Art Eye View

R.I.P. MAMAFAKA เพื่อนๆช่วยไข “ทำไมใครๆ ต่างก็รัก ตั้ม – พฤษ์พล มุกดาสนิท”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—กระแสที่คนจำนวนมากบนโลกออนไลน์ ที่มีทั้งแฟนผลงาน เพื่อนศิลปิน ดารา นักร้อง ฯลฯ พยายามส่งใจไปให้ นับแต่ช่วงเวลาที่ยังอยู่ในห้องไอซียู

กระทั่งช่วงเวลาที่ทราบว่าไม่อาจยื้อชีวิต และ บรรยากาศแห่งความร่วมแรงร่วมใจในงานศพที่มากไปด้วยกลิ่นไอของศิลปะซึ่งได้ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ณ วัดกลาง จ.ขอนแก่น บ้านเกิด

เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ตั้ม – พฤษ์พล มุกดาสนิท ศิลปินแนวสตรีทอาร์ต และกราฟฟิกดีไซเนอร์ วัย 35 ปี เจ้าของนามแฝง MAMAFAKA และผู้ออกแบบตัวคาแรคเตอร์ Mr.Hell Yeah! ซึ่งประสบเหตุจมน้ำทะเลเสียชีวิตที่ จ.ภูเก็ต เป็นหนึ่งคนที่จากไปท่ามกลางความความรักและความชื่นชมที่มีต่อตัวเขาอย่างท่วมท้น
คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง,พงศ์ภาสกร กุลถิรธรรม และฑีฆาวัฒน์ ปัทมาคม
ศิลปะเบ่งบานในงานศพ

“ก่อนที่จะเสีย กระแสก็มีเยอะมากแล้ว เราก็ไม่ทันคิดว่าจะเกิดเรื่องของกระแสที่ว่ามีคนพูดถึงกันในโลกออนไลน์เยอะขนาดนี้ ทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก

ช่วง 2 วันก่อนที่ตั้มจะเสีย ทุกคนต้องการที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยเริ่มใส่ข้อมูลลงไปในเฟซบุ๊คและในอินสตราแกรมว่าเกิดอะไรขึ้น ตั้มอาการเป็นอย่างนี้นะ ไม่ต้องห่วงนะ อย่าไปฟังคนอื่นนะ ฟังเรา

คนที่ไม่รู้จักตั้มก็เริ่มที่จะศึกษาว่าตั้มเป็นใคร ส่วนคนที่สนิทมากก็ไม่ยอมนอนเลย รอฟังข่าวว่าอาการเป็นอย่างไร

มีการให้กำลังใจเอารูปมาโพสต์ที่หน้าเพจของ MAMAFAKA บางคนอาจจะไม่รู้จักตัวเขาจริงๆ แต่อาจจะรู้จักงานเขามากกว่า

พอคนที่รู้ว่าตัวเองรู้จักนี่ ก็เลยเข้ามากันใหญ่เลย แป๊บเดียวภาพ 2-3 พันภาพถูกอัพขึ้น เลยกลายเป็นกระแสมาก

เราไม่ได้เตรียมตัวเรื่องงานศพ ช่วงที่ยื้อกันอยู่ พ่อแม่ของตั้มก็เตรียมตัวเรื่องย้ายเข้ามารักษาที่กรุงเทพฯ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงสองวันนั้น มันรวดเร็วมาก

พวกเราที่อยู่ภูเก็ต เมื่อรู้ล่วงหน้าว่าโอกาสน้อยมาก จึงแจ้งเพื่อนสนิทให้ลางาน เพราะตั้มเพื่อนเยอะ คนรู้จักเยอะ ซึ่งทุกคนก็พร้อมที่จะทิ้งทุกอย่างเพื่อมาช่วยงานตั้ม

เราก็ไม่ได้กะจะให้มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ตอนอยู่ที่โรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่ก็พยายามคิดกันแค่ว่าจะเอาศพตั้มไปขอนแก่นยังไง เตรียมงานยังไง สวดกี่วัน เผาวันไหน เตรียมประกันชีวิต ทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับงานศิลปะเลย มันมาที่หลัง

พอศพไปถึง พี่เชนก็มีไอเดียว่าตั้มแพ้ดอกไม้นะ และตั้มเป็นศิลปิน เราจึงเริ่มมีไอเดีย เรื่องศิลปะขึ้นมาตอนหลัง”

พี่และเพื่อน 3 คน ที่กล่าวได้ว่าสนิทกับตั้มมากที่สุดในช่วงท้ายของชีวิต ร่วมกันให้ข้อมูล

เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มที่ไป Hang Out ด้วยกัน ไปดูคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศด้วยกัน ยังทำธุรกิจด้วยกัน รวมกลุ่มปั่นจักรยานและทำโครงการศิลปะที่มีแรงบันดาลใจมาจากจักรยาน ในนามกลุ่ม JNSNP ด้วยกัน

อย่างไรก็ตามทุกคนออกตัวว่า เพื่อนของตั้มมีหลากหลายกลุ่มมาก อย่างกลุ่ม FOR ที่ร่วมทำงานสตรีทอาร์ตด้วยกันก็ถือเป็นอีกกลุ่มที่สนิท และตั้มก็นับถือหัวหน้ากลุ่มอย่าง P7 เป็นเสมือนอาจารย์ผู้ช่วยฝึกและแนะแนวทางในการทำงานด้านนี้ให้กับเขา
เพียงแต่เพื่อนกลุ่มจักรยานมีโอกาสอยู่ร่วมเหตุการณ์นับตั้งแต่ตั้มประสบเหตุจมน้ำจึงเป็นกลุ่มที่ช่วยติดต่อประสานงานและช่วยจัดการงานศพไปโดยปริยาย

ประกอบไปด้วย คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง หัวหน้าช่างภาพนิตยสาร a day รุ่นพี่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต,ฑีฆาวัฒน์ ปัทมาคม general manager ของ RIP CURL และ brand manager ของ URFACE ( แบรนด์ ซึ่งตั้มร่วมก่อตั้ง รวมทั้งทำหน้าที่ในฐานะ Head Designer) และ พงศ์ภาสกร กุลถิรธรรม visual artist เพื่อนซึ่งเรียนมาด้วยกันและร่วมก่อตั้งกลุ่มดีไซเนอร์ในนาม กลุ่ม b.o.r.e.d

