ART EYE VIEW—กระชั้นชิดเอามากๆหลายคนบอกอย่างนั้น เมื่อได้รับการเชื้อเชิญให้ไปชมนิทรรศการภาพถ่ายนิทรรศการหนึ่ง ล่วงหน้าเพียงแค่ชั่วข้ามคืน พอรุ่งเช้าก็เป็นวันแรกของการเปิดนิทรรศการแล้ว หนำซ้ำยังมีระยะเวลาจัดแสดงให้ชมสั้นๆเพียงแค่ 5 วันเท่านั้น
ส่วนสถานที่จัดแสดงก็ไม่ใช่แกลเลอรี่ หรือพื้นที่ทางศิลปะแบบที่เคยคุ้นชิน แต่เป็นร้านขายหนังสือร้านหนึ่ง ในย่านการค้าชื่อดังอย่าง “เวิ้งนาครเขษม” ที่มีอายุนับ100 ปี และ ชาวชุมชนกำลังทยอยย้ายออกไป
ดังที่ทุกคนเคยทราบข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า 'ทีซีซี แลนด์ 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน จะเข้ามาทำการปรับปรุงพื้นที่ และขณะนี้ ก็ใกล้เวลาที่โซนแรก อันเป็นที่ตั้งของ “ร้านหนังสือพิทยาคาร” ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการจะถูกรื้อถอน
ก่อนเวิ้งนาครเขษมจะหายไป
เวิ้ง หรือ Before Gone คือชื่อของนิทรรศการภาพถ่ายในร้านหนังสือในครั้งนี้ และถ้าให้ถูก ควรเรียกว่าอดีตร้านหนังสือมากกว่า เพราะขณะที่ภาพถ่ายแต่ละภาพ ซึ่งบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตชาวเวิ้งนาครเขษม ติดแสดงอยู่บนผนัง ทั้งผู้ชมนิทรรศการ และเจ้าของบ้าน ตลอดจนคนงานที่เข้ามาช่วยย้ายข้าวของ ต่างเดินสวนกันไปมอยู่ตลอด จนผู้ชมบอกไม่ถูกว่า นี่เรากำลังมายืนชมภาพถ่ายในนิทรรศการๆหนึ่ง หรือมายืนเป็นสักขีพยายานในการย้ายบ้านของผู้อื่นกันแน่
ไม่นานก็คลายสงสัย เมื่อ กุง – ศิริเพ็ญ เกษตรศิริกุล หนึ่งในสมาชิกของ MEAL Photography เอเจนซี่ภาพถ่าย ซึ่งก่อตั้งโดยคนหนุ่มสาว 4-5 คนผู้รักในงานสารคดี และเป็นโต้โผในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ บอกเล่าให้ฟังว่า
“โปรเจ็กต์นี้ค่อนข้างจะเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวของช่างภาพ (สอง – กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร ) ซึ่งมาแถวนี้บ่อยและพวกเราทั้งหมดใน MEAL รู้จักกับเจ้าของบ้านหลังนี้ ไปมาหาสู่กัน เป็นเพื่อนกัน
นับถอยหลังจากนี้ไปประมาณ 4-5 เดือน เมื่อทางคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน เล่าให้ฟังว่า กำลังจะย้ายออกแล้วนะ เขาจะสร้างเป็นอย่างอื่น (ซึ่งชาวชุมชนก็ยังไม่เข้าใจแน่ชัดจนบัดนี้ว่าอย่างอื่นที่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน)
ไหนๆ ก็ไหนๆแล้ว เราก็เลยชวนกันว่ามาทำสารคดีเก็บไว้ดีกว่า เพราะว่าอีกหน่อยเวิ้งก็จะไม่อยู่แล้ว ไม่เหมือนเดิมแล้ว ถ้าทุกอย่างมันถูกรื้อออกไป
เพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักเวิ้งนาครเขษม ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตำนาน เป็นที่ๆคนเก่าคนแก่รุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา พอพูดถึง ทุกคนต่างรู้จัก แต่ปัจจุบันมันกำลังจะหายไป ”
โดยแผนที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มแรกชาว MEAL จะทำการบันทึกวิถีชีวิตของชาวเวิ้งเก็บไว้ด้วยภาพเคลื่อนไหว จนกว่าทุกโซนในพื้นที่ทั้งหมด บนที่ดินขนาด 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา จะถูกรื้อถอนออกจนหมด
แต่เมื่อ “สอง” ผู้เป็นช่างภาพได้บันทึกภาพนิ่งเก็บเอาไว้ด้วย และบ้านของเพื่อนกำลังอยู่ในช่วงย้ายออกพอดี พวกเขาจึงเกิดไอเดียจัดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายในสถานที่จริงให้คนทั่วไปได้เข้าชม และการที่จัดแสดงให้ชมในระยะเวลาสั้นๆ พวกเขามีเหตุผลรองรับ
“เหตุที่นิทรรศการนี้ จัดแค่ 5 วัน (วันที่ 11-15 ตุลาคม พ.ศ.2557)เราต้องการให้เป็นกิมมิค ล้อไปกับสถานที่เพราะบ้านของเพื่อนซึ่งเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ พวกเขาได้รับการยืนยันมาครั้งสุดท้ายว่า ยังไงคุณต้องออกแน่ๆ แค่ระยะเวลา 4-5 เดือนเท่านั้นเอง มีระยะเวลาเตรียมตัวที่สั้นมาก
วันที่ 15 ตุลาคม คือวันสุดท้ายที่บ้านเพื่อนจะย้ายของออกไปหมด และคืนกุญแจ ซึ่งนิทรรศการเราก็จะจบไปพร้อมๆกันด้วย”
เรายอมรับการเปลี่ยนแปลง
เราแค่ใจหาย
ก่อนหน้านี้หลายคนที่ไม่ทราบถึงที่มาที่ไปของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ พาลเข้าใจผิดว่า พวกเขาคือส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาประท้วงไม่ให้มีการย้ายชาวชุมชนออกไป หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
กุงยืนยันแทนสมาชิกคนอื่นๆว่าไม่ใช่อย่างที่เข้าใจผิดกัน เพราะจุดประสงค์ของการเข้ามาในชุมชนเพื่อบันทึกภาพเคลื่อนไหวเก็บไว้ รวมถึงการจัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้เ พียงแค่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกว่า พื้นที่แห่งนี้เคยมีเวิ้งนาครเขษมอยู่เท่านั้นจริงๆ
แม้ลึกๆพวกเขาจะรู้สึกใจหายและปรารถนาที่จะเห็นเวิ้งฯ ถูกพัฒนาไปในแบบที่ชาวชุมชนยังสามารถอยู่ในพื้นที่เดิม และมีส่วนร่วมคิดเรื่องการพัฒนาไปด้วย
“เราบันทึกความทรงจำค่ะ เราแค่อยากจะให้คนทั่วไปได้เห็นว่า วิถีชีวิตที่เขาอยู่กันมาปกติ แล้ววันหนึ่งมันเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องของทุน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้ชีวิตของพวกเค้าต้องเปลี่ยนไปจากเดิม
คนที่นี่เค้ารู้จักกันหมด โดยเฉพาะโซนหนึ่งและใกล้ๆกันนี่ ไม่ใช่ญาติพี่น้อง แต่สนิทกันเหมือนญาติพี่น้อง คุยกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน แล้วพอวันหนึ่งที่เค้าต้องจากไป เหมือนแตกสาแหรก ทุกคนกระจายกันไปคนละทิศคนละทาง
