Art Eye View

พักเหนื่อยจากไร่นา ชมงานศิลปะระดับโลก ฉีกยิ้มให้กับผลงานของศิลปินหญิงไทย ในเวทีนานาชาติ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

Pinterest LinkedIn Tumblr

ART EYE VIEW–แม้ไม่ได้ลงทุนเคลื่อนศพของคนจริงๆเข้าสู่แกลเลอรี่ เหมือนในนิทรรศการครั้งอื่นๆ แต่ผลงานศิลปะของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข  ก็กระตุ้นให้เรารู้สึกรู้สาไปกับเรื่องราวต่างๆรอบๆตัวได้เรื่อย ๆ

ทันทีที่ชมวีดีโออาร์ต ในนิทรรศการ ดาวสองดวง (The Two Planets Series) ซึ่งบันทึกภาพ ชาวนาชาวไร่ ที่ใช้เวลาพักเหนื่อยจากไร่นา ด้วยการนั่งชมงานชิ้นเอก 4 ชิ้น ของ 4 ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ แห่งศตวรรษที่ 19 อย่าง เอดูอาร์ด มาเนต์ ,วินเซนต์ แวนโก๊ะ ,ฌอง ฟรอง ซัวส์ มิเย่ต์ และ โอกุสต์ เรอนัวร์ ท่ามกลางบรรยากาศชนบถทางภาคเหนือของประเทศไทยเสร็จสิ้น

มากกว่าการบอกตัวเองว่า เราคงไม่อาจไร้เดียงสาได้เช่นผู้ชมงานศิลปะ ในวีดีโอชุดนี้ สิ่งหนึ่งที่ใครหลายคน คงอยากตั้งคำถาม กับศิลปินหญิงเจ้าของผลงานด้วยก็คือ

อะไรทำให้เธอเกิดความคิดนำสิ่งที่ไม่อยู่ในวิถีที่ควรจะเป็นของชาวนาชาวไร่เหล่านี้ มาตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าพวกเขา แล้วปล่อยให้พวกเขาได้พูดถึงมัน ด้วยท่าทีที่เป็นอิสระ

กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ปี 2007

ก่อนออกไปเผชิญกับอากาศหนาวที่อุณหภูมิ -12 องศา และเข้าสู่ขั้นตอนที่ยุ่งยากของการเข้าไปติดตั้งผลงานในพิพิธภัณฑ์

ขณะนั่งจิบกาแฟในห้องอาหารของโรงแรมและอ่านบทความเกี่ยวกับศิลปะที่มีติดตัวไปทุกครั้งที่จากประเทศไทยไปแสดงผลงานในต่างแดน

บทความเกี่ยวกับศิลปะในเอเชีย เขียนโดยนักวิชาการชาวจีน แห่งมหาวิทยาลัยหางโจว ตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ศิลปะในเอเชียจะพัฒนาได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการวิจารณ์ที่แหลมคมจากภายนอก”

สลับกับการนึกคิดไปถึงช่วงเวลาที่ยุ่งยากของการเข้าไปติดตั้งและชมงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงบรรยากาศของชีวิตรอบๆบ้านที่เชียงใหม่ เป็นแรงบันดาลให้อารยา สร้างวีดีโออาร์ตชุดนี้ขึ้นมา

จ.จันทบุรี ประเทศไทย ปี 2012

ช่วงเวลาของหนีปัญหาควันไฟจากเมืองเหนือไปพำนัก ณ บ้านอีกหลังที่ไม่อยู่ไกลจากวงศ์วานว่านเครือ

ศิลปินหญิงไทยในเวทีนานาชาติ ซึ่งมีอีกหนึ่งบทบาทเป็น อาจารย์ประจำ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล่าให้เราได้เข้าใจใน 3 เหตุ 3 ปัจจัย ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอว่า