ART EYE VIEW ได้นัดถ่ายภาพพวกเขาที่หน้าผลงานที่มีแรงบันดาลใจมาจาก Mr.HellYeah + ปลาหมึกยักษ์ ซึ่งตั้มฝากไว้ที่สะพานหัวช้าง เมื่อครั้งร่วมงานกับ “กลุ่มบุกรุก”
วาดโดย : โอ- ธีระวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์

คเชนทร์ : “วันแรกที่ศพไปถึงขอนแก่น เพื่อนทั้งหมด 10 คนซึ่งเป็นกลุ่มจักรยานและต่างคนก็ต่างมีความถนัดที่หลากหลาย ก็ไปอยู่ที่นั่นทั้งหมดเลย จริงๆเราเลิกปั่นจักรยานกันมานานแล้ว แต่ว่าที่เรายังเกาะกันอยู่ เพราะเรายัง Hang Out ด้วยกัน กินข้าวด้วยกันทุกอาทิตย์

เราประชุมกันว่าจะเอาอย่างไรดีวะ แต่ด้วยคุณพ่อคุณแม่ของตั้มเข้าใจดีว่าลูกทำศิลปะ ก็เลยบอก โอเค…เพื่อนจัดการเลยนะ พ่อกับแม่ ไม่ยุ่งเลยนะ อยากให้ตั้มแฮปปี้ที่สุด คิดว่าเพื่อนๆน่าจะรู้จักนิสัยเขาดีที่สุด ช่วยทำอะไรให้เขาแฮปปี้ที่สุดได้ไหม พวกเราก็เลยเป็นคนเลือกชุดให้แต่งตัว และรูปหน้าศพซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้รูปเก่าๆ เราก็เลือกรูปที่เท่ห์ที่สุด

ตอนช่วงที่ทำการขนย้าย ผมกลับมานั่งเลือกรูปให้ที่กรุงเทพ ตอนแรกก็จะใช้ภาพถ่าย พอดีมีเพื่อคนหนึ่งเขาเป็น คนทำภาพประกอบอยู่แล้วชื่อ โอ- ธีระวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ วันที่ตั้มเสียเขาก็วาดรูปตั้ม ซึ่งเขาเป็นคนที่วาดพอร์เทรตคนได้สวยมาก และตั้มเคยคุยกับทุกคนว่าอยากให้โอ วาดรูปให้บ้าง คือโอก็ไม่รู้หรอก เขาวาดให้เพราะ เสียดายเนาะ ไม่ได้คุยกันเลย เคยคุยกันแค่ครั้งก่อนที่จะเสีย แล้วรูปที่โอวาดมา เป็นรูปที่หล่อมาก ผมก็เลยบอกว่า โอเคโอ เราขอใช้รูปนี้ติดหน้างาน”
 

ต่อเนื่องมาถึงความคิดที่จะให้มีการแสดงผลงานศิลปะเกิดขึ้นในงานศพ ซึ่งทั้ง 3 คน ได้ร่วมบอกเล่าถึงที่มาว่า

พงศ์ภาสกร : “พวกเรารู้สึกว่า ทางวัดก็เคยพูดว่า พวงหรีดเอามาต้องทิ้ง เปลี่ยนเป็นพัดลมหรือของอื่นๆที่มีประโยชน์ยังดีกว่า ซึ่งงานนี้ถ้าเราไม่บอกแขก ก็คงจะเป็นงานที่มีพวงหรีดเยอะมาก”

คเชนทร์ : “ ตอนแรกก็คิดว่าจะติดต่อคนที่สนิท ศิลปินที่อยู่บริษัทดีไซเนอร์ที่เป็นรุ่นใหญ่ ของไทย คือทุกคนเต็มใจช่วยเพื่องานนี้หมด โทรมาหาผมว่าจะให้ทำอะไรบอก จากนั้นก็เลยเกิดไอเดียให้ทุกคนร่วมทำศิลปะ และแจ้งข่าวผ่านโซเชียลเน็ทเวิร์ค

งานศิลปะที่เข้ามาร่วม จึงมีทั้งงานของศิลปินรุ่นใหญ่ ศิลปินรุ่นเยาว์และเด็กที่วาดรูปไม่ค่อยเป็นเลย ทุกคนอยากมีส่วนร่วม”


ผลงานศิลปะที่ส่งมาร่วมนอกจากมาจากทั่วประเทศ ยังมาจากทั่วเอเชีย และไกลถึงยุโรปและอเมริกา (สิงคโปร์ เกาหลี ปารีส อังกฤษ อเมริกา)และบ้างที่ไม่สามารถส่งชิ้นงานมาได้ ก็จะพ่นกำแพงในต่างแดน แล้วถ่ายรูปส่งมาให้

ฑีฆาวัฒน์ : “เพื่อนจากเมลเบิร์นก็บินมาช่วยงานศพ คือมันไม่ใช่แค่สังคมเล็กๆ ตั้มมีเพื่อนศิลปินเยอะไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯและไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

งานศิลปะที่ทุกคนส่งมาร่วม ซึ่งเรานัดรับที่สยาม เราพยามบอกทุกคนว่าให้ส่งใส่กรอบรูปมานะ เพราะเราไม่มีเวลา ทุกคนเสียเวลาวาดรูป เสียเงินเข้ากรอบ เพื่อตั้ม 400 กว่าคน ร้านกรอบรูปที่สยามตกใจมาก กรอบรูปหมดทุกวัน เราต้องมาขนงานเป็นร้อย ทั้งที่เราต้องการ 70 รูป”
 

พงศ์ภาสกร : “ และงานแต่ละชิ้นแค่เห็นก็รู้ว่า คุณใช้เวลาทั้งคืนในการเขียน ไม่ใช่เขี่ยๆมานะ ทุกคนนำเสนอสไตล์ตัวเองที่ผสมความเป็นตั้ม”

คเชนทร์ : “และไม่ใช่แค่งานภาพวาดอย่างเดียวด้วย แต่ยังมีงานประเภทจิวเวอรี่ ประติมากรรม ปั้นดินน้ำมัน”

ตัวอย่างเช่น “ตาลปัตร” อันแสนจะเก๋ไก๋ ซึ่งทำขึ้นโดย กลุ่ม Slowmotion

มีช่วงหนึ่ง ตอนหลวงพ่อท่านเทศน์ส่งตั้ม ท่านกล่าวถึงตาลปัตรเล่มนี้ มีใจความว่า “สาธุโข สิปปกัง นามะ หมายความว่า ขึ้นชื่อว่าศิลปะ ยังประโยชน์ทั้งนั้น…ตัวอย่างเช่นตาลปัตรนี่ เมื่อนำศิลปะมาใช้ ก็ทำให้เกิดเป็นศิลปะ ดูสวยงาม ไม่เคยเห็นที่ไหนมาเลย”

