Art Eye View

ยลโฉม “นางฟ้า” ของ สมภพ บุตราช ก่อนแห่ “นางสงกรานต์” ตั๊ก บงกช

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ยังไม่ถึงเวลาแห่ “นางมโหทรเทวี” นางสงกรานต์ประจำปีนี้ ในภาพเขียนของ สมภพ บุตราช

บางส่วนของภาพเขียนหมด ในนิทรรศการ “นางสงกรานต์ 2556” ของสมภพ ก็เล็ดลอดออกมาให้คนทั่วไปได้ชมบ้างแล้ว

ด้วยบางภาพเป็นภาพเขียนที่มีใบหน้าของ ตั๊ก -บงกช คงมาลัย ดาราและภรรยาสาวของเจ้าสัว บุญชัย เบญจรงคกุล เป็นแบบให้ ก็ยิ่งเป็นการสร้างกระแสให้คนทั่วไปอยากไปชมผลงานทั้งหมด

หลังจากที่เมื่อสองปีก่อน เพิ่งแห่เพิ่งชม “นางกิริณีเทวี” นางสงกรานต์ ปี 2554 ของสมภพไปแล้วคราหนึ่ง

ไม่แปลกอะไรที่สาวตั๊กจะมาปรากฏในนิทรรศการภาพเขียนของสมภพครั้งนี้ เพราะเขาเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีผลงานศิลปะอยู่ในคอลเลกชั่นของเจ้าสัวจำนวนหลายชิ้น

และเป็นเจ้าของผลงานภาพเขียน “สวรรค์” หนึ่งในสามภาพไตรภูมิชิ้นใหญ่ที่แขวนโชว์ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary Art Museum) หรือ MOCA BANGKOK อาณาจักรมูลค่าเป็นพันๆล้านของเจ้าสัวด้วย

“คุณบุญชัยกับผมก็พอจะรู้จักกัน เพราะท่านให้ผมทำงานให้อยู่เรื่อยๆ พอดีไปงานเปิดนิทรรศการศิลปะงานหนึ่ง ไปเจอคุณบุญชัย และคุณตั๊ก -บงกช ก็ไปด้วย

ตอนนั้นผมกำลังทำงานชุดนี้อยู่ ยังไม่เสร็จ คุยไปคุยมา ก็เลยเอาภาพให้ดู คุณตั๊กชอบ และอยากเป็นแบบให้เขียน ผมบอกไปว่ารอให้เสร็จงานนี้ก่อน แต่มีเพื่อนบอกให้ลองเขียนตั๊กลองดูบ้าง ก็เลยเขียนภาพนี้”

หนึ่งในศิลปินผู้เคยไปฝากฝีมือเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ไว้ที่ วัดไทยพุทธประทีป ประเทศอังกฤษร่วม กับ ปัญญา วิจินธนสาร,เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ฯลฯ บอกเล่า

และบอกว่าช่วงเวลานั้นเองที่ส่งผลให้นำรูปแบบการเขียนภาพไทย หรือ ในสิ่งที่เป็นอุดมคติ มารวมเข้ากับการเขียนภาพในแนวเรียลลิสติกในเวลาต่อมา

รวมถึงภาพ “นางฟ้า ”และนางต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและประเพณีไทย ที่เริ่มเขียนมาในช่วง 4-5 ปี ซึ่งหลายคนอาจชินตา เพราะไปปรากฏอยู่ในโปสเตอร์ ปฏิทิน ของที่ระลึก ฯลฯ ทั้งที่ถูกลิขสิทธิ์ และนำไปใช้โดยพลการ

รวมถึงนิทรรศการแสดงผลงานในหลายๆครั้ง อาทิ มรรคาแห่งชีวิต ซึ่งถูกใช้เป็นภาพประกอบให้กับหนังสือธรรมะของ “พระไพศาล วิสาโล”, Color of the Angel และ กรุง…เทพ (ที่ต้องการสื่อให้รู้ว่าเป็นเมืองที่เทพอาศัย) ต่อเนื่องมาจนถึง “นางสงกรานต์” เมื่อปี 2554 และปีนี้

“จริงๆแล้ว ชอบเขียนรูปให้สวย ตอนเรียนก็ชอบเขียนผู้หญิง เขียนเพื่อนบ้าง เขียนนางแบบบ้าง ชอบเขียนให้สวย มันเลยติดว่าถ้าเขียนผู้หญิงต้องเขียนให้สวย มันก็เลยกลายมาเป็นนางฟ้า”

