Art Eye View

ศิลปะกับการเมือง: จุดจบของนักการเมืองชั่วโฉด

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
ฌอง ปอล มาราท์ (Jean-Paul Marat / 1744-1793)
ศิลปะเป็นสิ่งที่สร้างโดยมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์ความรู้สึก และมีกิเลสตัณหา เช่นเดียวกับเราท่านทุกคน ดังนั้น ศิลปะจึงสะท้อนทุกเรื่องราวที่มนุษย์คิดฝันและกระทำในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นเทพนิยาย ศาสนา ประวัติศาสตร์ การเมือง และชีวิตความเป็นอยู่

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศศักดานุภาพให้กับจักรวรรดิและโฆษณาชวนเชื่อให้กับผู้ปกครองหรือนักการเมือง แต่ท้ายที่สุดศิลปะก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้มนุษย์ต้องยอมรับสัจธรรมแห่งโลกและชีวิต ดังเรื่องราวเกี่ยวกับความตายของมาราท์ นักการเมืองโฉดชั่ว ที่จะเล่าให้ทุกท่านได้ฟังในวันนี้

หลังจากการปฏิวัติใหญ่ในปี ค.ศ. 1789 อันนำไปสู่การล่มสลายทางการเมืองและเป็นจุดหักเหในประวัติศาสตร์ของประเทศ ประชาชนชาวฝรั่งเศสต้องพบกับความผันผวนทางการเมืองและการนองเลือดในหลากหลายรูปแบบ สถานการณ์ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองของประเทศเป็นผลมาจากความแตกแยกกันอย่างรุนแรงของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภาคือ พรรคจิรองแดง (Girondin) และพรรคจาโคแบง (Jacobin) ซึ่งนำโดย มาราท์ (Marat) ดังตอง (Danton) และ โรเบสปิแอร์ (Robespierre)

การแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ของนักการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างใช้วิธีการสกปรกใส่ความฝ่ายตรงข้าม ทำให้ชาวฝรั่งเศสถูกประหารชีวิตด้วย เครื่องกิโลติน (Guillotine) จำนวนมากมายนับไม่ถ้วนทั่วทั้งประเทศ กล่าวกันว่าสมัยนี้ เฉพาะในกรุงปารีสมีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโลตินประมาณ 5,000 คน ส่วนทางหัวเมืองมีเหยื่อทางการเมืองถูกตัดศีรษะด้วยเครื่องกิโลตินราวสองหมื่นคน การฆ่าคนราวผักปลาเช่นนี้ก่อให้เกิดความระส่ำระสายไปทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศส จนช่วงเวลานี้ได้รับการขนานนามว่า สมัยแห่งความหวาดกลัว (Reign of Terror)

ในบรรดาผู้ที่ถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโลติน นอกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอังตัวเนตต์ พระมเหสีแล้ว บรรดานักการเมืองผู้ชั่วโฉดรวมทั้งตัวหัวหน้าใหญ่ เช่น ดังตองและโรเบสปิแอร์ ก็หาได้รอดพ้นชะตากรรมเดียวกันนี้จากการกระทำอันชั่วโฉดของตนไปได้ไม่ ยกเว้น มาราท์ ที่สวรรค์มีแผนการอันแยบยลกว่าในการให้เขารอดพ้นจากใบมีดอันคมกริบของเครื่องกิโลติน

ฌอง ปอล มาราท์ (Jean-Paul Marat) เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1744 ที่ประเทศสวิส หลังจบการศึกษาสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์ เขาได้เดินทางท่องเที่ยวไปในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ มาราท์ (ภาพที่ 1) เป็นบุรุษผู้มีหน้าตาน่าเกลียดมาก แต่มีพรสวรรค์ทางด้านการพูดจูงใจฝูงชนและเป็นขวัญใจของชนชั้นต่ำ เพราะเขามีจิตวิทยาในการพูดสรรเสริญความสำคัญของคนกลุ่มนี้ (ภาพที่ 2) แต่ในความเป็นจริงแล้วมาราท์เป็นนักการเมืองที่ชั่วช้าและเหี้ยมโหดมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น
มาราท์กำลังกล่าวปราศรัยเพื่อปลุกปั่นฝูงชน
วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1793 ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ (Charlotte Corday) (ภาพที่ 3) หญิงสาวจากชนบทได้เดินทางเข้ามายังกรุงปารีส และเข้าพักในโรงแรมโอเตลเดอลาโปรวองซ์ (Hôtel de la Provence) ชาร์ลอตต์เชื่อว่าความวุ่นวาย การนองเลือด และความหวาดกลัวที่ครอบคลุมประเทศฝรั่งเศสอยู่ในขณะนั้น มีสาเหตุมาจากมาราท์แทบทั้งสิ้น

