Art Eye View

“ขัวศิลปะ” ยูโทเปีย ของ กว่า 100 ศิลปินเชียงราย

Pinterest LinkedIn Tumblr

ประติมากรรมไม้ไผ่ ในวันคอนเสิร์ตและแถลงข่าว ขัวศิลปะ ณ บ้านดอยดินแดง
ART EYE VIEW —ฝันร่วมกันของศิลปินเชียงราย ณ เวลานี้ คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่า ขัวศิลปะ

ขัว หมายถึง สะพาน เมื่อศิลปินอยากจะข้ามแม่น้ำที่ทำให้โลกของพวกเขาดูห่างเหิน มาทักทายผู้คน และอยากจะให้ผู้คน ข้ามจากอีกฝั่งฟากไปชื่นชมผลงานศิลปะของพวกเขา

จึงต้องละสายตาจากงานศิลปะที่กำลังทำอยู่ในมุมส่วนตัว ระดมพลกันมาสร้างขัวให้เกิดขึ้นจริง
ภาพร่าง อาคารขัวศิลปะ
>>>ก่อร่างสร้างขัว

ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศิลปินเชียงรายรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางด้านศิลปะ เพราะถ้านับย้อนไปเมื่อปี 2532 ไล่มากระทั่งปัจจุบัน มีหลายครั้งที่พวกเขารวมตัวกัน จนเกิดเป็นหลายนิทรรศการและหลายกิจกรรม เพื่อไม่ให้เสียชื่อที่ถูกขนานนามว่าเป็น เชียงรายเมืองศิลปิน

ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผลงานศิลปะร่วมกัน ในนาม “กลุ่มสล่าไตยวน” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย,นิทรรศการ “สล่าเชียงรายเฉลิมพระเกียรติในหลวง 75 พรรษา” ณ ศูนย์ศิลปหัตถกรรมเชียงราย และ นิทรรศการ “เชียงรายศิลป์เพื่อหอศิลป์” เพื่อผลักดันให้เกิด หอศิลป์ร่วมสมัยเชียงราย ณ เกาะกลางแม่น้ำกก

แม้หอศิลป์ฯ ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยฝันให้มีจะถูกพับเก็บ เพราะเป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยการพึ่งพาจากภาครัฐ

แต่การเคลื่อนไหวร่วมกันหลายๆครั้ง ได้ก่อเกิดเป็น สมาคมศิลปินเชียงราย

ซึ่งการนัดพบปะกันครั้งแล้วครั้งเล่า และจากเงินทุนบริจาคตั้งต้นของ ศิลปิน เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จำนวน 5,00,000 บาท

 สมาคมฯได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด กองทุนศิลปินเชียงราย โดยมีทั้งศิลปินเชียงรายท่านอื่นๆ,ศิลปินจากถิ่นอื่น ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงราย และผู้คนอีกหลายสาขาอาชีพที่เห็นคล้อยตาม มาร่วมลงหุ้น

และเพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืน เงินที่ลงหุ้นทั้งหมด ถูกนำมาใช้เพื่อการแปลงสภาพอาคารซึ่งเดิมเคยเป็น โรงเรียนสอนภาษาจีน อยู่ไม่ไกลจาก วัดขัวแคร่ ต.ดอนดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย และฝั่งตรงข้าม แมคโคร จ.เชียงราย ให้กลายเป็น ขัวศิลปะ บนถนนพหลโยธิน อันเป็นเส้นทางสำคัญที่สามารถมุ่งไปสู่ สนามบินแม่ฟ้าหลวง,พระตำหนักดอยตุง,ด่านชายแดน ไทย – พม่า อ.แม่สาย ฯลฯ
สมลักษณ์ ปันติบุญ
>>>ขัวศิลปะมีอะไร สร้างเสร็จเมื่อไหร่

ขัวศิลปะ ที่มีศิลปิน หลายแขนงกว่า 100 คน ร่วมกันสร้าง และหวังให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 จะประกอบไปด้วย ห้องแสดงงานศิลปะถาวรและหมุนเวียน,ห้องสมุดศิลปะ,โรงเรียนสอนศิลปะ,ร้านจำหน่ายงานช่างฝีมือ ของที่ระลึก ,ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และห้องประชุมพบปะสังสรรค์

ในงานคอนเสิร์ตและงานแถลงข่าวความคืบหน้าของการระดมทุนก่อสร้าง ขัวศิลปะ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้ ลานบ้านดอยดินแดง ของศิลปิน สมลักษณ์ ปันติบุญ ประธานกองทุนศิลปินเชียงราย เป็นพื้นที่จัดงาน

ท่ามกลางบรรยากาศที่ตกแต่งด้วยประติกรรมไม้ไผ่,การฉายสารคดี,การแสดงปาฐกถา,การแสดงดนตรี,ศิลปะการแสดง

