Art Eye View

“อมาวสีบูชา” ส่ง “ถวัลย์ ดัชนี” ผู้กำนัลโลกนี้ด้วยงานศิลป์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จราชดำเนินไปในการ พระราชทานเพลิงศพ นายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 44 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร

บรรยากาศส่วนหนึ่งโดยรอบงานพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งประดับประดาไปด้วยดอกไม้สีแดง และทางขึ้นมีภาพ 2 ภาพที่มีลักษณะคล้ายผลงานภาพเขียนของศิลปินผู้ล่วงลับ

ม่องต้อย – ดอยเธิเบศร์ ดัชนี ทายาทเพียงคนเดียวของถวัลย์ กล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานภาพเขียนส่วนใหญ่ของพ่อที่มีโทนสีดำและแดง รวมถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก “ภาพม้า” ภาพเขียนชิ้นสุดท้ายที่ถวัลย์เขียนระหว่างที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล

ก่อนที่ สมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จพระราชดำเนินมาถึง บรรยากาศถูกขับกล่อมด้วยเสียงขลุ่ยของ อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ในทำนองเพลง “ทานตะวัน” พร้อมๆไปกับการวาดภาพโชว์ของศิลปินจากรั้วเพาะช่าง

ต่อด้วยการแสดงของศิลปินจาก “บ้านดำ” ในชุด “อมาวสีบูชา” ,การกล่าวแสดงความซาบซึ้งใจอย่างหาที่สุดไม่ได้ ของ ม่องต้อย – ดอยธิเบศร์ ที่ผู้เป็นพ่อได้รับพระราชทานเพลิงศพในครั้งนี้ และการเป่าขลุ่ยพร้อมกับอ่านบทกวี ของ เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และกวีรางวัลซีไรต์

ก่อนที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ท่าน ว. จะแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่ผู้ที่มีความรักความศรัทธาในตัวของ ถวัลย์ ดัชนี ที่เดินทางไปร่วมงานศพ ได้ฟัง

โดย ท่าน ว. ได้เล่าย้อนความหลัง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รู้จักกับ ถวัลย์ ดัชนี และขณะเป็นสามเณรเคยทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมผลงานของถวัลย์ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

“อาตมาภาพเอง แม้ไม่ใช่ศิลปิน แต่ว่าเป็นคนเชียงราย และเป็นชาวไทยคนหนึ่งที่ชื่นชม นิยมในศิลปะ และเมื่อเห็นอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เอาพุทธธรรม มาผนวกเข้ากับศิลปะ สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นพุทธศิลป์ และนั่นจึงเป็นเหตุให้ มีความนิยม ชื่นชม ยินดี ในตัว ท่านอาจารย์ เพิ่มมากขึ้น

โดยความสัมพันธ์ ส่วนตัวนั้น เมื่ออาตมาภาพยังเป็นสามเณรอยู่ที่วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง หลวงพ่อของอาตมานั้น ท่านอายุรุ่นราวคราวเดียวกับท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านได้ไปของานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี มาชิ้นหนึ่ง แล้วให้ศิลปินบรรจงสลักเสลา เป็นบานประตูหลวง วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง และเมื่ออาตมาภาพได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ 6 ปี นั้น งานของอาตมาก็คือ เป็นมักคุเทศน์ เฝ้าวิหารหลวง และเป็นผู้นำแขกบ้านแขกเมือง ซึ่งมาชมพระอารามหลวงแห่งนั้นชมงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

นับเป็นเวลา 6 ปี ที่อาตมาภาพเป็นสามเณรน้อย และรับหน้าที่เป็นมักคุเทศน์ นำชมบานประตูหลวง ซึ่งเป็นงานออกแบบของท่านอาจารย์โดยตรง

และนั่นเป็นเหตุให้ที่อาตมาภาพจะต้องศึกษาค้นคว้าชีวประวัติและผลงานของท่านอาจารย์ จึงนับเป็นความผูกพันทางจิตทางใจ นับแต่ยังเป็นสามเณรน้อย”

กระทั่งต่อมาเมื่อบวชเป็นพระแล้วได้มีโอกาสไปเยือน อาณาจักร “บ้านดำ” ของถวัลย์ ที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นครั้งที่ ท่าน ว. บอกว่า ประทับใจจนถึงทุกวันนี้

“ท่านอาจารย์กำลังวาดรูป เมื่อเห็นอาตมา ท่านก็วางพู่กัน หยุดวาดรูป แล้วก็ออกมาต้อนรับและนำชมบ้านดำ

ซึ่งบ้านดำในช่วงนั้นมีอยู่ประมาณ 36 หลัง และท่านอาจารย์ได้เปิดบ้านทุกหลังเพื่อนำอาตมาภาพชม ตอนนั้นอาตมาภาพยังไม่มีชื่อเสียงอะไร แต่ท่านก็เอ็นดูมาก ท่านใช้เวลาตั้งแต่บ่ายสามโมงจนถึง สองทุ่ม ในการเปิดบ้านทุกหลัง แล้วก็เล่ารายละเอียดของศิปละทุกชิ้นซึ่งจัดวางอยู่ในบ้านแต่ละหลัง โดยไม่มีการแสดงให้เห็นว่าเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด ทั้งที่อาตมาภาพเองเป็นพระนักเทศน์ อาตมาไม่ได้เทศน์เลย อาจารย์ถวัลย์ทศน์เองทั้งหมด ตั้งแต่บ่ายสามโมงเย็นไปจนถึงสองทุ่ม