จากที่บ้านเคยอยู่ใกล้ๆกันก็ต้องย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง และบางคนต้องย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัดไปเลย เลิกขาย ปิดกิจการไปเลย หรืออย่างข้างๆบ้านตรงนี้ เขายังมีกิจการอยู่ ก็ยังคงทำอยู่ แต่ที่ในตลาด ส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่ที่เค้าขายของ ขายผักขายอาหาร ก็ต้องเลิกขาย แล้วให้ลูกหลานเลี้ยงไป หรือบางคนอาจจะยังไม่แก่มาก ขายของอยู่ก็ต้องหาที่ขายของใหม่ มันกระทบกับชีวิตเค้า
นิทรรศการนี้ต้องการแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และบันทึกความทรงจำของเวิ้ง ที่วันหนึ่งมันคงไม่เหลืออยู่แล้ว”
ช่างภาพสารคดีผูกพันวิถีเวิ้งฯ
ทราบถึงที่มาที่ไปของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายไปแล้ว คราวนี้มาทำความรู้จักกับ สอง – กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร ช่างภาพผู้ทำหน้าที่วิถีชีวิตชาวเวิ้งนาครเขษมกันบ้าง โดยเฉพาะภาพถ่ายทั้งหมดในนิทรรศการ
สองจบปริญญาตรี ด้านวิทยุโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ เคยมีโอกาสไปฝึกงานที่สถานีโทรทัศน์ NHK ประเทศญี่ปุ่น จนวันหนึ่งค้นพบตนเองว่าไม่เหมาะกับงานทางด้านโทรทัศน์ จึงเบนเข็มทำงานทางด้านภาพถ่ายสารคดี และตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Documentary ที่ Birmingham City University ประเทศอังกฤษ
“จริงๆผมถ่ายภาพมานานแล้ว ตั้งแต่ ม.2 คุณยายและคุณแม่ก็ถ่ายภาพ ให้กล้องมา ให้แต่กล้อง ฟิล์มไม่ให้ ต้องเก็บเงินค่าขนมซื้อเอง สมัยก่อนก็ลำบากหน่อย เดือนนึงเก็บเงินค่าขนมมาซื้อฟิล์มได้ม้วนนึงก็เก่งแล้ว หัดถ่ายภาพมาเรื่อย”
โดยส่วนหนึ่งของผลงานที่เขานำไปใช้อ้างอิง จนสามารถเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทในต่างแดน คือผลงานภาพถ่ายชุมชนย่านท่าเตียน
เมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยระยะแรกได้ร่วมทีมกับเพื่อนทำงานภาพถ่ายทางด้านทหาร บันทึกภาพการฝึกคอบร้าโกลด์ และเคยได้รับโอกาสจากกองทัพเรือให้เป็นผู้บันทึกเบื้องหลัง กระบวนพยุหยาตราชลมารค,เป็นช่างภาพบันทึกเหตุการณ์ช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 53 ให้กับ สำนักข่าว AP ฯลฯ ก่อนจะฟอร์มทีม MEAL Photography ขึ้นมาในที่สุด
ก่อนจะบอกเล่าถึงการทำงานในช่วงที่ลงพื้นที่เพื่อบันทึกวิถีชีวิตชาวเวิ้งนาครเขษม สองย้อนความทรงจำเกี่ยวกับเวิ้งแห่งนี้ที่เขาผูกพันมานานให้ฟังว่า