เตรียมนิทรรศการศิลปะครั้งใหญ่ ครบ 100 วันของการเสียชีวิต

เพื่อนๆเล่าว่า ก่อนที่ตั้มจะเสียชีวิต เขายังมีงานที่ทำค้างไว้กับสินค้าหลายแบรนด์มาก รวมถึงงานศิลปะที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่มีการแพลนไว้ล่วงหน้าอีกหลายโครงการ

จึงเป็นหน้าที่ของเพื่อนๆที่จะเข้ามาดูแลจัดการหลายๆอย่างให้ หลังจากได้รับการมอบหมายจากครอบครัว รวมถึงดำเนินการจดลิขสิทธิ์ผลงาน

ขณะที่แบรนด์ URFACE ก็จะเดินหน้าสานต่อความฝันของตั้มต่อ ตามที่ต้องการเห็นสินค้าของแบรนด์ที่ตัวเองร่วมก่อตั้ง ไปวางจำหน่ายที่ศูนย์กลางเมือง Streetwear ทั่วโลก และในแง่ของผลประโยชน์ทางธุรกิจ URFACE จะแต่งตั้ง พุทธชาติ มุกดาสนิท น้องสาวของตั้ม เป็นหุ้นส่วนแทนและจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ในอนาคตทั้งหมดแทนตั้ม

แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนกำลังจะร่วมแรงร่วมใจทำเพื่อตั้มครั้งใหญ่ คือจัดนิทรรศการและทำหนังสือรวบรวมผลงาน ในวันครบรอบ 100 วันของการเสียชีวิต ประมาณเดือนธันวาคม

คเชนทร์และฑีฆาวัฒน์ : “มีงานที่ทำเสร็จแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งเราต้องตามเก็บเงิน และ บางส่วนที่ทำยังไม่เสร็จ แต่ที่สำคัญที่สุดเรากำลังรวมหัวกันจัดงานใหญ่ให้เขา และเราอยากทำหนังสือให้เขา แต่ช่วงงานศพ มันไม่ทันจริงๆ

ถึงเขาไม่เสีย ศิลปินคนหนึ่งเมื่อทำงานมาเยอะๆ ก็จะมีการรวมเล่มผลงานอยู่แล้ว เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี และตอนที่เขายังอยู่เขาก็ยังอยากทำนิทรรศการแสดงผลงานและอะไรหลายๆอย่าง ประจวบเหมาะที่มีคนส่งงานศิลปะมาร่วมเยอะขนาดนี้ ในวันครบ 100 วัน เรารู้สึกว่า การแสดงงานและรวมเล่มผลงานให้เขาน่าจะเป็นเรื่องดี

และมีคนกรุงเทพฯเยอะมาก ที่โพสต์มาในเพจว่า จัดที่กรุงเทพฯมั่งสิ อยากเห็น และยังมีคนอยากส่งงานศิลปะมาอยู่

อีกทั้งมีสินค้าหลายแบรนด์ที่เคยอยากจะเอางานเขามาขาย เพื่อร่วมทำบุญ เราก็ได้เลยบอกไปแล้วว่าให้รอก่อน มันมีเรื่องของลิขสิทธิ์

เพราะตอนที่เสีย มีหลายแบรนด์ที่อยากจะผลิตอันนั้นอันนี้ออกมาเพื่อเอาเงินมาช่วยครอบครัว เราก็เลยบอกว่าชะลอไว้ก่อนเพราะมันอ่อนไหวมาก เรื่องของการที่คุณจะรู้สึกยังไงที่เอางานบางอย่างมาขาย บางคนก็บอกว่าไม่ต้องเอาตัวคาแรคเตอร์มาก็ได้ เอาแค่ตัวอักษร MMFK ก็ได้
ทุกคนยื่นมือมาช่วยหมดแหล่ะ แต่เรายังมีเวลาอีกตั้งสามเดือนใครอยากทำให้มาทำร่วมกันในวันนั้น

ช่วงเวลาที่สวดศพยังอยู่ มีของก๊อปออกมาเพียบ ทุกคนที่ต้องการช่วยจริงก็เยอะ คนที่ต้องการจะมาเอาผลประโยชน์ก็เยอะ เพราะฉะนั้น เราไม่อยากให้คนที่อยากจะช่วยจริงโดนคนอื่นมองว่าจะมาเอาผลประโยชน์

มีคนหลายคนที่โทรมาหาผมบอกว่าอยากจะเอาเงินมาช่วยโดยที่ผลิตของ ผมว่าคุณจะดูไม่ดีนะ เรามีเลขบัญชี ที่จะให้โอนช่วยได้เลยเพื่อทำบุญอยู่แล้ว และ ส่วนที่จะร่วมแสดงงานศิลปะ ส่วนที่จะประมูลงานให้ไปมีขึ้นในงานครบ 100 วัน

เราเข้าใจว่าหลายคนวาดรูปไม่เป็น แต่อยากขายของเพื่อเอาเงินมาช่วย อย่างไรก็ตามผมว่ามันยังดูสองแง่สองง่าม

การที่คนมาซับพอร์ตแล้วได้เงินทำบุญมันทำได้อยู่แล้ว เพราะคนรอซับพอร์ตกันเยอะ ที่เป็นแฟนคลับ แต่ถ้าร้อยวันทุกคนรวมกัน อย่างน้อยคนที่มาซับพอร์ตเขาก็สามารถช่วยซื้อ และง่ายในการที่จะนำรายได้ที่ได้ช่วงนั้นก้อนนั้น มอบให้ครอบครัวอย่าง ชัดเจน ใสสะอาด

หลายคนที่ได้อ่าน อาจตั้งคำถามว่า พวกคุณมีสิทธิ์อะไร แต่เราพูดในฐานะคนสนิทที่พ่อแม่ตั้มยกหน้าที่ให้รับจัดการ หรือพวกมึงมายุ่งอะไรเนี่ย แต่ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เพื่อนควรจะช่วยดูแล เพื่อครอบครัวของตั้ม และตอนนี้เราได้ดำเนินการแล้ว”

พ่อแม่เตรียมสร้างสตูดิโอที่ขอนแก่น

เพื่อนๆแสดงความเห็นว่า การที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเสียชีวิตไป แล้วผลงานที่เคยถูกซื้อไป ถูกนำไปขายต่อในราคาที่สูงขึ้น เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เพื่อนๆยอมรับไม่ได้ และอยากหยุดการกระทำคือ การคัดลอกผลงานไปขาย ซึ่งก็ได้มีเกิดขึ้นแล้วในส่วนผลงานของตั้ม ขณะที่พ่อแม่เตรียมสร้างสตูดิโอให้ที่ขอนแก่น