และก่อนจากกันท่านได้พูดคำหนึ่งซึ่งอาตมายังจำจนอยู่ทุกวันนี้ ท่านบอกว่า วันหนึ่งผมก็จะจากโลกนี้ไป ส่วน พระอาจารย์นั้นยังหนุ่ม ยังมีเวลาพอสมควร ฉนั้นที่ผมเล่าถวาย วันหนึ่งหากผมไม่อยู่แล้ว สิ่งที่ผมเล่าไปจะมีคนเล่าได้มีกี่คน และนี่เป็นเหตุที่ผมยินดี เปิดบ้านทุกหลังเล่าถวายพระอาจารย์

สำหรับอาตมาภาพแล้ว คิดว่าวันนั้นเป็นวันที่น่าจดจำรำลึกที่สุดวันหนึ่งในชีวิต เพราะอย่างที่เรารู้กัน ท่านอาจารย์นั้น เวลาที่ท่านทำอะไร สมาธิท่านจะนุ่มลึกและนิ่งมาก เวลาท่านทำงานนั้นท่านไม่รับแขกอย่างสิ้นเชิง แต่ถึงกระนั้นท่านก็สละเวลามานำบรรยาย

และหลังจากนั้นอีก แม้จะพบกันอีกหลายหน แต่วันเวลาที่จะได้พูด นั่งคุยกันเป็นวันๆแบบนั้น ไม่มีอีกเลย เพราะต่างก็มีภาระมากมาย หลังจากนั้นอีกต่างกรรมต่างวาระ อาตมา รวมทั้งท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในฐานะที่เป็นชาวเชียงรายด้วยกัน ยังได้ทำกิจกรรมร่วมกันทางศิลปะอีกหลายครั้งหลายหน เป็นความผูกพันส่วนตัว

และความผุกพันส่วนธรรมะ คือท่านอาจารย์เฉลิมชัยท่านก็สร้างวัด อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านก็สร้างมหาวิหาร และอาตมาภาพเองท่านก็กำลังสร้างวัด สร้างสถานปฏิบัติธรรม จนสื่อมวลชนไปเขียนแซว ว่าไปเชียงรายต้องไปให้ครบ 3 เหลี่ยมทางจิตวิญญาณ ไม่งั้นไปไม่ถึง

เช้าให้ไปขึ้นสวรรค์กับเฉลิมชัย บ่ายไปลงนรกกับอาจารย์ถวัลย์ แล้วตอนเย็นย่ำ ให้ไปเข้านิพพานกับท่าน ว. หลายปีมานี้ ทั้ง สามแห่งก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของเชียงราย ฉนั้นความผูกพันส่วนนี้ ถึงแม้ว่าอาจารย์ถวัลย์จะไม่อยู่ แต่ว่าความผูกพันระหว่างตัวตนและบุคคล ยังคงอยู่ต่อไป”

นอกจากนี้ ท่าน ว. ได้แสดงทัศนะว่า เหตุที่ทำให้ ถวัลย์ ดัชนี เป็นที่เคารพ เป็นที่รัก ของคนในทุกวงการว่า

“เพราะว่าท่านดำเนินชีวิตตามที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ ว่าชีวิตมีอยู่สองลักษณะ

1.โมฆะชีวิต คือชีวิตที่ว่างเปล่าจากแก่นสารหรือสาระประโยชน์
2. อโมฆะชีวิต  คือชีวิตที่เต็มไปด้วยแก่นสารหรือสาระประโยชน์

ท่านอาจาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เป็นผู้ที่มี อโมฆะชีวิต มีชีวิตที่โมฆะ มีชีวิตที่ไม่เป็นหมัน แต่มีชีวิตที่เต็มไปด้วยแก่นสาร ที่ฝากไว้ให้กับประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตในฐานะศิลปิน ซึ่งไม่ยุ่งกับอบายมุขโดยสิ้นเชิง หรือในฐานะผู้ที่เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ซึ่งมีความรอบรู้เป็นดังหนึ่งสารานุกรมเคลื่อนที่ ใครที่ได้ไปนั่งคุยกับท่านก็จะได้รู้ว่า แทบจะลืมอาหารไปได้เลย เพราะท่านคุยสนุกสนาน และองค์ความรู้ของท่านนั้น ครอบคลุมไปทุกสาขาทุกวิชา
และในฐานะผู้ที่รักแผ่นดินถิ่นเกิด เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ตั้งใจที่จะคืนให้กับแผ่นดินถิ่นเกิด หรือแม้กระทั่งในฐานะศิลปินระดับโลกที่ได้รังสรรค์งานศิลป์ฝากเอาไว้ ๆว้ให้แผ่นดิน เพราะฉนั้นคุณูปการดังกล่าวนี้ ทำให้ชีวิตของท่านนั้น พูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นอโมฆะชีวิต คือชีวิตที่ไม่เป็นโมฆะ เพราะฉนั้น เมื่อได้เรียนรู้ชีวิตของท่านแล้ว ก็มาถามตัวเองว่าเรา จะทำเช่นท่านได้อย่างไร”

