Art Eye View

สระบุรีเลี้ยว(ขวา) “แคนล่อง คะนองลำ”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—จากเจตนารมณ์ของ ‘จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม’ ที่มุ่งมั่นอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมอีสาน ด้วยการจัดประกวดหมอลำ “จิม ทอมป์สันฟาร์ม สุดสะแนน แดนอีสาน” ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2555 ต่อเนื่องด้วย โครงการจัดทำ “พิพิธภัณฑ์หมอลำ” (โครงการระยะยาว) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ทางมรดกวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างศิลปิน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับหมอลำ ในการร่วมกันส่งเสริมอนุรักษ์และการต่อยอดสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ล่าสุด หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ยังได้จัดนิทรรศการ “แคนล่อง คะนองลำ” (Joyful Khaen, Joyful Dance) นิทรรศการที่เปิดเผยทุกเบื้องลึกของ “หมอลำ” ความบันเทิงรื่นเริงครื้นเครง อันเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์แห่ง “วัฒนธรรมอีสาน” ซึ่งนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดง 3 ส่วน


ส่วนที่ 1 “หมอลำตำอิด” ที่พาผู้ชมเดินทางย้อนกลับไป ณ จุดกำเนิดของ “หมอลำ” ที่มีภูมิสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพุทธศาสนาและพิธีกรรมอย่างแนบแน่น โดยแบ่งจุดกำเนิดออกเป็น 3 สาย ประกอบด้วย หมอลำสายลัทธิบูชาผี (พญาแถน) ตามความเชื่อในการอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หมอลำสายเกี้ยวพาราสี สะท้อนการแสดงภูมิรู้และความสามารถของชายหนุ่ม อาทิ การดีดพิณ เป่าแคน เพื่อพิชิตใจหญิงสาว (เต้ยสาว) และ หมอลำสายพระพุทธศาสนา ที่ได้รับอิทธิพลจากการอ่านหนังสือผูก การเทศน์ของพระสงฆ์ เป็นต้น


ส่วนที่ 2 “ม้าโป่งเขา เสาออกดอก” ที่พาผู้ชมเรียนรู้และทำความรู้จักกับวิวัฒนาการหมอลำ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยต่างๆ สอดคล้องกับประวัติศาสตร์สังคมไทย ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของ “กลอนหมอลำ” ทั้ง “หมอลำพื้น” และ “หมอลำกลอน” จวบจนในยุคสงครามเย็นที่อิทธิพลภายนอกเข้ามามีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของหมอลำจาก “ศิลปะการแสดงท้องถิ่น” สู่การเป็น “กระบอกเสียง” และ “เครื่องมือทางการเมือง”

รวมถึงเรื่องราว “โลกแห่งความบันเทิงยุคใหม่” ที่อิทธิพลจากภายนอกอีสานและดนตรีสมัยใหม่ ถูกนำมาผสมประยุกต์เข้ากับหมอลำ จนกลายเป็นลำเพลินและลำหมู่แบบต่างๆ จนมาสู่ลำซิ่งในปัจจุบัน อีกทั้งยังจัดแสดงวัตถุ เครื่องดนตรี การแต่งกาย และภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับ “หมอลำ” รวมถึงผลงานวิดีโอ “อีสานโอละนอ” ที่นำเสนอวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของหมอลำประเภทต่างๆ ตามพัฒนาการของยุคสมัย โดย ผช.ศ.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ และยังมีผลงานภาพถ่ายเกี่ยวกับหมอลำในอดีตที่บันทึกโดย จอห์น คลูเล่ย์ ดีเจพ่อใหญ่ อีกด้วย


ส่วนที่ 3 “สระบุรีเลี้ยวซ้าย” (ตั้งชื่อล้อ “สระบุรีเลี้ยวขวา”ซึ่งหลายคนเข้าใจกันดี ในยามที่ต้องเดินทางสู่อีสาน) นำเสนอเรื่องราวของ “หมอลำ” ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ซึ่งกลายเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจสูงมีการบันทึกเสียงและเกิดคณะหมอลำต่างๆ มากมาย ดังจะเห็นได้จากแผ่นเสียง เทป ซีดี และภาพถ่ายของหมอลำคณะต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิดีโอ “Liminal Zone” โดย ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ที่ได้ติดตามรวบรวมการแสดงของคณะหมอลำที่เคลื่อนไปตามแหล่งอาศัยของคนอีสานที่กระจายออกมาตามเมืองใหญ่ต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ และปิดท้ายด้วย ผลงานวิดีโอบันทึกการแสดงหมอลำของกลุ่มบางกอกพาราไดซ์ นำโดย ดีเจมาฟไซ ที่เปลี่ยน ให้สถานะ ‘ความเป็นอื่น’ อย่างดนตรีหมอลำ ก้าวข้ามความบันเทิงแบบท้องถิ่นสู่ความโด่งดังในระดับนานาชาติ

นิทรรศการ “แคนล่อง คะนองลำ” เปิดให้เข้าชมทุกวัน วันนี้ – 31 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลา 09.00 – 20.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ซ.เกษมสันต์ 2 (สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ)

ก่อนที่จะสัญจรไปจัดแสดงในจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน อาทิ ขอนแก่นและอุบลราชธานี โดยความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา รวมถึงการมีส่วนร่วมจากปราชญ์หมอลำในชุมชนอีสานอีกหลายท่าน ก่อนที่จะนำไปติดตั้งเป็นนิทรรศการถาวรที่พิพิธภัณฑ์หมอลำ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ต่อไป

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It