Art Eye View

เมื่อศิลปะประกาศความ Noid ของมนุษย์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เราเคยได้ยินเสียงในใจตัวเองกันหรือไม่ เชื่อเหลือเกินว่าบนโลกกลมๆอันยุ่งเหยิงที่มีมนุษย์เป็นผู้เล่นหลักใบนี้ บ่อยครั้งที่มนุษย์ต้องพูดกับตัวเอง อาจเป็นเพียงเสียงกระซิบเบาๆ หรือเป็นเสียงตะโกนก้อง กู่ร้อง หลายๆครั้งเสียงนั้นเกิดจากเรื่องราวที่ผ่านเข้ามากระทบ ทั้งตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส และใจรับรู้ เรื่องเหล่านั้นเมื่อได้เข้ามาแล้ว บางครั้งมันผ่านเลยหายไปเหมือนลมผ่าน แต่บางครั้งมันสะกิดใจ ให้เรานึก ให้เรารู้สึก ให้เกิดการวิพากษ์ เกิดการตั้งคำถาม และอีกเช่นกันที่หลายๆครั้งเรื่องราวเหล่านั้นยังคงอยู่ วนเวียน ตกตะกอน ทั้งเรื่องที่ดีที่สร้างความสุขทั้งเรื่องที่โหดร้ายเหมือนหนามเสียดแทงหัวใจ การบอกเล่าสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้รับรู้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนก็เปรียบเสมือนหนทางการระบายสิ่งที่อัดอั้นเพื่อขยายพื้นที่หัวใจให้ได้รับสิ่งใหม่ๆบ้าง

“ศิลปินเองก็คือมนุษย์ประเภทหนึ่ง วิธีการทีเลือกเพื่อจะสื่อสารเรื่องราวที่ตกตะกอนในใจเหล่านั้น การทำงานศิลปะคือคำตอบ ”

จิตรกร อรรถวิท บุญวรรณ และประติมากร เปี่ยมจันทร์ บุญไตร เขาและเธอในวันนี้ พร้อมแล้วที่จะเปิดพื้นที่ในหัวใจให้ทุกท่านได้เยี่ยมชม

Human-Noid นิทรรศการแสดงศิลปะที่มีจุดเชื่อมโยงทั้งสองศิลปินทั้ง “เขา “ และ “เธอ ”เข้าไว้ด้วยกัน เป็นนิทรรศการศิลปะที่สะท้อน “เรื่องราวของมนุษย์” คำว่า Human-Noid เป็นการเล่นแร่แปรศัพท์คำว่า “Humanoid ” ที่คุ้นเคยกันในความหมายว่า เป็นสิ่งที่คล้ายมนุษย์ หรือเลียนแบบ

แต่ในนิยามของงานแสดงศิลปะครั้งนี้ของทั้งคู่คือ Human-Noid การแสดงความ Noid ของมนุษย์ โดยคำว่า Noid มาจากคำแสลงที่เป็นคำไทยๆ ซึ่งคนทั่วไปมักติดหูถึงความหมายของ อาการ คิดเยอะ คิดมาก จินตนาการแบบหวาดระแวงจนคล้ายกับอาการวิตกจริต และด้วยความเชื่อที่ว่าอาการ Noid เหล่านี้มีอยู่ในตัวเองทั้งเขาและเธอรวมทั้งเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก นิทรรศการในครั้งนี้ศิลปินทั้งสองจึงต่างใช้ทักษะที่ตนเองชำนาญ ทั้งงานจิตรกรรม และประติมากรรมเพื่อสื่อถึงความพิลึกพิลั่นทางจิตของมนุษย์ที่ซ่อนอยู่ไม่ว่าใครคนนั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม




อรรถวิท บุญวรรณ ศิลปินผู้ซ่อนตัวอยู่ในคราบหนุ่มออฟฟิศ เขาจบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโทภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันในโลกแห่งความจริงเขาทำงานเฉกเช่นมนุษย์เงินเดือนทั่วๆไปเพื่อดำรงอยู่ซึ่งพันธกิจบางอย่างในชีวิตของเขา แต่ในโลกคู่ขนานเขาคือศิลปิน สิ่งที่หล่อเลี้ยงและเป็นกำลังใจให้กับวิญญาณของเขาอย่างแท้จริงนั้น เขาใช้คำเรียกมันง่ายๆว่า การวาดรูป เขาบอกว่าเขาแค่ชอบวาดรูป วาดได้ตลอดเวลาทุกสถานที่ การเป็นคนพูดไม่เก่ง สิ่งที่พูดแทนตัวเขามาตลอดคือภาพวาด ”ภาพที่เขาสร้างเป็นเสมือนไดอารี่แห่งชีวิต “

อรรถวิท เลือกภาพใบหน้า ท่าทางของผู้คน มาเป็นสัญญะแทนความรู้สึก เรื่องที่เขาเล่าในแต่ละภาพมักเป็นเรื่องที่หมุนวนอยู่รอบตัวเขา ตัวละครในภาพมักจำลองมาจากตัวละครในชีวิตจริงที่ศิลปินมีความมีความเกี่ยวพันด้วย เรื่องราวในชีวิตจริงที่ดำเนินไปอาจดูราบเรียบธรรมดา และเป็นไปตามกลไกของการใช้ชีวิตที่อยู่ในระบบสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ฟันเฟืองชีวิตหมุนอย่างไร้จุดหมาย แต่ตรงกันข้ามตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในภาพวาดของเขากลับดูแตกต่าง กิริยาท่าทางที่ซ่อนความยอกย้อน เพ้อฝันเหนือจินตนาการ แววตาของบุคคลในภาพเหล่านั้นเปล่งประกายมีความหมายคล้ายกับจะล้อเล่นท้าทายกับสายตาของผู้ชม ดูเกินความจริงอย่างมีเลศนัย

