Art Eye View

ลลินธร เพ็ญเจริญ เปิดตัว ‘คนบาป’

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เวลาที่พบเห็นพฤติกรรมเชิงลบของคนในสังคม แต่ละคนมีทางเลือกในการโต้ตอบที่แตกต่างกันไป

เมื่อไม่เลือกที่จะใช้ความรุนแรง และขณะเดียวกันก็มิอาจทนปล่อยผ่าน หรือเตือนสติตัวเองด้วยคำพระที่พร่ำสอนแต่เพียงอย่างเดียวว่า ‘มันเป็นเช่นนั้นเอง’ ใครบางคนจึงมีอีกหลายทางเลือก?!

ดังเช่นศิลปินหญิงคนนี้ ลลินธร เพ็ญเจริญ (ผู้ที่ภาพลักษณ์ภายนอกชวนให้นึกถึง คุณหมอ หรือนักวิทยาศาสตร์) เลือกที่จะต่อกรกับพฤติกรรมเชิงลบในลักษณะต่างๆ ด้วยการวาดออกมาเป็นภาพ และแอบหวังว่า เมื่อคนเหล่านั้น ผู้ที่เธอนิยามว่าเป็น คนบาป(Sinnerman) ผ่านมาพบเห็น น่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีพฤติกรรมในเชิงบวกได้บ้าง

เหตุการณ์ใดในชีวิตกันหนอที่จุดประกาย จนเธอต้องวาดออกมาเป็นภาพวาดเกือบ 10 ชิ้น และแสดงให้ชมผ่านนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของตัวเอง

“เป็นเรื่องที่ดิฉันประสบโดยตรง และรู้สึกว่าเราพยายามอ่านเกมคน อะไรทำนองนั้น เนื่องจากเราอ่านไม่ทะลุปรุโปร่ง ก็เลยอยากจะเข้าใจ และศึกษาว่าคนเหล่านี้มีพฤติกรรมอย่างไร คิดอย่างไร

เช่น คนที่มีพฤติกรรมชอบข่มผู้อื่น ฉันใหญ่กว่า ข่มคนที่ต่ำต้อยกว่า ข่มเหง เสียงดุ เสียงดังใส่ หรือว่าคนที่มีพฤติกรรมโกง ซึ่งเราเจอมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

หรืออย่างเวลาไปเดินห้าง ถ้าแต่งตัวไม่ดีพนักงานห้างก็จะไม่ต้อนรับ แต่วันไหนแต่งตัวดี เราแทบจะกลายเป็นนางฟ้า (ทั้งที่วันนั้นมีเงินหรือเปล่าก็ไม่รู้) สิ่งเหล่านี้มันสะสมอยู่ในใจมาเรื่อยๆ จนทำให้วันหนึ่งเราเกิดคำถามขึ้นมาว่า มันเป็นเพราะอะไร อยากศึกษา

การที่ดิฉันแต่งตัวแบบนี้ มองในแง่หนึ่ง ดิฉันกำลังเปรียบตัวเองเป็นหมอ ที่กำลังศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความป่วยไข้ทางสังคม เราพยายามที่จะทำความเข้าใจ หรือวิเคราะห์คนป่วยพวกนี้”

>>>เปิดตัว 'คนบาป'

ศิลปินในลุคคุณหมอ นำชมภาพคนป่วยของเธอแต่ละราย ที่แสดงอาการป่วยไข้ออกมาให้เห็นกันคนละแบบ
ตัวอักษร C (ย่อมา case = กรณีศึกษา) ตามด้วยหมายเลข ที่ถูกเขียนไว้บนภาพ บอกให้รู้ว่า คนป่วยรายนี้คือกรณีศึกษาลำดับที่เท่าไหร่ของเธอ

“ภาพนี้สะท้อนภาพมนุษย์วัยทำงาน ที่อยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขันกันตลอด ต้องคอยควักอาวุธออกมาต่อสู้ ป้องกันตัวเอง เหมือนกับสัตว์ที่มีอวัยวะต่างๆ ไว้ป้องกันตัว

ส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากกิ้งก่าพันธุ์หนึ่งทางแอฟริกา ที่มันแผ่แผงคอ เวลาต้องการจะขู่ศัตรูหรือว่าเวลาตกใจ เปรียบเหมือนคนบางคนที่อยากจะขู่ใคร หรือข่มศัตรู มักจะทำท่าทางที่ดูน่ากลัว ราวกับกิ้งก่าแผ่แผงคอ