พงศ์ภาสกร : “งานบางงานมันก็ไปถึงเมืองนอกแล้ว พูดง่ายๆไฟล์งานของตั้ม ถ้าใครจะก๊อปปี้ก็ไม่ได้ยาก
งานวาดด้วยมือที่เขาทิ้งไว้ ก็ได้มีการใส่กรอบ เพราะพ่อแม่เขาจะสร้างสตูดิโอเก็บผลงานให้ที่ขอนแก่น เพราะงานเขาเยอะ พ่อแม่ไฟเขียวให้เราดีไซน์สตูดิโอ เพื่อที่เอางานออริจินอลทั้งหมดของตั้มไปโชว์ที่สตูดิโอที่เดียว”

ขณะที่ความฝันอันหนึ่งของตั้มที่อยากให้ตัวคาแรคเตอร์ที่ตัวเองออกแบบ ถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะตัวไวนิล เพื่อนๆก็ได้ให้ข้อมูลว่า ทางญี่ปุ่นได้สนใจที่จะผลิตแล้ว

ฑีฆาวัฒน์ : “อะไรก็ตามที่จะสานฝันให้ตั้มได้เราจะทำ เพราะเราไม่อยากให้แค่เด็กรุ่นนี้รู้จักตั้ม แต่เราอยากให้รุ่นลูกรุ่นหลาน และรุ่นต่อๆไปรู้สึกว่าตั้มเป็นคนแรกในประเทศไทย ที่รวมกับสตรีทอาร์ตกับคอมเมอเชียลเข้ามาอยู่ด้วยกัน เขาเป็นคนแรกจริงๆ เป็นคนแรกในเมืองไทยที่ทำให้แบรนด์สินค้าใหญ่ๆมาสนใจสตรีทอาร์ต”

ทำไมใครๆต่างก็รัก ตั้ม – พฤษ์พล มุกดาสนิท

“เราอาศัยว่าทำไม่หยุด ทำไปเรื่อยๆ สักวันมันก็จะเกิดงานที่ทุกคนเป็นที่จดจำขึ้นมา”
ประโยคนี้ของตั้มที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อ คงจะบอกถึงเหตุผลอยู่แล้วว่า ทำไมผลงานของเขาถึงได้รับการยอมรับในที่สุด

แต่ในช่วงเวลาที่เขาจากไป ยังเกิดคำถามขึ้นมาจากคนที่อาจจะรู้จักแค่ผลงานแต่อาจจะยังไม่ได้รู้จักตัวตนของเขาว่า “ทำไมใครๆต่างก็รักเขา” เพื่อนๆจึงช่วยให้คำตอบว่า

คเชนทร์ : “คนไม่ดังถูกหวยยังขึ้นหนังสือพิมพ์ได้เลยครับ แต่ที่พวกเราที่ทำกันมาขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะว่าตั้มเป็นคนดัง แต่เพราะตั้มเป็นคนดี ทุกคนรักเค้า เค้าเป็นคนน่ารักมาก และตัวเค้าก็รู้จักคนเยอะ พอทุกคนเหล่านั้นมาร่วมกันช่วยเค้า มันเลยเกิดกระแสของการพูดถึง”

ฑีฆาวัฒน์ : “ตัวเค้าก็คือคนดีคนหนึ่งที่รู้จักคนเยอะๆ ด้วยความที่เค้าไม่ได้เก่งอย่างเดียว เค้าเป็นคนน่ารักด้วย เค้าเข้ากับทุกคนได้”
 

พงศ์ภาสกร : “ผมว่าการที่เค้าทำงานเยอะนั่นคือส่วนหนึ่ง ด้วยฝีมือ ด้วยทักษะ ด้วยประสบการณ์ เค้าไม่เคยเป็นคนขี้เกียจ เวลาทำงานทุกอย่างมันมีแต่บวกมาตลอด ใครจะให้เขาช่วยทำอะไร เค้าทำหมด เวลาเพื่อนพ้องจัดงานการกุศลทุกอย่างเขาช่วย”
 

ฑีฆาวัฒน์ : “เค้าเป็นคนสองด้านครับ ด้านหนึ่งเค้าเป็นคนที่คอมเมอร์เชียลมาก ทำกับแบรนด์ดังๆได้ค่าทำงานสูง แต่อีกด้านเขาจะแบบ มาดิช่วย เราทำให้

คือถ้าเป็นระดับเค้าทุกอย่างมันต้องเป็นเงินหมด เพราะว่าเค้าเป็นตัวท็อปๆ ในวงการสตรีทอาร์ต แต่บางครั้งอย่างมีเพื่อนๆเปิดร้าน พี่ตั้มช่วยหน่อย เขาช่วย อย่างล่าสุดเขาออกแบบโลโก้ให้ร้านแผ่นเสียงของเพื่อน เขาทำแลกกับขนมจีน เพราะเพื่อนคนนี้เขาทำขนมจีนน้ำเงี้ยวเก่งมาก พี่ตั้มมาออกแบบโลโก้ให้หน่อย เดี๋ยวทำน้ำเงี๊ยวให้ เขาก็จะบอก ได้ดิๆ เขาเป็นคนหลายมิติมาก”

คเชนทร์ : “ไม่ได้อวยเพื่อนนะ ตั้มเขาเป็นคนที่บุกเบิกให้งานศิลปะเข้ากับคอมเมอร์เชียลได้ ทำให้เด็กหันมามองมากกว่าคนอื่นๆทำให้แบรนด์ต่างๆรู้สึกว่าต้องเอาศิลปินคนนี้มาทำงาน”

พงศ์ภาสกร : “ตั้มเขาอยู่วงการคอมเมอเชียลมานานแต่ความเป็นอาร์ตของเขาก็มีมาตั้งแต่เรียนแล้วนะ สิ่งที่เขาทำ ตั้งแต่เรียน เราก็รู้แล้วว่าเราจะทำอะไรกัน ในระหว่างที่ทำคอมเมอเชียล เขาก็ค่อยๆปูความเป็นศิลปะให้ลูกค้าเข้าใจ เบรนด์ทุกสิ่งทุกอย่าง คือพูดง่ายๆว่าเขาก็สามารถแยกโหมดได้ ทั้งงานศิลปะเพียวๆและคอมเมอร์เชียล มันไม่เหมือนคนที่ทำคอมเมอเชียลอย่างเดียว ที่ไม่มีอะไรตอบกลับมาให้สังคมเลย

