Art Eye View

“เมื่อไม่มีอาชีพ จึงไม่มีมืออาชีพ” นที อุตฤทธิ์ ศิลปินไทยในระบบแกลเลอรี่ชั้นนำของเยอรมัน

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้เซ็นสัญญา กับแกลเลอรี่ชั้นนำของเยอรมัน และเข้าไปอยู่ในระบบมืออาชีพ และเป็นสากล ที่ศิลปินหลายคนใฝ่ฝัน นอกจากนี้ยังมีคิวจัดแสดงผลงานตามที่ต่างๆ ยาวไปจนถึงปี 2018

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ นที อุตฤทธิ์ ได้รับการยอมรับ โอกาสที่ผลงานของเขาถูกหยิบยืมจากคอลเลคชั่นต่างๆทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชม ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท

ก่อนที่พิธีเปิดนิทรรศการจะเริ่มต้นขึ้นและอนุญาตให้คนจำนวนมาก หลั่งไหลเข้าสู่ห้องนิทรรศการ ที่บางคนบอกว่า บรรยากาศราวกับกำลังยืนชมงานศิลปะอยู่ที่ไหนสักแห่งในยุโรป

ผ่าน Artist Talkหลายคนจึงมีโอกาสได้รับฟังคำตอบจากเขาว่า น่าจะเพราะความเข้าใจที่มีต่อระบบที่เขาพาตัวเองเข้าไปอยู่,ทัศนคติต่อความเป็นมืออาชีพ รวมถึงความเชื่อและอะไรต่างๆอีกมากมาย


เมื่อไม่มีอาชีพ จึงไม่มีมืออาชีพ

“ในยุคที่ผมเติบโตมา การทำงานศิลปะไม่เคยถูกมองว่าเป็นอาชีพ มันกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ซึ่งพ่อแม่ไม่ค่อยสบายใจนักถ้าลูกจะเลือกเรียน เพราะเขามองไม่ออกว่า จบมาจะประกอบอาชีพได้ยังไง นั่นคือ มันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาชีพตั้งแต่แรกแล้ว ในขณะที่ต่างประเทศมันยังพอมองเห็นได้ว่าจะกลายเป็นอาชีพได้ยังไงบ้าง ซึ่งอันนี้มันจะสัมพันธ์กับระบบธุรกิจที่ตามมาด้วย

เมื่อมันไม่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นอาชีพ มันก็ไม่มีระบบธุรกิจที่จะมารองรับ เมื่อไม่มีอาชีพ ก็ไม่มีมืออาชีพ ซึ่งอันนี้มันสำคัญ มันไม่มี professional ในวงการที่สามารถพูดได้ว่า เรามีระบบที่ทัดเทียมกับเขา เยอรมันเป็นประเทศที่ความเป็น professional สูงมากๆ เพราะฉะนั้นส่วนที่ทำให้เขาพอที่จะสนใจผมบ้าง ก็อาจจะเป็นความเข้าใจที่ผมมีต่อเรื่องระบบและทัศนคติที่ชัดเจนต่อความเป็นมืออาชีพ

เรื่องงานก็แล้วแต่รสนิยม งานของผมอาจจะไม่ได้ดีในสายตาของใครตั้งหลายคน มันแล้วแต่ความชอบ แต่ว่าความเข้าใจและมีทัศนคติที่ตรงกัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสนใจที่จะทำงานร่วมกัน และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะที่ต้องนำมาอ้างอิง”

นอกจากนี้นทียังได้ขยายความอีกว่า ความเป็นมืออาชีพสำหรับเขา คือการให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณของอาชีพ ไม่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ และไม่ติดอยู่กับมายาคติที่คนจำนวนหนึ่งมีต่อคนทำงานศิลปะ

“เพราะถ้าเราคิดว่ามันเป็นอาชีพ เราก็จะต้องให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณของอาชีพ เราจะต้องให้ความสำคัญกับคนที่เขาซื้องานของเราไป เราต้องมีความรับผิดชอบอะไรต่างๆอีกมากมาย เหมือนหมอที่พึงจะมีต่ออาชีพของตัวเอง แต่ทีนี้ศิลปินในบ้านเรา มันปัจเจกเหลือเกิน มันเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง แล้วก็คอยที่จะให้คนอื่นมาตามเรา เราไม่สามารถเข้าไปอยู่ในสังคม ในระบบอื่นๆได้อย่างชัดเจน

