Art Eye View

รักและศรัทธา : องุ่น เกณิกา สุขเกษม

Pinterest LinkedIn Tumblr

คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม

การปั้นงานเมื่อเริ่มไปอยู่เมืองเชียงใหม่นั้น ได้ดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ พร้อมกับการได้ใช้ชีวิตที่เป็นอิสระ

ชีวิตอิสระในแบบของฉันนั้น หมายถึงการไม่ต้องตื่นขึ้นมาด้วยความเร่งรีบเพื่อไปทำงานในองค์กรอีกต่อไป ไม่ต้องรอเวลาเที่ยงที่จะได้พัก ไม่ต้องรอวันหยุดเสาร์และอาทิตย์

สิ่งเหล่านี้ที่เคยเป็นมายาวนานถึงเจ็ดปีเต็ม ได้หายไปจากชีวิตของฉัน แล้ววันทุกวันก็คือวันที่เหมือนกันหมด

ฉันเริ่มให้ความสำคัญการดูนาฬิกาน้อยลง นาฬิกาข้อมือเรือนสุดท้ายที่ใส่ติดตัวไปนั้น เริ่มถูกถอดวางไว้ที่มุมห้อง ไม่มีความจำเป็นที่ต้องคอยมองเวลาบ่อยๆ อีกต่อไป มันกลายเป็นเพียงเครื่องประดับข้อมือ ในเวลาไปไหนมาไหนในบางครั้ง เพียงเท่านั้น

การแต่งกายก็เช่นกัน ฉันมักแต่งกายด้วยเสื้อและผ้าถุงฝ้ายที่สบายๆ และจากการที่ฉันมักชอบไปเที่ยวตามวัดและตลาด ทำให้ฉันมักต้องตาต้องใจกับผ้าถุงลายพื้นเมืองต่างๆ ของทางเหนือเสมอๆ

ผ้าถุงลายขวางสีสันต่างๆ อันมีราคาไม่แพง ถูกฉันซื้อหาเอามาเปลี่ยนใส่ ในที่สุดฉันจึงกลายเป็นคนที่นุ่งผ้าถุง จนชินตาผู้คนแถวนั้น เวลาไปตลาดแม่ค้าและแม่อุ๊ยแก่ๆ มักกล่าวชมการนุ่งผ้าถุงของฉันให้ได้ยินอยู่เสมอๆ

ฉันเริ่มเรียนรู้การฟังภาษาเหนือ อย่างง่ายๆ เช่น ซาว แปลว่า ยี่สิบ ซ้า แปลว่า ตะกร้า เป็นต้น คำเหล่านี้ฉันได้ยินได้ฟังบ่อยๆ มาจากเหล่าแม่ค้าแม่ขายในตลาด นั่นเอง




ฉันได้เรียนรู้วิธีการเผางาน เวลาเผางานด้วยเตาฟืนในขณะนั้น เป็นเตาแบบโบราณก่อขึ้นด้วยมือ เราจะเผางานกันในเวลากลางคืน

งานปั้นรูปสัตว์ต่างๆ สารพัดสารพัน ไม่ว่า คน ช้าง หมู ควาย นก ฯลฯ จากฝีมือเหล่าชาวบ้านช่างปั้น ตุ๊กตาเด็กและเณร ของเพื่อนใจของฉัน และตุ๊กตารูปหญิงสาวของฉัน จะถูกวางเรียงรายซ้อนกันอย่างชาญฉลาดและระมัดระวัง

ในการเรียงงานเข้าเตาเผานั้น ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ ในเวลานั้นฉันเห็นเพียงแต่เพื่อนใจของฉันเท่านั้นที่จะทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ในเตาถูกวางงานอย่างเต็มพื้นที่ทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง แทบไม่มีช่องว่างหลงเหลือ แต่ก็ไม่ได้ทำให้งานทุกชิ้นแตกหักเสียหาย

เมื่อเรียงงานจนเต็มเตาแล้ว ก็จะค่อยๆ นำอิฐแต่ละก้อนมาวางเรียงกันจนปิดมิดชิด แล้วนำดินเหนียวละลายน้ำมายาทับอิฐที่ปิดประตูเตาไม่ให้มีร่องรูโหว่ เป็นเหตุให้ความร้อนกระจายออกมาได้

แล้วจึงค่อยๆ จุดไม้ฟืนท่อนใหญ่ อังไว้ที่ปลายปากเตาเพียงเล็กน้อย ไฟอ่อนๆ จะคอยรักษาระดับความร้อนไม่ให้ขึ้นสูง อย่างรวดเร็วเกินไป เพราะจะทำให้งานระเบิดเสียหายได้หมดทั้งเตา

