Art Eye View

จาก “ร้านสุนทรภู่” สู่ “สภาศิลปะฯ เมืองแกลง” และ “10 คนแกลงแสดงศิลป์”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—26 มิถุนายน 2556 อ.แกลง จ.ระยอง บ้านเกิดของ ท่านกวีเอก “สุนทรภู่” ได้ก่อเกิด “ร้านสุนทรภู่” ร้านหนังสือเล็กๆ ซึ่งประกาศตัวเป็นพื้นที่แห่งความสุขของคนรักการอ่าน โดยมี 2 สาวเมืองแกลง ฐอน – รัสรินทร์ กิจชัยสวัสดิ์ และ อ๊อบ – ณีรนุช เอี่ยมอารยา ผู้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดเป็นเจ้าของ

มาถึงปีนี้ นอกจากวาระ “228 ปี สุนทรภู่ ครูกวี” โอกาสที่ร้าน “อยู่รอดได้มาครบ 1 ปี” ตามคำกล่าวติดตลกของเจ้าของร้าน ได้มีบรรดา คนทำหนังสือ,นักเขียนชื่อดัง และนักอ่าน มากหน้าหลายตา ทั้งที่เดินทางไกลมาจากหลายจังหวัดและอยู่ในพื้นที่ ไปร่วมแสดงยินดี สร้างความอบอุ่นให้แก่เจ้าของร้าน ไม่น้อยไปกว่าวันแรกของการเปิดร้าน

อาทิ สันติชัย ตังสวานิช นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเมืองแกลง, ชมัยภร แสงกระจ่าง,จรัล หอมเทียนทอง,ขจรฤทธิ์ รักษา,พินิจ นิลรัตน์, อาทร เตชะธาดา,ดนุพล กิ่งสุคนธ์, แม้ว คนรักแมว,ฉัตรชัย -วนิดา คุ้มอนุวงศ์,อ.ยุทธ,สัจจะภูมิ ลออ,วัธนา บุญยัง,ยง ยโสธร,หนึ่ง เจ้าชายเขมร,ปณิธาน นวการพานิชย์,รัศมี หาญวจนวงศ์,มิลินทร์(อังคาร จันทร์เมือง), ศุภชัย ตรีรัตนชวลิต เจ้าของร้านบ้านสวนหนังสือ สุพรรณบุุรี,หยี ร้านต้นไม้ ตีนดอย, นรีภพ บก.สกุลไทย, เตมัน,ทอม แฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ ,พละ เดอะว้อยซ์,เอ วงพิงค์, เก่ง วงนั่งเล่น,ปิยะ เจริญเมือง ฯลฯ

ตลอดจนร่วมจิบชา ร่ายกวีและเสวนาว่าด้วยเรื่องหนังสือและการอ่าน เคล้าการตัดพ้อเรื่องการเมือง ทำนองว่า “รู้สึกเศร้าใจที่เห็นคนในแวดวงเดียวกันต้องมาทะเลาะกันใน facebook เพราะเรื่องการเมือง”


1 ขวบ “ร้านสุนทรภู่” สอบผ่านในแง่จิตใจ

ด้านสองสาวเจ้าของร้าน ฐอน – รัสรินทร์ และ อ๊อบ – ณีรนุช ได้ร่วมกันสรุปผลประกอบการในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของร้านที่ก่อร่างขึ้นด้วยความรักความชอบส่วนตัวว่า

ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนนอกพื้นที่มากกว่าคนในพื้นที่ และ ณ เวลานี้ในแง่ผลตอบรับที่มีต่อจิตใจของเจ้าของร้านถือว่าสอบผ่าน แต่ในแง่ธุรกิจยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดแก้ไขต่อไป

“ถ้าถามเรื่องกำไร คนรักหนังสือ มาทำร้านหนังสือมันกำไรอยู่แล้ว เพราะเราได้ขลุกอยู่กับหนังสือ ได้อ่านหนังสือในร้านของเราเอง อีกทั้งเมื่อก่อนที่ยังไม่เปิดร้านทุกเช้าต้องออกไปหาร้านนั่งกินกาแฟ คุยงาน วันหนึ่งหมดค่าใช้จ่ายไปไม่รู้เท่าไหร่ แถมนั่งไม่สบายเท่าร้านของเราเอง เพราะร้านของเราเองสามารถคุยงานได้ เปิดเพลงที่เราชอบได้ ประหยัดไปเยอะ

