Art Eye View

ความสง่างามและความอ่อนไหว : แอชลีย์ วินเซนต์

Pinterest LinkedIn Tumblr

คอลัมน์ : Nature Impressions  โดย   แอชลีย์ วินเซนต์
Family Break in The Shade
ผมขออนุญาตเริ่มต้นบทความในอาทิตย์นี้ ด้วยการกล่าวขอบคุณต่อทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมภาพถ่ายและอ่านคอลัมน์ของผม ขอขอบคุณเป็นพิเศษต่อท่านที่กรุณาฝากคอมเม้นท์และชื่นชมงานที่ผ่านมาของผมด้วยนะครับ ผมรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก

ในจำนวนสัตว์ตระกูลแมวทั้งหมด เสือชีตาร์ (Acinonyx jubatus) เป็น ‘รักครั้งแรก’ ของผมครับ ผมชอบรูปร่างที่มองดูปราดเปรียว ท่วงท่าสง่างาม และพละกำลังอันเหลือเชื่อของเสือชีตาร์ ส่วนความพยายามของมันที่ต้องดิ้นรนเหลือเกินเพื่ออยู่ให้รอดในผืนป่า ยังเป็นแบบอย่างที่ผมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยครับ

ในอดีต ผมเคยเป็นเด็กชายตัวเล็กผอมบางที่พยายามวางตัวเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เป็นเป้าถูกรังแก ผมต้องวางท่าสงบเยือกเย็นเมื่อถูกท้าทาย ผมเรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะเดินหนี และเมื่อผมสัมผัสกับความอ่อนแอของตัวเอง ผมจะสมมุติให้ตัวเองเป็นเสือชีตาร์ และทุกอย่างก็ดูจะเป็นไปได้ทั้งหมดสำหรับผม
Youthful Awareness
Stuffed Cheetahs
การเดินทางท่องซาฟารีในเคนย่าที่ผ่านมาของผม ผมได้พบเจอกับ สิงโต เสือดาว และเสือชีตาร์ หลายครั้งเลยครับ ภาพแรกที่ผมนำมาเสนอในอาอาทิตย์นี้ เป็นภาพแม่เสือชีตาร์กับลูกน้อยของมัน ผมเดาว่าลูกเสือน่าจะมีอายุประมาณ 12-14 เดือน มันยังเป็นช่วงชีวิตที่ขึ้นอยู่กับการคุ้มครองจากตัวแม่มากที่สุด

สัตว์ตระกูลแมวทั้งหลาย สามารถมีลูกคอกเดียวกันได้มากถึงเก้าตัว แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่ที่คอกละสามถึงห้าตัวเท่านั้นแหล่ะครับ โดยปรกติแล้ว แม่แมวจะดูแลลูกจนถึงวัย13-20 เดือน มันจะคอยให้นม ให้การคุ้มภัย หาอาหารให้ และจะสอนวิธีการเอาตัวรอดให้แก่ลูก ๆ รวมทั้งวิธีล่าและการฆ่าเหยื่อด้วยครับ

ลูกแมวซึมซับวิธีไล่ล่าหาอาหารจากตัวแม่ด้วยการเฝ้าดู บทเรียนที่แท้จริงมาถึง เมื่อตัวแม่ลากเอาละมั่งตัวน้อยที่ยังไม่ตายมาโยนให้ บรรดาลูก ๆ จะต้องเรียนรู้วิธีล้มเหยื่อและจัดการทุกอย่างจนจบให้ได้ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าฟังเท่าไรสำหรับบางคน แต่ความจริงในผืนป่าก็คือ หากคุณไม่เป็น 'ผู้ล่า' คุณก็คือ 'ผู้ถูกล่า' มันเป็นธรรมชาติของห่วงโซ่อาหารน่ะครับ สัตว์กินเนื้อมีชิวีตอยู่ได้ด้วยการล่าเหยื่อ และผมก็ยังไม่เคยได้ยินเลยว่า มีสัตว์กินเนื้อพันธุ์ไหน เปลี่ยนใจมาเป็นมังสวิรัติแล้วสักตัว

สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ทั้งสามชนิดที่อยู่ในอัฟริกา ได้แก่ สิงโต เสือดาว และเสือชีตาร์ ชีตาร์เป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวตัวเล็กและอ่อนแอที่สุดในกลุ่มเลยล่ะครับ ธรรมชาติมอบความสมดุลให้พวกมันมีลายตัวที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมพร้อมกับให้มีฝีเท้าที่สามารถวิ่งได้เร็วมาก ชีตาร์ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่สามารถวิ่งได้เร็วที่สุดในจำนวนสัตว์บกทั้งหมด แต่โครงสร้างของมันก็ยังเอาชนะสิงโตและเสือดาวไม่ได้นะครับ

ทั้งสิงโตและเสือดาวจะไม่ลังเลเลยที่จะเข้าขย้ำคอชีตาร์หากสบโอกาส หรือหากเห็นชีตาร์กำลังจะล้มเหยื่ออยู่ สิงโตและเสือดาวก็มักจะไล่ชีตาร์ออกไป เพื่อยึดครองเหยื่อซะเอง ไม่ต่างจากฝูงหมาป่าไฮยีน่าที่คอยสูดกลิ่นคาวเลือดที่โชยมากับสายลมจากการฆ่า และรอคอยจังหวะเพื่อฉวยโอกาส