เราเรียกระยะเวลาของการเผางานในระยะเริ่มแรก อันใช้เวลาถึง หกชั่วโมง นี้ว่า 'การอุ่นเตา'

เมื่อการอุ่นเตาได้ที่แล้ว มักเป็นเวลาค่ำมืด เราก็จะเริ่มทำการเร่งไฟ โดยใส่ไม้ฟืนเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความร้อน อีกเป็นเวลาถึงสี่ชั่วโมง

ในระยะเวลานี้นี่เอง เราต้องอดนอนและทนต่อยุงที่ประดังกันเข้ามากัด ฉันและเพื่อนใจก็มักจะนำเอาปลาหมึกแห้งบ้าง ของกินอะไรง่ายๆ ที่ปิ้งย่างพอให้ได้เพลินๆ มาปิ้ง มาอังไฟ กินเล่นไปในขณะเผางาน พอให้ได้เพลิดเพลิน

กระทั่งถึงชั่วโมงที่สิบ บรรยากาศของยามดึกสงัดที่รอบๆ เตาจะมืดสนิท เราจะเห็นงานที่สุกเป็นสีแดงดุจเดียวกับถ่านในเตาหุงข้าวที่ร้อนจัดจนมีสีแดงใสทะลุปรุโปร่งไปตลอดทั้งชิ้นงาน นั่นเองเป็นสัญญาณว่างานสุกแล้ว จึงจะหยุดทำการเร่งไฟ และการเผางานก็ได้เสร็จสิ้นลง

รอจนรุ่งเช้าจนถึงบ่ายเย็นของอีกวัน ที่เตาจะมีอุณหภูมิเป็นปกติ จึงเริ่มทำการเปิดเตา เพื่อนำผลงานออกมาชื่นชมกันอีกครั้ง การเปิดเตานั้นเป็นที่เรื่องที่สนุกมาก เพราะจะได้ลุ้นว่า งานชิ้นใดจะมีสีสวยอย่างไร เพราะความร้อนของเตาฟืนนั้น ช่วยให้สีของงานแตกต่างกันไปในแต่ละชิ้น บ้างหน้าใสเป็นสีชมพูแต้มๆ บ้างหน้าเป็นดวงด่างดำ บ้างในชิ้นงานเดียวมีทั้งสีอ่อนและสีเข้ม ช่างเป็นอะไรที่เพลิดเพลินยิ่งนัก



ในการเผางานนี้ เพื่อนใจของฉันมีหน้าที่ทำและรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงงานของคนอีกหลายต่อหลายคนในหมู่บ้าน ซึ่งพวกเขาทำการปั้นในตอนกลางวันและพักผ่อนตอนกลางคืน และเมื่อเวลานำงานออกจากเตานั่นเอง ก็จะมาช่วยกันขนงานกลับไปยังบ้านที่เป็นส่วนรวม ซึ่งก็คือบ้านที่เรา ฉันและเพื่อนใจไปอาศัยอยู่นั่นเอง

ฉันมองเห็นความเป็นคนมีน้ำใจ และเสียสละของเพื่อนใจที่มีต่อคนอื่นๆ เสมอๆ อีกทั้งยังช่วยสอนการปั้นให้กับบุคคลหลายต่อหลายคนในขณะนั้น ซึ่งยังไม่มีอาชีพที่แน่นอน บางคนมีชีวิตที่ลำบากยากจน ไม่มีที่พึ่ง อีกทั้งยังมีสุขภาพที่ย่ำแย่ ให้ได้มีงานทำอย่างเป็นอิสระ เพื่อนใจของฉันนั้นได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงานตามความถนัด..

จนกระทั่ง เมื่อเกิดผลงานเป็นชิ้นงาน เผางานเสร็จลุล่วง ก็ยังคิดอ่าน พาพวกเขาเหล่านั้น ไปร่วมแสดงงานด้วยกันที่กรุงเทพฯ โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือลำเอียงต่อใครคนใดคนหนึ่ง และไม่เคยฉกฉวยผลประโยชน์ ทางรายได้ใดๆ จากผลงานของบุคคลต่างๆ เหล่านั้นเลยแม้แต่น้อยนิด

ฉันยังจดจำได้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ว่า ในครั้งที่ฉันเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนี้ในช่วงแรกๆ นั้น มีชายชาวบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนรับจ้างทั่วไปในละแวกนั้น ได้มาหัดปั้นงานกับเขา และผลปรากฏว่า ชายคนนั้น มีฝีมือในการปั้นควายได้สวยงามมาก ด้วยสรีระกระดูกสันหลังของควาย และเขาที่เรียวโค้งงดงาม

