ฉันเคย รับจ้าง เขียนรูปเหมือนให้กับพ่อแม่ชาวบ้าน
ฉันเคย เขียนภาพทิวทัศน์ แต่ไม่รับจ้าง
ฉันเคย สร้างภาพจิตรกรรม แต่ไม่รับจ้าง
ฉันเคย เขียนบทกวี แต่ไม่รับจ้าง
เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน..
ART EYE VIEW—ในยุคที่หลายคนรู้สึกว่าพื้นที่ส่วนตัวลดน้อยลงเต็มที แต่ทำไม จ่าง แซ่ตั้ง ศิลปินซึ่งจากโลกนี้ไปแล้วเกือบ 23 ปี ทายาทของเขาจึงต้องทวงถามหาที่ว่างให้กับเขา
>>>จ่าง แซ่ตั้ง คือใคร ?
คำตอบของคำถาม ทุกคนสามารถค้นหาได้โดยง่ายจากโลกออนไลน์ เพราะตลอดมาจ่างถือเป็นหนึ่งศิลปินที่มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก
แต่ถ้าเป็นคำตอบจากปากของทายาท ทิพย์ แซ่ตั้ง ที่ล่าสุดลุกขึ้นมาจัด นิทรรศการแสดงผลงานของพ่อ “เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” ณ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์
หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยนำชีวิตของพ่อไปนำเสนอผ่านภาพยนตร์สั้น จนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี จาก เทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 16 ประจำปี 2012 จัดโดย มูลนิธิหนังไทย ทิพย์ตอบว่า
“จ่าง แซ่ตั้ง คือผู้ชายคนหนึ่งที่ทำงานสร้างสรรค์ ทิ้งร่องรอย จนร่องรอยเหล่านั้นกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของวงการศิลปะไทย และวงการวรรณกรรมไทย
ที่พูดเช่นนั้นก็เพราะว่าเขาเป็นคนแรกที่ทำงานศิลปะ ในรูปแบบนามธรรมคนแรกของประเทศไทย และก็ทำงานบทกวีรูปธรรม หรือที่ราชการเรียกว่า “วรรณรูป” คนแรกของประเทศไทย
นอกจากงานสองกลุ่มนี้แล้ว ก็ยังมีงานอีกมากมายที่ทิ้งไว้ให้กับวงการศิลปะไทย แต่เนื่องจากพ่อเป็นศิลปินที่จน เพราะฉะนั้น งานศิลปะบนผ้าใบ (canvas)จึงมีไม่มาก”
อย่างไรก็ตาม ทิพย์ ได้สรุปผลงานหมดที่จ่างทิ้งเอาไว้ก่อนจะจากโลกนี้ไปเมื่อปี 2533 ด้วยโรคไตวาย ในวัย 56 ปี ไว้ในสูจิบัตรที่ทำแจกให้กับผู้ชมงาน พร้อมกับดีวีดีบันทึกภาพยนตร์สั้น ว่ามีมากมายดังต่อไปนี้
จิตรกรรมบนผ้าใบ 214 ชิ้น,จิตรกรรมบนกระดาษ 5,677 แผ่น,ประติมากรรม 2 ชิ้น,บทกวีรูปธรรม,บทกวี,เรื่องสั้น เรื่องสั้นๆ เรื่องแปล บทความ ข้อเขียน บันทึก จดหมาย งานทดลอง 90,826 แผ่น,ของเล่นเด็ก 1 ชิ้น,ประตูศาลเจ้า 2 บาน และงานรับจ้างวาดภาพเหมือนบุคคล ที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด
>>>ต้องการที่ว่างทำไม
การเกิดขึ้นของนิทรรศการครั้งนี้ ทิพย์กล่าวว่า มีที่มาจากการได้อ่านบันทึก 3 ฉบับของพ่อ ที่นอกจากเปิดเผยความเป็นจริงที่ชีวิตเคยอยู่เคยเป็น ยังมีประโยค “เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” ปรากฏอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเขาเห็นว่าที่ว่างของจ่าง ก็คงไม่แตกต่างจากที่ว่างที่ทุกคนเรียกร้องและต้องการ