ชีตาร์ตัวเมีย อาจจะรวมกลุ่มอยู่กับตัวแม่ และพี่น้องของมันบ้าง แต่โดยธรรมชาติแล้ว ตัวเมียจะแยกตัวออกไปเมื่อโตเต็มวัยแล้ว ชีตาร์ตัวเมียเป็นสัตว์ที่รักสันโดษมากเลยครับ มันจะยอมอยู่รวมกลุ่มเมื่อต้องทำหน้าที่แม่เท่านั้น พวกตัวผู้ส่วนใหญ่มักจะอยู่ด้วยกันตลอดไป โดยเฉพาะกับพี่น้องคอกเดียวกันกับมัน บางครั้งพวกมันอาจจะยอมรับตัวผู้แปลกหน้าเข้ากลุ่มด้วย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ฝูงในการปกป้องอาณาเขต และเอาไว้รวมพลังกันในยามที่ต้องล้มเหยื่อ

ภาพใบที่สามที่คุณเห็น เป็นภาพชีตาร์ตัวผู้สองพี่น้องครับ ผมถ่ายภาพนี้ได้ในวันที่สี่ของการเดินทาง ตอนที่พระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าเต็มที ผมอยากให้คุณได้เห็นต้นตะบองเพชรรูปร่างประหลาดพวกนี้ด้วย ตัวชีตาร์ก็เลยต้องมองดูเล็กลงไปหน่อย แต่คุณคงจะพอสังเกตเห็นนะครับว่าทั้งสองตัว โดยเฉพาะเจ้าตัวที่นอนอยู่ทางขวามือนอนกางพุงจนปลิ้นแค่ไหน ถึงผมจะไม่ได้เห็นฉากเหตุการณ์ตอนที่พวกมันล่า ผมก็พอจะคาดเดาได้เลยครับว่า มันคงจะล้มเหยื่อได้ตัวใหญ่พอสมควร ถึงได้พอแบ่งกันกินจนอิ่มพุงกางขนาดนี้

มันเป็นเรื่องน่าขำครับ ที่วันสุดท้ายของผมในเขตสงวนมาไซมาร่า ผมก็ได้สวนทางกับเจ้าชีตาร์สองพี่น้องนี่อีกครั้ง พวกมันไม่ได้ยังอยู่ตรงที่เดิมนะครับ แต่อยู่ในสถานการณ์เดิมทุกอย่าง คือกำลังนอนพักผ่อนกันอยู่ใต้ร่มไม้และพุงก็กางออกอย่างเต็มที่ ไม่ต้องสงสัยเลยครับว่า เจ้าสองตัวนี่ต้องเป็นสุดยอดนักล่าแน่ ๆ
Apex Predator
ภาพสุดท้ายเป็นชีตาร์สันโดษครับ ไม่แน่ใจนักว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ผมสะกดรอยตามมันอยู่หลายวัน แอบศึกษาพฤติกรรมของมัน ได้เห็นวิธีที่มันเลือกเหยื่อ เห็นตอนที่มันซุ่มรอ และจู่โจม ผมได้เห็นทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงตอนที่มันล้มเหยื่อลงได้

หากคุณชื่นชอบธรรมชาติและอยากจะสัมผัสชีวิตของสัตว์ป่าในธรรมชาติ หรืออยากจะลองถ่ายภาพสัตว์ป่าดูบ้าง ผมขอเชิญชวนให้คุณร่วมเดินทางไปเคนย่ากับผมเพื่อเก็บภาพสัตว์ป่าและธรรมชาตินะครับ คุณสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ natureimpressions@yahoo.com

นอกจากคุณจะได้ท่องซาฟารี่กันอย่างเต็มอิ่มแล้ว เรามีการวางแผนให้คุณได้เรียนรู้เรื่องมุมกล้องล่วงหน้า เพื่อพัฒนาฝีมือการถ่ายภาพของคุณให้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ เรามีแผนการเดินทางสำหรับ 7 วัน 10 วัน และ 14 วัน ก่อนการเดินทาง จะมีการจัดเวิร์คช็อปก่อนหนึ่งวัน เพื่อแนะนำเรื่องการเตรียมตัว เตรียมกล้อง เพื่อให้คุณพร้อมที่สุดสำหรับทุกสถานการณ์ที่คุณจะต้องพบเจอกับการถ่ายภาพตอนที่ท่องซาฟารี และเมื่อกลับจากการเดินทาง ผมจะนัดหมายให้มีเวิร์คช็อปอีกครั้ง เพื่อแบ่งปันความรู้ของผมในการปรับแต่งภาพถ่ายของคุณให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

ขอบคุณทุกท่านครับ ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ผมขอให้ทุกท่านมีความสุขกับทุกวันของชีวิต พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ

รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์

ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย

ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012

เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”

ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย  แอชลีย์ วินเซนต์  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It