ART EYE VIEW—แม้ไม่ได้วางแผนไว้ เพราะถือฤกษ์สะดวกมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลงานศิลปะของ พร้อมธรรม วรวุฒิ
1 ใน 5 ศิลปินรุ่นใหม่ที่ถูกจัดไว้ในโปรแกรมแสดงศิลปะของ นิทรรศการศิลปะ Young Thai Contemporary Emerging ตลอดทั้งปีนี้ ของ Gallery D-9
ช่างเข้ากันดีกับบรรยากาศช่วงเวลานี้ ที่บรรดาเด็กๆทั้งหลาย กลับคืนสู่รั้วโรงเรียนอีกครั้ง
หลังจากที่ชมผลงานแสดงเดี่ยวของ เกศสุดา ลูกทอง, พัฒน ชื่นมะนา มาแล้วและก่อนที่จะได้ชมงานแสดงเดี่ยวของ ธีรวัฒน์ กอบกิจวัฒนะ และกฤษดา สุวิชากรพงศ์ เป็นรายต่อๆไป
ภาพของเด็กชายและเด็กหญิงในชุดนักเรียน ตลอดจนถ้วยรางวัล บนกระดาษข้อสอบ ซึ่งสร้างสรรค์ด้วยเทคนิควาดเส้น (ด้วยดินสอแบบที่เราหลายคนเคยใช้ฝนบนกระดาษข้อสอบ) และเทคนิควาดด้วยสีน้ำมัน ผลงานของพร้อมธรรมได้ถูกลำเลียงมาติดบนผนังของแกลเลอรี่ เพราะช่วงเวลานี้ เป็นคิวจัดแสดงเดี่ยวผลงานของเขา
“งานชุดนี้มันเป็นงานชุดที่ทำตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งพี่กล้า(กรกฎ ดวงเก้า ผู้จัดการ Gallery D-9 ) ขอยืมมาแสดง แนวคิดมาจากวัยเด็กของผมเอง บวกกับที่เห็นหลานๆสมัยนี้ ที่ต้องไปเรียนพิเศษตลอดเวลา หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน เรียนทุกวันเลย เรียนวันธรรมดาเสร็จปุ๊บ วันหยุดก็ต้องไปเรียนพิเศษอีก และผมมีความรู้สึกว่า ทุกวันนี้โลกมันมีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย พ่อแม่ก็มักจะคอยเคี่ยวเข็นให้ลูกต้องตั้งใจเรียน เพื่อจะได้สอบเข้าโรงเรียนดีๆต่อไป อะไรประมาณนี้
ผมก็เลยนำรูปแบบของพวกกระดาษข้อสอบ ถ้วยรางวัล สิ่งที่สังคมใช้เป็นตัวชี้วัดคุณค่า มาทำเป็นงาน ลอดทอน และจัดองค์ประกอบใหม่ แต่ให้ผู้ชมยังพอดูออกว่ามันคือกระดาษข้อสอบ เพื่อที่จะสื่อว่าเด็กแต่ละคนในภาพ ซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงตัวผมเองในวัยเด็ก มีชีวิตที่เติบโตขึ้นมากับโลกของการสอบ การแข่งขันตลอดเวลา”
ในวัยเด็กพร้อมธรรมมีชีวิตไม่แตกต่างจากเด็กนักเรียนในภาพของเขาเหล่านี้ ที่ถูกคาดหวังจากครอบครัว และต้องดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่สังคมให้คุณค่า
“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ที่บ้านชอบพูดบ่อยๆว่า ให้ตั้งใจเรียน ต่อไปจะได้หางานทำที่ดีๆได้ ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเรามันเหมือนถูกกำหนดให้ต้องดำเนินไปเหมือนวงจร เรียนเสร็จ ทำงาน มีครอบครัว แม้แต่ตอนที่เราทำงานออฟฟิศ ว่าไปแล้ววงจรชีวิตก็แทบจะไม่ต่างกันเลยกับสมัยเราที่เราเรียนชั้นประถม ชั้นมัธยม”
