Art Eye View

“นวลตอง ประสานทอง” สิ่งมหัศจรรย์ของ “ครูโต”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ขณะที่ปัจจุบันยังคงทำงานภาพประกอบให้กับนิตยสารพลอยแกมเพชร ,รายการซุปเปอร์จิ๋ว ,หนังสือพ็อคเกจบุ๊ค และเป็นอาจารย์สอนการทำภาพประกอบ

ล่าสุดในปีที่ 10 ปี บนเส้นทางของอาชีพนักทำภาพประกอบของ นวลตอง ประสานทอง เธอมีผลงานมาจัดแสดงเดี่ยวให้ชมเป็นครั้ง 4 ณ เกษร เอเทรียม แกลลอรี่ (GAYSORN ATRIUM GALLERY) ชั้น L ศูนย์การค้าเกษร

และครั้งนี้นวลตองได้จินตนาการให้หญิงสาวจำนวน 20 คน ในภาพวาดของเธอคล้ายโผล่หน้าออกมาทักทายผู้ชมผ่านหน้าต่างแต่ละบาน ของอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในยุค 1920

“นวลไม่อยากให้คนที่มาดูงาน ไม่ได้รู้สึกแค่ว่ากำลังดูภาพที่ติดอยู่บนผนัง นวลก็เลยคิดตรีมอพาร์ทเมาต์ ขึ้นมา เหมือนให้คนกำลังได้ดูงานของเราผ่านหน้าต่าง 20 บาน

และสร้างบรรยากาศให้มันเข้ากับสถานที่ ไม่อยากให้คนรู้สึกว่างานของเรามันมาโผล่อยู่ตรงนี้ ในช่วงเวลานี้เท่านั้น”

อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เธอกำลังอินอยู่กับการสร้างบ้านและตกแต่งบ้านของตัวเอง ด้วย

“นวลเพิ่งสร้างบ้านเสร็จก็เลยอินกับเรื่องของบ้าน หรือที่อยู่อาศัย และเริ่มที่จะวาดภาพอย่างมุมของหน้าต่างลงไปในงาน ซึ่งแรงบันดาลใจในการวาดของนวล ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ส่วนตัวด้วย

เมื่อก่อนนวลอาจจะดึงเอาสิ่งที่คิดอยู่ในใจแสดงออกผ่านมาภาพวาดไม่ได้ แต่ ณ จุดนี้เราเริ่มมีประสบการณ์ เมื่ออยากวาดสิ่งไหนออกมา มันเริ่มจะวาดออกมาได้แล้ว เพราะนวลไม่ได้เรียนจบศิลปะมา แต่นวลเรียนจบด้านบัญชี จากที่จุฬาฯ”


นวลตองได้เปิดใจเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวาดภาพประกอบของเธออีกครั้งว่า มีที่มาจากความชอบวาดภาพผู้หญิง โดยเฉพาะการวาดตาม ภาพวาดผู้หญิง ซึ่งเป็นผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2543 ) จากนั้นก็ได้รับแรงเชียร์จาก แป้ง – ภัทรีดา ประสานทอง พี่สาวของเธอซึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบชื่อดังอีกคน

“นวลชอบวาดภาพผู้หญิง วาดตามผลงาานของอาจารย์จักรพันธุ์มาตั้งแต่เด็ก พี่แป้งเค้าทราบ

พอโตขึ้นมาได้ไปเรียนวาดภาพกับครูโต (ม.ล.จิราธร จิรประวัติ) ครูโตก็แนะว่า ถ้าชอบวาดภาพผู้หญิงก็วาดไป ไม่ต้องเปลี่ยน นวลก็เลยวาดแต่ภาพผู้หญิง จนมีผลงานของตัวเองเก็บเอาไว้ส่วนหนึ่ง

พอพี่แป้งเค้าเริ่มทำงานวาดภาพประกอบ เค้าก็ถามว่า เธอชอบวาดภาพผู้หญิง ไหนๆเราก็ไปสำนักพิมพ์ด้วยกันอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองเอาผลงานไปเสนอ พี่ บก. (บรรณาธิการ) ตามสำนักพิมพ์

จุดเริ่มต้นของนวล มันเก็เลยหมือน เอ้า…ไหนลองทำงานนี้ดูซิ เป็นงานต่องาน กระทั่งคนเริ่มจดจำผลงานของนวลได้”

ผลงานภาพประกอบ ซึ่งเป็นภาพวาดผู้หญิงในแบบที่ “ครูโต” ครูของเธอนิยามว่า

“เป็นผู้หญิงที่แต่งตัวสวยๆ มีเสน่ห์ในตัวเอง เหมือนเราได้เห็นดอกไม้สวยๆ ได้ยินเพลงเพราะๆ ได้ทานอาหารอร่อย อะไรแบบนั้น ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อน ดูปั๊บแล้วรู้สึกสวยงาม อยากขยับเข้าไปดูใกล้ๆ”