ดังนั้น เธอจึงมุ่งเข้ากรุงมาเพื่อสังหารมาราท์ ชาร์ลอตต์ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงมาราท์เพื่อขอพบเขาโดยอ้างว่า เธอรู้เบาะแสเกี่ยวกับการซ่องสุมคนของพวกกบฏในเมืองกอง (Caen) วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1793 ชาร์ลอตต์ ได้รับอนุญาตให้เข้าพบมาราท์ได้ภายในห้องพักของเขาบนถนนรูเดส์กอร์เดลิเยร์ (Rue des Cordeliers) (ภาพที่ 4) และได้สังหารมาราท์ด้วยมีดหั่นเนื้อ (ภาพที่ 5) ขณะที่มาราท์กำลังเขียนรายชื่อผู้ก่อการกบฏปลอมๆ ที่ชาร์ลอตต์บอกให้เขาจด เสียงร้องอย่างเจ็บปวดราวกับวัวถูกเชือดของมาราท์สร้างความแตกตื่นตกใจให้กับคนในบ้านจนทำให้ชาร์ลอตต์หลบหนีไม่ทันและถูกจับกุมตัวได้ (ภาพที่ 6) ต่อมา ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโลติน
ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ (Charlotte Corday)
บ้านพักของมาราท์บนถนนรูเดส์กอร์เดลิเยร์ (Rue des Cordeliers)
ภาพการสังหารมาราท์ (ภาพที่ 7) ซึ่งเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1793 โดย ฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด์ (Jacques-Louis David / 1748-1825) นอกจากจะเป็นภาพที่ก้ำกึ่งกันระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์และภาพเหมือนบุคคลแล้ว ยังเป็นการนำเสนอภาพในลักษณะคล้ายรูปอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษอีกด้วย สาเหตุที่มาราท์ถูกฆาตกรรมในอ่างอาบน้ำ เพราะเขามีโรคประจำตัวเป็นโรคผิวหนัง ซึ่งทำให้เขาทรมานมากเพราะอาการคันและแสบร้อน มาราท์ใช้วิธีบรรเทาอาการของโรคนี้ด้วยการนั่งในอ่างอาบน้ำ โพกศีรษะด้วยผ้าที่ชุบด้วยน้ำส้ม และใช้ผ้าลินินรองภายในอ่างอาบน้ำเพื่อกันมิให้ผิวหนังถูไถกับผิวของอ่างอาบน้ำที่ทำด้วยทองแดง

ดาวิด์เปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริงหลายอย่างเพื่อทำให้ภาพการตายของมาราท์เป็นการตายเยี่ยงวีรบุรุษที่ดูสง่างามตามแบบอุดมคติในแนวศิลปะคลาสสิก ซึ่งหลีกเลี่ยงภาพความตายอันน่าทุเรศที่เหมือนจริงตามธรรมชาติ ดังนั้น ใบหน้าของมาราท์จึงมีลักษณะคล้ายคนนอนหลับ ไม่แสดงอาการบูดเบี้ยวเพราะความเจ็บปวดทรมานก่อนตาย ศีรษะที่พาดวางอยู่กับอ่างอาบน้ำเอนไปทางด้านข้างเล็กน้อยอย่างได้จังหวะสวยงาม แขนที่ปราศจากชีวิตทอดวางอยู่ภายนอกอ่าง มือขวายังคงถือปากกาขนนกค้างอยู่ ส่วนมือซ้ายถือกระดาษเปื้อนเลือด ที่มีใจความว่า “วันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1793 มารี อาน ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ ถึงประชาชนทั้งหลาย มาราท์ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสุขสงบของพวกท่าน ข้าพเจ้าพอใจที่จะต้องทนทุกข์ทรมาน” สิ่งของต่างๆ ภายในภาพ เช่น อ่างอาบน้ำ กล่องไม้ที่ใช้แทนโต๊ะ กระปุกหมึกและปากกาขนนกที่วางบนกล่อง หรือมีดสังหารเปื้อนเลือดที่ตกบนพื้น ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงามแทนที่จะหล่นกระจัดกระจายไปทั่วทั้งห้องเหมือนกับสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมทั่วไป