“เพื่อนผม ซึ่งเป็นลูกของร้านหนังสือที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการ ครั้งนี้ เราสนิทกันมาก และเขาก็เป็นหนึ่งในทีม MEAL ด้วย เราไม่ใช่รู้จักแค่บ้านเค้า สมัยก่อนรถติด ผมเคยมารอรถเมล์ที่บ้านเค้า มานั่งพักกินน้ำกินท่า ดูการ์ตูน คุยเล่นหัวกันตรงนี้ แล้วเราก็ค่อยขึ้นรถเมล์สาย 8 กลับบ้านแถวอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
พอมาทราบข่าวว่าบ้านเขาต้องย้ายออกไป เราก็แบบเสียดาย และด้วยความที่ผมเดินทางบ่อย ไปมาหลายประเทศ สิ่งที่หลายประเทศพยายามมากๆเลย ก็คือพยายามที่จะรักษารากของตนเองไว้
ในขณะที่บ้านเรามันตรงกันข้าม เอะอะอะไรก็รื้อทิ้ง สร้างใหม่ เวลาที่มีไม่เห็นค่า แต่เวลาหายไปหมดก็มาตีโพยตีพาย ซึ่งแบบนั้นมันไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมก็เลยเข้ามาเก็บภาพ
ต้องออกตัวก่อนว่า ตอนแรกไม่ได้เน้นเก็บภาพนิ่งเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าเรารู้สึกว่าภาพนิ่งมันเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวิ้งไม่ได้ เพราะว่าเวิ้งมันมีประวัติศาสตร์มามากกว่า 50-100 ปี แต่เรามีเวลาแค่ 4-5 เดือน ในการบันทึก ภาพถ่ายมันมีพลังในการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างจำกัด จบในภาพเดียว คือมันไม่เห็นก่อนหน้าภาพนั้นและหลังช่วงเวลาที่กดชัตเตอร์ เราก็เลยตัดสินใจเก็บเป็นภาพเคลื่อนไหวก่อน แล้วเดี๋ยวจะมีการตัดออกมาเป็นสารคดีเรื่องยาว ตอนนี้ถ่ายไปได้ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์แล้วครับ ยังต้องถ่ายต่อ
อย่างเฝ้านิทรรศการอยู่ เจอคนที่นัดไว้ แบกกล้องวิ่งไปถ่าย แล้วกลับมานั่งเฝ้าต่อ บางทีพาชมอยู่ ก็ต้องเรียกกุงขึ้นมาพาชมแทน พอดีว่าเห็นซาเล้งผ่านมา ต้องวิ่งไปถ่ายก่อนนะ อะไรอย่างนี้
และพื้นฐานเราเป็นช่างภาพนิ่ง แต่ถ่ายวีดีโอได้ เพราะเรียนจบปริญญาโทมา แต่โดยความรู้สึกก็ยังบอกตัวเองว่า ฉันเป็นช่างภาพนิ่งที่ถ่ายวีดีโอเป็น มันก็เลยอดที่จะถ่ายเป็นภาพนิ่งไม่ได้
จากตอนแรกที่ไม่ตั้งใจ ก็เลยต้องมีลูกทีมอีกคน แยกออกไปช่วยกันถ่ายภาพเคลื่อนไหว ผมก็กำกับมั่ง แล้วผมก็ใช้เวลามาถ่ายภาพนิ่งเก็บไว้ด้วย เก็บมาเรื่อยๆ ไม่ได้คิดว่าจะใช้ทำอะไรเป็นพิเศษ ตั้งใจเอาไว้ลงแกลเลอรี่ออนไลน์เป็นหลัก เพราะว่าค่าปริ้นภาพ ต้องยอมรับว่าแพงมาก”
นิทรรศการภาพถ่ายนอกแกลเลอรี่
ต่อมาสองจึงเกิดความคิดที่จะจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นน้องซึ่งเป็นศิลปิน
“เก็บภาพมาเรื่อยๆที่นี้พอใกล้เวลาที่บ้านของเพื่อนจะต้องย้ายของ และตอนนี้ผมเป็นอาจารย์ประจำสอนด้านการถ่ายภาพที่ธรรรมศาสตร์ด้วย คุณเบนซ์ – ธนชาติ ศิริภัทราชัย (เจ้าของคลิป “BKK 1st Time : ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก” ซึ่งเคยเป็นกระแสที่ในโลกไซเบอร์ และเจ้าของผลงานหนังสือ “NEW YORK 1st TIME” ) เขาเป็นรุ่นน้องผมปีนึง ผมเชิญเมาบรรยายให้นักศึกษาฟัง ด้วยความที่เขาเป็นศิลปิน ทำงานให้แกลเลอรี่เยอะ