การที่ดิฉันวาดให้มีใบหูที่ใหญ่ เพื่อสื่อว่า คนพวกนี้ต้องหูไวตาไว ในเรื่องการยินผลประโยชน์ของตัวเอง หรือเรื่องนินทาชาวบ้าน จะชอบจัง และมีตาโต เพราะได้ข้อมูลมาจากหนังสือจิตวิทยา ที่มีหลักอยู่ว่า ถ้าอยากให้คนประทับใจ รู้สึกว่าเราฉลาดในครั้งแรก ต้องทำตาโตเข้าไว้ เขาจะได้รู้ว่าเราฉลาดเป็นเบื้องต้น

อีกนัยหนึ่งการมีตาที่โตมากๆ มันจะบ่งบอกอารมณ์ได้เยอะ เช่นฉันดูฉลาด ฉันอ้อนวอน ฉันดุนะ การทำตาโตช่วยได้

ส่วนจมูก ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ที่ดมกลิ่นได้ดีมากๆ คือ ตุ่นจมูกดาว เปรียบกับคนที่มีจมูกไว สามารถได้กลิ่นของผลประโยชน์ได้ดี มีเขี้ยวลากดิน แบบตัววอลรัส มีลิ้นยาวเหมือนลิ้นวัว เป็นลักษณะของคนที่ชอบประจบสอพลอ ชอบเลีย

เล็บที่ยาวและคม แทนการชอบหยิก ชอบตบตี มือที่ดูเหมือนมือตุ๊กแก เพราะดิฉันค้นพบว่า เมื่อเทียบสัดส่วนหรือน้ำหนักตัวแล้ว ตุ๊กแกถือว่ามีมือที่เหนียว มีอานุภาพมากๆ นำมาเปรียบกับนิสัยของคนที่ต้องจับให้มั่น คั้นให้ตาย อะไรอย่างนี้

ส่วนเดือยที่ตอกไว้กับตาตุ่มที่เห็นนี้ เป็นเดือยไก่ค่ะ แต่ปกติเดือยไก่มันจะอยู่ข้างใน แต่นี่เอามาไว้ข้างนอก เพราะจินตนาการว่าถ้าเป็นคนคงจะเดินลำบาก ต้องการสื่อว่าอย่าเข้ามาใกล้ เดี๋ยวกูเตะนะ ขัดขานะอะไรอย่างนี้”

แค่ได้รับชมและรับฟังเพียงกรณีศึกษาแรก ก็ทำให้รู้สึกว่า คนป่วยรายนี้ มีอาการหนักหนาเอาการ


รายต่อๆไปก็ไม่น้อยหน้ากัน อาทิ ภาพวาดที่ได้รับแรงบันดาลมาจากพฤติกรรมเชิงลบของคนชั้นสูงที่มักดูถูกคนที่ต่ำต้อยกว่า,คนที่ดูถูกว่าคนอื่นว่า กระดูกคนละเบอร์ กับตัวเอง ,คนที่ชอบใช้สายตาเหยียดและสำรวจผู้อื่นตั้งแต่หัวจรดเท้า,คนไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ต้องรอคำสั่ง ,คนที่ชอบมีอคติกับผู้อื่นและเข้าข้างตัวเอง ฯลฯ หรือแม้แต่บางภาพที่ต้องการสะท้อนว่า ผู้ชายมักจะได้รับโอกาสในหน้าที่การงาน ดีกว่าผู้หญิง

“ภาพนี้เลยมีชื่อว่า MUSHHEAD GARDEN สวนของไอ้หัวเห็ด สื่อด้วยภาพอวัยวะเพศชายที่เจริญงอกงามได้ดี บนเนินของอวัยเพศหญิง เพราะหลายต่อหลายครั้ง เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชาย มันมาจากผู้หญิงนะ”

ปล่อยให้สายตาปะทะกับภาพแต่ภาพในครั้งแรก อาจไม่รู้สึกได้ถึงความแรงของภาพในทันที เพราะศิลปินพยามลดความแรงลงด้วย ภาพภายในของอวัยวะแบบที่แพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์มีไว้อธิบายการทำงานของร่างกาย

แต่เมื่อเก็บรายละเอียดทั้งในส่วนของชื่อภาพ และจินตนาการที่ถูกเสริมเข้าไป เสียงสะท้อนจากผู้ชมจึงมีทั้ง ‘ดุดี ชอบ สะใจ และแรงมาก’

