Art Eye View

โซเครตีส : ระหว่างคุณธรรมกับชีวิต

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน
(ภาพที่ 1 )Jacques-Louis David: ความตายของโซเครตีส, 1787, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 130x196 ซม. Metropolitan Museum, New York
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อมนุษย์เริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกฎระเบียบของการอยู่ร่วมกันเพื่อคงไว้ซึ่งความสุขสงบ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม

แต่ ณ ปัจจุบัน ในบ้านเมืองของเราดูเหมือนจะตกอยู่ในกลียุค เพราะกลุ่มคนที่นิยมความเป็นอนาธิปไตยได้อำนาจในการปกครองประเทศ 2 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมถูกเหยียบย่ำทำลายจนแทบไม่มีชิ้นดี องค์กรตำรวจ อัยการ และศาล ถูกทั้งอำนาจมืดของรัฐและอำนาจอามิสเข้าแทรกแซง กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้

ที่ร้ายที่สุดคือปรากฏการณ์ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา 300 กว่าคน ประกาศกร้าวตามคำบงการของผู้ฝักใฝ่ในลัทธิอนาธิปไตยตัวพ่อ ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

เท่านั้นไม่พอยังสั่งการให้กลุ่มคนไร้จิตสำนึกใช้อำนาจบาตรใหญ่ในนามกฎหมู่ กดดัน ขู่เข็ญคุกคาม ก่นด่า จาบจ้วงล่วงละเมิดผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ อันไม่เคยปรากฏมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

หากเรายังคงนิ่งดูดายปล่อยให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพไม่มีขื่อไม่มีแปเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานบ้านนี้เมืองนี้ก็คงถึงกาลวิบัติล่มสลายลงเข้าสักวัน เมื่อนั้นเราทุกคนก็คงไม่มีแม้แต่ที่จะซุกหัวนอน เพราะขณะนี้แทนที่เราจะช่วยกันใช้เท้าเหยียบขยี้ก้นบุหรี่ที่กำลังไหม้เศษขยะในบ้านให้ดับเสียแต่เนิ่นๆ แต่เรากลับนิ่งนอนใจเฝ้ามองเพลิงลุกลามไหม้บ้านจนเกือบจะถึงหลังคาอยู่รอมร่อแล้ว

อันที่จริงแล้วในสังคมของมนุษย์ที่เจริญแล้วกฎหมายของบ้านเมืองยังไม่สำคัญเท่ากับคุณธรรมประจำใจ ที่ทำให้คนกลายเป็นมนุษย์ คนที่ขาดคุณธรรมประจำใจก็ไม่ต่างอะไรไปจากสัตว์เดียรฉานที่ไร้จิตสำนึก
( ภาพที่ 2 ) ประติมากรรมรูปเหมือนของโซเครตีส, ระหว่าง 200 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 100, หินอ่อน, British Museum, London
วันนี้ดิฉันจึงใคร่ขอนำภาพจิตรกรรมของ ฌาคส์ หลุยส์ ดาวิด์ (Jacques-Louis David / 1748-1825) จิตรกรเอกของฝรั่งเศสแห่งศิลปะยุคคลาสสิกใหม่ (Neo-Classicism) มาให้ท่านชมเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจ

ความตายของโซเครตีส (ภาพที่ 1) เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของดาวิด์ ซึ่งเขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,412 ปีล่วงมาแล้ว แต่ก่อนอื่นเราน่าจะมาทำความรู้จักกับ โซเครตีส (Socrates) สักเล็กน้อย

โซเครตีส นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของกรีกและของโลก เกิดที่กรุงเอเธนส์ราว 470 หรือ 469 ปีก่อนคริสตกาล บิดาเป็นช่างสลักหิน มารดาเป็นหมอตำแย โซเครตีสเป็นคนรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ เขามีรูปร่างอ้วน เตี้ย ศีรษะเถิก จมูกหัก ไว้หนวดเครายาว (ภาพที่ 2) มักสวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆ และดูสกปรก รูปร่างหน้าตาและการแต่งกายของโซเครตีสทำให้เขาดูเหมือนพวกกุลีชั้นต่ำมากกว่านักปราชญ์

ในวัยหนุ่มโซเครตีสเคยประกอบอาชีพเป็นช่างสลักหินเช่นเดียวกับบิดา แต่ต่อมาเขาได้ละทิ้งอาชีพนี้ เพราะโซเครตีสเชื่อว่าเทพเจ้าได้มอบหมายภารกิจอันยิ่งใหญ่ให้กับเขา นั่นคือ การรักษาความดีของมนุษย์ยิ่งกว่าชีวิต ด้วยเหตุนี้ เขาจึงยอมอุทิศชีวิตในการช่วยเหลือมนุษย์ให้มีปัญญาและคุณธรรม

โซเครตีสเชื่อว่า ปัญญาคืออำนาจ ที่จะนำมนุษย์สู่สัจจะ รอดพ้นจากอวิชชา การแสวงหาสัจธรรมและคุณธรรมอันเป็นหลักในการดำเนินชีวิตคือความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่