เค้าก็เล่าให้ฟังว่า งานมันไม่จำเป็นต้องไปแสดงอยู่ในห้องแอร์เย็นๆหรอก ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ บางคนเปิดโรงรถ นัดวันให้คนไปดูก็ยังได้
ผมก็เลยคิดว่ามันน่าสนใจนะ เรามีที่ แล้วที่มันกำลังจะหายไปนะ เราเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน จึงชวนกันในทีมว่าเราทำนิทรรศการภาพถ่ายกันไม๊ เอาภาพมาแปะในอาคารที่มันกำลังจะไป
และมันก็จะเป็นสิ่งที่มันค่อนข้างแปลก นิทรรศการศิลปะที่เล่นกับพื้นที่มีน้อยมาก ผมมั่นใจว่าผมอาจไม่ใช่รายแรกที่ทำแบบนี้ แต่ที่จะเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน มีน้อย คือมีคนพยายามทำ แต่กับงานภาพถ่าย ผมไม่ค่อยเห็นนะ ออกตัวนิดนึง อาจจะเป็นเพราะผมโลกแคบก็ได้ ผมไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ ก็เลยลองจัดดู
เรามีเวลาเตรียมงานสำหรับจัดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นการปริ๊นภาพ ไม่ถึง 7 วัน แล็ปขอเวลา 2 วัน ในการปริ้น เวลาเราก็หายไปแล้ว เราเริ่มปริ๊นภาพ วันที่ 7- 8ตุลาคม พอวันที่ 9 ตุลาคม เราก็ใช้เวลาติดลงบนแผ่นโฟม พอวันที่ 10 ตุลาคม เราก็นำภาพขึ้นติดบนผนัง ติดตั้งแต่แต่เช้า จนกระะทั่งทุ่มกว่า จึงทำให้เราค่อนข้างกดดันอยู่เหมือนกัน
เราไม่มีเวลาประชาสัมพันธ์นิทรรศการออกไปเลย และเราไม่กล้าประชาสัมพันธ์ออกไปก่อนด้วย เพราะเรากลัวว่าเราจะยังทำไม่เรียบร้อย แล้วการทำงานในพื้นที่ๆ เค้าต้องย้ายของทุกวัน ต้องรื้อทุกวัน ขณะที่เราทำงาน จะมีซาเล้ง มีคนมาตัดเหล็ก แล้วในวันท้ายๆของการแสดง ก็เป็นช่วงที่คนจะต้องมารื้อพื้นไม้ แล้วเราก็ต้องย้ายภาพถ่ายซึ่งจัดแสดงอยู่ชั้ย 3-4 ลงไปแสดงชั้นล่าง
คือระหว่างแสดงงาน เราต้องมีการมาวางแผนตอนเช้าของทุกวันว่า เราต้องปรับยังไง เพราะว่าเราต้องการให้ภาพถ่ายมันเล่นกับพื้นที่ เพราะฉนั้นเราต้องเข้าใจข้อจำกัดของพื้นที่ และรู้ว่าจะบริหารมันยังไง เพื่อให้คนชมเข้าใจความรู้สึกที่เราเล่นกับพื้นที่ และพื้นที่มันต้องเปลี่ยนไปทุกวัน
แต่การเปลี่ยนไปทุกวันของพื้นที่ มันก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน คือว่า คนที่มาแต่ละวันจะเห็นสภาพอาคารที่แตกต่างกันไป ยิ่งเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ของก็หายไปเรื่อยๆ ร่องรอยของผู้คนก็หายไปเรื่อยๆ มันเป็นกิมมิคอย่างหนึ่งที่เราเอามาเล่น