แต่อย่างไร อรรถวิทมักซ่อนนัยยะอะไรบางอย่างในภาพเขียนของเขาเสมอ เมื่อมองอย่างผิวเผิน อาจเห็น ความตลกขบขัน น่ารัก เพลิดเพลินกับสีสันสดใส เส้นสายที่สนุกสนาน แต่เมื่อมองอย่างพินิจ ปล่อยใจให้ล่องลอยไปในโลกจินตนาการที่ศิลปินสร้างขึ้น เสียงที่ได้ยิน แว่วๆรอบตัว คือเสียงกระซิบที่ต้องเงี่ยหูฟัง เป็นเสียงจากความเหงาอย่างจับใจ ความโดดเดี่ยวและแปลกแยก ไม่ใช่เพียงแต่ศิลปินเท่านั้น แต่มนุษย์บนโลกที่ยังคงสวมบทบาทชีวิตทุกคนล้วนเป็นเช่นกัน

เปี่ยมจันทร์ บุญไตร ประติมากรหญิงรุ่นใหม่ เธอเคยฝากผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ไว้หลายเวที ทั้งในและต่างประเทศ แต่ด้วยภาระกิจเพื่อครอบครัวทำให้เธอหายไปจากเส้นทางสายศิลปะระยะหนึ่ง นิทรรศการศิลปะ HUMAN_NOID เป็นประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับเธอให้กลับมาเดินบนเส้นทางสายท้าทายนี้อีกครั้ง

งานแสดงในครั้งนี้เธอสร้างประติมากรรมขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อีกทั้งผลงานแนวทดลองเทคนิคอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ความงามที่เธอสื่อผ่านรูปร่างรูปทรงเหล่านั้น แต่มันเป็นประติมากรรมเชิงความคิด และด้วยการจัดวาง ขนาด ที่ศิลปินจงใจให้เกิดแรงปะทะอย่างหนักต่อความรู้สึกของผู้ชม จึงทำให้คล้ายเหมือนมีเสียงตะโกนออกมาจากลำโพงยักษ์เซอร์ราวน์รอบทิศทาง ส่งตรงจากความคิดและความรู้สึกภายในใจของเธอ

ผลงานประติมากรรมที่ผ่านมาของเปี่ยมจันทร์มักเป็นเรื่องราวชีวิตเธอแบบความฝันล่องลอย ชวนให้คนดูคล้อยตาม แต่ผลงานในครั้งนี้แตกต่าง เธอเลือกที่จะหยุดเล่าเรื่องชีวิตของตน เปลี่ยนมาทำงานอย่างวิพากษ์ ก้าวข้ามรูปแบบการทำงานประติมากรรมที่เธอเคยทำมาทั้งหมด

มุมมองในครั้งนี้เป็นทัศนคติของเธอที่มีต่อเรื่องวุ่นๆของมนุษย์ในสังคมโลก วิจารณ์สังคมแบบแสบๆคันๆและอัดแน่นไปด้วยความเข้มข้นของเนื้อหา ศิลปินเลือกใช้รูปแบบสัญลักษณ์ทางความคิดบางอย่างมาแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เช่นภาษามือ หรือการหยิบยืมรูปแบบที่เป็นไอคอนของประติมากรรมสมัยใหม่อย่าง The Thinker โดย Auguste Rodin และใบหน้าของผู้นำสำคัญๆของโลกมาใช้ในบริบทใหม่ เพื่อบอกเพื่อนร่วมสังคมถึง สภาวะการต่อสู้ ขัดแย้ง การ ฆ่า สงคราม ที่หมุนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากใคร แต่ทว่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ร่วมโลกอย่างเรานี่เอง

หากเสียงจากศิลปินร่วมแสดงเป็นเสียงกระซิบที่ต้องเงี่ยหูฟัง เสียงจากศิลปินหญิงตัวเล็กๆนี้กลับเป็นเสียงตะโกนที่ร่วมประสาน เสียงสบถ ก่นด่า เหน็บแนม เสียงหัวเราะที่ไม่ได้ขบขัน แต่เป็นตลกร้ายที่ควรระแวดระวัง เปี่ยมจันทร์ บุญไตร บอกว่าผลงานครั้งนี้เธอไม่ได้ใช้ผลงานศิลปะตัดสินผู้ใด แต่เป็นการระบาย ความนอย์ของมนุษย์อย่างเธอในวิถีทางศิลปิน ที่ไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน แต่เป็นเพียงผู้ทิ้งปริศนาขบคิดไว้ให้ผู้ชมที่ได้เข้ามาเสพผลงานของเธอ ตะกอนในใจที่เธอนำออกมาระบาย หากมีคนนำไปตกผลึก คิดต่อ เพียงเท่านั้น เธอก็ภูมิใจมากแล้ว

นิทรรศการศิลปะ Human-Noid โดย อรรถวิท บุญวรรญ และ เปี่ยมจันทร์ บุญไตร เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม – 20 ธันวาคม พ.ศ.2556 พิธีเปิดนิทรรศการในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2556 เวลา 18.00 น.

ณ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ (Subhashok The Arts Centre หรือ S.A.C.) ซอยสุขุมวิท 31 แยก 2 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ สอบถาม โทร 0-2662-0299


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It