เขาสามารถทำงานอาร์ต มาทำให้เขาสามารถอยู่ได้ เลี้ยงชีพได้ เอางานศิลปะไปทำให้แบรนด์โด่งดังได้ ซึ่งนี่มันเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับศิลปิน

ที่ผ่านมารุ่นพ่อแม่เรา ศิลปิน คือ ไม่มีอะไรจะกิน ไส้แห้ง ทุกคนก็รู้ แต่ว่าทำไมตั้มทำให้แบรนด์ดัง หรือแม้กระทั่งเด็กที่ยังเรียนหนังสือที่ชอบวาดรูป กลับมาวาดรูป มันคือสิ่งที่เขาปูทาง”

ปลื้ม “พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” ชอบกิน “ส้มตำ”

ถ้าใครที่สนิทมาก จะทราบว่า นักร้องคนโปรดของตั้มคือ ปู- พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ รองลงมาคือ ตูน บอดี้สแลม และศิลปินสาวกรันจ์ของไทยอย่าง อรอรีย์ ซึ่งก่อนที่ตั้มจะเสียชีวิตหลายคนทราบดีว่า พงษ์สิทธิ์ได้ส่งคลิปไปให้กำลังใจด้วย

คเชนทร์ : “เขาเป็นคนที่ดูคอนเสิร์ตพี่ปู และตามตลอด ไม่ว่าไปเล่นที่ร้านไหน ถ้าเขามีเวลา เหมือนเป็นมุมพักผ่อนของเขา เขาร้องได้ทุกเพลง ล่าสุดพี่ปูไปทัวร์ที่เมลเบิร์นในย่านที่มีชื่อเสียง เขาก็ไปช่วยงาน วาดตัวคาแรคเตอร์ทำโปสเตอร์ให้ ก็เลยทำให้เกิด Mr.HellYeah ภาคคัมภีร์”
 

ฑีฆาวัฒน์ : “เขาเป็นคนมั่นใจในตัวเอง เขาจะไม่หลอกคนอื่นว่าตัวเองเท่ห์ฟังเพลงเจ๋ง ไม่อายที่จะบอกว่าชอบฟังพงษ์สิทธ์ คัมภีร์ ชอบกินส้มตำ ไม่อายในสิ่งที่เป็นตัวของเขาเอง นั่นคือสิ่งที่เป็นความน่ารักของเขา เขาจะบอกเสมอว่า กูเป็นเด็กบ้านนอก เป็นเด็กช่างนะโว้ย เมื่อก่อนกูฟังเพลงเห่ยๆตีสนุ๊ก”

พงศ์ภาสกร : “เขาเป็นเด็กอาชีวะมาก่อน เป็นเด็กอาชีวะซิ่วมา แล้วเบนสายไปเข้ารังสิต เหมือนมารู้สึกอีกทีว่าตัวเองชอบกราฟฟิก

มีเพื่อนๆกลุ่ม b.o.r.e.d หลายคนที่ผ่านมาเข้าๆออกๆ เขาก็ยังรู้ว่า เราจะทำอะไรต่อไป อะไรเป็นงานที่เราจะต้องทำเพื่อส่วนรวม ทำแล้วไม่ได้สตางค์ แต่มันสร้างอะไรให้วงการกราฟิก เขาก็ยังทำอยู่ ถึงแม้ว่างานจะยุ่ง ทำแล้วไม่ได้สตางค์ อย่างน้อยก็มีผลงานออกมา เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ตอนที่ไม่มีสตางค์กันเลยนะ

เอางานมาทำเสื้อ ทำโปสเตอร์ ตอนนั้นเหลือกันอยู่สามสี่คนนั่งทำงานที่บ้านเขา เอาบ้านมาเป็นออฟฟิศ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นบ้านเพื่อนอีกคน

จนพ่อเขาบอก ลูกลองไปทำงานประจำดีกว่า ตอนนั้นเราดื้อมาก เราไม่อยากทำงานประจำ
แต่ถึงเวลาทุกคนก็ต้องทำงานประจำ พอเลิกงานปุ๊บทุกคนก็จะกลับมากลางคืน เพื่อมาทำงาน กลุ่ม b.o.r.e.d ส่วนผมจะเป็นคนที่ดิวกับลูกค้า ไม่ทำงานประจำ”

Best Illustrator Style Icon

ตั้มจากไปในวันที่เขาขึ้นรับรางวัล Best Illustrator Style Icon ในงาน Cheeze Award 2013 เพียงไม่กี่วัน ไม่ว่าการจากไปเขาจะสร้างความเสียดายให้กับวงการหรือเพื่อนและครอบครัวแค่ไหน แต่อย่างน้อยๆกระแสที่เกิดขึ้นท่ามกลางการจากไปของเขา ก็ได้ทำให้คนจำนวนมาก หันมามองศิลปินรุ่นใหม่มากขึ้น

ก่อนหน้านี้เขาเคยบอกเล่ากับเพื่อนๆเช่นกันว่า ได้ทำในสิ่งที่เคยฝันอยากทำมากแล้ว

คเชนทร์ : “เขาก็เคยบอกว่าจุดที่เขายืนว่าจุดที่มันสุดมากของเขา เขาได้ทำทุกอย่าง เป็นโอกาสที่มาเร็วในด้านงานของเขา”

พงศ์ภาสกร : “ตั้มกำลังวางแผนที่เริ่มออกไปสู่อินเตอร์ เราก็เคยคุยกันมานาน อดหลับอดนอนเพื่อที่จะทำตามความฝันตรงนี้ จริงๆการออกแบบตัวคาแรคเตอร์เขาชอบมาตั้งแต่ตอนเขาทำกราฟิก เขาวาดมานานแล้ว แต่ถ้าเขาทำเมื่อสิบปีที่แล้ว มันก็อาจจะยังเลี้ยงชีพไม่ได้ เขาก็ต้องทำงานอย่างอื่นเพื่อฝึกทักษะมาเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งฝันว่าจะได้ร่วมงานกับแบรนด์ที่เขาชอบ วันหนึ่งตัวคาแรคเตอร์ของเขาสามารถเป็นตัวไวนิลขึ้นมาได้ และเริ่มออกสู่อินเตอร์ ทุกอย่างเขาทำตามความฝัน

ถ้าเทียบกับสองสามปีที่เขาทำตัวคาแรคเตอร์ เทียบกับผลงานที่เขามี ถ้าเทียบกับศิลปินคนอื่นในสมัยก่อน น่าจะต้องใช้เวลาสี่ถึงห้าปี ”