สุดท้ายแล้วงานภาพถ่ายของผมจะไม่ใช่ตัวพระเอก มันจะกลายจากงานแสดงภาพถ่าย เป็นงานศิลปะจัดวาง และมีวัตถุพยานที่มีชีวิต เดินไปเดินมา มีช่างมารื้อถอน มีกองขยะ มีสภาพห้อง มีกลิ่นสี มีสติกเกอร์ที่เหลือติดกำแพง พอมันรวมกับภาพที่เราติดบนผนัง มันให้มิติที่มากกว่าการรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มันได้เรื่องของอารมณ์ เราถือ ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะดูจากสมุดที่เซ็นต์มา ผู้ชมดูจะเข้าใจในประเด็น และหดหู่ไปด้วย
ระหว่างที่เค้าชม มีช่างมาเจียเหล็กออก ทั้งคนชมและช่างต่างเดินขึ้นเดินลง มาชมงานแสดงภาพถ่ายแต่ก็จะได้เห็นสภาพจริงว่า คนที่เขากำลังจะย้ายออกไป มันต้องทำอะไรบ้าง”
ไม่เพียงเท่านั้น ในระหว่างที่จัดแสดงนิทรรศการ มีบางเหตุการณ์เกิดขึ้น จนทำให้สองต้องชั่งใจว่าควรจะทำตามสัญชาตญานของช่างภาพดีหรือไม่
“จริงๆคนเราไม่พอ เราก็อยากให้เพื่อนเราซึ่งเป็นเจ้าของบ้านมาช่วยงาน แต่เจ้าตัวเขาไม่กล้ามาดูบ้านตัวเอง ปรากฎว่า พอเค้ามาปุ๊บ เค้าก็ไม่พูดอะไรกับใครเลย ตอนแรกเดินขึ้นมาชั้นบน ผมก็เดินตามขึ้นมา ดูเสร็จแล้วเค้าก็เดินกอดอกออกไป ลงไปเจอแม่ที่ชั้นข้างล่าง กอดกันร้องไห้กันสองคน เราเห็นก็สงสาร แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง เราทำได้แค่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น
และมันมีความร้ายกาจของช่างภาพซึ่งคือผมอยู่นิดนึงคือ ช่างภาพเป็นมนุษย์ที่น่าตบมาก (หัวเราะ) วินาทีแรกคุณสงสารเค้า แต่วินาทีที่สองตั้งคำถามว่า กล้องอยู่ไหนวะ
เพราะว่าช่างภาพเป็นสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านดวงตา เห็นอะไรปุ๊ปก็สะกิดกันเฮ้ยๆ อย่างนี้ครับ อันนี้แอบขำ และเล่าให้เพื่อนฟังตอนหลัง เพื่อนผมเค้าก็เสียใจมากนะครับ กับการที่ต้องย้ายออกไปจากเวิ้งครั้งนี้ เพราะเค้าอยู่มาตั้งแต่เกิด
วันนั้นถ้าผมตัดสินใจจะวิ่งไปเอากล้องก็ทัน แต่แล้วผมก็ตัดสินใจปล่อยให้เค้าอยู่กับห้วงเวลานั้นของเค้าดีกว่า เพราะเรามีภาพที่เล่าได้เยอะแล้ว”
ขออย่าให้เป็นตลกร้าย
ภาพถ่ายซึ่งจัดแสดง ในพื้นที่ของผนังทั้ง 4 ชั้นของอาคารร้านหนังสือพิทยาคาร นอกจากภาพบรรยากาศโดยทั่วไปของเวิ้งนาครเขษม อาทิ ภาพตึกเก่า ภาพตลาด ร้านขายของ ร้านขายเป็ด ฯลฯ
ยังมีภาพ การขนย้ายศาลเจ้า (ซึ่งในส่วนนี้ช่วยให้ชาวชุมชมปลอบใจตัวเองได้นิดนึงว่า ขนาดเจ้ายังถูกย้าย แล้วเราคนธรรมดาจะไม่ถูกย้ายได้อย่างไร) ภาพของโต๊ะวางของไหว้ (ซึ่งภาพนี้ช่างภาพติดให้ชมไว้บนผนังและถ่ายจากห้องเดียวกันกับที่โต๊ะไหว้เจ้าวางไว้เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง) รวมไปถึงภาพถ่ายพาโนรามา 360 องศา ของ ร้านหนังสือ ร้านขายของชำ ร้านขายอาหาร ฯลฯ