พร้อมธรรม วัย 27 ปี เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลงานวาดเส้นเด็กนักเรียนและภาพบุคคลบนกระดาษข้อสอบของเขาไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพียงชุดนี้เพียงชุดเดียวเท่านั้น แต่ยังต่อยอดมาเป็นงานอีกหลายชุด มีบางชิ้นเป็นภาพของเด็กนักเรียนทั้งชั้นราว 40 คน ซึ่งเคยถูกนำไปจัดแสดงในหลายโอกาส อาทิ เทศกาลศิลปะ Art Stage เมื่อปีที่ผ่านมา, งานแสดงเดี่ยวของเขา ที่ Richard Koh Fine Art ประเทศสิงคโปร์ และบางชิ้นถูกซื้อไปสะสมอยู่ในคอลเลกชั่นงานศิลปะของสิงคโปรอาร์ตมิวเซียมและคอลเลกชั่นส่วนตัวของนักสะสมในภูมิภาคนี้
เช่นกันในเดือนหน้านี้ ผลงานชุดใหม่ของเขาซึ่งวาดด้วยสีน้ำมันทั้งชุด ก็กำลังจะถูกนำไปจัดแสดงเดี่ยวที่เมืองลอดช่อง ณ แกลเลอรี่ที่เคยจัดแสดง
“งานชุดใหม่ยังอิงอยู่กับเรื่องของการศึกษาและครอบครัว แต่มีการสร้างรูปแบบที่มันน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม ตอนแรกที่ทำเป็นเรื่องของเด็กนักเรียน ตอนนี้เริ่มขยับมาทำเรื่องของครอบครัวมากขึ้น และเรื่องวงจรของการดำเนินชีวิตที่ต้องดำเนินไปในรูปแบบเดียวกัน ผมเริ่มจะมาโฟกัสตรงนี้มากขึ้น”
แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเขาในเวลานี้ จากรั้วโรงเรียน จึงขยายสู่การดำเนินชีวิตประจำวันของคนในสังคม แม้กระทั่งในงานวิวาห์
“ผมมองว่าเวลาที่คนไปงานแต่งงาน มันมีอะไรที่คล้ายๆกันบางอย่าง แม้แต่คนที่ต้องทำหน้าที่พูดในงาน พูดให้เกียรติเจ้าภาพ ลักษณะการพูดก็ยังคล้ายๆกันเลย ผมรู้สึกว่า ในการดำเนินชีวิตของคนเรา มันเริ่มมีความเป็นรูปแบบเดียวกันสูง”
พร้อมธรรมไม่ได้คาดหวังว่างานศิลปะของเขา จะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่อย่างน้อยน่าจะช่วยสะกิดให้สังคมได้กลับมาหยุดคิดได้บ้าง เป็นต้นว่าในช่วงเวลาที่เป็นนักเรียนอยู่ ก็น่าจะมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างผ่อนคลาย และเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ก็น่าจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในแบบของตนเอง ไม่ต้องดำเนินไปตามรูปแบบที่สังคมกำหนดเสมอไป
นิทรรศการศิลปะ Young Thai Contemporary Emerging โดย พร้อมธรรม วรวุฒิ
สะท้อนปัญหาสังคม การฝากลูกไว้กับสถาบันการศึกษา การที่เด็กคนหนึ่งถูกคาดหวังตั้งแต่เล็กจนโต โดยศิลปินหยิบเอาสัญลักษณ์ อาทิ กระดาษคำตอบ ถ้วยรางวัล ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้คุณค่า,ตัดสินความเป็นคน หรือเป็นสิ่งสังคมใช้ในการสร้างมาตรฐาน มาถ่ายทอด
วันนี้ – 24 มิถุนายน พ.ศ.2557 วันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 10.00- 19.00 น. (เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)
ณ Gallery D-9 เลขที่ 1085/5 ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ (ใกล้ตลาดราชวัตร) สอบถาม โทร.089-616-6868
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.