ขณะที่เจ้าของผลงานเองก็ได้บอกว่า แม้ปัจจุบันจะไม่ใช่การวาดภาพตามผลงานของจักรพันธุ์เหมือนตอนเด็กๆ แต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามในการวาดภาพหรือทำงานภาพประะกอบของเธอทุกครั้ง ก็ยังมีบางสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจเริ่มต้น ถูกนำมาปรับใช้กับการทำงานในแต่ละครั้ง

“นวลรู้สึกว่าใบหน้าของผู้หญิงในภาพวาดของอาจารย์จักรพันธุ์ นอกจากจะมีความชดช้อยยัง มีแรงดึงดูดบางอย่าง ซึ่งนวลมักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมภาพวาดของผู้หญิงคนนึงถึงได้มีแรงดึงดูดขนาดนี้

ดังนั้นในการวาดภาพในแต่ละครั้ง ภาพผู้หญิงของนวลจะต้องมีจุดดึงดูดอะไรสักอย่างหนึ่งในภาพ เพื่อที่จะให้ดึงสายตาของผู้ชมให้มองเข้าไปไปในภาพ

ถ้ายังไม่มี นวลจะคิดว่ามันยังไม่เสร็จ และจะทำจนกระทั่งรู้สึกว่า ภาพวาดของเรามันมีอะไรที่ดึงให้คนอยากดู อยากรู้ ถึงจะจบการทำงาน ซึ่งในส่วนนี้ ต้องใช้เซ้นส์ล้วนๆเลยค่ะ”


ซึ่งในปัจจุบันสื่อที่นวลตองเลือกใช้สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานภาพประกอบแต่ละครั้ง ก็ไม่ใช่แค่การวาดภาพด้วยสีอะคริลิคลงบนผ้าใบเท่านั้น บางโอกาสก็เลือกวาดด้วยสีน้ำ รวมถึงใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์สร้างสรรค์เป็นภาพวาดในแบบดิจิตอล

“นวลจะพิจารณาจากสื่อ ที่จะนำผลงานงานของเราไปใช้หรือตีพิมพ์มากกว่า และตอนนี้นวลเป็นอาจารย์สอนวิชาการทำภาพประกอบอยู่ที่จุฬาฯด้วย มันก็เลยหมือนเราสอนนักเรียนไป เราก็ต้องลงมือทำงานของเราเองเพื่อเป็นการตรวจสอบไปด้วยว่า สื่อที่นำมาทำใช้ได้หรือเปล่า มันเวิร์คไม๊”

แต่ผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดนี้ เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิค “ภาพวาดสีอะคริลิคบนผ้ากระสอบอินเดีย”

“มันอยู่ที่ความชอบในแต่ละช่วงเวลาของเราด้วย ช่วงนี้นวลเห็นลายสานที่มันปรากฎอยู่บนผ้ากระสอบอินเดีย นวลได้รับแรงบันดาลใจและคิดว่ามันน่าสนุก ถ้าจะลองวาดภาพลงไป นวลก็เลยเลือกใช้สื่อนี้

และอีกอย่างนวลชอบที่ไปเดินซื้อของทำงาน Craft(งานฝีมือ) ที่เจริญรัถ เพราะส่วนตัวนวลชอบทำงานฝีมือ เช่น ทำตุ้มหูเอง หรือถ้าซื้อมาก็นำมาเปลี่ยนแปลง ให้มันเหลือเท่าที่อยากใส่ ชอบทำทุกอย่างเองหมด เหมือนเป็นคนชอบศึกษาด้วยตัวเอง ดังนั้นเวลาที่ไปเจออะไรใหม่ๆ ก็เลยอยากนำมาทดลองใช้ทดลองทำงาน”

แต่เธอก็ยอมรับว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของชีวิตการเป็นคนทำงานภาพประกอบของตนเอง ไม่ได้มีแต่ช่วงเวลาแห่งความสนุก และความสุข

บางเวลาก็แอบมีความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจโผล่มาในความรู้สึก จนทำให้ต้องหยุดทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเอง

“ช่วงที่นวลดาวน์ๆ ไม่มั่นใจว่ามาทางนี้ถูกหรือเปล่า พี่แป้งจะเป็นคนที่ให้กำลังใจว่า ฉันเชื่อว่าเธอทำได้ ทำต่อเถอะขณะเดียวกันช่วงที่พี่แป้งเค้าเป็นฝ่ายดาวน์ นวลก็จะเป็นคนคอยบอกว่านวลรู้ว่าพี่แป้งทำได้ มันก็เลยเหมือนมีแรงสองแรงคอยช่วยกัน คอยผลัดกันบอกว่า เฮ้ย…มันไปต่อได้ เชื่อเถอะ ซึ่งมันดีตรงนี้ค่ะ”

ในความเห็นของนวลตอง เธอบอกว่าปัจจุบันยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ฝันอยากจะมีอาชีพเป็นนักทำภาพประกอบ ซึ่งเธอได้แนะว่า สิ่งที่แต่ละคนควรมีคือ เอกลักษณ์ หรือจุดขายที่นำเสนอผ่านงาน รวมถึงการแสวงหาโอกาสเพื่อให้ผลงานถูกเผยแพร่ออกไป

“ทุกคนต้องมีโมเม้นท์ของตนเอง ไม่ใช่แค่ว่าอยากเป็น อยากได้เงิน มันไม่ได้ และการจะได้ทำอะไรบางอย่าง มันอาจเป็นเรื่องของโอกาส หรือจังหวะเวลาด้วย

นวลยอมรับว่าที่นวลมีวันนี้ได้ก็เพราะจังหวะ ถ้าเมื่อก่อนมงานภาพประกอบประเภทดิจิตอลบูม งานของนวลซึ่งใช้วิธีการวาดด้วยมือก็อาจไม่ได้รับความสนใจ แต่เผอิญว่าช่วงนั้น ยังไม่ค่อยมีงานประเภทดิจิตอลมากมายอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่วาดด้วยมือมากกว่า”

ก่อนเปลี่ยนอิริยาบถไปทักทายแขกและเพื่อนฝูงที่มาร่วมแสดงความยินดีอย่างคับคั่ง นวลตองบอกสั้นๆ ว่า สิ่งที่เธอปรารถนาจากการแสดงงานครั้งนี้ของตัวเองมากที่สุดคือ อยากให้ผู้ชมงานได้รับความสุข ซึ่งมันจะแปรเปลี่ยนเป็นกำลังใจทำให้เธออยากทำงานต่อไป

“อยากให้ได้ความสุขค่ะ พูดจริงๆว่าเป็นการทำนิทรรศการ ที่เหมือนเป็นการคืนความสุขให้ผู้ชมจริงๆ เพราะมันเหนื่อยมากกับการเนรมิตรทุกอย่างขึ้นมา

แต่มันมีความรู้สึกในขณะที่ลงมือทำงานและเตรียมงานตลอดว่า อยากให้คนที่มาดูงานแล้วรู้สึกว่า น่ารักจังเลย ชอบจังเลย อยากดูอีก เนี่ยค่ะ มันชื่นใจอย่างนี้”

ซึ่งเธอน่าจะชื่นใจอยู่ไม่น้อย หากได้ทราบว่า มีครูของเธอคนหนึ่งล่ะ ที่รู้สึกมีความสุขและยินดีกับการแสดงงานครั้งนี้ของเธอมากๆ

จากจุดเริ่มต้นที่เธอและพี่สาวมาเรียนวาดภาพเพียงเพื่อการผ่อนคลายหรือเป็นงานอดิเรก ทว่าเวลาผ่านไปได้พัฒนาสู่การเป็นมืออาชีพอีกคนหนึ่งทางด้านนี้….ด้านการทำภาพประกอบ

“นวลเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของครูโต จบบัญชี จุฬาฯ มา ไม่เคยเรียนวาดรูป แล้วมาเรียนกับครูทั้งนวลและแป้ง กระทั่งวันนี้ทั้งสองคนกลายมาเป็นนักทำภาพประกอบอาชีพ เหมือนกันกับครู ซึ่งครูดีใจ เพราะก็ไม่ใช่ว่าคนที่เรียนวาดรูปมาจะมาทำหรือเป็นแบบนวลได้ทุกคน รวมถึงการได้มีโอกาสจัดแสดงผลงานเหมือนเช่นครั้งนี้ด้วย เพราะมันเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร แต่นวลทำได้และมีโอกาสได้ทำมัน ซึ่งครูยินดีกับนวลด้วยมากๆ”

นิทรรศการ A•PART•MENT โดย นวลตอง ประสานทอง

วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน พ.ศ.2557 เวลา 10.00 – 20.00 น.

ณ เกษร เอเทรียม แกลลอรี่ (GAYSORN ATRIUM GALLERY) ชั้น L ศูนย์การค้าเกษร (ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม)
ครูโต - ม.ล.จิราธร จิรประวัติ
แป้ง -  ภัทรีดา ประสานทอง





ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It