“ภาพพวกนี้สามารถนำไปประกอบในคอมพิวเตอร์ แล้วทำให้ผู้ชมเหมือนยืนชมอยู่ในสถานที่จริงแล้วหมุนไปรอบๆได้ ผมถ่ายไว้ประมาณ 7 ภาพ และยังมีภาพภายนอกตัวอาคารในโซนอื่นๆของเวิ้ง ที่รอเวลารื้อถอนในลำดับต่อไป”
สองบอกเล่าว่า ด้วยระยะเวลาที่มีจำกัด เขาและลูกทีมคนอื่นๆพยายามใช้เวลาไปกับการบันทึกภาพเวิ้งนาครเขษมที่จะกลายเป็นความทรงจำในอีกไม่ช้า เก็บเอาไว้มากที่สุด
“เวิ้งมีอายุ 50- 100 ปี ถึงเรามีเวลาเก็บภาพ มากกว่านี้ เราก็เก็บได้ไม่หมดอยู่แล้ว 4-5 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้ข่าวแล้วเริ่มเก็บภาพเคลื่อนไหว
แต่ภาพนิ่งที่นำมาแสดง ส่วนใหญ่เราบันทึกในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะแสดง ก่อนที่บ้านเพื่อนจะย้ายออก
MEAL Photography มีคนอยู่ประมาณ 4-5 คน เราต้องกระจายไปทำอย่างอื่นด้วย ต้องหารายได้จากทางอื่นมาซับพอร์ตการทำงานด้วย และผมก็ต้องสอนหนังสือด้วย จะใช้เวลามาเก็บภาพตลอดเวลาก็ไม่ได้ ต้องเจียดมา
ตั้งแต่เป็นข่าวว่าจะเวิ้งถูกย้ายออกไป เวิ้งเป็นชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก อาทิตย์ไหนที่ไม่มา จะพลาดเลย ผมเคยพลาดสองสัปดาห์ บางภาพมันหายไปแล้ว เราจึงทำงานกันยากมาก แทบจะทำไม่ทันเลยด้วยซ้ำ นี่ขนาดว่าเราเตรียมตัวกันมา และทำงานมา 4-5 เดือนแล้วนะ
มันก็เลยทำให้เราเห็นว่า การเปลี่ยนแปลง หรือการเข้ามาของทุน มันเร็วมากเลยนะ ยังไม่ครบปีทุกอย่างหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ชุมชนอื่นต้องเริ่มวางแผนและคำนึงถึงแล้ว ย่านต่อไปที่ผมเสียวคือย่านกุฎีจีน เพราะอยู่ริมน้ำด้วย ทำเลแถวนั้นสวย ไม่แน่เหมือนกัน ผมเคยพาฝรั่งเข้าไปถ่ายภาพ ลักษณะ ก็จะใกล้เคียงกับเวิ้ง อีกไม่เกินสิบปีชุมชนอาจจะเจอปัญหา”
แม้จะยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่เขาก็อดสะท้อนความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ว่า หลายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเราช่างเป็นตลกร้ายทำลายรากของตนเอง และขออย่าให้เกิดกับเวิ้งนาครเขษมแห่งนี้อีกด้วยเลย
“ มันน่ากลัวนะครับการหายไปแบบนี้ รากมันหาย สิงคโปร์ไม่มีราก เขามีตึกไชน่าทาวน์เก่าๆอยู่ดงนึง เค้าแทบจะทำเก็บหรือทำยังไงก็ได้ให้มันอยู่
ขณะที่ของเรามีเป็นล้านเลย แล้วเรารื้อมันไปเรื่อยๆ แล้วเราก็ไปสร้างเพลินวาน ไปสร้างเอเชียทีค เราทำลายชุมชนทิ้ง แล้วไปสร้างสิ่งที่เหมือนชุมชนอีกที่หนึ่ง แล้วเราไปเที่ยวสิ่งที่เหมือน คือมันเป็นตลกร้าย จริงๆ
เอเชียทีคใช้ตรีมเจริญกรุง ถามว่าคนที่ไปเดิน ทำไมไม่ไปเดินเจริญกรุงจริงๆล่ะ เพราะมันร้อน มันสกปรก มันนั่น มั่นนี่ แต่สิ่งที่ได้อย่างน้อยค่ากาแฟก็ถูกกว่ากันเกินครึ่ง สุดท้ายพอสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาแทนคนก็ไม่ไป เพราะมันไกล แต่ไม่แน่ มีแนวโน้มว่าจะย้ายมาอยู่ตรงเวิ้งแทน”
