Art Eye View

“เป็นถ่านเถ้าธุลีเสียดีกว่า จะเป็นเปลวไฟไหม้สิ่งที่เรารัก” ร่วมส่ง “ท่านอังคาร” ครั้งสุดท้าย

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—วันอาทิตย์ที่ 27 ม.ค.56 เวลา 17.00 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ จิตรกรกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ หรือ ที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “ท่านอังคาร” ผู้เป็นเจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่นคนแรกของ มูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป ปี 2515 , รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ (S.E.A. Write ) ปี 2529 จากผลงานกวีรวมเล่มชื่อ “ปณิธานกวี” และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ปี 2532 ณ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน


ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นมา ภายในงานได้จัดให้มีนิทรรศการแสดงประวัติและผลงานของท่านอังคารให้ผู้ที่ไปร่วมงานได้ชม ตลอดจนกันการจัดซุ้มอาหารในบรรยากาศจำลอง ป่าหิมพานต์ ,การเสวนาหัวข้อ “ชมความงาม – ตามความหมาย : ที่วัดทองล่าง (วัดทองนพคุณ)” ฯลฯ

จากนั้นใน เวลา 15.00 น. เป็นการเชิญหีบศพเวียนขึ้นเมรุ ต่อด้วยการขับร้องประสานเสียงจาก วงสวนพลู นำโดย อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ และการอ่านบทกวีโดย อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์

โดยเพลงที่วงสวนพลูนำมาเล่นคือเพลง “พลับพลึง” ประพันธ์โดย บรูซ แกสตัน มีความพิเศษเป็นอย่างมากตรงที่การเกิดขึ้นของเพลงนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากความเรียงชื่อ “พลับพลึง” ของท่านอังคาร

วงสวนพลูเคยนำเพลงนี้ไปแข่ง และขับร้องให้ชมในต่างแดนครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ในงาน World Choir Games 2012 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

และในคอนเสิร์ตหาทุนให้กับวงฯ ที่โรงละครแห่งชาติ เมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากท่านอังคารจะมีโอกาสได้นั่งรับฟังก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ยังมอบภาพลายเส้นไปให้ประมูลด้วย

หลังจากที่การขับร้องประสานเสียงเพลง”พลับพลึง” ในวันนี้จบลง

ไกวัล กุลวัฒโนทัย ผู้อำนวยเพลง หรือ ไวทยากร ประจำวงประสานเสียงสวนพลู เปิดใจว่า ประโยคที่ชอบมากที่สุดในความเรียงชื่อ “พลับพลึง” ของท่านอังคาร คือ

…เราเป็นถ่านเถ้าธุลีเสียดีกว่า จะเป็นเปลวไฟไหม้สิ่งที่เรารัก…

“ผมคิดว่าท่านอังคารเป็นคนเปิดโลกทรรศน์ด้านกวีนิพนธ์ ไม่มีใครทำมาก่อน ไม่ใช่แค่คำไพเราะ แต่ว่าความรู้สึกมันทะลุทลวงออกมาจากถ้อยคำที่ไม่รู้ไปสรรหามาจากไหน เป็นเอกลักษณ์ เป็นความยิ่งใหญ่มาก ไม่ได้พรรณนาเรื่องเรื่อยเปื่อย แต่พรรณนาเรื่องของปรัชญา ,มุมมองความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า”

ขณะที่มองไปรอบๆตัว คนที่ไปร่วมงานก็จะได้พบกับบรรยากาศที่ถูกตกแต่งด้วยด้วยดอกไม้ ต้นไม้ และภาพแกะสลักบนแผ่นเหล็ก ที่ออกแบบโดยกลุ่ม อยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์ นำทีมโดย ดุลย์พิชัย โกมลวานิช นักวิชาการทางด้านศิลปวัฒนธรรม ที่เปิดใจว่า ต้องการให้ผู้ไปร่วมงานรู้สึกประหนึ่งว่า ท่านอังคารได้ทิ้งลมหายใจเอาไว้

รวมถึงประติมากรรมรูปเหมือน ท่านอังคาร ที่สามารถมองได้รอบทิศ ปั้นโดย หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ ก็ถูกนำมาตั้งโชว์ให้ได้ชมด้วย

ภูหลวง,อ้อมแก้ว และวิสาขา กัลยาณพงศ์ ทายาททั้ง 3 ของท่านอังคาร ร่วมกันพยุงคุณแม่ อุ่นเรือน คู่ชีวิตของท่านอังคาร ไปวางดอกไม้จัน ส่งสามีไปสวรรค์ในวินาทีสุดท้าย

และหลายคนต้องกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เมื่อได้เห็นแม่อุ่นเรือนสะอื้นไห้ พร้อมกับส่งเสียงเรียกท่านอังคารว่า “พ่อๆๆ” อยู่หลายครั้งหลายครา ก่อนที่จะยอมให้ลูกๆและคนใกล้ตัวพยุงลงมาจากเมรุได้

ก่อนกลับบ้าน แขกที่ไปร่วมงานต่อคิวกันรับหนังสืองานศพเป็นที่ระลึกกันอย่างคับคั่ง บางเสียงกล่าวกับเพื่อนที่มาด้วยกันว่า
“อยากรู้จังว่าเวลาฉันตายจะมีคนแย่งกันอยากได้หนังสืองานศพของฉันแบบนี้ไหมหนอ”

:: พลับพลึง : อังคาร กัลยาณพงศ์

ครั้งปฐมกัลป์ยังหลับใหล อีกวันเดียวพระอาทิตย์จะดับร่วง ดาวพระเสาร์จะโคจรมาชนดวงจันทร์ มหาวายุอุกลาบาต จะพลัดมาล้างโลก พระเป็นเจ้าอนุญาตให้แผ่นดิน หย่อมหญ้า จุลินทรีย์ และสรรพสิ่งในพิภพนี้พูดได้ จะหัวเราะร้องไห้ก็ตามที

แผ่นดินจึงถามไฟป่าว่า เจ้าไหม้พฤกษาสิ้นป่าดงพงไพร แต่ไฉนเว้นพลับพลึงไว้กอเดียวกลางกองเพลิง นิ่งอยู่ครู่หนึ่งเปลวไฟร้องไห้ แผ่นดินเอ๋ย แต่ชาติปางหลังครั้งยังไม่มีวงแหวนล้อมดาวพระศุกร์ บุรุษหนึ่งแววตาสีกลางคืน วเนจรไปจนตาย กลับชาติเกิดเป็นเปลวไฟ พลับพลึงเคยเป็นมารดา เมื่อรฤกได้ ถึงแม้เราจะเป็นเปลวไฟ แต่ถ้ารู้ว่า จะไหม้สิ่งที่รัก เราก็ขอดับตัวเอง เหลือเพียงผงเถ้าธุลี

เราเป็นถ่านเถ้าธุลีเสียดีกว่าจะเป็นเปลวไฟไหม้สิ่งที่รัก ตราบประลัย ฟากฟ้า เวลา นาที เราก็ไม่ลืมความรัก จะพูดไปจนปลายลิ้น เป็นป่าช้าฝังหัวใจเอง แผ่นดินและนานาพฤกษาชาติ ต่างก็สนทนากันเป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ดับวาจาเป็นใบ้ไปชั่วนิรันดร














ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

Comments are closed.

Pin It