Art Eye View

ศิลปะกับการเมือง: การย่ำยีเอกราชของชาติและการลิดรอนเสรีภาพของปวงชน

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
Caspar David Friedrich: พระจันทร์ขึ้นเหนือท้องทะเล, 1822, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 55x71 ซม. Alte Nationalgalerie, Berlin
ตั้งแต่มนุษย์รวมเผ่าพันธุ์เดียวกันเข้าเป็นชาติ และมอบอำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งของตนให้คนกลุ่มหนึ่งในนามผู้ปกครองเพื่อบริหารจัดการรัฐเป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดและอำนาจอธิปไตยของมนุษย์ก็กลายเป็นวัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุดในสังคมมนุษย์ จะต่างกันก็แต่กรรมและวาระ

ปัจจุบันรูปแบบของการรุกรานอาณาเขตของประเทศเปลี่ยนไปเป็นความพยายามอ้างสิทธิเหนืออาณาบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าอย่างหน้าด้านๆ ส่วนอำนาจอธิปไตยของปวงชนก็ถูกล่วงละเมิดแม้แต่ในประเทศที่รัฐบาลประกาศปาวๆ ว่ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่กลับจำกัดเสรีภาพทางการอ่าน เขียน พูด ดู คิด ฟัง โดยผ่านระบบการควบคุมสื่อด้วยอามิสและอำนาจมืด ดังเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ซึ่งดิฉันจะเล่าให้ท่านทั้งหลายได้ฟังในวันนี้
Caspar David Friedrich: ชายหนุ่มและหญิงสาวชมจันทร์, ราว 1830-1835, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 34x44 ซม. Alte Nationalgalerie, Berlin
หลังจากนโปเลียนฉวยโอกาสทำรัฐประหารในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1799 และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1804 ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี นโปเลียนก็สามารถนำประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่ความเป็นระเบียบ ความเจริญมั่งคั่ง และความสงบสุขได้ทั่วประเทศ

นอกจากนั้นยังสามารถมีชัยชนะเหนือดินแดนอื่นและแผ่ขยายอำนาจแห่งจักรวรรดินโปเลียนไปได้เกือบทั่วทั้งทวีปยุโรปโดยกรีธาทัพไปตีออสเตรีย ปรัสเซีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนี) โปแลนด์ รัสเซีย อิตาลี เสปน เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส จนได้รับชัยชนะและสามารถกุมอำนาจเหนือดินแดนเหล่านี้ไว้ได้สำเร็จ นโปเลียนปกครองประเทศราชเหล่านี้อย่างเด็ดขาดเข้มงวด อีกทั้งยังกดขี่ข่มเหงและขูดรีดภาษีสารพัด

นอกจากนั้นยังบีบบังคับให้เจ้าครองนครร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายในการศึกสงครามและเกณฑ์คนหนุ่มของตนไปเป็นทหารในกองทัพฝรั่งเศสอีกด้วย ความไม่พอใจ เคียดแค้น และชิงชังฝรั่งเศส ทำให้ดินแดนเหล่านี้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกันเพื่อร่วมรบต่อต้านจักรวรรดินโปเลียนและทำการแข็งเมืองขึ้น

คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช (Caspar David Friedrich) จิตรกรเอกชาวเยอรมันแห่งยุคโรแมนติค ผู้เข้าร่วมกับองค์กรลับที่เป็นขบวนการกู้ชาติและต่อต้านจักรวรรดินโปเลียน ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมซึ่งแฝงนัยแห่งการต่อต้านอำนาจการปกครองและการกดขี่ของฝรั่งเศส ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยนำเสนอภาพชายหญิงสวมใส่ชุดประจำชาติเยอรมันนั่งหรือยืนหันหลังให้กับผู้ชม หลังจากจักรวรรดินโปเลียนล่มสลายลงแล้ว และถึงแม้ดินแดนเหล่านี้จะเป็นอิสระ แต่ประชาชนก็ยังคงถูกกดขี่และลิดรอนสิทธิอยู่เช่นเดิม
Caspar David Friedrich: นักเดินทางเหนือทะเลหมอก, ราว ค.ศ.1818, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 74.8x94.8 ซม. Hamburg, Kunsthalle
ในปี ค.ศ. 1819 เมื่อเจ้าครองนครยุโรปรวมตัวกันออกพระราชกฤษฎีกาแห่งเมืองคาร์ลสบาด (Karlsbad Decrees) เพื่อปราบปรามพวกหัวรุนแรงที่เรียกร้องประชาธิปไตย ฟรีดริชก็ใช้วิธีการสร้างงานในแนวเดียวกันนี้เผยเจตจำนงในการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่กดขี่เสรีภาพทางความคิด การพูด และการเสนอข่าวสารทางหนังสือพิมพ์อย่างอิสระ การตั้งกรรมการสอดส่องการเคลื่อนไหวของอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย การสอบสวนและจับกุมประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งการห้ามร้องเพลงรักชาติและการสวมใส่ชุดประจำชาติของเยอรมัน