“ได้ย้ายบ้านจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปอยู่ในชนบถ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน เห็นความร่าเริงสดใส ในบทสนทนาของเขา เวลาเขาปลูกข้าว ดำนา และเวลาที่ไปเดินออกกำลังในหมู่บ้าน ก็จะเห็นทิวทัศน์ต่างๆ ที่สวยมากเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ฤดูกาล และช่วงเวลา เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่ต่างกับที่อยู่ใน ภาพเขียน 4 ชิ้นของศิลปินระดับโลก

หนึ่ง เมื่อปรับความคิดของเราไปอยู่ที่ บทความของนักวิชาการชาวจีน ที่บอกว่า ศิลปะในเอเชียจะพัฒนาได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการวิจารณ์ที่แหลมคมจากภายนอก ซึ่งภายนอกนั้นหมายถึง ประเทศตะวันตก

และสองเมื่อ นึกไปถึงขั้นตอนต่างๆนานาที่เราเผชิญก่อนเข้าไปชมผลงานศิลปะชิ้นสำคัญในมิวเซียม ที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่จะต้องอยู่ไปชั่วนิรันดร์ และสาม ภาพของชาวนาชาวไร่ที่อยู่ใกล้บ้านของเรา ผู้ที่ชีวิตเขาไม่มีมาตรฐานด้านการกินอาหาร ป่วยง่าย แล้วก็จากไปง่ายๆ

เลยเกิดความคิด นำเอางานศิลปะที่ดูเหมือนว่าจะเป็นนิรันดร ไม่มีวันตาย ไปพบกับชาวนาชาวไร่ที่เราพบว่า ชีวิตเขาไม่มีมาตรฐานอะไรรับรอง แล้วเลือกฉากสวยๆที่เราเห็นตอนไปเดินออกกำลังกาย มาเป็นฉากหลัง ผลงานวีดีโออาร์ตชุดนี้ของดิฉัน ก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น”

ด้วยสายสัมพันธ์อันดีระหว่างเธอกับชาวนาชาวไร่รอบๆบ้าน ทำให้การทำงานวีดีโออาร์ตชุดนี้ ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2008 ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี อีกทั้งเธอในการรับรู้ของพวกเขา ไม่ใช่ “ศิลปิน”หรือ “อาจารย์จากรั้วมหาวิทยาลัย” แต่เป็น “คุณหมอหมาใจดี” ที่พวกเขาไว้วางใจ

 เธอผู้ที่เคยมีผลงานศิลปะ ถูกคัดเลือกให้ไปร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 51 ณ ประเทศอิตาลี บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง และการทำงานศิลปะชุดนี้ ณ บ้านในชนบถ ด้วยอารมณ์ขันว่า

“จริงๆแล้วเป็นคนที่ชอบเลี้ยงหมาค่ะ ชาวบ้านจะไม่ได้เรียกอาจารย์ จะเรียกว่าคุณหมอ เพราะว่าจะชอบไปดูแล ไปช่วยฉีดยาให้หมาของชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ เวลาหมาของพวกเขามีเห็บหมัด หรือเวลาที่หมาเป็นอะไร ชาวบ้านก็จะมาบอก ไปร่วมกิจกรรมกับพวกเขา ในบางวาระโอกาส เพราะฉะนั้นจะมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะดีกับชาวบ้าน

ก่อนจะเริ่มทำงานชุดนี้ จะมีการเลี้ยงขนม เลี้ยงน้ำและคุยกันในสิ่งทำให้พวกเขารู้สึกอิสระไม่มีความกดดัน แต่จะไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพเขียนทั้ง 4 ชิ้น แก่พวกเขาเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาแสดงความรู้สึกต่อภาพที่อยู่ตรงหน้า จึงเป็นการด้นสดอย่างเดียวเลย และพวกเขาก็ทำได้ดีมากเลย”

อารยาคัดสรรให้ กลุ่มผู้ชมที่นั่งอยู่ริมแม่น้ำ เป็นผู้หญิงทั้งหมด เพื่อชมผลงาน Millet ’s The Gleaners ซึ่งเป็นภาพผู้หญิงขณะเก็บเมล็ดข้าวที่ ฌอง ฟรอง ซัวส์ มิเย่ต์ เขียนขึ้นเมื่อปี 1857