“ทุกคนต้องการที่ว่างไง ต้องการ Space ส่วนตัว ต้องการอยู่กับตัวฉันเอง อยู่กับใจของตัวเอง ผมว่าพ่อผมก็ต้องการอย่างนั้นแหล่ะ”
ทิพย์ชั่งใจอยู่นานว่ามันเป็นบันทึกที่ควรจะนำมาเปิดเผยหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดเขาก็คิดว่าเป็นเรื่องสมควร
“ผมอ่านแล้วผมชอบนะ ปัญหามีอยู่ว่า นี่คือบันทึกส่วนตัวที่ไม่ควรเผยแพร่ หรือคือสิ่งที่ควรเผยแพร่ได้ เพราะมันเป็นบันทึกที่พูดถึงพ่อของตัวเองที่ต้องพเนจรออกจากบ้าน ไปรับจ้างตักส้วม ไปเป็นกุลี ไปกับเพื่อน เพื่อขโมยของ ไปล้วงกระเป๋า ฯลฯ ซึ่งประวัติศาสตร์พวกนี้ไม่ควรเปิดเผยหรอก
แต่พอมาคิดว่า พ่อฉันเป็นคนนะ สิ่งที่เขาทำ ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว แล้วท้ายที่สุดเขาก็กลับมาทำในสิ่งที่ดี แต่ไม่รู้ว่าความรู้สึกตรงไหนที่ทำให้เขาเปลี่ยน คือฉันก็อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ผู้ชายคนนี้ก็คือคน เคยทำอะไรเหมือนคนปกติ แล้วเขาก็มาทำงานเขียนรูป เขียนหนังสือ แล้วก็ทำจนตาย ทิ้งร่องรอยที่งดงามไว้ บรรจุไว้ในพื้นที่ว่างของตัวเอง”
>>>เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน
ผลงานของจ่างที่เคลื่อนย้ายมานำเสนอผ่านนิทรรศการ ประกอบไปด้วย 4 ส่วนคือ จิตรกรรมภาพเหมือนบุคคล ,จิตรกรรมภาพทิวทัศน์ ,จิตรธรรมภาพนามธรรม และบทกวี
“2 ชุดแรก เปรียบแล้วคือ รากของต้นไม้ นั่นคือ ชุดที่เป็นภาพพอร์เทรต กับภาพทิวทัศน์ เป็นส่วนของรากที่ดูดซึม ส่งผ่านน้ำเลี้ยงขึ้นสู่ลำต้น ทำให้เราเห็นใบเห็นกิ่งก้าน เห็นลูกผล นั่นก็คือส่วนของ จิตกรรรมภาพนามธรรม กับบทกวี เพราะหลังจากที่พ่อซึมซับ ศึกษา พยายามเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง พ่อจึงได้คิดสิ่งใหม่ขึ้นมาเองนั่นก็คือ จิตรกรรมภาพนามธรรม กับบทกวีรูปธรรม”
ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ นักสะสมงานศิลปะ ผู้เปิดพื้นที่หอศิลป์ของตนให้กับงานศิลปะของจ่าง ได้กลับมาทายทักผู้คนที่ยังระลึกถึงจ่าง และคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่รู้จัก กล่าวว่า
“งานของจ่างไม่ค่อยได้ออกมาสู่สายตาคนที่รักงานศิลปะเท่าไหร่ เมื่อมีโอกาสได้พบกับคุณทิพย์ ก็เลยทำให้คิดว่า น่าจะมีนิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวสักด้านหนึ่งของคุณจ่าง เพื่อให้คนได้รับรู้ว่า ในยุคนั้นเขาคิดอะไร
เบื้องหลังความสำเร็จของความเป็นศิลปินของเขามีที่มาที่ไปยังไง เพราะว่าโอกาสที่คนจะได้เรียนรู้ชีวิตจริงๆของเขามีน้อยมาก
ผมคิดว่ามีศิลปินน้อยคนที่จะทำงานในลักษณะครอบคลุมหลายๆแขนงได้ สิ่งที่เขาทำมีเหตุมีผล เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเขาในแต่ละยุค