ต่อมาผมก็เลยเอาเรื่อง นางสงกรานต์ มาเขียน เพราะอยากจะย้อนให้เราได้รู้จักวัฒนธรรมของเราที่เคยมีมา

และนึกย้อนไปถึงสมัยที่ผมเริ่มเรียนศิลปะที่เพาะช่าง เมื่อประมาณ 30 ปี ที่แล้ว และพยายามหางานทำไปด้วย เช่น ไปรับจ้างพวกโรงพิมพ์ต่างๆ เขียนปฏิทินนางสงกรานต์ทุกปี จึงทำให้รู้ว่านางปีนี้ชื่ออะไร ขี่อะไร เป็นปีที่มีนาคให้น้ำกี่ตัว มีคำทำนายว่าอย่างไร

ตำนานของนางสงกรานต์ลองไปสืบค้นได้ มีที่มาให้รู้ว่าทำไมเราต้องมีการแห่กันทุกปี เทพธิดาซึ่งเป็นลูกสาวทั้ง 7 ของพระพรหม

จากที่สมัยเรียนเพาะช่างเคยเขียนนางสงกรานต์แบนๆแบบภาพไทย ก็เลยมีไอเดียเขียนเป็นภาพไทย(อุดมคติ) ผสมเรียลลิสติก และมีการเปลือยหน้าอก

คือถ้าไปดูภาพไทยตามวัดวา ผู้หญิงในภาพก็เปลือยหน้าอกกันแบบนี้อยู่แล้ว สมัยก่อนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้มองไปในเรื่องทางเพศ แต่มองว่าเป็น พี่ ป้า น้าอา เป็นลูก เป็นหลาน

แต่เดี๋ยวนี้เวลาคนมองผู้หญิงก็คือผู้หญิง คือมองเป็นเรื่องเพศ ไม่ค่อยมองในเรื่องอื่น ดังนั้นมันสะท้อนว่าจิตใจของคนในยุคสมัยนี้เป็นยังไง เหมือนพอผมเขียนออกมาอย่างนี้ คนก็มองและคิดไปอีก”


สมภพเคยรู้สึกเสียดายที่ครั้งหนึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเคยนำภาพของเขาไปปรากฏอยู่เวบไซต์ เพื่อโปรโมทเทศกาลฯ

และเมื่อเกิดกรณีที่มีสาวไทยใจกล้า เปลือยอกเต้นโชว์ที่ย่านสีลมในวันสงกรานต์ แล้วมีผู้อ้างว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะผิดอะไร เพราะแม้แต่เวบไซต์ของกระทรวงยังนำเสนอภาพเขียนผู้หญิงเปลือยอก

แทนที่กระทรวงฯ จะได้ใช้วิกฤติเป็นโอกาสอธิบายถึงที่มาและเจตนาที่แตกต่างกัน กลับปลดภาพเขียนออกจากเวบไซต์ ซึ่งเขามองว่าเท่ากับเป็นการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น

“ตอนนั้นผมอยู่ที่ลอนดอน เพื่อนส่งข่าวไปบอก แล้วกระทรวงวัฒนธรรมก็เอาภาพออก ไม่อธิบายอะไรเลย น่าจะใช้โอกาสอธิบายให้ฟังว่า ความเป็นมาของภาพมันเป็นอย่างไร เขาจะได้เข้าใจภาพเขียนหรือศิลปะของเราสมัยก่อน แต่นี่ทำเหมือนยอมรับไปเลย”

นางสงกรานต์ ปี 2556 ซึ่งตรงกับ ปีมะเส็ง มีนามว่า มโหทรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว(ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตร(นอนหลับตา) มาเหนือหลังมยุรา(นกยุง) เป็นพาหนะ

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่าการเขียนภาพทุกครั้งของสมภพ แม้ว่าจะไม่ใช่นางสงกรานต์ จะต้องมีการศึกษาข้อมูลเป็นอย่างดี