ภาพชายหนุ่มและหญิงสาวสองคนนั่งอยู่บนโขดหินริมฝั่งทะเลขณะที่ดวงจันทร์กำลังค่อยๆ เคลื่อนตัวรำไรขึ้นเหนือพื้นผิวน้ำ (รูปที่ 1) และภาพชายหนุ่มหญิงสาวกำลังยืนชมจันทร์ท่ามกลางธรรมชาติอันสงัดเงียบในป่าเปลี่ยวยามค่ำคืน (รูปที่ 2) สะท้อนภาพธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็น แสงสว่างจากดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความหวังที่ค่อยๆ ฉายแสงเรืองรองท่ามกลางความมืดมิดยามรัตติกาล

ส่วนภาพชายนิรนามที่ยืนหันหลังเหม่อมองออกไปยังทะเลหมอกซึ่งอยู่เบื้องหน้า (รูปที่ 3) และภาพชายหนุ่มสองคนยืนหันหลังชมพระจันทร์ขึ้นเหนือท้องทะเลท่ามกลางธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลยามค่ำคืนที่ถูกอาบไล้ด้วยประกายแสงสีทองอันเจิดจ้า (รูปที่ 4) เป็นสัญลักษณ์ของความอ้างว้างโดดเดี่ยวและการครุ่นคำนึงถึงความหวังในอนาคตอันริบหรี่ที่มิอาจคาดการณ์ได้ ทั้งชายและหญิงทุกคนภายในภาพต่างนั่งหรือยืนหันหลังให้กับผู้ชม พวกเขาสวมใส่ชุดประจำชาติของเยอรมัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ฝักใฝ่ในลัทธิชาตินิยมและเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ปวงชน
Caspar David Friedrich: สองชายริมฝั่งทะเลยามพระจันทร์ขึ้น, ค.ศ. 1816/17, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 51x66 ซม. Alte Nationalgalerie, Berlin
ในปี ค.ศ. 1814 ฟรานซิสโก เดอ โกยา (Francisco de Goya) ศิลปินชาวเสปนแห่งยุคโรแมนติค ได้นำเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1808 ซึ่งเป็นเหตุการณ์นองเลือดในประเทศเสปน มาเป็นเนื้อหาในการเขียนภาพจิตรกรรม สาเหตุเกิดจากในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1808 ชาวมาดริดได้รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลของนโปเลียน (รูปที่ 5) ในวันต่อมาคือวันที่ 3 พฤษภาคม ทางรัฐบาลได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการปราบปรามผู้ก่อการจลาจลโดยสั่งให้ยิงเป้ากลุ่มประชาชนที่ไร้อาวุธอย่างเหี้ยมโหด นอกจากนั้นยังจับตัวประชาชนผู้บริสุทธิ์มาขังคุกอีกเป็นจำนวนมาก

6 ปีต่อมา หลังจากที่พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 (Ferdinand VII) ได้กลับมาขึ้นครองราชย์อีกครั้ง โกยาจึงเสนอให้เขียนภาพบันทึกเหตุการณ์สำคัญในวันนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ โกยากล่าวถึงภาพนี้ว่า “เพื่อฝีแปรงจะได้บันทึกภาพการกระทำอันกล้าหาญอย่างผิดวิสัยมนุษย์ และบันทึกภาพเหตุการณ์ตอนที่พวกเราได้ลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้านเหล่าทรราชไว้ตราบชั่วนิรันดร์”