หวังสร้างมาตรฐานงานสารคดี
ช่างภาพสารคดีและอาจารย์ด้านการถ่ายภาพ ผู้รู้สึกจะดีใจกับกระแสที่ผู้ชมตอบรับนิทรรศการภาพถ่ายในครั้งนี้เป็นอย่างมาก และภูมิใจที่ล่าสุดสามารถเคี่ยวเข็นลูกศิษย์สองคน จนได้เข้าร่วมกิจกรรมระดับมืออาชีพ นั่นคือ คนแรกได้เป็น 1 ใน 3 คนของเอเชียที่ได้เข้าร่วม Angkor Photo Festival งานภาพถ่ายสารคดีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอีกคนได้เข้ารอบ 10 ทีม National Geographic Thailand
บอกด้วยว่า การทำงานสารคดีของพวกเขาในลักษณะเดียวกันนี้จะไม่จบลงแค่ตรงเวิ้งฯ แต่จะพยายามทำออกมาให้ได้ปีละหนึ่งชิ้น และทำออกมาให้ดีที่สุด เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานของงานสารคดีในบ้านเรา
“อันนี้อาจจะเป็นอคติส่วนตัว ผมว่างานสารคดีในบ้านเราค่อนข้างล้าหลังในแง่ของการเล่าเรื่อง ไม่นับเรื่องฝีมือนะครับ เพราะฝีมือมันพัฒนากันได้ แต่ในแง่ของมิติการเล่าเรื่อง หรือการใช้เวลาในการลงพื้นที่เนี่ย มิติการทำงานมันค่อนข้างบางเบา อาจจะเป็นด้วยเรื่องของทุน เพราะทุนมีจำกัด ก็ทำได้ไม่ลึก เหมือนอย่างที่พวกผมทำกันอยู่นี้ ใครจะมาบ้ากัดฟัน ออกทุนทำงานเอง 4-5 เดือน หรือ ใช้เวลาเก็บเบื้องหลังงานเรือพระราชพิธีตลอด 2 ปี ตื่นตี 4- 5 ทุกวันไปนั่งหลับอยู่บนเรือ แล้วเค้าก็แจก M 100 ให้เราด้วย หรือซื้อเผื่อให้เลยบางที มันยากไงครับ
แต่ถ้าเราไม่สร้างมาตรฐานตรงนี้ขึ้นมา เราบอกได้เลยว่า เปิดประชาคมอาเซียน ช่างภาพไทยจะหายไปเกินครึ่ง
ผมมีเพื่อนเป็นช่างภาพพม่า เป็นบรรณาธิการภาพถ่าย มีเพื่อนเป็นช่างภาพของ getty Image ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ คนพวกนี้ พร้อมจะตีช่างภาพไทยเสมอ หรืออย่างงานของช่างภาพพม่า ได้รางวัลเกือบทุกปี ในเวทีเมืองนอก
เราก็เลยพยายามสร้างมาตฐานขึ้นมา ผมไม่ได้คิดว่าผมดีพอที่จะได้รางวัลจากเมืองนอก วิธีการมองประเด็นอะไรต่างๆ ผมเป็นคนที่มองอะไรอีกแบบหนึ่ง แต่ของฝรั่งจะมองอีกแบบหนึ่ง ต้องค่อยเรียนรู้กันไป แต่ผมมองว่า ถ้าเราไม่สร้างมาตรฐานขึ้นมา พยายามมีงานอะไรแบบนี้ขึ้นมา เราอยู่ยาก”
เวิ้ง หรือ Before Gone นิทรรศการภาพถ่าย เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเวิ้งนาครเขษม โดย กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร
วันนี้ -15 ตุลาคม พ.ศ.2557 ตั้งแต่เวลา 11.00 -18.00น. ณ ร้านหนังสือพิทยาคาร เวิ้งนาครเกษม ซอย 1 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โทร.081- 423-7158,089- 010-3690
Text :: อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.