Art Eye View

น้ำ: สัญลักษณ์แห่งความโชติช่วงชัชวาลของพระราชอำนาจแห่งสุริยราชา (2)

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน
(ภาพที่ 1) บ่อน้ำพุแห่งเทพเจ้าอพอลโล ในพระราชอุทยานแวร์ซายส์
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรายังคงอยู่ด้วยกันในฝรั่งเศสเพื่อชมสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากน้ำต่อจากสัปดาห์ก่อนนะคะ อันเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว ประติมากรรมประดับอุทยานแวร์ซายส์ก็เช่นเดียวกับพระราชวังและพระราชอุทยาน ที่สื่อสะท้อนภาพลักษณ์แห่งความเป็นสุริยราชาของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14

พระราชกรณียกิจประจำวันของพระองค์เปรียบได้กับวัฏจักรแห่งกาลเวลา ซึ่งเทพเจ้าอพอลโลทรงเป็นผู้กำหนด นับตั้งแต่ทรงเสด็จขึ้นขับเคลื่อนราชรถของพระองค์เมื่อยามรุ่งอรุโณทัยจนกระทั่งทรงนำพระราชยานเลี้ยวลดลับลงสู่ขอบฟ้าเมื่อยามสนธยา ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏประติมากรรมรูปเทพเจ้าอพอลโลทรงขับรถพระอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นจากน้ำใน บ่อน้ำพุแห่งเทพเจ้าอพอลโล (ภาพที่ 1 และ 2) รวมทั้งกลุ่มประติมากรรมที่นำเสนอภาพเหล่านางไม้กำลังถวายการปรนนิบัติแด่องค์สุริยเทพเมื่อเสด็จลงสรง (ภาพที่ 3) หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับมาจากการประกอบพระราชภารกิจแห่งวันแล้ว

อาณาบริเวณอันกว้างขวางใหญ่โตของ พระราชอุทยาน (ภาพที่ 4) ทำให้ต้องอาศัยน้ำปริมาณมหาศาลเพื่อมาหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ไม้นานาชนิดทั้งไม้ดอกไม้ประดับ รวมไปจนถึงการรักษาปริมาณและระดับน้ำตามบ่อน้ำพุและคลองขุดทั่วทั้งอุทยาน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในอุทยานจึงเป็นปัญหาสำคัญที่วิศวกรและผู้ดูแลอุทยานต้องหาหนทางแก้ไขอยู่เสมอ

ปี ค.ศ. 1664 ได้มีการทดน้ำด้วยเครื่องจักรที่ใช้แรงม้าทดน้ำจากแหล่งน้ำใน หมู่บ้านกลายี (Clagny) ที่อยู่ใกล้ๆ พระราชวังมาใช้ เมื่อปริมาณของน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการจึงมีการทดน้ำจาก อ่างเก็บน้ำเลอ โว (Le Vau) มาสมทบ

อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่พระราชวังและพระราชอุทยานต้องการในแต่วันก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ระหว่างปี ค.ศ. 1678 และ 1685 ได้มีความพยายามในการทดน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ตามลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง ทุกแห่งในละแวกใกล้เคียงเพื่อสนองความต้องการในการใช้น้ำของพระราชวังแวร์ซายส์เพียงแห่งเดียว

จนกระทั่งเมื่อมีการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำที่เรียกกันว่า Machine de Marly (ภาพที่ 5, 6 และ 7) เพื่อทดน้ำจาก แม่น้ำแซน (Seine) ผ่านสะพานส่งน้ำมายังพระราชวังแวร์ซายส์ได้สำเร็จ ปัญหาดังกล่าวจึงหมดไป
(ภาพที่ 2) ประติมากรรมรูปเทพเจ้าอพอลโลทรงขับรถพระอาทิตย์กลางบ่อน้ำพุแห่งเทพเจ้าอพอลโล
เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงโปรดฯ แต่งตั้งให้ พระยาวิสุทธิสุนทร (ภายหลังเป็น พระยาโกษาธิบดี) เป็นอัครราชทูต นำคณะราชทูตไทยไปเจริญพระราชไมตรีกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) คณะราชทูตสยามก็ได้มีโอกาสไปชมการทำงานของเครื่องทดน้ำ “Machine de Marly” ดังปรากฏบันทึกบรรยายเรื่องราวอย่างละเอียดยาวถึง 5 หน้าใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 57 (โกศาปานไปฝรั่งเศส ภาค 1) ความว่า