ถ้าเรามีโอกาสได้รู้ประวัติ รู้ถึงแก่นแท้ของคุณจ่างแล้วจริงๆ ผมว่าเขาก็เป็นสุดยอดของศิลปินคนหนึ่งที่มีแนวคิดริเริ่ม มีความกล้า เป็นตัวของตัวเอง”
>>>ขายบางส่วน เพื่อดูแลที่เหลือจำนวนมาก
ทิพย์บอกเล่าว่า ปัจจุบัน บ้านที่ย่านพุทธมณฑล สาย 5 ซึ่งเคยเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล เพื่อให้คนภายนอกสามารถไปเยี่ยมชมผลงานของพ่อ ตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว ด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่เขายืนยันว่าในอนาคตจะกลับมาเปิดให้เข้าชมอีกแน่นอน ทว่ายังไม่รู้กำหนด
และกล่าวว่ายังเก็บรักษาผลงานของพ่อไว้เป็นอย่างดี แม้จะต้องขายงานบางส่วนไปเพื่อนำมาจัดการดูแลผลงานที่เหลือและใช้เพื่อการเลี้ยงปากท้องด้วย
“ก่อนปี 2554 ผมหยุดให้บริการ ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง และอยากรู้เหมือนกันว่าการให้บริการ กับการไม่ให้บริการ จะแตกต่างกันอย่างไร
แต่ว่าเมื่อหยุดให้บริการ กลับมีการขอเข้ามาใช้บริการมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าด้วยเหตุผลอะไร ทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่อยากจะเข้าไปเยี่ยมชม แต่โดยเงื่อนไขของผมคือ ผมหยุดให้บริการ ก็คือหยุดให้บริการ ก็มีเพียงพี่ น้อง เพื่อน หรือผู้ใหญ่ มาเยี่ยมเยือน ก็จะเปิดให้เข้าชม
เปรียบเทียบกับสมัยที่พ่อมีชีวิต ผมเก็บงานได้ดีกว่าพ่อมาก อย่างงานครั้งนี้ที่นำมาให้ชม จะเห็นได้ชัดว่า งานหลายๆชิ้น เป็นงานที่เก่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ.2495) และงานชิ้นที่ใหม่ที่สุดคือ ค.ศ.1989 ( พ.ศ.2532) ช่วงเวลาห่างกันถึง 38 ปี ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามันยังใหม่อยู่
และผมเองก็พึงพอใจกับการทำงานของตัวเอง ผมดูแลรักษาเขาดีเพราะว่าผมเอาใจใส่เขา แม้ว่าเขาจะเป็นภาระสำหรับชีวิตผมมากมาย เพราะชีวิตส่วนหนึ่งถูกแบ่งไปกับการดูแลเขา”
ส่วนสำหรับคนที่มีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการขายงานพ่อมาเลี้ยงปากท้องตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ปัจจุบันงานชิ้นที่สำคัญๆของจ่างมีเหลือเก็บไว้มากน้อยแค่ไหน บ้างก็ว่าเขาออกมาประกาศขายในราคาที่สูงลิบลิ่ว จนชวนตกใจ ทั้งที่เมื่อครั้งที่จ่างยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้มุ่งทำงานศิลปะเพื่อขาย ทิพย์ได้ชี้แจ้งว่า
“การที่พ่อหรือแม่ทิ้งอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลนะฮะที่จะขายที่จะทำอะไรก็ได้ บางคนได้รับเป็นที่ดิน รถ นาฬิกา เขาก็ขาย แต่กรณีของผม มรดก มันเป็นงานศิลปะ ถ้าเราแยกให้ชัดสักนิดหนึ่งระหว่าง เงาของมัน กับตัวชิ้นงาน
