Art Eye View

120 ปี ศิลป์ พีระศรี สำนักวิจัยฯ ยกย่อง 20 ลูกศิษย์ ผู้ทำงานปิดทองหลังพระ

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—“นาย ถ้านายคิดถึงฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน”

วันศิลป์ พีระศรี ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี เวียนมาถึงอีกครั้ง

ปีนี้ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ในรั้วสถาบันการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังมีกิจกรรมให้เข้าร่วม ดังเช่นทุกปี

แต่อาจจะมีบางกิจกรรมเพิ่มเติมขึ้นมา เนื่องจากเป็นปี ครบรอบวันวันคล้ายวันเกิดครบ 120 ปี ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลีสัญชาติไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย

โดยเฉพาะ สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี หน่วยงานซึ่งริเริ่มโดย นิพนธ์ ขำวิไล และเคยทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ศ.ศิลป์ มาหลายอย่าง รวมถึงคิดทำหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ที่ตีพิมพ์มาแล้วหลายครั้ง

ขอใช้โอกาสนี้ เชิดชูเกียรติบุคคล 20 ท่าน ผู้ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จาก ศ.ศิลป์ โดยตรง และต่างพยายามดำเนินชีวิตตามคำสอน
วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ผู้จัดการสำนักวิจัยศิลป์ พีระ ศรี
“การให้รางวัลครั้งนี้ เราไม่ต้องการจะสร้างภาพลักษณ์ให้กับสำนักวิจัยฯ แต่เหมือนกับเป็นการเดาใจอาจารย์ศิลป์ไงครับว่า 120 ปี อาจารย์อยากจะให้รางวัลกับลูกศิษย์คนไหนบ้าง คณะกรรมการหลายๆท่านก็เลยมานั่งเดาใจอาจารย์กัน

และอย่าแปลกใจนะครับว่าทำไมไม่ให้คนนั้นคนนี้ อย่างบางคนที่ท่านได้ศิลปินแห่งชาติแล้ว เราไม่ให้ฮะ คนละกลุ่มกัน” วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ผู้จัดการสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี กล่าว

และได้เปิดเผยถึงคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติว่า มีคุณสมบัติ 6 ประการ ดังต่อไปนี้

1.ยังมีชีวิตอยู่ 2. เป็นลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับอาจารย์ศิลป์โดยตรง 3. ยังไม่ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ 4. มีบทบาทในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสาธารณะ 5. เป็นผู้ทำงานศิลปะ สอนหนังสือเพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับศิลปะ หรือมีอาชีพด้านงานสร้างสรรค์ ตามแนวทางที่อาจารย์ศิลป์ปรารถนา และ 6. ต้องไม่มีประวัติด่างพร้อย หรือผิดศีลธรรมร้ายแรง”

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า การดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ ศ.ศิลป์ ปรารถนานั้น เป็นเช่นใด

“ใช้ศิลปะในการดำรงชีพ หรือใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะนั่นเอง มีความรับผิดชอบต่ออาชีพการงาน ไม่เป็นคนที่เหลวไหล เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้จนเกินความจำเป็น เป็นคนที่มีใจให้กับสาธารณะ ให้กับสังคมส่วนรวม

เพราะว่าบุคลิกของอาจารย์ศิลป์ ท่านเป็นคนที่ตั้งใจทำงานช่วยเหลือสังคมมาก รักลูกศิษย์และเห็นว่าประเทศต้องการคนเข้ามาดูแลศิลปะ ท่านก็เลยสอนให้ลูกศิษย์เห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม ของไทย ตัวอย่างคุณสมบัติเหล่านี้นี่แหล่ะฮะ ที่เป็นคุณสมบัติของผู้ดำเนินชีวิตตามแนวทางที่อาจารย์ศิลป์ปรารถนา”

แล้วแบบไหนกันที่เป็นการดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ ศ.ศิลป์ ไม่ปรารถนา

“ เช่น อาจารย์ศิลป์ไม่ชอบคนที่เห็นแก่ตัว ให้แก่เงิน อยากเด่นดัง เกินความจำเป็น และเป็นคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ แล้วก็เป็นคนที่คอรัปชั่น ขี้โกง คนแบบนี้อาจารย์ศิลป์ไม่ชอบแน่ๆ