“ตอนแรกก็พยายามจะกำหนดอายุคนเข้าชมว่าควรจะ 18+ดีไหม แต่เด็กส่วนใหญ่ที่มาชม เขาจะรู้สึกว่ามันสวยดี อาจเพราะวัยเขายังสัมผัสได้แค่ฟอร์ม แต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออวัยวะส่วนไหนของร่างกาย และส่วนใหญ่คนจะชอบภาพคู่ผู้ชายผู้หญิงใส่สูท เพราะมันดูแฟนตาซี”

นั่นก็คือภาพซึ่งเป็นอวัยวะเพศของชายและหญิง ถูกย้ายจากที่ๆมันควรจะอยู่ มาอยู่บนใบหน้าของเขาและเธอผู้มีพฤติกรรมเชิงลบ


>>>วิทยาศาสตร์ พบ ศิลปะ

ลลินธรนิยามรูปแบบภาพวาดที่ตนเองนำเสนอว่าเป็น ‘ภาพวาดลายเส้นเชิงความคิด’ (Conceptual Drawing) เพราะเป็นการนำภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustration) มาบวกกับจินตนาการส่วนตัว เพื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์สังคม

“การเขียนภาพทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการแพทย์ มันจะต้องมีความถูกต้อง สมจริงทุกอย่าง ถูกต้องแม้กระทั่งว่า สัดส่วนทุกอย่างต้องไปวัดจากของจริงแล้วค่อยมาวาด แต่ภาพของดิฉัน เป็นการนำเอาของจริงมาใช้ส่วนหนึ่ง และใส่จินตนาการของตนเองเข้าไปส่วนหนึ่ง

ดิฉันนำทั้ง 2 ศาสตร์มาเล่น คือวิทยาศาตร์ กับศิลปะ มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ที่ศาสตร์หนึ่งจะข้ามมาหาอีกศาสตร์หนึ่ง โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัยของทางตะวันตก เช่น Bio Art ที่ศิลปินบางคนทำงานศิลปะ โดยมีกระบวนการเพาะ สเต็มเซลล์ หรือว่า เอาแบคทีเรีย เอาเชื้อรา มาทำเป็นงานศิลปะ (หรือวิธีการใดก็ได้ที่จะเป็นตัวช่วยให้ศิลปินสามารถถ่ายทอดความคิดบางอย่างไปสู่สังคมได้)

ดิฉันชอบความเป็นข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์ จึงพยายามทำงานศิลปะของตัวเองด้วยการดึงเอาข้อเท็จจริงมาใช้ เพื่อให้คนเชื่อถือ”

>>>ศิลปินหญิงผู้ฝันเป็นนักทฤษฎี

ลลินธรจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาประติมากรรม ภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ,ปริญญาโท ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์

แต่ความสนใจที่มีต่อภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ เกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก แม้กระทั่งตอนนี้เองยังมีงานอดิเรกคือชอบเก็บอุปกรณ์ทางการแพทย์และทดลองทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงยูนิฟอร์มที่สวมใส่อยู่นี้ก็มิได้ไปเช่ามาเป็นการชั่วคราวใดๆแต่มีไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แถมยังคิดค้นหาวิธีการที่จะเก็บสะดือที่แม่เก็บเอาไว้ให้ตั้งแต่เธอลืมตาดูโลกเอาไว้นานที่สุด และความฝันสูงสุดคือ อยากเป็นนักทฤษฎี ค้นพบสิ่งใหม่ ดังเช่นนักทฤษฎีคนดังของโลก

“สนใจมาตั้งนานแล้ว ดูภาพพวกนี้มาตลอด ตอนเรียน ก็จะชอบเรียนมากวิชากายวิภาคศาสตร์ พอมาเรียนศิลปะทำให้รู้เลยว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเดียวกัน แต่แค่วิถีในการศึกษามันต่างกัน ศิลปะจะออกไปในเชิงความรู้ทางด้านปรัชญา แต่วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของตรรกะ บวก ลบ คูณ หาร มีสูตรตายตัว

ศิลปะมันก็คือความรู้อย่างหนึ่ง เหมือนเช่นดิฉันสนใจเรื่องพฤติกรรมคน ดิฉันก็ไปศึกษาว่าพฤติกรรมคนเป็นอย่างไร แล้วก็ทดลองหาวิธีการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ผลการทดลองของดิฉันก็คืองานหนึ่งชิ้น แต่แค่ผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์มันถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ ประดิษฐ์สิ่งอื่น แต่ของเราเหมือนเอามาใช้เพื่อเสพทางสุนทรียภาพ เพื่อให้ผู้ชมรับเอาความรู้ ความคิด จากตัวศิลปิน”