“รุ่งขึ้นวันหน้า ราชทูตได้ไปดูหอน้ำประปาที่เมืองมาร์ลีซึ่งเป็นที่สำหรับทำการสูบน้ำจากแม่น้ำแซนส่งขึ้นไปตามท่อต่างๆ จนถึงพระที่นั่งวังแวร์ซายส์ หอน้ำประปานี้สำหรับสมัยนี้ก็นับว่าเป็นงานอัศจรรย์ใหญ่ซึ่งหาคู่มิได้ในทั่วโลกพิภพ ทั้งเป็นของงามน่าดูเป็นสิ่งอันประเสริฐซึ่งได้เกิดจากสติปัญญาของมนุษย์

… เครื่องนี้ก็เป็นเครื่องแปลกน่าอัศจรรย์ดังที่ได้ว่าแล้ว แต่สำหรับการก่อทำนบกั้นน้ำจากแม่น้ำเท่านั้นได้ยินว่าต้องตัดต้นไม้สิ้นทั้งป่า จึงได้ซุงเสาเพียงพอแก่ความต้องการ

วิธีสูบน้ำเป็นดังนี้ คืออาศัยเหตุที่หาเครื่องแรงให้พอสำหรับสูบน้ำจากแม่น้ำส่งขึ้นไปถึงเมืองแวร์ซายส์ไม่ได้ โดยเป็นหนทางสูงไกลจากแม่น้ำมาก ก็ใช้วิธีสูบเป็นระยะๆ กันไป ชั้นแรกก็สูบจากแม่น้ำขึ้นไปตามไหล่เนินพอหมดแรงสูบลงที่ไหน ก็มีสระรับน้ำที่นั้นระยะหนึ่ง แล้วก็มีสูบใหม่ที่ตรงนั้นรับช่วงสูบน้ำจากสระนี้ส่งขึ้นไปอีกทอดหนึ่ง ก็มีสระอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่สูงกว่าต่อไป และก็รับช่วงสูบต่อๆ กันไปอีกเป็นทอดๆ ดังนี้จนกว่าจะถึงถังใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนหอน้ำประปา แล้วจากนั้นต่อไปก็มีท่อน้ำสำหรับจำหน่ายน้ำไปตามต้องการ ในทั่วพระราชสถานวังแวร์ซายส์ๆ ซึ่งเป็นที่ดอนเลยกลายเป็นที่ๆ บริบูรณ์ไปด้วยน้ำราวกับตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำก็ว่าได้ ทั้งนี้ก็เพราะบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ได้ทรงกะการนี้และได้ทรงอุปถัมภ์จนเป็นผลสำเร็จ”
(ภาพที่ 3) ประติมากรรมรูปเทพเจ้าอพอลโลขณะลงสรงท่ามกลางเหล่านางไม้
(ภาพที่ 4) ภาพจิตรกรรมมุมสูงของพระราชวัง Versailles
(ภาพที่ 5) Machine de Marly เครื่องทดน้ำจากแม่น้ำแซนผ่านสะพานส่งน้ำไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ ราวปี ค.ศ. 1724
ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลานานหลายพันปี น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกยังคงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะให้กับศิลปินทุกสาขาเช่นเดิม ดังที่เราได้ประสบพบเห็นอยู่เสมอในยุคสมัยของเรา เช่น การออกแบบบ้านน้ำตก (Fallingwater House) ของ แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) สถาปนิกชาวอเมริกันชื่อก้องโลก

