Art Eye View

“ศิลปะ” ในโลกของนักฟิสิกส์ชื่อ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW —“ศิลปะ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว นักฟิสิกส์ชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ก็เหมือนกับอีกหลายๆ เรื่องบนโลกใบนี้ ที่ถูกเขานี้นำมาเล่าให้ฟังผ่านบทความอย่างต่อเนื่อง

นับตั้งแต่บทความใน นิตยสาร “อาทิตย์”  ไล่มาจนถึง นิตยสาร สารคดี ,หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ และ ข่าววิทยาศาสตร์ www.astvmanager.co.th

“เริ่มต้นผมเป็นนักฟิสิกส์ ต่อมาผมมีความสนใจอยากจะเป็นนักเขียนด้วย เพราะว่าหัวข้อฟิสิกส์มันค่อนข้างจะแห้งแล้ง มันไม่มีวิญญาณ ไม่มีอารมณ์ พวกอิเล็กตรอน โปรตรอน หรือดวงดาวอะไรต่างๆ มันแห้ง ไม่มีฝน ไม่มีน้ำ เราก็เลยกลายมาเป็นนักเขียน

แรกๆก็เขียนแต่เฉพาะวิทยาศาสตร์ แต่เป็นคนที่ขี้เบื่อ ไม่ชอบอะไรที่จำเจ ก็เลยผลันตัวเองมา ไปเขียนเรื่องอื่นๆด้วย และผมสังเกตว่า ตลาดการเขียน นักวิชาการจริงๆที่ลงไปในสนามนักเขียน ยังมีน้อยมาก อย่างอาจารย์มหาวิทยาลัย จะไม่ค่อยเขียนให้คนอื่นอ่าน พอเราลงมือเขียนไปแล้ว เวลาผ่านไปไอ้นู่นก็น่าบอก ไอ้นี่ก็น่าบอก มันก็เลยกลายเป็นเรือที่ไม่มีหางเสือ เขียนไปเรื่อยทุกสนาม”

ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า การรู้หลายอย่างของเขา นอกจากเพื่อเป็นการสร้างสีสันให้กับชีวิต เพื่อให้เข้ากับสังคมได้ ยังเพื่อเป็นการตอบแทนให้กับสังคม ด้วยการเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้อื่น

“ถ้าคุณรู้กระจ่างแต่เรื่องเดียว มันดีสำหรับความก้าวหน้าในชีวิตการงาน เหมือนคุณเป็นหมอหัวใจ คุณต้องรู้ดีเรื่องหัวใจ แต่ขณะเดียวกันชีวิตคุณจะจืดมากและแคบมากเหมือนกัน เพราะคุณจะคุยกับใครไม่ได้เลย

วันก่อนเค้าคุยกันเรื่องโบราณคดี อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า อุ้ยตาย อ.สุทัศน์รู้จัก Margaret Mead ด้วย ซึ่ง โอเค คนนี้เรารู้ว่า เขาเป็นนักมานุษยวิทยา ไปอยู่เกาะซามัว แต่งงานกับผู้ชายซามัวเพราะอยากจะเรียนรู้ว่าวิถีชีวิตเขาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าอวดเก่ง แต่คนเราสามารถรู้หลายอย่างได้

ผมพิสูจน์ตัวเองมาพอสมควรกับการรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว เพราะผมเป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์แล้ว แต่ต่อไปนี้ไปผมต้องการทำงานให้กับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้ทิ้งฟิสิกส์”

ศาสตราจารย์ ดร. สุทัศน์ จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ (เกียรตินิยม) จาก อิมพีเรียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ,ปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านฟิสิกส์ของแข็งภาคทฤษฎี จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ สหรัฐอเมริกา และ เคยได้รับรางวัลรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2530 ในสาขาฟิสิกส์ทฤษฎี

ปัจจุบัน นอกจากเป็นที่ปรึกษา ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ

เจ้าตัวเล่าว่า ขณะเรียนอยู่ประเทศอังกฤษ บ่อยครั้งที่เดินทางข้ามประเทศไปชมความงาม ของบรรดางานศิลปะชิ้นเอกของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ณ พิพิธภัณฑ์ Louvre ประเทศฝรั่งเศส

“ผมเป็นคนค่อนข้างจะเห่อ เวลาคนเค้าพูดถึง ภาพวาด Mona Lisa ของ Leonardo da Vinci หรือศิลปินคนอื่นๆ ก็เลยทำให้อยากจะไปดู อยากไปเห็นด้วยตาตัวเองว่า มันมีสเน่ห์อย่างไร ทำไมถึงมีชื่อเสียง จำได้ว่าตอนนั้นไปฝรั่งเศส ไปยืนดู จ้องดู

แล้วก็ไปดูThe Birth of Venus ของ Sandro Botticelli ภาพที่มีวีนัสที่โผล่มาจากฟองคลื่น และยืนอยู่บนกาบหอย ไปดูที่ The Uffizi Gallery ที่เมือง Florence ภาพมันใหญ่ๆเราก็อยากจะดู แล้วก็ Venus de Milo ที่ Louvre มีเยอะมากที่ไปดู

ตอนนั้นผมยังเรียนหนังสืออยู่ที่อังกฤษ ไปเที่ยว เพราะว่าลอนดอนกับปารีสมันอยู่ใกล้กัน แต่ตอนนั้นความคิดที่จะเขียนหนังสือและเขียนอะไรเกี่ยวกับศิลปะยังไม่มีเลย”


กระทั่งถูกชักชวนให้ไปเขียนบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และได้มีโอกาสนำเอาความรอบรู้ในสาขาอื่นๆมาประยุกต์ใช้กับการเขียนด้วย โลกของศิลปะจึงยิ่งขยับเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตของนักฟิสิกส์ท่านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

“แต่ถ้าผมสนใจเขียนถึง Mona Lisa ผมก็จะเขียนว่าภาพนี้มันมีเลศนัยอย่างไร และ The Birth of Venus เราก็อยากจะทราบว่า ผู้หญิงคนนี้มาจากไหน ทำไมต้องแก้ผ้า ยืนรับลมที่โชยพัด แล้วทำไมมีอีกคนเตรียมเอาผ้ารอคลุม เหมือนที่ตา(ปัญญา นิรันดร์กุล) ทำไมต้องเอา เบนซ์(พรชิตา ณ สงขลา)มานั่งเป็นกรรมการ ใน ไทยแลนด์ ก็อต ทาเล้นท์”

แต่บทความศิลปะชิ้นแรก ที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ เขียนถึง คือภาพศิลปะในฝรั่งถ้ำ อายุกว่า 1300 ปี ที่ประเทศฝรั่งเศส

“ ลึกๆแล้วที่ผมเขียนเรื่องนี้ ผมมีเจตนา อยากให้คนอ่านได้รู้ถึงวิธีการอนุรักษ์ศิลปะบนผนังถ้ำของที่นี่ แล้ว ย้อนกลับไปดูวิธีการอนุรักษ์ศิลปะบนผนังถ้ำ ที่ผาแต้ม ของบ้านเรา

หรือถ้าพูดถึงภาพเขียน The Scream ของ Edvard Munch ที่ล่าสุดประมูลได้ราคาแพงที่สุดในโลก พูดถึงภาพเขียนของ Michael Angelo ผมอยากให้รู้ว่า ภาพที่มีอายุหลายร้อยปีเหล่านี้ เขามีวิธีการอนุรักษ์และดูแลกันอย่างไร แล้วอยากให้หันกลับมาดูการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดพระแก้ว