ภายใต้แสงสว่างซึ่งก่อให้เกิดความสยดสยองของโคมไฟทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน กลุ่มผู้ก่อการจลาจลชาวเสปนได้ถูกทหารฝรั่งเศสสังหารลงสิ้น (รูปที่ 6) โกยานำเสนอภาพกองทหารที่ปราศจากใบหน้าในท่าทางอันเหี้ยมโหดคล้ายกันในขณะที่พวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่โหดร้ายภายใต้ท้องฟ้าอันมืดมิดยามรัตติกาล เหล่าผู้ก่อการจลาจลแสดงปฏิกิริยาในขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับความตายด้วยความรู้สึกที่คละเคล้าไปด้วยความหวาดกลัว ความดึงดังแข็งขืน และความสับสนใจ ชายผู้หนึ่งยกมือทั้งสองข้างขึ้นปิดหน้าตัวเอง ชายอีกคนหนึ่งกำหมัดยกขึ้นในท่าพร้อมจะต่อสู้จนตัวตาย

ส่วนบาทหลวงผู้หนึ่งยกมือประสานเข้าหากันเพื่อสวดมนต์ภาวนาเป็นครั้งสุดท้าย โกยาเบนความสนใจของผู้ชมไปยังชายที่คุกเข่าอยู่ตรงกลางภาพและกางแขนทั้งสองข้างออก ทำให้ดูคล้ายกับท่าพระเยซูกำลังถูกตรึงบนไม้กางเขน แสงสว่างจากโคมไฟที่สาดส่องมากระทบเสื้อสีขาวของเขาเป็นประกายเจิดจ้าราวกับแสงจากสายฟ้าแลบ โกยาเพิ่มความสะเทือนใจให้กับผู้ชมด้วยการเขียนภาพชายผู้นั้นให้มีขนาดใหญ่กว่าบุคคลอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมรอบตัวเขา ถึงแม้ว่าชายผู้นี้จะอยู่ในท่านั่งคุกเข่า แต่ก็ดูราวกับว่าเขากำลังยืนอยู่ และหากเขาลุกขึ้นยืนก็คงต้องสูงกว่าทหารที่กำลังยืนหันปากกระบอกปืนเล็งมายังเขา

เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลโกงแผ่นดิน ขายชาติ และลิดรอนเสรีภาพของปวงชน รัฐบาลนั้นก็ขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่ประชาชนจะลุกฮือขึ้นทวงคืนอำนาจอธิปไตยของตน

เช่นเดียวกับเมื่อมีคนขายชาติให้ชาติอื่นเข้ามาถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งมาตุภูมิ เมื่อนั้นจงอย่าได้ลืมบทพระราชนิพนธ์เตือนใจ สยามานุสสติ ในพระมหาธีรราชเจ้าบทนี้

หากสยามยังอยู่ยั้ง ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย หมดสิ้นสกุลไทย
Francisco de Goya: วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1808, 1814, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 280 × 336 ซม. Museo del Prado, Madrid
หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ

เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์

Caspar David Friedrich จิตรกรเอกชาวเยอรมันแห่งยุคโรแมนติค มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1774-1840

Francisco de Goya ฟรานซิสโก เดอ โกยา จิตรกรเอกชาวเสปนแห่งยุคโรแมนติค มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1746-1828

Romanticism หรือศิลปะโรแมนติค เป็นรูปแบบศิลปะที่เกิดจากกระแสต่อต้านศิลปะคลาสสิกใหม่ที่เคร่งกฎเกณฑ์ตามแบบคลาสสิก แพร่หลายในทวีปยุโรปราว ค.ศ. 1800 – 1830 ศิลปะโรแมนติคผูกพันแนบแน่นกับบรรยากาศแห่งธรรมชาติ มนุษย์และธรรมชาติผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น ดังนั้น ภาพทิวทัศน์หรือภาพธรรมชาติจึงเป็นตัวสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างดียิ่ง และนับเป็นครั้งแรกที่ผลงานศิลปะแสดงออกถึงความรู้สึกถึงความเป็นชาติด้วย
Francisco de Goya: วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1808, 1814, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 266 × 345 ซม. Museo del Prado, Madrid
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It