Art Eye View

หากโลกนี้จะไม่มีสิงโตเหลืออยู่ : แอชลีย์ วินเซนต์

Pinterest LinkedIn Tumblr

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
Brink of Extinction
ผมขออนุญาตเริ่มต้นบทความในอาทิตย์นี้ด้วยการกล่าวคำว่า“ขอบคุณ” ต่อผู้อ่านทุกท่านที่กรุณาติดตามอ่านคอลัมน์ของผมตลอดสามอาทิตย์ที่ผ่านมาด้วยนะครับ ถึงแม้ในช่วงนั้น ตัวผมจะอยู่ในประเทศอังกฤษ แต่ผมก็เปิดอินเตอร์เน็ตดูอยู่เสมอ ผมซาบซึ้งใจมากครับ ต่อทุกข้อความที่ชื่นชอบและให้กำลังใจงานถ่ายภาพของผม และผมขอน้อมรับทุกข้อความที่กรุณาแนะนำท้วงติงมาด้วยครับ “ขอบคุณมาก”

ผมใช้เวลาของอาทิตย์แรกในอังกฤษจัดการสะสางภารกิจส่วนตัว และในอาทิตย์ที่สองเข้าร่วมถ่ายภาพกับเพื่อนช่างภาพสองคนชาวอังกฤษที่ผมได้รู้จักผ่านโลกไซเบอร์ มันเป็นการพบปะและร่วมงานกันเป็นครั้งแรกระหว่างพวกเรา ทีจริงแล้ว การถ่ายภาพกับเพื่อน(ใหม่)ทั้งสองครั้งนี้ ได้มอบประสบการณ์หลายอย่างที่เป็น “ครั้งแรก”ของผมด้วยครับ

มันเป็นครั้งแรก ที่ผมต้องยืนหนาวสั่นตั้งกล้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเย็นยะเยือกที่อุณหภูมิติดลบถึงสององศา เพื่อคอยเก็บภาพสัตว์ตระกูลแมวใหญ่เก้าสายพันธุ์ สัตว์ตระกูลแมวใหญ่กลุ่มนี้ มีบางพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ผมไม่เคยเห็นตัวเป็นๆมาก่อน และยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ที่ผมเพิ่งจะเคยเห็นหน้าตาของพวกมันเป็นครั้งแรกเช่นกัน และผมจะทยอยลงภาพถ่ายของพวกสัตว์แปลกตาเหล่านี้เพื่อแบ่งปันให้ทุกท่านได้ชม ในโอกาสต่อไปนะครับ
Against All Odds
Atlas Burdened No More
ในความรู้สึกของผม สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ทุกชนิดล้วนมีรูปร่างท่าทางที่ดูน่าเกรงขามและมองแล้วน่าประทับใจเสมอ ภาพที่คุณเห็นอยู่ทั้งหมดนี่คือ บาร์บารี่ไลออน(Barbary Lion – Panthera leo leo) ครับ ผมไม่รู้ว่า จะมีใครเห็นด้วยกับผมไหมว่า ความสง่างามของ สิงโตบาร์บารี่  นี่ดูจะเหนือธรรมดาอยู่บ้างนะครับ

มันเคยมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเลยล่ะครับ เช่น นูเบียสไลออน (Nubian Lion) หรือ แอ็ตลาสไลออน(Atlas Lion) ชื่อหลังนี่ถูกเรียกตามบ้านเกิดดั้งเดิมของพวกมันที่มาจากภูเขาแอ็ตลาสแห่งอัฟริกาเหนือ

ผมเคยได้ยินชื่อของ “บาร์บารี่ไลออน” มาบ้างแล้วในอดีต แต่ผมขอสารภาพตรงนี้เลยว่า ผมเพิ่งจะได้เปิดหาข้อมูลโดยละเอียดของพวกมันอ่านเมื่อกลับถึงบ้าน(ในอังกฤษ)หลังจากที่ได้ถ่ายภาพพวกมันแล้วนี่เอง และความจริงที่ผมได้ค้นพบเกี่ยวกับสัตว์สายพันธุ์นี้ ทำให้ผมต้องรู้สึกเศร้าใจเป็นอย่างมาก

ผมเคยได้รับอนุญาตให้ร่วมงานคอยเก็บภาพสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานะอนุรักษ์ระดับ สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU), สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN) และ สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์(CR) มาแล้วหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรก ที่ผมได้เก็บภาพ “บาร์บารี่ไลออน” อย่างใกล้ชิด มันเป็น สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (EW) สิงโตบาร์บารี่ตัวสุดท้ายที่มีการบันทึกว่าถูกพบเห็นและเป็นศพไปแล้วก็ในปี ค.ศ 1922โน่นแน่ะครับ