ผมไม่ได้เขียนโยงนะครับ แต่พยายามให้คนอ่าน ให้คนที่เขารู้ คนที่เขาเกี่ยวข้อง เกิดความรู้สึกอยากจะโยง หรือ ได้ฉุกใจคิดเอง เพราะว่าถ้าผมไปพูดหรือวิพากวิจารณ์อะไรต่างๆ สังคมเราอาจจะไม่ยอมรับ และผมเองก็ไม่ได้จบมาทางนี้ เพราะฉนั้นการที่ผมจะพูดอะไรต่างๆผ่านบทความ ผมต้องระมัดระวัง”

อาจจะเคยเขียนถึงงานศิลปะหลายหลายแนวของศิลปินหลากหลายคน แต่ งานศิลปะแนวที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ชอบมากเป็นพิเศษ คือ ศิลปะแนวคลาสสิก

“ผมไม่ชอบแบบ Modern ชอบแนวคลาสสิคอย่างผลงานของ CANALETTO และ Joseph Mallord William Turner เห็นแล้วรู้สึกสงบ สบายใจ งานของศิลปินไทย อย่างจักรพันธุ์ (โปษยกฤต)ผมก็ชอบนะ ส่วนไอ้ภาพที่ดูรุนแรงไม่ชอบ แต่ผมก็เขียนให้คนอ่าน ว่าเป็นมาอย่างไร”

ในบรรดาพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีอยู่มากมายทั่วโลก ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ประทับใจพิพิธภัณฑ์ Louvre มากที่สุด และอยากแนะนำให้ทุกคนที่ชื่นชอบศิลปะได้มีโอกาสไปสักครั้งในชีวิต

“เพราะมีทุกอย่าง ตั้งแต่ภาพเขียน รูปปั้น ไปจนถึงหลักฐานทางโบราณคดี ทางประวัติศาสตร์ ของหายาก แม้กระทั่งอะไรหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย ฝรั่งเศสเขาก็เก็บไปรักษาไว้

ตอนที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือน ที่นี่ เราก็ยังได้เห็นว่ามีเอกสารสำคัญต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไปอยู่ที่นู่นเยอะ”

หลายคนบอกว่า โลกศิลปะของศิลปินเป็นโลกแห่งจินตนาการและความเฟ้อฝัน ช่างแตกต่างกันสิ้นเชิงกับโลกที่ต้องอาศัยเหตุผลของนักวิทยาศาสตร์

แต่ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับทั้ง 2 โลกนี้เป็นอย่างดี กลับมีความเห็นว่า

“บางทีนักวิทยาศาสตร์ก็ใช้จินตนาการเยอะเหมือนกัน เพราะคุณไม่สามารถจะมองเห็นไปในอะตอม ไม่สามารถจะมองเห็นอิเล็คตรอน แล้วคุณก็พยายามจะสร้างจินตนาการ

เคยได้ยินใช่ไหม อิเล็คตรอน ที่ว่ามันเป็นคลื่น เป็นอนุภาค แต่เราก็มองไม่ออกว่ามันเป็นอย่างไร หรือสมมุติเราพูดถึงช้าง เรารู้ว่ามันมีงา มันมีงวง แต่คุณก็ไม่เห็นอะไรนอกจากนั้น วิทยาศาสตร์ก็ต้องใช้จินตนาการ เพราะคุณไม่มีภาพจริงๆของมัน”

และเชื่อว่า คนบางคนเวลาเห็นจรวด แล้วรู้สึกประหลาดใจว่า นักวิทยาศาสตร์คิดค้นมันขึ้นมาได้อย่างไร? ก็คงไม่ต่างอะไรกับเวลาได้เห็นภาพบางภาพ แล้วเกิดคำถามว่า ศิลปินวาดมันขึ้นมาได้อย่างไร?

Photo by พลภัทร วรรณดี
>>หนึ่งเสียงของคุณมีความหมาย ใครคือศิลปินไทย ที่คุณชื่นชอบ ใน “ชีวิต” และ “ผลงาน”<<

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ เซคชั่น M-Art ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It