การนำเสนอภาพการตายของมาราท์ในลักษณะนี้ และตัวอักษรที่เขียนไว้บริเวณด้านล่างของกล่องไม้ว่า “แด่ มาราท์ ดาวิด์” (À MARAT DAVID) รวมทั้งใจความบนกระดาษเปื้อนเลือดในมือศพ ที่บอกทั้งวันเดือนปีของการฆาตกรรม ชื่อฆาตกร และคำกล่าวเชิงสรรเสริญว่าผู้ตายพลีชีพเพื่อความสงบสุขของประชาชน เผยให้เห็นจุดมุ่งหมายของจิตรกร ผู้นิยมชมชอบในตัวมาราท์ ในอันที่จะสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่นักการเมืองผู้ชั่วโฉดคนนี้โดยใช้ภาพสลักหินอ่อน ปีเอตา (Pietà) (ภาพที่ 8) ของมิเคลันเจโล (Michelangelo) ในวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่งกรุงโรม มาเป็นแม่แบบในการสร้างผลงานชิ้นนี้

ถึงแม้ว่าดาวิด์จะนำเสนอภาพการตายของมาราท์ได้อย่างงดงามและสมบูรณ์แบบในแง่ของการสร้างสรรค์งานศิลปะและหลักการทางสุนทรียศาสตร์ และถึงแม้ว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเยี่ยมของศิลปินเอกแห่งยุคศิลปะคลาสสิคใหม่ (Neo-Classicism) ท่านนี้ก็ตาม

แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคตคือ มาราท์เป็นนักการเมืองชั่วโฉดที่ผู้คนก่นด่าและสาปแช่งให้ตกนรกหมกไหม้ ส่วน ชาร์ลอตต์ กอร์เดย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรสตรีผู้สละชีพเพื่อกำจัดอสุรกายร้ายในคราบมนุษย์

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ

เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์

Jacques-Louis David: จิตรกรชาวฝรั่งเศส ศิลปินเอกยุคคลาสสิคใหม่ มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1748-1825

Pietà รูปพระแม่มาเรียกำลังร่ำไห้และมีพระศพของพระเยซูนอนอยู่บนตัก

Neo-Classicism หรือศิลปะคลาสสิคใหม่ เป็นรูปแบบศิลปะที่เกิดจากกระแสต่อต้านศิลปะบาโรคและโรโคโค แพร่หลายในทวีปยุโรประหว่างปี ค.ศ. 1770 – 1830 ถึงแม้ว่าศิลปินสมัยนี้จะถือเอาศิลปะกรีกและโรมันเป็นแม่แบบในการสร้างสรรค์งาน แต่ก็มิใช่ในแง่ลอกเลียนแบบ เพราะได้มีการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ในมุมมองของศิลปิน ที่คลี่คลายมาจากแม่แบบด้วย
ชาร์ลอตต์สังหารมาราท์ด้วยมีดหั่นเนื้อ
ชาร์ลอตต์ถูกจับกุมตัวหลังจากการสังหารมาราท์ในบ้านพัก
Jacques-Louis David: การสังหารมาราท์, 1793, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 165x128 ซม. Musées Royaux des Beaux-Arts, Brussels
Michelangelo Buonarroti: Pietà, 1499, หินอ่อน, 174x195 ซม. St Peter, Vatican, Rome
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It