ฑีฆาวัฒน์ : “หลายคนบอกว่าเป็นจุดที่พีคที่สุดสำหรับเขา เพราะเขาร่วมงานกับแบรนด์ดังเยอะมาก”


วงการศิลปะไม่เคยยอมรับคนอย่างพวกเรา

“ก็แค่กราฟิกดีไซเนอร์ ศิลปินสตรีทอาร์ตคนหนึ่งที่ทำงานคอมเมอเชียลอาร์ต เสียชีวิต ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมมากมาย”

คือคอมเม้นท์บางส่วนที่มีตามมา หลังจากที่ข่าวการเสียชีวิตตั้มถูกนำเสนอผ่านสื่อมากมาย และได้สร้างความเสียใจให้กับบรรดาเพื่อนๆของตั้มอยู่ไม่น้อย และอยากจะเป็นตัวแทนตั้มบอกกล่าวไปยังเจ้าของคอมเม้นท์และสังคมว่า

พงศ์ภาสกร : “จริงๆก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะพูดมานานแล้วนะ ผมพูดในฐานะคนที่ทำงานในมุมคอมเมอเชียล คือคนทำคอมเมอร์เชียล หรือทำแบบตั้มมีเยอะมาก แต่ส่วนตัวพวกเรา เรารู้สึกว่า เราเป็นคนที่ทำได้ทั้งงานคอมเมอเชียล และงานอาร์ตเพียวๆ

ผมเคยพูดกับตั้มเลยว่า เราอยากจะแสดงงานมาตั้งนานแล้ว แต่วงการศิลปะไม่เคยยอมรับคนอย่างพวกเรา แต่พอเราไปอยู่เมืองนอก เราได้แสดงงานในแกลเลอรี่ที่ใหญ่โต แต่ทำไมคนแบบพวกเราอยู่เมืองไทยแล้ว ไม่มีไฟเขียวให้เรา

มันมีหลายกรณีที่เพื่อนของเพื่อนที่ไกลๆหน่อยที่เค้าไม่รู้จักตั้ม พอเขาเห็นข่าว เค้าเข้าไปเซิร์ทดู ตอนแรกเขาเห็นผลงานเค้าจำแค่ตัวคาแรคเตอร์เค้าก็จะรู้สึกเฉยๆ แต่พอเข้าไปดูว่าคนๆนี้ทำอะไรบ้าง ดูทักษะ ดูงานที่ทำที่ผ่านมาในสิบปี ทุกคนจะยอมรับว่าคนๆนี้มีฝีมือจริงๆเป็นคนเก่งจริงๆ บางคนเห็นแค่ลายเซ้นต์ ก็บอก ทำไมแค่นี่ก็ดัง”
 

คเชนทร์ : “อย่างเมืองไทยกว่าคิวเรเตอร์จะเลือก ถ้าไม่ดังขึ้นมา หรือเป็นกระแส ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้แสดง เราก็พิสูจน์แล้ว ว่าเราไม่แสดงแกลเลอรี่ที่เมืองไทย เราจะพิสูจน์ให้เค้าดูเลยว่า คอมเมอเชียลแบบเรา เราก็มีโหมดที่ไฟน์อาร์ต ซึ่งที่เมืองนอกเขาก็ดูเราที่ไฟน์อาร์ต และเราทำไมต้องเพียวอาร์ตอย่างเดียวเราต้องหาเงินขายภาพจากเพียวอาร์ตอย่างเดียวหรือ

ผมก็เคยสอนลูกศิษย์เพราะเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิตด้วย เด็กเขาอยากจะทำงานภาพถ่ายอาร์ตอย่างเดียวไม่อยากจับคอมเมอเชียล ผมก็ถามว่าคุณทำทั้งสองอย่างด้วยกันไม่ได้เหรอ คือตอนผมจบมา ผมก็มีปัญหาเรื่องนี้ ด้วยวัฒนธรรมของคนไทยที่ว่า คุณเป็นอาร์ตติสต์ก็ต้องอาร์ตติสต์เลย คอมเมอเชียลก็คอมเมอเชียล

ผมอยากจะบอกว่าคนที่พูดแบบนั้นเขาปิดมาก และเป็นคนเจนเนอเรชั่นเก่า มันก็เลยกลับไปที่ว่าเขายังรับงานสตรีทอาร์ตไม่ได้ กล่าวหาว่าสตรีทอาร์ตเป็นคนมือบอน แต่ทำไมที่เมืองนอกคนถึงยอมรับ แบงก์ซี่ (Banksy) ที่กลายเป็นคนที่ดัง รวยร้อยล้านพันล้านขึ้นมา

เมื่อก่อนที่เมืองนอกไม่เคยมีใครยอมรับแบงก์ซี่ แต่ตอนนี้เค้ายอมรับกันแล้ว คนที่ไม่ยอมรับคุณอยู่เจนเนอเรชั่นเก่า

เมื่อก่อนศิลปินไส้แห้ง แต่ปัจจุบันเราอยากจะให้เด็กเห็นตั้มแล้วเชื่อว่า เราหาเงินได้นี่หว่า ขณะเดียวกันเราก็ทำศิลปะเพียวอาร์ตได้ และด้านหนึ่งเราก็มีตังส์จากคอมเมอเชียล ผมเชื่อว่าตั้มน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กที่เรียนศิลปะรุ่นนี้รู้สึกว่า เค้ามีโอกาสนี่หว่า มันไม่ได้ไส้แห้งเหมือนสมัยก่อน

มันเดินไปด้วยกันได้ มันต้องประนีประนอม ผมเชื่อว่าอาร์ตติสต์ทุกคนรู้หมด อะไรคือเพียวอาร์ต อะไรคือคอมเมอเชียล
คนที่ตั้งคำถามอันนี้มา ผมว่าเค้าเป็นคนใจแคบมาก และผมว่าเค้าเป็นคนเจนเก่า ผมไม่ได้ตอบด้วยอารมณ์ แต่ผมคิดว่ายุคนี้โลกมันมีอินเตอร์เน็ทแล้ว มีเฟซบุ๊ค มีโซเชียล คุณไม่ได้เห็นแค่งานที่มันอยู่ในแกลเลอรี่”

ฑีฆาวัฒน์ : “ผมว่าคำว่าประนีประนอมดีที่สุด คุณไม่ชอบอะไรบางอย่าง คุณลองเปิดใจไหม แล้วมองว่ามันมีอะไรในนั้นไม๊ อย่างคุณบอกว่าผมโคตรเกลียดเพลงป๊อบเลย แต่ตอนท้ายคุณอาจจะยังชอบมันอยู่ก็ได้”