ผมรู้ดีว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะมีใครสักคนสังเกตเห็นความสำคัญต่อการเกี่ยวข้องในภาวะตกต่ำและการสูญเสียของธรรมชาติและเหล่าสัตว์ป่า พวกเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกันอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองที่พัฒนาจนเจริญมากแล้ว เราแทบจะไม่เคยใส่ใจกันเลยว่า ในป่าจะยังมีสัตว์ป่าเหลืออยู่บ้างไหม พวกเสือ ช้างป่า และพวกลิงอุรังอุตัง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ จะยังเหลือผืนป่าที่เรียกว่าบ้านของมันอยู่บ้างหรือเปล่า

หากพวกเราหยุดคิดกันสักนิด และตระหนักรู้ว่า สัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกัน พวกมันเป็นสัตว์ร่วมโลกของเรา ที่ต้องการพื้นที่สำหรับการดำเนินชีวิตและการขยายเผ่าพันธุ์ของมัน ปัจจุบันนี้ ฝูงของสัตว์ป่าทุกชนิดลดจำนวนประชากรลงอย่างต่อเนื่อง พวกมันไม่เหลือป่าให้กระจายอาณาเขตออกไปได้ไกลเหมือนในอดีต พวกมันถูกจำกัดพื้นที่จนไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างกว้างขวาง สัตว์ป่าถูกบุกรุก โดนแย่งชิงพื้นที่อยู่อาศัยจากเผ่าพันธุ์ที่เจริญแล้ว สายพันธุ์ที่รู้จักกันในนามของ “มนุษย์”

สัตว์ป่ายังถูกตามล่าเอาหนังไปเป็นเครื่องประดับ เอางาและหัวไปเป็นของโชว์ เอาเครื่องในไปเป็นยา เอาลูกสัตว์ไปเป็นสัตว์เลี้ยง และยังถูกล่าเพื่อปรุงเป็นอาหารจานพิสดาร พวกเราที่ไม่อยากเกี่ยวข้องก็มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่คิดจะให้ความสนใจ ไม่มีใครอยากจะแสดงความรับผิดชอบ หลายคนคิดเอาง่ายๆว่าต่างคนต่างอยู่ ต่างกรรมต่างวาระ ไม่ต้องก้าวก่ายกัน

ตอนที่ผมเก็บภาพบาร์บารี่ไลออน และสำนึกรู้ถึงชะตากรรมของเผ่าพันธุ์พวกมัน ผมรู้ดี ว่าบรรพบุรุษของผมเป็นพวกที่กำจัดสายพันธุ์ของมันจนหมดไปจากธรรมชาติ ผมจ้องมองนัยน์ตาสิงโต และรู้สึกจุกแน่นในอก ผมรู้สึกผิดมาก

มีการบันทึกไว้ว่า มีบาร์บารี่ไลออนที่ยังเหลืออยู่ในเขตอนุรักษ์และในสวนสัตว์ทั่วโลกอยู่ประมาณ 140 ตัว ข้อมูลสำคัญบันทึกต่อไปว่า ในจำนวนทั้งหมดนี้ มีสายพันธุ์หลักอยู่เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นครับ ส่วนมากจะเป็นสายพันธุ์ย่อย หมายถึงเป็นลูกผสมระหว่างสิงโตบาร์บารี่กับสิงโตพันธุ์อื่น เช่นสิงโตอัฟริกัน เป็นต้น

ผมคิดกลับไป ถึงตอนที่ผมยืนมองเจ้าสิงโตบาร์บารี่เดินไปมาจนทั่วกรงอันกว้างขวางของมัน ผมสังเกตเห็นมันวางท่าอย่างที่เจ้าป่าชอบแสดงออก ผมเฝ้ามองย่างก้าวของมัน ยินเสียงคำรามของมันที่ประกาศบอกอาณาเขตออกมาเป็นระยะ ผมรู้สึกเหมือนได้เป็นสักขีพยานต่อการดำรงอยู่ของอีกหนึ่งในสรรพสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ผมไม่อยากให้มันต้องสูญพันธุ์ไปเลย
The Survivor
ผมไม่มีเจตนาที่จะทำให้ใครต้องรู้สึกหดหู่เพราะอ่านคอลัมน์นี้ของผมนะครับ ผมเพียงแต่หวังว่า ภาพถ่ายของผมและข้อมูลเล็กน้อยที่เกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติที่ผมหามาแบ่งปันกับคุณ จะช่วยให้พวกเราตื่นตัวกับเรื่องพวกนี้กันมากขึ้น อย่างน้อยก็เข้าใจเรื่องราวของสัตว์ป่าดีขึ้น สำนึกรู้ว่าโลกของเรายังมีสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นดำรงอยู่ในอาณาจักรของสัตว์โลก หรือตระหนักรู้ในคุณค่าของป่าและธรรมชาติกันมากขึ้น

ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจต่อบทความนี้ด้วยครับ ผมขอให้ทุกท่านมีวันและคืนที่สวยงามตลอดทั้งอาทิตย์นะครับ แล้วพบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ

รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ล่าสุดผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพิ่งได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆคนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนย่า”

ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It