ART EYE VIEW—งานชุมนุมทางความคิด (Creativity Unfold) หรือ CU 2013 จัดโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่มีไฮไลท์สำคัญอันหนึ่งอยู่ที่ มีแขกรับเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ชาวต่างชาติและไทยที่ประสบความสำเร็จ มาช่วยจุดไฟไอเดียให้ลุกโชนด้วยสิ่งที่ “ซ่อน” ในตัวตนของทุกคน ผ่านการบรรยายที่จัดขึ้น 2 วันเต็มที่ผ่านไปแล้วนั้น
ART EYE VIEW มีเก็บตกมาฝาก เผื่อว่าหลายคนที่ไม่ได้มีโอกาสร่วมงาน อยากจะทราบว่า แขกรับเชิญทั้ง 8 ท่าน มีคำแนะนำเพื่อเป็นการจุดไฟไอเดียให้กับทุกคนอย่างไรบ้าง
ยุน ซี ลี รองประธานทีมนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ระดับโลก บริษัท Samsung Electronics America ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกว่า 20 ปี ในแวดวงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับซัมซุง
“ผลงานที่ดีที่สุด ต้องออกจากสภาวะที่สมดุลที่สุดผ่านการใช้สมองทั้ง 2 ซีกของนักออกแบบ และการออกแบบที่ไม่มีอคติ จะให้งานออกแบบนั้นมีคุณค่าสูงสุด โดยจะต้องก้าวพ้นจากอคติของตัวเอง มองให้เห็นบริบทล้อมรอบ มองสิ่งตรงข้ามให้ชัดเจน แล้วเราก็จะสร้างความสมดุลในตัวตนและงานของเราได้ในที่สุด”
ดอน แท ลี ประธานร่วมของบริษัทที่ปรึกษา Tangerine ผู้พลิกผังที่นั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจให้กับ British Airways เพิ่มรายได้ต่อปีถึง 738 ล้านเหรียญสหรัฐ เผยกฎ 3 ข้อของการออกแบบว่า
“ออกแบบจากลูกค้า, ออกแบบจากสิ่งที่สั่งสมมา และออกแบบไร้กรอบใดๆ สิ้นเชิง ทั้งหมดต้องอยู่บนพื้นฐานเส้นทางธุรกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ ค้นหาความจำเป็นของลูกค้าให้เจอ แล้วแก้ปัญหานั้นให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอความคิดนั้นให้ออกมาเป็นรูปธรรม และมีกระบวนการถ่ายทอดความคิดนั้นสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง ภายใต้วิธีการตลาดเพิ่มกำไรให้บริษัท”
ได ฟูจิวาระ นักออกแบบผู้ฉีกกรอบแฟชั่น เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย Issey Miyake
ไดมีแนะนำว่า ให้ดีไซเนอร์ออกไปตามหาแรงบันดาลใจ และลองเปลี่ยนตัวเองเป็นนักสำรวจเพื่อสร้างงานให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด
นาโอโตะ ฟุคาซาวา นักออกแบบผู้สร้าง MUJI เครื่องใช้ในบ้านและสำนักงาน บนความเรียบง่ายแต่ไม่ธรรมดา ผู้มาพร้อมกับความ “น้อยแต่มาก”
เขาชักจูงนักออกแบบให้คิดงานจากปัจจัยความกลมกลืน เรียบง่ายและสัมพันธ์กันไปทุกส่วน คำนึงถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง
มาร์ค สติกดอร์น ผู้ร่วมเขียนหนังสือ This is Service Design Thinking และผู้เชี่ยวชาญการออกแบบบริการสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว
ผู้มาขยายคำนิยามและทะลายกำแพงความคิดว่าด้วยประโยคสั้นๆที่ชวนให้ไปคิดต่อว่า …งานดีไซน์ไม่ใช่แค่โปรดักส์
คริส ดาวน์ส ผู้ร่วมก่อตั้ง livework และบุกเบิก Service Design ในอังกฤษ รวมทั้งกำหนดทิศทางของบริษัทออกแบบประสบการณ์ Method
เสนอว่าให้ดีไซเนอร์หรือนักออกแบบนั้น ออกแบบโดยค้นหาความต้องการของคน แล้วนำเสนอรูปแบบความคิดผ่านการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เขาบอกว่าธุรกิจใหม่หลายแห่งเกิดขึ้นได้ เพราะรู้จักส่วนลึกจิตใจคน อย่าง Airbnb ที่ให้บริการเปลี่ยนอพาร์ทเม้นต์ว่างเป็นโรงแรม เป็นต้น
แอนดี มีอาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Bio-ethics และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยแบบสหวิทยาการ Creative Futures Institute
“ดีไซเนอร์ควรคำนึงว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการออกแบบจะเปลี่ยนแปลงไปตามความผันแปรของมนุษยชาติและเทคโนโลยีทางชีววิทยา เช่น อนาคตยีนมนุษย์จะเปลี่ยนไป อาจแข็งแกร่งขึ้นและมีพฤติกรรมแปลกแยก ยาเม็ดเดียวอาจรักษาโรคร้ายได้ นั่นทำให้เราก็ต้องออกแบบความเสี่ยงที่จะมาเป็นแพ็คคู่กับความสำเร็จด้วย”
ปิดท้ายด้วย อุดม แต้พานิช ศิลปินผู้จับเรื่องธรรมดาใกล้ตัวมาสร้างอารมณ์ขันโดนใจและจุดกระแสการตลกเดี่ยวในประเทศไทย
อุดมให้เคล็ดลับกับนักออกแบบไทยว่า หัดใช้ความรู้สึกตัวเองให้เป็น ถ่ายทอดงานนั้นจากสัญชาตญาณแล้วทำมันออกมาให้ง่ายที่สุด เห็นความสำคัญของสิ่งเล็กๆ ว่ามีคุณค่า และบอกอีกว่า “อาหารและสปา” คือเทรนด์ออกแบบที่น่าจับตาสุดๆ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.