“ผมคงไม่ฟังเพลงร็อกแอนด์โรลหรือเพลงจังหวะเร็วๆ ในช่วงที่ร้องไห้หรอก” คเชนทร์ กล่าวทิ้งท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : วารี น้อยใหญ่

และขอบคุณภาพจากเพจ MAMAFAKA และ RIPMAMAFAKA





MAMAFAKA คือ นามแฝงของ ตั้ม – พฤษ์พล มุกดาสนิท ที่เพื่อนเล่าว่า ใช้มาตั้งแต่ตั้งกลุ่มดีไซเนอร์ กลุ่ม b.o.r.e.d และบ้างก็ว่าใช้มาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ตอนที่เริ่มหัดวาดรูป

ฑีฆาวัฒน์ : “เขาเคยบอกผมว่าใช้ตั้งแต่ตอนเด็กๆ และใช้ชื่อพลาดไปนิดหนึ่ง(หัวเราะ)เรื่องจริงเลยคือมีที่มาจาก Mama Faker เพราะเขาบอกว่าตอนนั้นเขาไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษเยอะ เขาก็เลยใช้คำด่ามาปรับเป็น MAMAFAKA พอมาถึงจุดหนึ่งที่ ตายแล้วเว้ย กูเริ่มมีชื่อเสียง เปลี่ยนไม่ได้แล้ว อย่างหลายแบรนด์ที่เมืองนอกพอเห็นชื่อ MAMAFAKA ฝรั่งเขาจึ๊กเลย แต่ท้ายที่สุดก็ปรับนิดนึงเป็น MMFK ก็เลยยอมรับกันได้ “

ส่วนที่มาของตัวคาแรคเตอร์ Mr.Hell Yeah!

คเชนทร์ : “ ตอนนั้นเขาจะไปเรียนที่เมลเบิร์น ตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณา ไปเรียนต่อที่เมลเบิร์น และก่อนไปเขามีงานที่ทำกับพี่ P7 ซึ่งตั้มนับถือเป็นอาจารย์ และตอนนั้นกลุ่ม For แสดงครั้งแรก ที่หอศิลป์กรุงเทพ

Mr.Hell Yeah! ที่เห็นมีสองตา นั่นแหล่ะคือตัวเขา พอไปเรียนที่เมลเบิร์น และบ้าจักรยาน ขอพื้นที่ร้านจักรยานเพ้นท์งาน เพราะที่เมลเบิร์นจะดังเรื่องสตรีทอาร์ทมาก ตั้มก็ไปวาดให้เขาฟรี นับตั้งแต่นั้น ก็เลยมีตาเดียว เนื่องมาจากพื้นที่แคบ”

และที่มีหนวด เพราะที่เมลเบิร์น ฝรั่งจะนิยมไว้หนวดทรงเขาควายต้อนรับเทศกาล Movember (มาจากสองคำ คือ “November” ที่แปลว่าเดือนพฤศจิกายน กับ “mustache” หรือคำสั้นๆ คือ “mo” ที่แปลว่าหนวด) และพัฒนาเรื่อยมา

เพื่อนๆบอกว่าตั้มไม่ได้เริ่มต้นจากสตรีทอาร์ต เพิ่งมาหัดพ่น หัดทดลองในช่วงหลัง ไม่ได้เริ่มจากการทำงานที่สเก็ตด้วยมือมาก แต่พัฒนามาจากการทำกราฟิก ทำงานในคอมพิวเตอร์

พงศ์ภาสกร : “เขา เก่งเรื่องฟอนต์ เก่งวางเลเอาท์ เก่งกราฟิก เขาเก่งมาก แต่การออกแบบคาแรคเตอร์มันเป็นอีกสิ่งที่ที่เขาทำตั้งแต่เรียนแล้ว สมัยเรียน เขาสร้างตัวคาแรตเตอร์ขึ้นมาหลายตัวมาก เพราะเราทำฟรีแลนซ์ให้กับแมกกาซีน ออกแบบตัวคาแรคเตอร์เยอะมาก แต่ตอนนั้นเป็นวัยเด็ก ยังไม่มีการเรียนรู้เรื่องการสร้างแบรนดิ้งอะไรขนาดนั้น แค่อยากทำอะไรก็ทำ แต่พอเขาเริ่มมาอยู่ในวงการโฆษณา โตขึ้น เขาก็รู้ว่า ยังอยากทำตัวคาแรคเตอร์ที่เขาชอบอยู่”

วินาทีก่อนเสียตั้ม เล่าโดย โจ๊กเกอร์ – ฑีฆาวัฒน์ ปัทมคม เพื่อนสนิทและหุ้นส่วนธุรกิจ URFACE

“35 ชั่วโมงที่ยาวนานที่สุดในชีวิต… ผมอยู่ในห้องน้ำตอนที่ตั้มลงไปในทะเลกับเพื่อนอีกคนโดยที่ว่ายน้ำไม่เป็นทั้งคู่ เขากลับมาหาดในตอนที่คนมุงปฐมพยาบาลให้ตั้มแล้ว จากนั้นก็รีบขับรถตามรถพยาบาลไปที่โรงพยาบาลป่าตอง ตั้มได้หยุดหายใจแล้วเมื่อไปถึง หมอได้ทำ CPR… จนหัวใจของตั้มกลับมาเต้นอีกครั้ง เนื่องจากเครื่องมือไม่พร้อม หมอต้องการให้ผมตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลด่วน ผมเลือกโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือที่สุดบนเกาะคือโรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อนขึ้นรถพยาบาล หมอบอกกับผมว่า ถ้าคนไข้หัวใจหยุดเต้นอีก ตั้มจะจากไปทันที

รถออกจากโรงพยาบาลไม่ถึง 5 นาที พยาบาลหลังรถตะโกนว่าชีพจรตั้มหยุดเต้นอีกครั้ง คนขับกลับรถกลับรถไปที่โรงพยาบาลเดิมทันที ผมจำได้ว่าผมหมดหวังและบ้าคลั่งอยู่ในรถ แหกปากด่ารถข้างหน้าที่ไม่ยอมเปิดทาง เมื่อไปถึง หมอทำ CPR ครั้งที่สอง หัวใจตั้มกลับมาเต้นทันที เดินทางไปโรงพยาบาลกรุงเทพอีกครั้ง เมื่อไปถึงหมอซักถามทุกอย่างละเอียดยิบ เครื่องมือในห้องฉุกเฉินดูดีกว่าเป็นร้อยเท่า