ซึ่งท่าน ว.ได้เตือนสติทุกคนว่า จะต้องใช้ชีวิตอย่างผู้ที่ไม่ประมาท ใน 5 สถานะ ได้แก่

1 ไม่ประมาทในชีวิตว่าจะยืนยาว

2 ไม่ประมาทในวัยว่ายังหนุ่มยังสาว
3 ไม่ประมาทในสุขภาพว่ายังแข็งแรง

4 ไม่ประมาท ในเวลาว่ายังเหลืออยู่มาก

5 ไม่ประมาท ในธรรมะ หากตระหนักรู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ ต้อง ททท. ทำทันที

“ท่านอาจารย์ถวัลย์จากไป แต่ตัวท่านได้ฝาก สถาปัตยกรรม ตลอดจนภูมิรู้ภูมิธรรม ภูมิปัญญา ที่ท่านได้พูด ได้กล่าว ได้สอน และที่ได้รับการบันทึกผ่านสื่อสารพัด ตลอดจนงานศิลปะของท่านในหอศิลป์ชั้นนำทั่วโลก ฉนั้นท่านไม่มีอะไรที่ติดค้าง เพราะท่านได้ฝาก สิ่งที่ดีที่สุด กำนัลไว้ในโลกนี้เรียบร้อยแล้ว”


ก่อนที่จะมาถึงงานพระราชทานเพลิงศพในวันนี้ นับตั้งแต่วันรดน้ำศพ และสวดอภิธรรมศพ หลายวันที่ผ่านมา ยังได้มีกิจกรรมจากหลายหน่วยงานและหลายกลุ่มศิลปิน ที่มาช่วยทำให้งานศพของถวัลย์ ดัชนี ไม่เงียบเหงา

ม่องต้อย – ดอยธิเบศร์ กล่าวว่า การแสดงออกเหล่านี้ เปรียบได้กับความรักปรากฎรูปที่ทุกคนมีต่อพ่อของตน และเป็นการต่อลมหายใจให้กับพ่อ แม้ว่าพ่อจะไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม

“แทนที่เราจะมาโศกเศร้า ร้องไห้ เราก็มาทำงานศิลปะ เล่นดนตรี เป็นความรักปรากฎรูป ที่ต่อลมหายใจของคุณพ่อให้เป็นอมตะขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊คที่หลายคนวาดรูปพ่อ โดยเฉพาะคนที่เรียนศิลปะ ใครที่รักพ่อ ผมก็เชื่อว่าเราก็ต้องทำงาน ตราบใดที่เรายังคงทำงานศิลปะ ยังมีลมหายใจ ดังนั้นการตายของศิลปินหนึ่งก็เป็นการต่อลมหายใจของกันและกัน ระหว่างศิลปินด้วยกัน”

เสร็จจากงานพระราชทานศพ ท่องต้อยบอกว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมเพื่อเตรียมจัดงานใหญ่ให้พ่อที่เชียงราย ในช่วงเดือนธันวาคม”

และยืนยันอีกครั้งว่าจะไม่การขายงานศิลปะของพ่อที่ตัวเองดูแลอยู่

“เพราะงานคุณพ่อก็ไม่ได้มีเยอะอะไรมาก อยากเก็บไว้เป็นสมบัติของทุกคน อยากให้ทุกคนได้ดูกัน ถ้าเราขายหมด มันก็ไม่มีอะไรเหลือ”

ขณะที่อีกหลายโครงการที่เคยทำร่วมกันกับพ่อ ก็จะคงเดินหน้าสานต่อ และบอกว่าไม่กระทบกับงานส่วนตัวของตนเองแต่อย่างใด เนื่องจากงานของตนและงานของพ่อเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมาโดยตลอด แต่บางคนอาจไม่รู้

“คือจริงๆงานที่ผมทำที่ผ่านมากับงานของคุณพ่อมันก็คืองานเดียวกันแหล่ะครับ เพราะว่าตลอดระยะเวลา 10 ปี ทีผ่านมา งานของผมก็คืองานวางระบบ วางรากฐาน เพื่อจะมารองรับงานของพ่อ

บ้านดำ ผมก็ช่วยคุณพ่อทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว และผมก็เรียนศิลปะ เรียนการจัดการพิพิธภัณฑ์มาโดยตรง ผมเป็นคนก่อตั้งบ้านดำแกลเลอรี่ เป็นคนทำหลายๆอย่างขึ้นมา ผมไม่กังวลอะไรเลย ก็แค่ทำต่อไปเท่านั้นเอง ทำอยู่แล้วและมันเริ่มมานานแล้ว แต่บางคนไม่รู้ว่าผมทำอะไรบ้าง”

 Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ปวริศร์ แพงราช

















ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It