มีคนพูดเสมอว่า ลูกศิษย์รุ่นหลังๆจำนวนมาก ที่เริ่มไม่ฟังคำสอน อยากเด่นอยากดัง หาวิธีสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง แล้วก็ลืมที่จะทำงานศิลปะ กลายเป็นทำงานพอดูได้ พยายามสร้างชื่อเสียงมากกว่าสร้างผลงาน อันนี้ผมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เริ่มไกลจากคำสอนแล้ว

อยากให้รางวัลนี้ช่วยทำให้เราระลึกถึงคำสอนของอาจารย์ศิลป์ที่เตือนว่า เงินทอง ชื่อเสียง ไม่มีประโยชน์เท่ากับการทำงานที่มีคุณค่า มีหลายคนที่ท่านทำงานเพื่อสาธารณะแต่ก็ยากจน หรือถึงไม่จนก็ไม่รวย บางคนเป็นครูสอนหนังสือที่เด็กรักมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ในเรื่องของการทำงานประกวดแสดง เพราะว่ามัวแต่สอนเด็ก หรือบางคนเป็นนักวิชาการที่ความรู้เป็นเลิศเลย แต่ทำไมไม่มีคนเห็นความสำคัญ

สังคมไทยมีแนวโน้มไปทางด้านทุนนิยมไปเรื่อยๆไงครับจะเชียร์แต่คนเด่นคนดัง ลืมคนที่เขาทำความดี ผมก็เลยคิดว่า การให้รางวัลหรือการเชิดชูเกียรติบุคคลทั้ง 20 ท่าน ที่ต่างเป็นผู้ทำงานแบบปิดทองหลังพระนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ 120 ปี ของอาจารย์ศิลป์ มีความหมาย”
เทพศิริ สุขโสภา
ช่วง มูลพินิจ
กำจร สุนพงษ์ศรี
ลาวัณย์ (ดาราย) อุปอินทร์
ลูกศิษย์ ศ.ศิลป์ 20 ท่าน ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ ซึ่งปัจจุบัน ต่างมีอายุ 65 ปีขึ้นไปแล้วนั้น มาจากหลายวิชาชาชีพด้วยกัน ทว่าล้วนแต่เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์ ประกอบด้วย

ลาวัณย์ (ดาราย) อุปอินทร์,ประพันธ์ ศรีสุตา,กำจร สุนพงษ์ศรี,มาโนช กงกะนันทน์,เสวต เทศน์ธรรม,ประทีป สว่างสุข,ช่วง มูลพินิจ,เทพศิริ สุขโสภา, บัณฑิต ผดุงวิเชียร,ปรีชา อรชุนกะ,รัตนา อัตถากร, เสนอ นิลเดช ,พิศิษฐ์ เจริญวงศ์ ,จรูญ อังศวานนท์ แนบ โสถิตพันธุ์,ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ และ ชวลิต เสริมปรุงสุข

ได้ทราบรายชื่อแล้ว หลายคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่า ท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสมควรแก่การได้รับการยกย่อง และมี ศ.ศิลป์ เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานทั้งในแง่ส่วนตัว และเพื่อสังคมตลอดมา
ตัวอย่างผลงานของ ศ.ศิลป์ พีระศรี
ตัวอย่างผลงานของ ศ.ศิลป์ พีระศรี
แม้แต่คนรุ่นหลังที่ไม่ได้มีโอกาสร่ำเรียนกับ ศ.ศิลป์ โดยตรง และไม่ใช่นักศึกษาศิลปะในรั้วศิลปากร

วิจิตรเชื่อว่าทุกสามารถศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ ศ.ศิลป์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้เช่นกัน โดยช่องทางเบื้องต้นที่ วิจิตรแนะนำก็คือ ห้องทำงานของ ศ.ศิลป์ ณ กรมศิลปากร ใกล้วัดพระแก้ว และหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ที่มีความหนากว่า 700 หน้า ซึ่งตีพิมพ์คำบอกเล่าของเหล่าลูกศิษย์ของ ศ.ศิลป์ กว่า 300 ท่าน

