาดหลักวิชาการ ขาดการมีส่วนร่วมในสมบัติของชาติ สมบัติของโลก นึกว่าเป็นสมบัติของตัวเอง ทำตามอำเภอใจ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นของส่วนรวมร่วมกัน ไม่ใช่ของพระรูปใดรูปหนึ่ง”
ระหว่างที่เป็นคนไข้รอหมอ หากเป็นไปได้จิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอก กว่า 700 แห่งทั่วประเทศ คงอยากจะบอกเราว่า Help Me
Text by ฮักก้า
ขอบคุณ ภาพบางส่วนจาก ธนากรณ์ อุดมศรี นักศึกษาปริญญาโท ด้านศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com
Comments are closed.