ขณะที่ผู้ชมภาพ The Midday Sleep ผลงานของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ เป็นกลุ่มคนชราที่มีผู้ชายปะปนอยู่ไม่กี่คน

“ผู้ชายมีน้อยมาก ส่วนใหญ่มีแต่ผู้หญิง เพราะผู้ชายตายเร็ว(หัวเราะ) ผู้หญิงอายุยืนกว่า หลังจากนั่งชมอยู่ในบรรยากาศแบบเนิบๆบางคนเห็นบางอย่างจากภาพแล้วตีออกมาเป็นเลขเพื่อไปซื้อหวย ซื้อลอตเตอรี่ ก็มีนะ แต่ไม่ถูก”

ส่วนภาพที่มีผู้หญิงเปลือย ชื่อ Manet' s Luncheon on the Grass ผลงานของ เอดูอาร์ด มาเนต์ แบ่งเป็นผู้ชมชายและหญิงจำนวนเท่าๆกัน และผู้ชมภาพ Renoir ‘s Ball at the Moulin de la Galette ผลงานของ โอกุสต์ เรอนัวร์ มีคละเคล้ากันไปทั้งชายและหญิง ทั้งหนุ่มและแก่

“เพราะดิฉันคิดว่า น่าจะมีอะไรที่ตลกๆและทะลึ่งๆเกิดขึ้น จากกลุ่มผู้ชมที่ชมงานของมาเนต์ ส่วนผู้ชมที่ชมงานของเรอนัวร์ ก็มีคละกันไป แค่เป็นการคาดคะเนสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นนิดหน่อยๆ”

หลังการร่วมกิจกรรมที่แปลกต่างไปจากที่เคยร่วมมาก่อน “คุณหมอหมา” ไม่ได้รับคำถามใดๆจากปากของชาวนาชาวไร่ ผู้ต้องกลายมาเป็นคนชมงานศิลปะจำเป็น

“พวกเขาแค่คิดว่ามันเป็นกิจกรรมที่สนุกๆอย่างหนึ่งนะค่ะ(หัวเราะ) และหลังจากงานชุดนี้ พอดิฉันทำงานชุดหลัง หมู่บ้านและที่อื่น (Village and Elsewhere) พวกเขาก็ยังมาร่วมกับดิฉันอยู่

แต่กลุ่มที่มาร่วม เป็นพระสงฆ์ คนชราหญิง และกลุ่มเด็กๆในหมู่บ้าน เป็นการทำงานภายในวัด ภายในวิหาร โดยดิฉันได้บันทึกภาพของพระสงฆ์ ขณะสอนธรรมะผ่านผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังชาวตะวันตก (เจฟฟ์ คุนส์ และ ซินดี้ เชอร์แมน)

ซึ่งพระท่านก็ด้นสดสอนธรรมะ โดยที่ไม่รู้ข้อมูลอะไร เกี่ยวกับชิ้นงานศิลปะที่เลือกมาได้อย่างเป็นตุเป็นตะ ส่วนคนชราหญิง และเด็กๆก็ตอบคำถามเรื่องธรรม เรื่องศีลธรรม เรื่องอะไรต่อมิอะไร ได้ดีมาก”

อารยาไม่ได้คาดหวังว่า ผลงานวีดีโออาร์ตของเธอ จะนำไปสู่คำตอบของอะไร

“ไม่อยากคาดหวังคำตอบล่วงหน้า แต่อยากจะเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ในกระบวนการของการทำงาน และ อยากจะเรียนรู้ว่า ขณะที่ผู้ชมได้ชมงานของเรา ผู้ชมรู้สึกอย่างไร และได้อะไร คือถ้ารู้แล้วว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น แล้วต้องไปกำกับมันทั้งหมดหมด ดิฉันไม่ทำ”