อาทิ สารคดีสั้นความเป็นมาของขัวศิลปะ โดย กลุ่มรุ้งอ้วน,ปาฐกถาธรรม หัวข้อ “ดนตรี กวี ศิลป์” โดย พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี(ว.วชิรเมธี),การบรรเลงกีต้าร์คลาสสิค โดย องอาจ อินทนิเวศ,โชว์เขียนภาพ โดย อ. เทพศิริ สุขโสภา, Contemporary Dance จาก แววดาว ศิริสุข,เพลงเพราะๆ จาก อัยย์ – พรรณี วีรานุกูล และการบรรเลงดนตรีของ วงศิลปากร สตริง ออเครสต้า ควบคุมวงโดย อ.ทัศนา นาควัชระ

สมลักษณ์ ปันติบุญ ประธานกองทุนศิลปินเชียงราย กล่าวขอบคุณผู้ไปร่วมงานและกล่าวสั้นๆ ทิ้งท้ายว่า

“ขัว หรือ สะพานเส้นนี้ ศิลปินจะเดินไปหาทุกท่าน และเราก็หวังว่าทุกๆท่านจะเดินไปกับเราด้วย เพื่อสร้างสังคมด้วยกัน”

ด้าน อภิรักษ์ ปันมูลศิลป์ ศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสต์ ผู้รับหน้าที่เป็น เลขาธิการกองทุนฯ กล่าวรายงานการดำเนินงานของกองทุนว่า

“ต้องยอมรับนะครับว่าการดำเนินงานของกองทุนศิลปินเชียงราย ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะฝ่าขวากหนามไปด้วยกันไม่ได้ เราเริ่มต้นจากคนกลุ่มหนึ่ง แล้วขยายไปอีกหลายกลุ่มหลายๆสังคม แต่เรามีจุดหมายเดียวกันก็คือ สร้างและทำเพื่อศิลปะ

พระอาจารย์(พระมหาวุฒิชัย) ท่านมีเมตตาสมทบกองทุนเราเป็นเงิน 100,000 บาท แล้วล่าสุดทาง บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ก็ได้บริจาคสมทบ 800,000 บาท

ขณะที่ การก่อสร้าง ขัวศิลปะ ได้ดำเนินไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเงินที่เราได้รับจากการระดมทุน ประมาณ 6 ล้านบาท เรายังต้องการแรงใจ แรงทรัพย์จากทุกๆท่านอีก 2 ล้านบาท เพื่อที่จะให้กองทุนของเราเดินต่อไปข้างหน้า อย่างมั่นคงต่อไป”

นั่นก็หมายว่า ขณะที่การดำเนินและการก่อสร้าง ขัวศิลปะ กำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ระหว่างนี้กองทุนศิลปินเชียงราย ยังคงเปิดรับผู้สนใจภายนอกให้ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถือหุ้น
คณะกรรมการส่วนหนึ่งของ กองทุนศิลปินเชียงราย เมื่อครั้งลงพื้นที่สำรวจอาคาร (ภาพโดย ขัวศิลปะ)
>>>ได้เวลา ทำเรื่องง่ายที่เคยถูกทำให้ยาก

นอกจากนี้ สมลักษณ์ ประธานกองทุน ฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การเกิดขึ้นของขัวศิลปะ เป็นการทำให้เงินทุนจำนวนน้อยที่มีอยู่ ได้มีโอกาสงอกเงย เพื่อที่ศิลปินจะได้ก้าวหน้าไปทำประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างมากขึ้น

“เราจะเฝ้าเงินเล็กๆน้อยๆอยู่เฉยๆมันก็ไม่ได้ ต้องคิดว่า จะทำยังไงให้มันเกิดค่า เกิดประโยชน์สูงสุด มีการต่อยอด มีการเพิ่มทุน เพื่อที่เราจะได้ทำงานให้มันใหญ่ขึ้น ดีขึ้น มีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

ศิลปินควรทำในสิ่งที่เขารู้ ในสิ่งที่คิดว่า มันเหมาะมันควรกับสังคมอย่างนี้ ในเรื่องที่ควรจะมี ในเรื่องที่ควรจะเป็น เรื่องศิลปะ ถ้าเราไม่ทำ ใครจะทำ เรายอมใครได้หรือเราคิดว่า คนอื่นเขาจะทำให้เราหรือ

ที่จริงคนอื่นเขาก็มีความตั้งใจ แต่ว่าเขาแค่สร้างบ้านของตัวเอง ที่ผ่านมาเราช่วยเขาสร้างมา 20- 30 ปี แต่ถ้าเราจะสร้างบ้านตัวเอง คุณก็ควรมาช่วยเราบ้าง เพื่อที่เราจะได้ไปช่วยผู้อื่น

เราเชื่อว่า เราไม่มีลับลมคมใน เรามีความคิดที่ใสสะอาด สมมุติว่าขัวศิลปะสำเร็จ เราจะก้าวไปในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน เรื่องอะไรต่อมิอะไรที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เราจะทำงานศิลปะตลอดเวลามันก็ไม่ได้ เราอยู่กับสังคม ถ้าเราคิดว่าศิลปะสร้างสังคมได้ เป็นประโยชน์ ผมว่า เราควรทำอย่างยิ่ง”