ถ้าพยายามจะบอกผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติของประเทศชาติ ก็ได้ ผมก็พยายามจะพูดอย่างนั้นเหมือนกัน พยายามที่จะบอกอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะว่าพ่อผมเป็นตัวแทนของคนในประเทศนี้ ในยุคของเขา ที่เขาสร้างร่องรอยที่งดงามทิ้งไว้ แต่กรรมสิทธิ์ในตัวชิ้นงานมันเป็นของผม การที่ผมจะขาย ก็เป็นสิทธิ์ของผม ผมก็มีวิธีการขายของผมในการเลือกชิ้นที่สามารถขายได้ เพราะว่าผมก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน
การที่คนมีสมบัติ 20-30 ชิ้น เป็นเรื่องปกติ ดูแลง่าย แต่ผมมีงานศิลปะเป็นพันเป็นหมื่น เป็นแสนชิ้น ผมต้องใช้เงินในการดูแล ผมต้องเอาชีวิตทั้งชีวิตผมอยู่กับเขา และคุณจะให้ผมทำอะไร ผมก็ต้องหาเงินโดยใช้ชิ้นงานศิลปะนี่แหล่ะ กลับมาดูแลตัวเขาเอง เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดหรอก
และการแสดงงานของผมทุกครั้ง มันก็คือการถามและบอกให้ผู้มีอำนาจในประเทศนี้รู้ว่าสิ่งที่ชายคนนี้ คือ ทิพย์ แซ่ตั้ง ถือครองอยู่ มันมีประโยชน์กับประเทศนี้จริงหรือเปล่า ถ้ามีประโยชน์ก็ต้องมาช่วยผมสิ จะจัดการกับมันอย่างไร แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ก็แล้วไป ก็ไม่เป็นไร ผมก็ปฏิบัติหน้าที่ของผม ในฐานะที่เป็นพันธนาการระหว่างลูกกับพ่อ ซึ่งผมก็เชื่อว่า ยังมีคนที่รัก ชอบ สนใจ ในงานศิลปะ วรรณกรรม และงานสร้างสรรค์ ปรารถนาที่จะได้รับรู้ในสิ่งที่พ่อผมสร้างทิ้งไว้”
ฉันเคย ยามกลางคืน รับจ้างตักส้วม ให้กับชาวบ้าน
ฉันเคย ยามกลางวัน รับจ้างทำงานหลายแห่ง
ฉันเคย รับจ้างเข็นรถ ขึ้นสะพานพุทธ
ฉันเคย ถูกเพื่อนพาไป ล้วงกระเป๋าคนอื่น แต่ฉันไม่ชอบ เป็นนักล้วง ขี้ขโมย ฉันเลิก
ฉันเคย นอนตามริมถนน ท่าเรือ ที่อื่นอื่น ที่ไหนก็ได้ ที่นอนได้
ฉันเคย รับจ้าง เขียนรูปเหมือนให้กับพ่อแม่ชาวบ้าน
ฉันเคย เขียนภาพทิวทัศน์ แต่ไม่รับจ้าง
ฉันเคย สร้างภาพจิตรกรรม แต่ไม่รับจ้าง
ฉันเคย เขียนบทกวี แต่ไม่รับจ้าง
เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน ฉันไม่อยากเป็นแต่ขี้ข้าคนอื่น ฉันอยากมีตัวฉันเอง ฉันมีเมีย ฉันเลี้ยงดู เมียคือคู่ชีวิตของฉัน ฉันมีลูก ฉันเลี้ยงดู ฉันห่วงใย ฉันให้การศึกษา ลูกไม่รัก ไม่เคารพฉัน ก็เรื่องของเขา คนอื่นไม่ชอบฉัน ก็เรื่องของเขา ฉันทำตัวให้ดีก็แล้วกัน ฉันจนแต่วัตถุธรรม อย่าจนคุณธรรมก็แล้วกัน
นิทรรศการ “เพราะฉันต้องการ ที่ว่างของฉัน” วันนี้ – 31 มีนาคม พ.ศ.2556 ณ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ ซ.สุขุมวิท 33 (แดงอุดม) ถ.สุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา โทร.0-2662-0299
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.