ในสมัยก่อนผมเรียนศิลปากร ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมผมต้องไว้ผมยาว ทำงานก็ลำบาก ผมก็ตกใส่สี แขนก็มีกำไลอีก ยกจับพู่กันเขียนรูปก็หนัก เสียงกรุ๊งกริ๊ง และอะไรอีกก็ไม่รู้เต็มไปหมด ผมเข้าใจว่ารูปแบบอะไรแบบนี้ทำให้เกิดมายาคติเกี่ยวกับอาร์ตติสต์ในประเทศไทย มันถึงดูเป็นชนเผ่าอะไรสักอย่าง(หัวเราะ) หรือ จิตรกรที่ปรากฏในละครหลังข่าว มักจะ มีหมวกใบนึงอะไรอย่างนี้ เมื่อก่อนก็เป็นหมวกแก๊ป แต่เดี๋ยวนี้จะใส่หมวกคล้ายๆ Jason Mraz ต้องใส่หมวก ใส่สร้อยบ้างล่ะ ผมว่าอันนี้มันคือทัศนคติที่เรามีต่อความเป็นศิลปิน ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ เพราะเรามักจะมองว่าการเป็นคนนอกระบบมันเท่ การเป็นคนนอกมันเจ๋ง แต่เราลืมไปว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

เพื่อให้เห็นภาพขึ้นมาบ้างนทีได้บอกเล่าให้ฟังถึงวิธีการทำงานร่วมกับระบบมืออาชีพที่เขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งว่า

“ในต่างประเทศ มันจะมีระบบการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน ผมดีลกับหลายแกลเลอรี่พร้อมๆกัน โดยมีระบบที่ซับซ้อนพอสมควร และการดีลระหว่างแกลเลอรี่กับอาร์ตติสต์มันมีหลายคนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวในระบบตรงนี้เยอะมาก มี Agency มี Dealer มี Gallery และแต่ละคนจะทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน ตัวผมจะใช้แกลเลอรี่หลักอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งแกลเลอรี่ที่สิงคโปร์จะไปเชื่อมกับแกลเลอรี่ทางเบอร์ลินของเยอรมันและโซลของเกาหลีใต้อีกที

แล้วแต่ละแกลเลอรี่ก็ต้องวาง schedule ของตัวเองให้กับผมว่า ภายในปีนี้ ผมจะต้องมีงานแสดงอะไรอย่างไรบ้าง อย่างตอนนี้ schedule ของผมวางไว้ถึงปี 2018 แผนที่ว่า ต้องแสดงที่นี่นะ มิวเซียมนี้นะ ซึ่งทางเขาจะวางมาให้ และเราก็ทำงานของเราไป พอมีงานมากพอที่จะแสดงได้บ้างแล้ว ก็ติดต่อกัน วางอย่างชัดเจนมาก คือพูดกันครั้งเดียว พอถึงเวลา ณ วันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น ก็เจอกัน ต่อเนื่องมาอย่างนี้”

อยากอยู่กับสิ่งที่ชอบตลอดเวลา

นทีบอกว่าเขามีความสุขกับการทำงานศิลปะอยู่ในสตูดิโอ และพยายามที่จะทำงานเองทุกขั้นตอน แม้กระทั่งการขึงเฟรม

“การเขียนรูปเป็นกิจกรรมที่มีความสุขสำหรับผม ผมเลยไม่ค่อยได้ไปไหน เพราะผมมีความสุขมากระหว่างตัวผมกับผ้าใบตรงหน้า แม้ว่าบางทีมันจะเป็นการทำอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากๆ บางครั้งก็ยืนสองบันได เพราะบางทีมันเขียนภาพชิ้นใหญ่ๆไม่ถึง และบางทีต้องอยู่ในท่าเหมือนคนกำลังโหนรถสองแถว(หัวเราะ)

เมื่อก่อนผมขึงเฟรมทุกเฟรมด้วยตัวเอง แม้กระทั่งเฟรมใหญ่ๆ แต่เดี๋ยวนี้ พออายุมากขึ้น บางทีก็ไม่ไหว พยายามขึงเองเสมอ เพราะผมอยากทำงานศิลปะตั้งแต่เด็กๆอยากจะใช้ชีวิตอยู่ในสตูดิโอ อยากอยู่กับสิ่งที่เราชอบตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาส ผมก็อยากจะอยู่กับมันให้นานๆ ให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นผมจึงเขียนรูปเองทุกขั้นตอน แต่ผมไม่ได้ว่าคนที่ให้คนอื่นเขียนรูปให้ เพราะมันคือวิธีการของเค้า เรามาดูที่เนื้องานดีกว่า และบางทีกระบวนการที่มีคนอื่นเขียนให้อาจจะเป็นเนื้อหาของเขาด้วย”

หลังจากที่ Artist Talk จบลง ระหว่างชมนิทรรศการ ART EYE VIEW ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาเพิ่มเติม จึงได้ทราบว่า เขามีสตูดิโออยู่ที่กรุงเทพ