“เวลาทำงานผมใช้เวลาในการค้นคว้าเยอะ และการเขียนเรียลลิสติกก็ต้องมีแบบ จะโมเมเขียนไม่มีทางที่จะเขียนออกมาได้ดี
อย่างเขียน นางฟ้า เราก็ต้องหานางรำหาเด็กนาฎศิลป์ที่หน้าตาสวยๆ มาเป็นแบบ เขียนส่วนที่ต้องเปลือยก็ต้องมีนางแบบนู้ดมาเป็นแบบ แม้กระทั่ง นางสงกรานต์ ก็ต้องจ้างคนมาเป็นแบบ แต่นางสงกรานต์ชุดล่าสุดนี้ผมใช้ข้อมูลเก่า ที่เคยจ้างคนมาเป็นแบบ แล้วถ่ายรูปเก็บไว้ สเกตซ์ไว้ แล้วจับนู่นจับนี่มาผสมกัน ไม่ได้เขียนตามรูปถ่ายเป๊ะๆ”

ดังเช่นภาพนางสงกรานต์จำเป็น ตั๊ก บงกช หลายคนอาจไม่รู้ว่า กว่าจะได้มาและลงตัวในสายตาศิลปินเจ้าของผลงาน ต้องใช้แบบจากหลายที่ทาง ทั้งนางรำนาฎศิลป์ ภาพนู้ดของศิลปินต่างประเทศ ภาพถ่ายในบางมุมของตั๊ก และความทรงจำเมื่อครั้งที่ได้เห็นตั๊กสวมชุดไทยในวันหมั้น และสมภพได้รับเชิญให้ไปร่วมงานด้วย

“ใช้ภาพถ่ายพอร์เทรตของของเจ้าตัวนิดเดียวเลือกมุมที่สวย ผสมกับท่าทางของแบบอื่นๆ”

หากถามว่าลงตัวไหมพอใจไหม เมื่อนางเอกในชีวิตจริงของเจ้าสัว กลายมาเป็น นางในภาพเขียนของตัวเอง

“ภาพนี้ลงตัว คุณตั๊กมีหน้าตาไทยๆ คมและสวยด้วย หายาก ผู้หญิงที่โครงหน้าแบบนี้ มีโอกาสน่าจะได้เขียนอีก”

ภาพเขียนชิ้นนี้สมภพตั้งใจจะมอบเป็นของขวัญงานแต่งงานของเจ้าสัวและภรรยาสาวที่กำลังจะมาถึง และได้บอกถึงความตั้งใจในเขียนภาพชุดนางสงกรานต์ ซึ่งตั้งใจว่าจะเขียนต่อเนื่องไปอีกหลายปี เพื่อให้ได้นางสงกรานต์ครบทั้ง 7 วัน ในวันที่ ART EYE VIEW เดินทางไปพบเขาที่สตูดิโอ ย่านศาลายา ของศิลปิน ปัญญา วิจินธนสาร เพราะเขาไปอาศัยใช้พื้นที่ของศิลปินรุ่นพี่และศิษย์เก่าร่วมคณะ(จิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร)เขียนงาน เนื่องจากบ้านทีี่หมู่บ้านชัยพฤกษ์ คับแคบเกินกว่าจะเขียนงานชิ้นใหญ่บางชิ้น

“อยากให้หันมาสนใจงานแบบไทยๆ เราต้องรู้จักตัวเองบ้าง ว่าเราเป็นอย่างไร มีเหตุปัจจัยอะไรทำไมเราต้องมาเป็นแบบนี้ในปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นแค่แพคเกจจิ้งต่องกันมา ไม่รู้ว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะ มันควรหรือไม่ควร

มันก็ทำได้แหล่ะ แต่ว่ามันเหมาะไหม ถูกไหม ทำไปแล้วมันเสียหาย หรือเปล่าถูกต้องหรือเปล่า รู้ไว้ก็ยังดีกว่า อย่าไปมองว่าของเราเชย ทำไมฝรั่งเขาถึงมานิยมชมชอบเราในส่วนนี้ บางทีเราก็ด่าของๆเราเองทุกวัน ดังนั้นต้องสะกิดๆกันบ้าง”


กว่าจะมาเป็นภาพ นางสงกรานต์ ตั๊ก บงกช ด้านล่าง ต้องอาศัยแรงบันดาลใจจากภาพต่างๆดังต่อไปนี้




นิทรรศการ “นางสงกรานต์ 2556” เปิดนิทรรศการวันแรก วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2556 และเปิดแสดงไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ เดือนเมษายน พ.ศ.2556 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล พุทธมณฑล สาย 2

วัชระ ประยูรคำ,สาครินทร์ เครืออ่อน,ปัญญา วิจินธนสาร,เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล,ตั๊ก -บงกช คงมาลัย,บุญชัย เบญจรงคกุล,ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ และสมภพ บุตราช

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It