ดังนั้นในแง่จิตใจถือว่าผ่าน แต่ในแง่ธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องคิดแก้ไข เพราะถ้าต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนทุกเดือนคงไม่มีใครทำต่อได้ คงต้องโบกเมือลากันไป แต่โชคดีที่ตอนนี้เรายังไม่ขาดทุน ยังอยู่ได้พอไปได้ เพราะเราทำงานอย่างอื่นเสริมเพิ่มไป โดยใช้ร้านเป็นเหมือนที่ทำงานของเราไปด้วย”







 สภาศิลปะฯ เมืองแกลง

นอกจากนี้สิ่งที่เข้ามาเป็นส่วนเสริมในแง่จิตใจของเจ้าของร้าน ทำให้เดินหน้าทำร้านต่อ อีกทั้งทำให้เกิดแรงบันดาลใจคิดทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อยอดไปมากกว่าการทำร้านหนังสือ

เนื่องจากตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ร้านได้กลายเป็นสถานที่พบปะของคนรุ่นใหม่และคนที่มีความสนใจในงานศิลปะหลายแขนงไปด้วยในตัว กระทั่งในที่สุดรวมตัวกันขึ้นในนาม สภาศิลปะฯ เมืองแกลง

“เกิดจากเด็กกลุ่มหนึ่งที่มานั่งคุยกันที่ร้านกับเต็ม ( เตมัน นักเขียนแนวสยองขวัญ) ว่าอยากแสดงงานแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง

เด็กมีของอยากแสดงงาน แต่ไม่มีสนาม เต็มเลยแนะนำให้มาปรึกษา ดิฉันก็เลยบอกพวกเด็กๆไปว่าใช้ร้านหนังสือของพี่ก่อนไหม เพราะว่าเมื่อก่อนดิฉันก็ชอบไปดูงานศิลปะ ซื้องานศิลปะมาหลายชิ้น และร้านก็น่าจะเปิดงานแสดงศิลปะเล็กๆได้” ฐอน – รัสรินทร์ กล่าว

แต่ก่อนที่นิทรรศการศิลปะจะได้เปิดแสดง เมื่อทราบข่าวจาก สมเกียรติ อภิญญาชน ชาวแกลงเจ้าของโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ชื่อ บริษัท เอพินา อุตสาหกรรม จำกัด ว่าจะมีการย้าย ห้องสมุดชุมชน จากอาคารหลังเดิมซึ่งทรุดโทรมและสมเกียรติเคยออกค่าเช่าให้มานาน ไปยัง หอประวัติเมืองแกลง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ที่แทบไม่ถูกใช้งาน มีเพียงลานด้านหน้าที่ถูกใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย ทั้งที่ตัวอาคารซึ่งเคยเป็นสถานีตำรวจ และเปิดเป็นหอประวัติฯ อยู่ช่วงหนึ่ง มีความสวยงาม สามารถปรับปรุงให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมได้

สภาศิลปะฯเมืองแกลง จึงเริ่มงานแรกด้วยการร่วมด้วยช่วยกันย้ายห้องสมุดชุมชนมาไว้ที่หอประวัติฯ และแทนที่จะใช้พื้นที่ของร้านหนังสือ จึงขอใช้พื้นที่หอประวัติฯ จากทางเทศบาล เป็นที่จัดแสดงงานศิลปะของศิลปินชาวแกลงครั้งแรกไปด้วย

จากจุดเล็กๆที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งได้ไปปรึกษาหารือกันในร้านหนังสือ พยายามหาพื้นที่เพื่อจัดแสดงงานศิลปะของตน จึงได้ก่อเกิดเป็น “สภาศิลปะฯ เมืองแกลง” ที่เวลานี้มีเป้าหมายมากไปกว่าการส่งเสริมคนทำงานศิลปะทุกแขนงในแกลง แต่ยังจะยังทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้เฝ้ามองและเป็นเสียงสะท้อนว่าบ้านเมืองของตนควรมีอัตลักษณ์ไปในทิศทางไหนอีกด้วย

“จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสภาศิลปะฯ ไม่เอาการเมืองเข้ามายุ่ง เพราะถ้าเรายุ่งกับการเมืองมาก เราอยู่ได้ไม่นานหรอก เช่นเวลาเปลี่ยนผู้นำเป็นคนนั้นคนนี้เราก็ต้องไหลไปตามกระแส แต่ถ้าเรามีสภาหรือภาคประชาชนที่สามารถทำเรื่องนี้ได้จริงจัง และเข็มแข็ง เราก็สามารถทำกิจกรรมต่อไปได้เรื่อยๆ”

“เราคุยกันว่า แกลงสามารถทำให้สวยได้มากกว่าปล่อยให้ตึกแถวใหม่ๆเกิดขึ้น และพวกบ้านไม้ บ้านเก่าในแกลง ยังไม่มีแผนการอนุรักษ์ ถ้ามีสภาศิลปะฯ มีกลุ่มคนคอยแย้งขึ้นมา เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับชุมชน หน่วยงานราชการเขาต้องหันมาสนใจว่าอย่างไหนที่ควรทำหรือไม่ควรทำ

อย่างตอนนี้เรามีรถรางวิ่งในเมือง น่าจะเป็นสิ่งที่ดี หากเราจะทำหอประวัติฯให้กลายเป็นจุดให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว จุดขึ้นรถรางลงรถราง เหมือนตอนที่ดิฉันไปอยู่เมลเบิร์นพักหนึ่ง เมืองของเขาจะมีการฝึกนักเรียนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อย บรรยายบนรถว่าอะไร อยู่ตรงไหน ยังไง เพื่อให้คนที่แวะมาเยือนเห็นความสำคัญของเมือง

และเป็นไปได้ ดิฉันยังอยากให้ที่นี่ เป็นจุดที่คนเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อเสวนาเรื่องนั้นเรื่องนี้ด้วย”



10 คนแกลงแสดงศิลป์

นิทรรศการแสดงศิลปะด้านทัศนศิลป์ของศิลปินชาวแกลงในชื่อ 10 คนแกลงแสดงศิลป์ ได้เปิดให้ชมเป็นวันแรก พร้อมกับการเปิดให้เข้าใช้ห้องสมุดชุมชน ณ บริเวณ ชั้น 1 ของหอประวัติเมืองแกลง เมื่อ “วันสุนทรภู่” วันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

10 คนแกลงที่มีผลงานศิลปะมาแสดงให้ชม มีตั้งแต่ศิลปินอายุ 80 ปี ไล่ลงมาจนถึงวัย 22 ปีที่กำลังศึกษาด้านศิลปะ ได้แก่ ประกอบ รัตนกรณ์,สุธา วิบูลย์มานิตย์,สมเกียรติ อภิญญาชน, ชัยวัฒน์ เสริมสุธีอนุวัฒน์,เจษฎา ขัดเกลา,ณีรนุช เอี่ยมอารยา,วิบูลย์ พงษ์นพคุณ,กิตติ กล้าหาญ,ประเวศ วงศ์ทางประเสริฐ และวุฒิชัย บุญยิ่ง
แม้ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นจะไม่ได้จัดเป็นผลงานศิลปะชิ้นดีเลิศ แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าแกลงเป็นอำเภอหนึ่งที่ยังมีกลิ่นอายศิลปะของศิลปินในยุคเก่าอยู่ร่วมวิถีกับผลงานของศิลปินรุ่นใหม่

เจษฎา ขัดเกลา,ประเวศ วงศ์ทางประเสริฐ และวิบูลย์ พงษ์นพคุณ 3 ศิลปินรุ่นใหม่ที่กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เคยรวมหัวปรึกษากัน ฝันอยากมีพื้นที่แสดงงานศิลปะ แต่ละคนต่างบอกตรงกันว่าอยากให้คนแกลงได้มีโอกาสชมงานศิลปะบ้าง อย่างน้อยๆเพื่อให้ศิลปะช่วยขัดเกลาจิตใจและช่วยให้ผ่อนคลาย
 

นอกจากนี้ วิบูลย์ พงษ์นพคุณ ยังบอกด้วยว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ น่าจะทำให้วัยรุ่นชาวแกลงส่วนหนึ่ง ซึ่งกำลังใช้ชีวิตบนเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงเปลี่ยนมาสนใจทำงานศิลปะดูบ้าง