“เพียงแต่ว่าแกลเลอรี่ที่ติดต่อดีลงานกับผมอยู่ที่ต่างประเทศและก็มีระบบที่ค่อนข้างเป็นเครือข่ายที่ชั ดเจน มันก็เลยทำให้การเผยแพร่งานของผมออกไปข้างนอกมากกว่า ผมก็ยังไปๆมาๆ มาทำงานที่นี่ แล้วก็กลับไปดู space ดูพื้นที่ อะไรอย่างนี้”

“ต้องทำงานหนักและศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองทำ” คือสิ่งที่เขาอยากฝากถึงศิลปินรุ่นใหม่ ที่อยากพัฒนาตัวเองไปสู่การได้รับการยอมรับ

“มันไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกอย่างมันต้องแลกด้วยความศรัทธาในการทำงาน ความจริงใจ และก็รักในสิ่งที่เราทำ คือผมก็ไม่ได้รับการยอมรับแบบปัจจุบันนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม การยอมรับ มันมีขั้นตอนของการพัฒนาของมันเหมือนกัน”

ซึ่งสำหรับเขานั้นต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี และยังได้เปิดใจความชอบในการนำบรรดาพลาสติกจำลองและสัตว์สต๊าฟ ซึ่งเป็นของสะสมส่วนตัวและชอบมาตั้งแต่เด็ก มาเป็นแบบในการเขียนภาพเพื่อจะสื่อความหมายกับผู้ชม

“พวกพลาสติกจำลอง มันมีความจริงอยู่ในนั้นครบถ้วน เพราะเป็นสิ่งที่จำลองจากของจริงมา คราวนี้เวลาเรามองของจำลอง เราจะรู้สึกประหลาดๆ เพราะว่าเราจะไม่มีโอกาสเห็นไอ้ของจริงแบบนี้ในระยะใกล้ๆ เช่น เราไม่สามารถมองรถถัง จากมุมบน ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามองอะไรเหล่านี้ บ้านจำลอง รถจำลอง จนถึงสัตว์สต๊าฟ เราจะรู้สึกประหลาดๆกับมัน นี่มันคือความจริง หรือไม่ใช่ความจริงกันแน่ เหมือนเราเห็นหุ่นขี้ผึ้ง เราจะรู้สึกมันแปลกๆฮะ

ตอนนี้ผมมีพลาสติกจำลองอยู่เยอะมาก บางวันได้มา นั่งดูมันแล้ว รู้สึกประหลาดมาก คือในโลกแห่งความเป็นจริงเราไม่สามารถมองหมาจิ้งจอกได้แบบนี้ โดยที่มันไม่ทำอะไรเรา การที่มันถูกสต๊าฟให้อยู่นิ่งๆ มันเหมือนเรานั่งมอง Painting เหมือน 1 วินาทีที่เรามองมนุษย์ในภาพ ผมคิดว่า Painting มันอยู่ในเงื่อนแบบนี้ครับ แล้วเวลาเรามองหุ่นนิ่ง มองสัตว์สตาฟ ผมจะรู้สึกประหลาดๆกับมันเวลานั่งมองมันนานๆอย่างจริงจัง”

วิกฤติของอำนาจ

พลาสติกจำลอง และสัตว์สต๊าฟ ที่ปรากฎในชิ้นผลงานทั้ง 23 ภาพ ที่ถูกหยิบยืมจากที่ต่างๆ มาจัดแสดงใน นิทรรศการครั้งนี้ ถูกใช้ เป็นสัญลักษณ์ เพื่อสื่อสารผู้ชมในเรื่อง 'วิกฤติของอำนาจ'

“มันเป็นเวิกฤตในเรื่องของอำนาจ ที่คนไทยเข้าไปผูกอยู่กับเรื่องนี้ ในช่วง 2-3 ปีนี้ ผมอยากเสนอสภาวะของความอึดอัดใจ ความไม่แน่นอน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตของอำนาจ ผ่านงานจิตรกรรมของผมด้วยสัญลักษณ์ ด้วยอะไรต่างๆ ซึ่งสัญลักษณ์บางอันมันค่อนข้างสากล ไม่ได้ระบุว่าเป็นเรื่องของใคร อะไรที่ไหน เพราะผมเจตนาที่จะทำให้คนในวงกว้าง สามารถเข้าใจงานของผมมากขึ้น

วิธีการทำงานผมก็จะใช้ข้าวของต่างๆหยิบมันมาสร้างเรื่อง อาจจะมีรูปสัญลักษณ์ หรือไวยกรณ์ทางภาพ ตามที่ผมจะสร้างขึ้นมาเพื่ออุปมาอุปไมย เพื่อเชื่อมโยงไปถึง เนื้อหาอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นในแต่ละรูปมันก็จะมีสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่อธิบายอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเรามีประสบการณ์หรืออยู่ในสังคมที่สามารถเข้าใจอะไรอย่างนี้ได้ เราจะเข้าใจมันได้ไม่ยาก ต้องอาศัยการตีความของตัวผู้ดูด้วยส่วนหนึ่ง ผมไม่สามารถล็อคให้คนชมงาน สามารถมองเห็นอะไรได้ตรงกับผมซึ่งเป็นศิลปินได้ทั้งหมด”