ก่อนหน้านี้ ดาวสองดวง ของอารยา เคยถูกนำไปจัดแสดงมาแล้วในหลายสถานที่ ทั้งในและต่างประเทศ

“ปี 2008 ไปจัดแสดงที่อังกฤษ แล้วกลับมาแสดงเมืองไทย แล้วก็นำไปจัดแสดงที่นิวยอร์กเมื่อมกราคมที่ผ่านมา

แต่ที่ผ่านมาเคยนำไปจัดแสดงในนิทรรศการร่วมของศิลปินนาชาติเยอะมาก แสดงนอกประเทศมากกว่าในประเทศ

ซึ่งในประเทศไทยแสดงครั้งแรกในนิทรรศการ รอยยิ้มสยาม ที่ หอศิลป์ กทม. ,แสดงที่ Ardel Gallery of Modern Art ตอนที่ดิฉันจัดแสดงเดี่ยวผลงานของตัวเอง และร่วมแสดงในงานแสดงกลุ่มที่ แกลเลอรี่ โซลฟลาวเวอร์ ”

ทว่าการแสดงครั้งที่ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้ชม คือครั้งที่เธอนำไปแสดงใน เทศกาลศิลปะ ซิดนีย์ เบียนนาเล่ ปี 2010 ที่ประเทศออสเตรเลีย และ ที่ สิงคโปร์ อาร์ต มิวเซียม ปี 2011

ที่ ซิดนีย์ เบียนนาเล่ นักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากรายหนึ่ง บอกกับกลุ่มของภัณฑารักษ์และกลุ่มของนักวิจารณ์ด้วยกันว่า ในบรรดาผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงในเทศกาลฯ เขาชอบผลงานชิ้นนี้มากที่สุด เพราะว่าเขานั่งดูแล้วมีความสุข จนทำให้ต้องยิ้มตลอดเวลา

ส่วนที่ สิงคโปร์ อาร์ต มิวเซียม นักวิจารณ์หนุ่มนาม เดวิท เทย์ บอกว่า เมื่อได้ชมงานศิลปะชุดนี้ มันทำให้เขารู้สึกว่า ศิลปะนั้นมีชีวิตชีวา ไม่ใช่วัตถุตาย

ซึ่งเขาเห็นว่า เหตุที่ศิลปะถูกทำให้เป็นวัตถุตายมากที่สุด คือการให้การศึกษาศิลปะ และมันสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือศิลปะวิจารณ์ เป็นสิ่งที่เหลวไหลมาก เพราะทำให้ศิลปะกลายเป็นวัตถุตาย วัตถุนิ่ง

ทว่าว่าผลงานศิลปะชุดนี้ของอารยา มันปลุกชีวิตของผู้ชม และภาพเขียน 4 ภาพ ของทั้ง 4 ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ ก็ดูเหมือนจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง

ผู้ชมคนอื่นๆ จะคิด เห็น เป็น ต่าง ไปจากนักวิจารณ์ทั้ง 2 ท่าน หรือไม่ แวะไป ชมฟรี ! ในนิทรรศการ ดาวสองดวง (The Two Planets Series) วันนี้ -29 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 10.00 – 18.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ใกล้วัดวัดโพธิ์ โทร. 0-2225 – 2777 ต่อ 414

นอกจากปล่อยให้ผลงานวีดีอาร์ตได้สื่อสารกับผู้ชมด้วยตัวของมันเอง เจ้าของผลงานยังได้ฝากบางประโยค มายังผู้ชมทุกคนว่า

“เพลิดเพลินกับรสงานให้เต็มที่”

Text by ฮักก้า

ขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก : 100 ต้นสน แกลเลอรี่
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ และ Celeb Online www.astvmanager.com โทร.0 -2629 – 4488 ต่อ 1530 Email: thinksea@hotmail.com

>> อัปเดตข่าวในแวดวง สังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม ศิลปะ และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It