“พอเรากลับมาอยู่บ้าน เห็นวัยรุ่นเป็นเด็กแว้นกันเยอะ รู้สึกว่ามันเยอะไปไหม ทำไมคนพวกนี้เขาไม่คิดทำอะไรบ้างหรือไม่หาอย่างอื่นทำ นอกจากขี่มอเตอร์ไซด์ ร่อนไปร่อนมา ผมก็ไม่ได้วาดรูปเก่งอะไรมาก แต่ว่าชอบ จึงคิดว่าในจำนวนของคนที่เป็นเด็กแว้น มันต้องมีสักส่วนหนึ่งที่เขามีพื้นฐานในการวาดรูป เราน่าจะมีส่วนช่วยจุดประกายให้เขาว่า เขาก็วาดรูปได้ มาทำกิจกรรมร่วมกับเราดีไหม อาจจะช่วยทำให้เขาเสี่ยงเรื่องการใช้ชีวิตน้อยลง เมื่อเอาเวลามาอยู่กับการทำงานศิลปะพวกนี้”





ประสาแกลง

ฐอน – รัสรินทร์ ยอมรับ การจัดสถานที่เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะของ 10 คนแกลงแสดงศิลป์ในครั้งแรกนี้ยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะบอกว่า คนทำงานศิลปะกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันแล้ว ถ้าเทศบาลหรือคนในพื้นที่มองเห็นคุณค่า ในอนาคตก็น่าจะมีการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้พวกเขาได้แสดงออกต่อไป

“แต่ถ้ายังไม่ได้ ในนามสภาศิลปะฯ เราจะหาพื้นที่ทำของเรากันเอง ให้มีนิทรรศการหมุนเวียน และคำว่าศิลปะของเราไม่ได้หมายถึงศิลปะด้านทัศนศิลป์อย่างเดียว แต่เป็นศิลปะหลายๆแขนง ดนตรี กวี ศิลป์”

นอกจากนี้การรวมตัวกันทำกิจกรรมในครั้งนี้ ยังทำให้ทุกคนได้ทราบว่า แกลงมีคนทำงานศิลปะอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยและที่ผ่านมาก็มีหลายท่านที่ไปสร้างชื่อเสียงได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ

อาทิ ศาสตราจารย์ธนะ เลาหกัยกุล ศิลปินที่มีชื่ออยู่ใน Archives of American Art Journal ของสถาบันสมิทโซเนียน เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดอนุสาวรีย์ประติมากรรมสงครามเวียดนาม หลังจากจบจากวิทยาลัยศิลปะแมสซาชูเซตส์ เคยได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนที่ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยเทกซัส เป็นอดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและ เป็นเจ้าของผลงานศิลปะและประติมากรรมกลางแจ้งอีกมากมาย รวมถึงรูปปั้นนางผีเสื้อสมุทร ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อ.แกลง จ.ระยอง

และแกลงยังมีเรื่องเล่าด้านอื่นๆที่พร้อมจะเล่าสู่คนภายนอกและทำให้คนในพื้นที่ได้ภาคภูมิใจ ด้วยเหตุนี้ จึงมี นิตยสาร “ประสาแกลง” คลอดออกมาพร้อมกับการก่อตั้งสภาศิลปะฯเมืองแกลง ด้วย

“เราอยากให้มีนิตยสารที่เป็น Free Copy ที่จะทำให้ผู้คนได้รับรู้ข่าวสารในเมืองแกลง สามารถบอกกับคนที่อื่นๆได้ว่าเมืองแกลงเป็นอย่างนี้ บ้านเมือง และวัฒนธรรมเป็นอย่างไร ผู้คนใช้ชีวิตกินอยู่อย่างไร

เราก็คุยกันมานานแล้วนะ ว่าอยากจะทำ ซึ่งพี่สมเกียรติเจ้าของโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์บอกว่า ไม่ต้องไปสนใจเดี๋ยวเงินเขาออกเอง ขอให้มีคนทำเถอะ เพราะเขาอยากให้คนอื่นเห็นว่า นิตยสาร Free Copy ที่แกลงไม่ได้ง้อใคร ไม่ต้องมีคนอื่นเป็นสปอนเซอร์ เขาเป็นคนเดียวก็ได้ ขอให้คนได้เห็นความเจริญของเมือง เพราะเมืองไหนที่มี Free Copy เรารู้สึกว่า เมืองนั้นมันเจริญ และพวกเราในกลุ่มก็ผลัดกันทำนะ เพราะสภาศิลปะฯของเรายังไม่มีประธานชัดเจน ใครอยากทำอะไรก็ลุกมาทำ อย่างที่ดิฉันอยากทำนิทรรศการศิลปะตรงนี้ ก็ลุกขึ้นมาทำ ต่อไปอาจจะมีคนอื่นๆที่อยากจะทำดนตรี ก็ลุกขึ้นมาทำเรื่องดนตรี”