10 นาทีต่อมา หมอออกมาบอกว่าต้องย้ายตั้มไปห้อง ICU เพราะตั้มเพิ่งจะหัวใจหยุดเต้นเป็นครั้งที่สาม แต่ก็กลับมาทันทีหลังทำ CPR ครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมความดันที่ดีขึ้นมาก 5 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่มใน ICU ตั้มอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีความหวัง ประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง หมอเรียกผม,น้องแจนแจน และเบิร์ต cheez เข้าไปฟังอาการ ทุกคนมั่นใจว่าจะเป็นข่าวดี แต่หมออธิบายรายละเอียดพร้อมบอกว่า ตั้มมีโอกาสกลับมา 30% โดยต้องคอยหมอใหญ่เฉพาะทางมาวินิฉัยตอนเช้า เพื่อนสนิทตั้มอีกสามคนคือ พี่เชน พี่ปอ กบ เดินทางมาสมทบกลางดึกคืนนั้น ทุกคนคอยผลัดกันเข้าไปคุยกับตั้มถึงเช้าจนคุณหมอมา คุณพ่อคุณแม่ตั้มมาตอนบ่ายกับความเข้มแข็งเต็มเปี่ยม พร้อมเพื่อน ๆ ที่ตามมาสมทบเรื่อย ๆ

เราทุกคนรวมทั้งตั้มสู้กันทุกวิธี ทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ เราหมดหวังและมีความหวัง เราร้องไห้และเราฮึดสู้กันทั้งวันทั้งคืน จนถึงเวลา… ตั้มก็จากไปตอนเวลาเกือบตีสาม ไม่เคยคิดว่าจะมีประสบการณ์เหมือนในหนังที่ตะโกนข้างหูเพื่อนให้ตื่น ในขณะที่คลื่นหัวใจลดลงเรื่อย ๆ จนเป็นเส้นตรง ตั้มคือ best friend, business partner and brother ตั้มคือคนที่ทำให้ผมไม่สนใจคำเตือนของผู้ใหญ่ตั้งแต่เด็กว่า “ไม่ควรทำธุรกิจกับเพื่อน” เราสร้างแบรนด์กระเป๋า urface ขึ้นมาด้วยกัน เรามีความฝันร่วมกันที่จะพามันไปให้ถึงศูนย์กลาง street wear โลกอย่าง tokyu london newyork sanfran เราเดินก้าวแรกสำเร็จไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากสินค้าถูกชิพออกไปหาลูกค้าไต้หวันครั้งแรก และกำลังรอเดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เราคือส่วนผสมที่ลงตัว ตั้มคือศิลปินที่เข้าใจในระบบคอมเมอร์เชียล ผมคือเป็นผู้บริหารที่บ้าดนตรีและศิลปะ เราเลยไม่เคยมีปัญหาใหญ่ในการทำงานร่วมกัน แถมสนุกขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ตอนนี้ผมอยู่บนเครื่องบินกับตั้ม แต่มันไม่สนุกเหมือนกับทุกครั้งที่เราชอบบินไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน ตอนนี้ผมนั่งอยู่ข้างบน ส่วนตั้มนอนอยู่ข้างล่าง ผมคงไม่ต้องสาธยายว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนนิสัยดีขนาดไหน เพราะทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว ผมเลยไม่แปลกใจที่ร่างทรงคนทางในทุกคนถึงพูดเหมือนกันว่าตั้มมันบุญเยอะและเนื้อหอม สัมภเวสีเลยต้องการตัว แหม ฮอตจริงนะมึง ! ตั้ม..ขอบคุณที่มึงให้กูอยู่กับมึงตั้งแต่วินาทีแรกที่มึงมีปัญหาจนถึงวินาทีสุดท้ายที่มึงไปสบาย ตอนนี้กูก็ยังงง ๆ อยู่ว่าเรื่องที่เราต้องสานต่อด้วยกันมันจะไปทางไหน ขอบคุณประสบการณ์ดี ๆ และเลว ๆ ที่เราทำมาด้วยกัน ขอบคุณสิ่งที่มึงสร้างสรรค์ขึ้นมาให้วงการและเด็กรุ่นหลัง ไม่ว่ามึงจะอยู่ที่ไหนทุกคนก็เชื่อว่าต้องเป็นที่ ๆ สวยงามจากสิ่งที่มึงสะสมมา โชคดีนะตั้ม พวกเราจะพยายามช่วยเหลือครอบครัวมึงเต็มที่ แล้วกลับมาเป็นเพื่อนกันอีกนะ รักมึง”

ประวัติ ตั้ม – พฤษ์พล มุกดาสนิท

เกิดที่ จ.ขอนแก่น จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรม สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากนั้นได้เริ่มทำงานที่บริษัท Ogilvy & Mather และ Creative juiceBangkok ระหว่างที่เริ่มทำงานได้ร่วมสร้างกลุ่ม b.o.r.e.d ควบคู่กันไปด้วย ได้รับรางวัลในสาขากราฟฟิคดีไซน์จาก B.A.D award, Adsman, Adfest, British council etc. มีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์และมีเดียต่างๆ มากมาย รวมทั้งยังเป็นผู้จัดงานนิทรรศการ Ride a life ซึ่งเป็นการแสดงงานศิลปะเกี่ยวกับจักรยาน

ช่วงปี 2011เป็นต้นมา ได้เริ่มปรับตัวเป็นดีไซน์เนอร์อิสระ ทำงานภาพประกอบ กราฟิกดีไซน์ รวมไปถึงงานด้านสตรีทอาร์ท ได้สร้างงานคาร์แรคเตอร์ที่เด่นชัดชื่อว่า “Mr.Hell Yeah!” ตัวการ์ตูนที่เน้นดวงตากลมโต มีหนวด และขนทั่วทั้งตัว

ปัจจุบันมีผลงานที่เกิดขึ้นจากการได้ร่วมทำงานกับแบรนด์ชื่อดังต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Converse, VANS, K-Swiss, Billabong, Preduce Skateboard, CE Toys, M150, ISUZU, Smirnoff, V.O.X, YAMAHA, TIGER BEER

และก่อนที่จะเดินทางไปร่วมงาน “Rip Curl Girls Go Surfing Day 2013” ที่ภูเก็ต กระทั่งประสบเหตุจมน้ำทะเลเสียชีวิต เขาก็เพิ่งขึ้นรับรางวัล Best Illustrator Style Icon ในงาน Cheeze Award 2013 ของนิตยสารเล่มเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2556

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It