หลักจริยธรรมที่สำคัญของโซเครตีสคือ ความรู้คือคุณธรรม คุณธรรมคือความรู้ ถ้าคนเรารู้อย่างถ่องแท้ว่า อะไรคือคุณธรรม อะไรคือความดี ก็จะหันไปประพฤติดี เพราะคุณธรรมจะคอยควบคุมจิตสำนึกไม่ให้คนหลงผิดไปทำความชั่ว อย่างไรก็ตาม การที่คนจะมีคุณธรรมได้ก็ต้องรู้จักตัวเองเสียก่อน ดังนั้น โซเครตีสจึงสอนให้คนรู้จักสำรวจตัวเองเพื่อจะได้รู้จักตัวเองให้ดีขึ้น เพราะ ชีวิตที่ไม่เคยถูกสำรวจ คือชีวิตที่ไร้คุณค่า

โซเครตีสเคยกล่าวว่า เขาตัดสินใจดำเนินรอยตามอาชีพของมารดา เพราะมารดาช่วยทำคลอดให้มนุษย์ลืมตาดูโลก ส่วนเขาเป็นผู้ช่วยทำคลอดให้จิตมนุษย์รู้คิดและมีคุณธรรม วิธีคิดและวิธีการสอนของโซเครตีสทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางปัญญาและแรงบันดาลใจของคนหนุ่มชาวเอเธนส์

ขณะเดียวกันโซเครตีสยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ยอมรับค่าธรรมเนียมเล่าเรียน ดังนั้นเขาจึงยากจนและไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร จนกระทั่งภรรยายังก่นด่าเขาว่า “ไอ้คนสันหลังยาว คอยแต่จะหาความระยำมาสู่บ้านมากกว่าหาขนมปัง”

เมื่อโซเครตีสอายุได้ 70 ปี เมลิตุส (Melitus) อะนิตุส (Anytus) และลีคอน (Lycon) ซึ่งรับคำบงการมาจากผู้มีอำนาจของกรุงเอเธนส์ ได้ตั้งตัวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโซเครตีสด้วยข้อหา 3 กระทงคือ ไม่นับถือเทพเจ้าของรัฐ สร้างเทพเจ้าใหม่ และชักนำเยาวชนให้มีความคิดกระด้างกระเดื่องต่อบ้านเมือง ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้หามีมูลความจริงไม่และไร้ซึ่งความยุติธรรมต่อโซเครตีสที่สุด

จากเรื่อง อะโปโลเกีย (Apologia) หรือบันทึกการกล่าวแก้คดีในศาลของโซเครตีสทำให้เราทราบว่า โซเครตีสไม่ได้แสดงตนในศาลฐานะจำเลย แต่กลับใช้วาทศิลป์อันยอกย้อนและเชือดเฉือนของเขากล่าวในทำนองสั่งสอนและเปิดโปงความผิดความชั่วของชาวเอเธนส์ หลังจากผ่านกระบวนการกล่าวแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ตามธรรมเนียมของศาลกรีกในสมัยนั้น เมื่อจำเลยแพ้ ฝ่ายโจทก์และจำเลยจะต้องเสนอว่าการลงโทษควรจะเป็นเช่นไร ต่อจากนั้นศาลจึงจะพิจารณาตัดสินบทลงโทษจำเลย

ในกรณีของโซเครตีสฝ่ายโจทก์เสนอให้ลงโทษโซเครตีสด้วยการประหารชีวิต ฝ่ายผู้พิพากษายื่นข้อเสนอให้โซเครตีสเลิกแสวงหาความจริงด้วยวิธีการของเขาเพื่อแลกกับการพ้นผิดจากข้อหานี้ แต่โซเครตีสกลับยืนหยัดอย่างทระนงองอาจว่า เขาไม่ควรได้รับโทษใดๆ เพราะเขาไม่ผิด อีกทั้งการเสนอโทษให้ตนเองเพื่อกล่าวแก้บทลงโทษที่ฝ่ายโจทก์เสนอก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่า เขาได้กระทำผิดจริง โซเครตีสยืนยันจะทำตามเทวบัญชาต่อไป และตราบเท่าที่เขายังมีชีวิต เขาจะยังคงใช้ปัญญานำพาชีวิต จะไม่ยอมหยุดพูดความจริง และจะไม่ทำสิ่งอื่นใดนอกจากการชักชวนให้ชาวเอเธนส์ทำดีตลอดไป

เมื่อโซเครตีสไม่ยอมเสนอบทลงโทษตนเองเพื่อกล่าวแก้บทลงโทษของฝ่ายโจทก์ ศาลจึงจำต้องพิพากษาโทษประหารชีวิตโซเครตีสด้วยการให้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย โซเครตีสยอมรับโทษโดยไม่คิดหนี แม้จะมีโอกาส โซเครตีสกล่าวไว้ใน อะโปโลเกีย ว่า กลอุบายในการหนีความตายมีอยู่มาก ถ้าเราพร้อมจะทำ แต่ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่การทำตนให้รอดพ้นจากความตาย แต่อยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะหลีกให้พ้นจากความชั่ว เพราะความชั่วเลวร้ายยิ่งกว่าความตาย
( ภาพที่ 3 ) รายละเอียดจากภาพที่ 1
วาระสุดท้ายของโซเครตีสถูกบันทึกไว้ในเรื่อง เฟโด (Phaedo) โดย เพลโต (Plato) ศิษย์เอกของโซเครตีส ซึ่งเผยให้เห็นเหตุผลที่โซเครตีสเลือกที่จะตายดีกว่าจะหนีอำนาจของกฎหมาย