ฉันมองผลงานปั้นนั้นด้วยใจชื่นชอบ แต่ในช่วงเวลานั้น มิได้มีผู้คนเข้ามาซื้องานในหมู่บ้าน ฉันจึงอยากจะซื้องานรูปควายนั้นเก็บไว้ เพื่อให้เขาได้มีเงินใช้ก่อน และคิดว่า ถ้าวันหลังมีคนมาเห็น ก็น่าจะขายต่อไปได้..เพื่อนใจของฉันได้กล่าวกับฉันว่า

“ทำอย่างนั้นไม่ได้”

ฉันจึงถามว่าเพราะอะไรล่ะ…เขาจึงตอบว่า ถ้าเราทำอย่างนั้น เราจะกลายเป็นคนผู้ทำการขายของ ไปในที่สุด ฉันจดจำเรื่องนี้ได้อย่างแม่นยำ…

งานต่างๆ ที่หมู่บ้านป่าตาล แห่งนั้น มักมีคนเดินทางเข้ามาซื้อหากันถึงที่ บ้างเอาไปเพื่อประดับตกแต่งสวน บ้างเอาไปประดับตกแต่งร้านรวง ฯลฯ เมื่อเวลามีคนมาซื้อหา มักมาติดต่อกับเพื่อนใจของฉัน เงินจากการขายงานของเหล่าชาวบ้านช่างปั้น ในทุกๆ ชิ้น จะถูกส่งถึงมือพวกเขา ในราคาเต็มเท่าที่ขายไป ไม่เคยมีการหักค่าใช้จ่ายหรือแบ่งเงินใดๆ มาจากพวกเขาทั้งสิ้น..

ฉันได้เห็นในวิถีชีวิตของเพื่อนใจของฉัน และบุคคลต่างๆ ผู้แวดล้อมเขา ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และรู้สึกมีความศรัทธาในความดีความของเขาอย่างเต็มเปี่ยม

และเมื่อถึงเวลาจะมีงานแสดงใดๆ ช่างปั้นทุกๆ คนที่อยู่รอบตัวเขาจะถูกบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วกัน พวกเขาก็จะพากันตั้งอกตั้งใจทำงาน สร้างผลงานของตนเอง เพื่อไปแสดง

บุคคลเหล่านั้นจึงรู้สึกมีความหวัง มีอาชีพ มีเงิน และมีเกียรติ ด้วยความเอื้ออารีอย่างแท้จริงของชายผู้เป็นเพื่อนใจของฉันนั่นเอง

ถ่ายภาพโดย : นายดี และ มณีดิน

>>วันพฤหัสบดี ที่ 1 สิงหาคม เวลา 22.00 น. โดยประมาณ รายการเคาะข่าวบันเทิง ช่อง ASTV นำเสนอ เทปสัมภาษณ์ที่ทีมข่าว ศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง เดินทางไปสัมภาษณ์ ชีวิตประติมากร ของ องุ่น เกณิกา สุขเกษม ที่ 'บ้านเขียวสำลี 2556' จ.สิงห์บุรี

รู้จัก… องุ่น เกณิกา สุขเกษม

จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยสยาม เคยทำงานเป็นสาวแบงค์ นาน 7 ปี

ปี 2540 เป็นต้นมา หันมาจับเศษดินปั้นเป็นหญิงสาวมากจริต จนได้รับการยอมรับ และรู้จักในฐานะประติมากรหญิงผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะจากรั้วสถาบันใด

ขณะนี้องุ่นใช้ชีวิตและทำงานประติมากรรม อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นของบ้านริมแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี

เป็นชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย สบายๆ แม้ไม่ได้สบายด้วยวัตถุ ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ ART EYE VIEW เมื่อหลายปีก่อนว่า

“สบายด้วยอากาศ ด้วยต้นไม้ และมีอิสระ ทุกวันนี้ทำงานปั้นดิน และเผาเองทุกชิ้น ส่วนชิ้นไหนที่เห็นเหมาะเห็นชอบ ก็จะนำไปหล่อที่โรงหล่อ

รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากเลย เวลาที่ทำงาน เพราะอะไรที่มันเป็นชีวิตเรา เป็นความรู้สึกนึกคิดของเรา พอได้ทำเป็นงานออกมาแล้วมีความสุข

ถ้าช่วงไหนไม่ได้ทำงานปั้น มันเหมือนชีวิตเราหมดคุณค่า และอัดอั้น เพราะเรามีความรู้สึกที่ต้องระบายออกมา”

ติดตาม คอลัมน์ : เรื่องเล่าในเงาดิน โดย : องุ่น เกณิกา สุขเกษม ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It