และแม้จะมีโอกาสเรียน วิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ที่นักศึกษาศิลปะต้องเรียนเป็นพื้นฐาน มาตั้งแต่เรียนในระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรุงเทพ แต่ความสนใจของเธอลงลึกไปกว่านั้น

“เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ตั้งแต่ ปวช.ที่ช่างศิลป์เลยค่ะ ตอน ป.ตรี ก็เรียน แต่จะไปหนักทางกายวิภาคศาสตร์ของม้า

ถ้า Anatomy ทั่วๆไป จะเรียนแค่เรื่องกล้ามเนื้อกับโครงกระดูก แต่พอมาทำงานชุดนี้ มันต้องศึกษาลึกลงไปถึงอวัยวะต่างๆที่ซับซ้อนมากขึ้น”

โดยหนทางในการหาความรู้ใส่ตัวเพิ่มเติม ก่อนจะวาดออกมาเป็นงาน คือการอ่านจากตำราแพทย์ ,ไปนั่งวาดที่ พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน โรงพยาบาลศิริราช และบ้างก็ไป อบรมวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ กับ ดร.ศศิวิมล แสวงผล ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ทำงานชิ้นหนึ่งออกมา จะ research ก่อนว่าอวัยวะแต่ละอย่างมันทำงานอย่างไร อยู่ตรงส่วนไหนของร่างกายเรา และนิทรรศการชุดที่จะพัฒนาต่อจากชุดนี้ ก็อยากจะไปศึกษาหาความรู้จากแพทย์ กับคนที่เขามีเวลา อยากจะสละเวลาให้กับเรา

เพราะตอนนี้ยังเป็นการนำภาพทางวิทยาศาสตร์ที่เห็นมาจากตำรามาบวกกับจินตนาการของเราอยู่ ดังนั้นในอนาคตดิฉันก็อยากจะลองวาดด้วยตัวเอง วาดเสร็จก็อยากจะนำไปให้แพทย์ช่วยตรวจสอบให้ว่าเราวาดถูกต้องไหม

เพราะหลักการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือผู้วาด ถ้าไม่ใช่แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ หรือนักสัตวศาสตร์ ก็ต้องนำภาพร่าง ไปให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจก่อน เมื่อผ่านแล้ว จึงค่อยนำมาลงหมึก ลงสี จนเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์”

>>>'ศิลปะ' ทางออกของความรุนแรง

สิ่งที่ทำให้กระตือรือร้นอยากจะรู้มากขึ้น เหตุผลดังที่เธอเคยบอกไปแล้วว่า ชอบในความเป็นข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์ และได้ดึงมันมารับใช้งานศิลปะ เพื่อที่จะสะท้อนบางเรื่องราวกับสังคมอย่างน่าเชื่อถือ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ในสังคมที่เป็นจริง เวลาเราไม่ชอบพฤติกรรมคนแบบนั้นแบบนี้ เราไม่สามารถไปตอบโต้กับเขาได้ตรงๆใช่ไหมคะ จะตีจะตบเขาก็ไม่ได้ เดี๋ยวเราจะติดคุก เดี๋ยวมีเรื่องฟ้องร้อง วุ่นวาย กลายเป็นปัญหา อะไรอย่างนี้

ทางหนึ่งที่ดิฉันจะโต้ตอบกับเขาได้ก็คือการทำออกมาเป็นงาน และหวังว่า เมื่อเขาได้เห็นมันแล้วจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงลบของเขามาเป็นพฤติกรรมเชิงบวกได้บ้าง เพราะดิฉันคิดว่าศิลปะมันเป็นสื่อที่จะช่วยสังคมได้ทางหนึ่ง”

นิทรรศการ Sinnerman โดย ลลินธร เพ็ญเจริญ ภาพวาดลายเส้นแนวความคิด (Conceptual Drawing) ที่สื่อพฤติกรรมเชิงลบของคนทุกชนชั้น โดยกลวิธีการสร้างภาพลักษณ์ในผลงานได้รับแรงบันดาลใจจากภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustration)

เปิดแสดง วันนี้ – 20 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ณ. Gallery D-9 เลขที่ 1085/5 ถนนนครชัยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ สอบถาม โทร.089 – 616- 6868 หรือ gallery.d.9@gmail.com

Text : ฮักก้า Photo : วารี น้อยใหญ่








ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It