อย่างน้อยแม้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ศิลปินต้องการสื่อ นทีเชื่อว่า ผู้ชมยังสามารถสัมผัสกับความงามของสิ่งที่เขานำเสนอในฐานะงานศิลปะ

“ความงามของ Painting ไม่ว่างานผมมันจะมีเนื้อหาที่มันซับซ้อนรุนแรงอะไรอย่างไร ยังไงก็ตาม มันก็ไม่เคยที่จะปราศจากสุนทรียภาพ หรือความงาม อย่างน้อยความงามมันเป็นตัวล่ออย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนเราสามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังภาพเขียน”

นิทรรศการศิลปะ Illustration of the crisis โดย นที อุตฤทธิ์ วันที่ 18 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท โทร.0- 2350- 3626 Email: bugallery@bu.ac.th

Text : ฮักก้า Photo : วรวิทย์ พานิชนันท์ และ AP.

รู้จัก … นที อุตฤทธิ์

เกิดปี พ.ศ. 2513 ที่ กรุงเทพฯ จบการศึกษาจาก วิทยาลัยช่างศิลป์ ต่อด้วยระดับปริญญาตรี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยจัดแสดงผลงานในเวทีศิลปะทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป

อาทิ พ.ศ. 2546 นิทรรศการ Still Pictures จัดแสดง ณ Plum Blossoms Gallery ประเทศสิงคโปร์, พ.ศ. 2549 นิทรรศการThe fragment and the sublime จัดแสดง ณ Valentine Willie Fine Art ประเทศมาเลเซีย, พ.ศ. 2550 นิทรรศการThe Amusement of Dreams, Hope and Perfection จัดแสดง ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพ, พ.ศ. 2551 นิทรรศการTransparency happiness จัดแสดง ณ Soka Art Center ประเทศจีน, พ.ศ. 2553 นิทรรศการ Beacons of Archipelago จัดแสดง ณ Arario Gallery ประเทศเกาหลีใต้, พ.ศ. 2554 นิทรรศการ From Asia to the World ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้ง 54 ประเทศอิตาลี เป็นต้น
เกร็ดความรู้จาก 'นที'  Gallery,Dealer และ Agency  3 บุคลากรที่มีส่วนจะขับเคลื่อนวงการศิลปะ

Gallery นอกจากมีพื้นที่ มีห้องแสดงงานแล้วเนี่ย ยังมีพันธกิจ หรือมีหน้าที่สำคัญ นอกเหนือจากการที่จะต้องขายงานศิลปะ นั่นคือต้องผลักดันอาร์ตติสท์ โปรโมทอาร์ตติสท์ ถ้าคุณมีแกลเลอรี่แล้วไม่โปรโมทอาร์ตติสท์ ก็เท่ากับคุณไม่ได้เป็นแกลเลอรี่ คุณต้องมีเครือข่าย มีการโปรโมท มีการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน

Dealer แปลตรงตัวคือ การเป็นนายหน้า อาจจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แล้วก็ได้รับเปอร์เซ็นต์หรือ คอมมิสชั่นอะไรตรงนั้นไป มันก็เท่านั้นแต่ไม่มีการโปรโมท

Agency คือการเป็นตัวแทนในการจัดการสิ่งต่างๆให้ศิลปิน เหมือนเอเย่นของดาราของนักร้อง มันมีความแตกต่างในเรื่องของระบบธุรกิจพอสมควร

หมายเหตุ:แกลเลอรี่หลายแกลเลอรี่ในเมืองไทย ทำได้แค่ฟังก์ชั่น ของ Dealer เอางานมาฝากขาย จัดแสดง จบไปแล้ว เอาคนใหม่มา ไม่มีการเวียนมาซ้ำ หรือถ้าเวียนมาซ้ำก็ยังอยู่ในลักษณะเดิม คือไม่มีการโปรโมทอย่างถูกต้อง ฉะนั้นก็จะอยู่ในสภาพของการเป็น Dealer หรือ Art Dealer

บ้านเรา พอหาที่สักที่หนึ่งได้เพียงพอที่จะแสดงหรือจัดกิจกรรมได้ มีอาร์ตติสต์มาแสดงได้ เราก็จะคิดว่า เป็นแกลเลอรี่ มันก็เป็นแกลเลอรี่จริงๆ แต่มันไม่มีระบบของแกลเลอรี่ ที่จะจัดการแบบแกลเลอรี่ แค่เป็น Dealer ที่ดี มันก็จะทำให้ทั้งระบบธุรกิจและระบบการเผยแพร่ไม่ได้อยู่ในวงจรที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน และไม่เติบโต

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It