“ผมไม่ได้มองว่าอาจารย์ศิลป์เป็นคนสำคัญของมหาวิทยสาลัยศิลปากรเท่านั้นนะฮะ แต่เป็นคนสำคัญในระดับประเทศด้วย อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ

คนเก่าๆที่สำคัญ ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญ ผมคิดว่า มันจะทำให้การเดินไปข้างหน้าของวงการศิลปะ ไม่สวยงามเท่าไหร่ ถ้าคนเก่าๆไม่สำคัญ แล้วทำไมอิตาลี เขายังขายไมเคิล แองเจิลโล จุดขายของพวกเขายังเป็นคนโบราณของเขาอยู่นะครับ

ศิลปินร่วมสมัยเรายังสรุปไม่ได้ว่าเขาคือใคร แต่คนที่สรุปได้แล้วเนี่ย มันน่าศึกษาจะตาย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของอาจารย์ศิลป์สนุกมาก ใช้คำว่าสนุกได้เลยครับ

ความเมตตาของคนๆนึงที่มีกับคนจำนวนมากที่เป็นลูกศิษย์ บางคนบอกว่าท่านเป็นฝรั่งที่มีจิตใจเป็นคนไทยมากกว่าคนไทยบางคน เช่น รู้สึกเดือดร้อนว่างานด้านโบราณคดี ด้านจิตรกรรมของเมืองไทยจะเสียหายหมดแล้ว ท่านก็พยายามผลักดันเพื่อหาทางช่วยเหลือ หาทุนมาจากยูเนสโกมาให้ ผลักดันให้อาจารย์เฟื้อ (หริพิทักษ์)ไปเป็นคนศึกษาและคัดลอก งานจิตรกรรมเหล่านั้นไว้

ซึ่งสมัยนั้นไม่เห็นมีคนไทยที่เป็นผู้มีอำนาจวิ่งเต้นอะไรขนาดนี้เลย เรื่องอะไรที่สำคัญๆ ของเมืองไทย อาจารย์ศิลป์เป็นผู้เคลื่อนไหว เพราะฉนั้นสิ่งที่คนทั่วไปควรรู้ก็คือ ท่านมีความสำคัญและมีจิตใจที่เรียกว่าเป็นพิเศษกับคนไทย กับลูกศิษย์ แล้วก็มีความผูกพันธ์ในระดับที่ลูกศิษย์รักมาก แม้จะทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่ามันดราม่านิดๆ เวลาที่ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท่าน”

งานวันศิลป์ พีระศรี

วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2555 มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ กรมศิลปากร ,สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงาน วันศิลป์ พีระศรี 120 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ประกอบด้วย การตักบาตร การวางช่อดอกไม้ การแสดงปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปี 2555 โดย เมธา บุนนาค ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(สถาปัตกรรม) หัวข้อ สถาปัตยกรรม คือ ศิลปกรรม (Visual Essay on Architecture)

ตลอดจนการบรรยาย การเสวนา การแสดงดนตรี การแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของนักศึกษา การจำหน่ายของที่ระลึก และการจุดเทียนรำลึก ณ บริเวณอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

นอกจากนี้ยังมีการจัดการแสดงนิทรรศการศิลปะของคณะวิชาและหอศิลป์ ประกอบด้วย

การแสดงศิลปกรรมของอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ครั้งที่ 29 หัวข้อ “วาทศิลป์ พีระศรี” วันที่ 15 กันยายน – 15 ตุลาคม พ.ศ.2555 ณ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์

นิทรรศการสถาปัตย์ปริวรรต ครั้งที่ 14 วันที่ 15 – 30 กันยายน พ.ศ.2555 ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

Eastern Spirit : นิทรรศการผลงานสร้างสรรค์ของคณาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ ประจำปี 2555 วันที่ 15 – 30 กันยายน พ.ศ.2555 ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์

นิทรรศการ “ลูกศิษย์คิดถึงอาจารย์ ” ครั้งที่ 2 วันที่ 10 – 30 กันยายน พ.ศ.2555 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail

Comments are closed.

Pin It