เมื่อปี ค.ศ. 1936 ไรท์ได้สร้างบ้านพักสำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่หรูหราให้กับ เอ็ดการ์ คอฟแมน (Edgar Kaufman) เจ้าของ ศูนย์การค้าแห่งเมืองพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh) มลรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา โดยการฝังฐานรากของบ้านรูปทรงทันสมัยแปลกตาที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กไว้บนโขดหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ น้ำตกแบร์รัน (Bear Run) นอกเมืองพิตส์เบิร์ก (ภาพที่ 8) ไรท์ผสานรูปทรงของอาคารและวัสดุที่แตกต่างกันได้อย่างกลมกลืนโดยใช้หินธรรมชาติก่อผนังส่วนที่เป็นแกนหลักของบ้านซึ่งอยู่ในแนวตั้ง และใช้คอนกรีตสีขาวเป็นวัสดุในการสร้างเฉลียงที่ยื่นยาวออกมาในแนวนอน (ภาพที่ 9) สายน้ำจากน้ำตกซึ่งไหลลอดผ่านพื้นบ้านและใต้เฉลียงที่ยื่นยาวออกมาเหนือน้ำตก ช่วยหลอมรวมสิ่งก่อสร้างจากน้ำมือมนุษย์ให้ประสานเข้ากับธรรมชาติอันงดงามของน้ำตกได้อย่างวิเศษสุด (ภาพที่ 10)

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบในการสร้างงานศิลปะสาขาสถาปัตยกรรม คือ ลา เจโอด (La Géode) ที่สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1985 โดยสถาปนิก อาเดรียง แฟงซิลแบร์ (Adrien Fainsilber) และวิศวกร เจรารด์ ชามายู (Gérard Chamayou) อาคารรูปทรงทันสมัยนี้ตั้งอยู่ใน สวนสาธารณะวิลแลตต์ (Parc de la Villette) อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณที่เรียกว่า ซิเต เดส์ ซีออง เซอะ เดอ แลงดูสทรี (Cité des Sciences et de I’ Industrie) หรือ “นครแห่งวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม” ชานกรุงปารีส

“ลา เจโอด” เป็นอาคารสัณฐานกลมตั้งอยู่ในสระน้ำขนาดใหญ่ (ภาพที่ 11 และ 12) เส้นผ่านศูนย์กลางของอาคารมีความยาวถึง 36 เมตร ผนังโค้งรูปครึ่งวงกลมด้านในของอาคารทำหน้าที่เป็นจอฉายภาพภาพยนตร์ขนาดยักษ์บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร (ภาพที่ 13) ผนังโค้งด้านนอกของตัวอาคาร ซึ่งกรุด้วยแผ่นสเตนเลสรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่ถูกขัดผิวจนเรียบมันวาวคล้ายกระจก สะท้อนภาพอาคารบ้านเรือนซึ่งอยู่ล้อมรอบ รวมทั้งผู้คนที่ผ่านไปมาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวินาทีในบริเวณนั้น (ภาพที่ 14 และ 15) ขณะเดียวกันผิวน้ำที่บางครั้งราบเรียบและบางครั้งก็เคลื่อนไหวด้วยระลอกคลื่นเล็กๆ อันเกิดจากแรงลม ก็สะท้อนภาพทั้งหมดนี้ไว้ด้วยเช่นกัน (ภาพที่ 16)

ด้วยเหตุนี้ “ลา เจโอด” ที่ดูราวกับโผล่พ้นขึ้นมาจากผิวน้ำ จึงเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่เฉียบคมของโลกแห่งความมหัศจรรย์และการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของมนุษยชาติใน “นครแห่งวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม” ด้วยประการฉะนี้

และทั้งหมดนี้คือท้ายที่สุดของเรื่อง “น้ำ แรงบันดาลใจอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษยชาติ” พบกันใหม่ครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
(ภาพที่ 6) Machine de Marly ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18
(ภาพที่ 7) Machine de Marly ราวปี ค.ศ. 1830
(ภาพที่ 8) บ้านน้ำตก (Fallingwater) ออกแบบก่อสร้างโดย แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright), ค.ศ. 1936
(ภาพที่ 9) บ้านน้ำตก
(ภาพที่ 10) บ้านน้ำตก
(ภาพที่ 11) La Géode ในสวนสาธารณะ Parc de la Villette ชานกรุงปารีส ออกแบบก่อสร้างโดยสถาปนิก อาเดรียง แฟงซิลแบร์ (Adrien Fainsilber) และวิศวกร เจรารด์ ชามายู (Gérard Chamayou), ค.ศ. 1985
(ภาพที่ 12) La Géode
(ภาพที่ 13) ภายใน La Géode ขณะกำลังฉายภาพยนตร์
(ภาพที่ 14) La Géode
(ภาพที่ 15) รายละเอียดจาก La Géode
(ภาพที่ 16) รายละเอียดจาก La Géode
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และเด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้นจากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ. 2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่าความรู้ที่มีไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It