การเกิดขึ้นของกิจกรรมต่างๆในนามของสภาศิลปะฯ เมืองแกลง อาจต้องใช้เวลาในการทำให้คนในพื้นที่มองเห็นความสำคัญ แต่อย่างน้อยๆการได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ก็พอจะมองเห็นวันหน้าของแกลงบ้างแล้วว่า จะไม่เจริญไปในรูปแบบที่ผิดทิศผิดทางมากนัก

“ดิฉันคิดว่าคนในพื้นที่ ยังไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนี้ อาจจะใช้เวลาสัก 5 ปี ทำให้ทุกคนมองเห็นเมือง ดิฉันเองเกิดที่นี่ เราก็อยากจะทำอะไรให้ที่นี่ ดีขึ้น เจริญขึ้น

เราไม่รู้ว่าคนอื่นมองอย่างเราหรือเปล่า แต่ ณ เวลานี้ เรารู้ว่าคนที่นี่ยังไม่ตอบสนอง วันสุนทรภู่ปีนี้ เรามีนักเขียน มีคนที่มีชื่อเสียงมาที่รวมกันที่ร้าน แค่คนที่นี่ยังไม่สนใจที่จะอยากมาทำความรู้จัก แต่คนข้างนอกตื่นเต้นมาก นั่งรถตู้ชวนกันมา

แม้กระทั่งนิทรรศการศิลปะยังดูเงียบๆคนยังไม่ตื่นตัว เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่เป็นไร เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ พอวันนึงเมืองมันตื่น คนในพื้นที่ตื่นตัว เมืองก็จะไม่เปลี่ยนแปลงหรือเติบโตไปผิดทิศผิดทางมาก”

คนแกลงเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม สภาศิลปะฯเมืองแกลง ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากคนภายนอกผู้เคยไปเยือนเมืองแกลงหลายครั้งหลายครา ว่าเป็นการรวมตัวที่ค่อนข้างเข็มแข็ง ดังที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียนชื่อดังและอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

“ถือว่าดีมาก ดิฉันชอบที่คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาดูแลตัวเองแบบนี้ ไม่ค่อยมีที่ไหนทำ ส่วนใหญ่จะออกมาในรูปแบบระบบราชการ แต่ว่าของแกลง คนที่ทำคือประชาชนแล้วยังมีราชการมาสนับสนุน บางที่ประชาชนจะทำ ก็ทำไปเลย แต่ที่นี่ประชาชนกับราชการประสานกัน

และแกลงมีชีวิตที่สงบกว่าของคนที่อยู่ทางตัวเมืองระยอง ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมไปแล้ว ขณะที่แกลงเป็นเมืองผลไม้ ไอ้ความสงบสุขอันนี้ มันทำให้ศิลปินหรือนักเขียน หรือใครก็ตามที่ทำงานศิลปะ อยู่ในชุมชนนี้ เขาจะมีความรักในพื้นที่ของตนเอง มีจิตใจที่มุ่งจะทำให้พื้นที่ของตนเอง

อย่างเช่นที่ดิฉันเคยไป ต.ประแสร์ ของแกลง การที่เขาทำป่าโกงกางอนุรักษ์ขึ้นมาได้ เพราะเขามีความรู้สึกว่ามันเป็นท้องที่ของเขา

ลักษณะเดียวกันกับที่วันนี้ที่เรามาดูงานศิลปะของเขา จริงๆแล้วฝีมือของศิลปินที่นำมาแสดง มันไม่ได้โดดเด่นอะไรหรอก แต่เรารู้ว่าการรวมตัวของเขาครั้งนี้มันเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินที่ไม่ว่าจะทำงานทางด้านสาขาไหน หันกลับมาดูและเป็นการกระตุ้นกันเอง จะมีงานศิลปะมากขึ้นในอนาคต และเป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นใหม่ได้ทำต่อ”

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
 
 

 
 ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


 

Comments are closed.

Pin It