หลักการของโซเครตีสคือ ถ้าความยุติธรรมถูกทำลาย ความอยุติธรรมเข้ามาแทนที่ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะการมีชีวิตอยู่เท่านั้นไม่เพียงพอ แต่ควรมีชีวิตอยู่อย่างดี ชีวิตที่ดีคือชีวิตอันงาม ชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

การหนีคือการยอมรับผิดและทำผิดในฐานะไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ถ้าคำตัดสินของรัฐไม่มีผลบังคับลงโทษประชาชนได้ รัฐก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ หากคนหนีคำสั่งของรัฐก็เท่ากับทำความชั่ว ถึงจะหนีไปอยู่เมืองอื่นก็คงถูกดูถูกเหยียดหยามเพราะมีชนักติดหลัง และต้องได้รับความอับอายไปชั่วกาลนาน

ความตายของโซเครตีส นำเสนอภาพเหตุการณ์วาระสุดท้ายของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ โซเครตีสนั่งอยู่บนเตียงในห้องคุมขังท่ามกลางเหล่าสานุศิษย์ที่รักและบูชาเขาเยี่ยงบิดา แสงสว่างที่ไร้แหล่งกำเนิดส่องสว่างจากเบื้องบนลงมากระทบร่างกายท่อนบนอันเปลือยเปล่าและร่างกายท่อนล่างที่พาดพันด้วยอาภรณ์สีขาวของโซเครตีส นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่หันหน้าไปยังเหล่าสานุศิษย์ที่อยู่ในอาการเศร้าโศกพร้อมกับยกแขนซ้ายชูสูงขึ้นและชี้นิ้วขึ้นสู่เบื้องบนเพื่อเน้นย้ำหลักปรัชญาที่เขามอบไว้เป็นมรดกให้แก่ศิษย์และมนุษยชาติ

นั่นคือ “จงยึดมั่นในสัจจะและความดีเหนือสิ่งอื่นใด”

ดาวิด์ กำหนดให้แสงส่องสว่างบนใบหน้าที่แสดงถึงความมุ่งมั่น รวมทั้งแขนและนิ้วที่ชี้สู่เบื้องบนของโซเครตีส เพื่อเน้นอุดมการณ์ซึ่งเขาไม่อาจทรยศและยอมพลีชีพให้ (ภาพที่ 3) ขณะเดียวกันมือขวาของเขาก็เอื้อมไปรับถ้วยใส่ยาพิษอย่างไม่สะทกสะท้านต่อความตาย

โซเครตีสของดาวิด์มีร่างกายงดงามทุกส่วนสัดราวกับนักกีฬาหนุ่ม ถึงแม้ว่าศิลปินจะเขียนภาพใบหน้าของโซเครตีสให้คล้ายคลึงกับประติมากรรมรูปเหมือนของนักปราชญ์ผู้นี้ก็ตาม (ภาพที่ 4) แต่ก็เป็นการเขียนให้ดูดีกว่าความเป็นจริงมาก และไม่ได้วาดภาพของโซเครตีสในวัย 70 ปี (ภาพที่ 2) การนำเสนอรูปลักษณ์ของโซเครตีสที่ต่างไปจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ เผยให้เห็นอิทธิพลการสร้างงานซึ่งเน้นความงามแบบอุดมคติมากกว่าเหมือนจริงตามแนวทางของศิลปะคลาสสิคที่เป็นแม่แบบให้กับศิลปะคลาสสิคใหม่อย่างชัดเจน

หลังจากดื่มยาพิษด้วยใบหน้ายิ้มแย้มจนหมดถ้วย โซเครตีสได้อำลาโลกนี้ไปด้วยอาการสงบเมื่อ 399 ปีก่อนคริสตกาล

ความตายของโซเครตีสคือประจักษ์พยานถึงความแน่วแน่ในอุดมการณ์ของนักปราชญ์ผู้เป็นมหาบุรุษแห่งโลก ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับความตาย ผู้ยอมพลีชีพและสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อรักษาคุณธรรมประจำใจและความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการยุติธรรมแห่งรัฐ

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
( ภาพที่ 4 ) ประติมากรรมรูปเหมือนของโซเครตีส, ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1, หินอ่อน, สร้างเลียนแบบผลงานหล่อสำริดของ Lysippos ประติมากรเอกของกรีกโดยศิลปินสมัยโรมัน, Louvre, Paris
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และเด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้นจากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ. 2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่าความรู้ที่มีไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It