และเหตุที่ ศิลปินเชียงรายยังรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น สมลักษณ์แสดงความเห็นว่า อันที่จริงแล้ว ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพียงแต่ครั้งนี้ ทุกคนได้ผ่านประสบการณ์มาแล้ว จึงสามารถหยิบเรื่องง่ายที่เคยถูกทำให้ยากในอดีต มาทำใหม่ เพื่อตอบสนองในสิ่งที่ศิลปินต้องการร่วมกันอย่างแท้จริง

“ที่จริงมันไม่ง่าย มันมีเรื่องราวยาวนาน แล้วมันก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ว่าถ้าเราผ่านประสบการณ์ ผ่านการเรียนรู้ ประเด็นมันก็จะแม่นขึ้น ประเด็นที่ไม่แม่น เพราะบางครั้งเราลืมประเด็นที่ง่ายๆ ประเด็นที่เป็นสาระที่แท้จริง ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าหยิบมานำเสนอง่ายๆบางทีคนอื่นก็เข้าใจ ไม่ได้ลึกซึ้งจนเข้าใจไม่ได้

ศิลปินต้องการที่แขวนรูป ต้องการแสดงออก ต้องการพบปะกัน ต้องการสร้างงานแล้วมีผู้ชื่นชม ถ้ามีผู้เสพงาน การขับเคลื่อนมันจะมีพลัง มีการเวียนว่ายตายเกิด อันนี้คือจิตวิญญาณของการมีชีวิตอยู่”

>>>เรื่องยากของขัวศิลปะ

ขณะที่ อาจารย์พลวัฒ ประพัฒน์ทอง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ และหัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แสดงทัศนะด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า สิ่งที่ยากของขัวศิลปะ คือการหาคนมาบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งคนๆนั้น ต้องเป็นคนที่ต้องเข้าใจทั้งระบบธุรกิจและศิลปะ

“ปัญหาใหญ่คือการบริหารจัดการ ที่จะทำให้ดำรงต่อไปได้ คนที่สามารถประนีประนอมได้ทั้งสองฝ่าย เมื่อศิลปินมียูโทเปียของตัวเองอย่างนี้ แต่ไอ้คนที่จะจัดการยูโทเปียนี้ให้มันเป็นจริงขึ้นมา เราจะหาใครมาทำ มันคือเรื่องยากที่สุดของเรื่องนี้เลยนะครับ

นอกจากจะเป็นคนที่เข้าใจความซับซับของศิลปะ ของศิลปิน ก็ยังต้องเข้าใจความซับซ้อนของระบบธุรกิจที่เชียงรายนี่ด้วย รวมไปถึงระบบธุรกิจที่เกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด มันยาก เพราะเชียงรายก็เป็นที่ปราบเซียนในการทำธุรกิจ

และเรื่องที่สอง คนที่มาลงหุ้น เราจะต้องตอบเค้าให้ได้ว่า ผลกำไรมันอาจจะไม่เห็นชัดเจนนะครับ ที่จริงการลงทุนลงหุ้นกับตรงนี้ก็คือการทำบุญ สะสมไว้ชาติหน้าต้องคิดไว้ล่วงหน้า อย่างนั้นเลยนะครับ ไม่ต้องคิดว่าเราจะทำแล้วได้กำไรเท่าไหร่ ช่วยสังคมไปเลย แล้วไม่ต้องมองว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ ดังนั้นการระดมทุนต้องบอกเขาเลยว่า เป็นการสะสมบารมีไปเลย”

>>>ปลูกสวนดอกไม้ของเราเอง

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของศิลปินเชียงรายในครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นอีกแรงกระเพื่อมที่สะท้อนว่า ประชาชนไม่อาจรอความช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาลได้ เมื่อมองเห็นช่องทางที่สามารถไปต่อได้ พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมาพึ่งตัวเอง

“รัฐบาลเองไม่มองว่า ตรงนี้ (ศิลปวัฒนธรรม)มันจะเป็นทุนเพื่อทำรายได้ให้กับอนาคตต่อไป จึงปล่อยปะเลย การซื้อผลงานศิลปะก็เลยไม่เกิดขึ้น การลงทุนพวกนี้ เป็นการลงทุนที่จับต้องไม่ได้ แต่ว่ามันจะส่งผลไปในอนาคต คือคนที่คิดได้ มันต้องมองไปถึงอนาคตในวันข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร

ศิลปินพวกนี้เขาไม่รอแล้ว และคิดว่าเราจะเรียกร้องจากรัฐบาลไปทำไม เรามาทำของเราเองเล็กๆร่วมกันปลูกสวนดอกไม้ที่เราชื่นชอบของเราเอง อย่าไปรอพึ่งคนอื่นเลย พึ่งตนเองดีกว่า

การเคลื่อนไหวนี้ของศิลปิน ทำให้ผมมองว่าสังคมไม่ได้ถูกดูแลทำให้ทุกคนต้องดูแลตัวเอง ทำให้มองเห็นว่า ความเลวร้ายของระบบการทำงานของประเทศเราเป็นอย่างไร”



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It