Art Eye View

ภาพพิมพ์แกะไม้ สะท้อน “ชีวิตในกล่อง” ของ “ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เหมือนไปเดินชมสิ่งที่ศิลปินคิด และไปมองดูชีวิตตัวเอง

เพราะ “ภาพพิมพ์ พิมพ์ภาพ” นิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะของ ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์ ซึ่งใช้เทคนิคภาพพิมพ์ไม้ (Wood Cut)ในการนำเสนอ ว่าไปแล้วก็หมือนกับการพิมพ์ภาพหรือฉากชีวิตของใครหลายคนไปแปะไว้บนผนัง

บ้านไม้ที่แสนเงียบเหงา ,อาคารพาณิชย์ที่กำลังรุกคืบเข้ามาแทน, ทางด่วนยกระดับ และ กล่องสี่เหลี่ยมเล็กๆที่เรียงกันเป็นอาคารหลังใหญ่

ต่างคือภาพสะท้อนอันเป็นผลพวงมาจากค่านิยมเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเมือง(กรุงเทพฯ)ของผู้คนในชนบท(ต่างจังหวัด) ซึ่งรวมถึงตัวของศิลปินเอง

“ผมสนใจเรื่องนี้นับตั้งแต่ครั้งที่ผมอาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัด ภาพของผู้คนที่เมื่อเรียนจบแล้ว เลือกที่จะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ”

ซึ่งช่วงเวลานั้นไตรรัตน์กำลังศึกษา สาขาวิชาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

และผลงานศิลปะของเขานำเสนอภาพบ้านไม้เก่าๆ และอาคารพาณิชย์เกิดใหม่ ในบรรยากาศที่ดูเงียบเหงา

“มันดูเงียบเหงา ขาดชีวิตชีวา มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น เช่น ร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ร้านขายของชำ ของพื้นบ้าน บางร้านก็มีแต่คนแก่ เวลาเดินผ่าน ผมสงสัยว่าแล้วใครจะมาซื้อ”



หลังเรียนจบ เช่นกันว่า ไตรรัตน์เลือกที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

เมืองที่มีคนมากมาย แต่รู้สึกเหมือนตนเองอยู่ตัวคนเดียว ตลอดระยะเวลา 3 ปี ชีวิตวนเวียนอยู่ในฉากเดิมๆคือ ทำงาน เข้าห้าง กลับเข้าที่พัก เพราะไม่รู้จะไปไหนดี อีกทั้งเพื่อนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนกัน ก็อาศัยอยู่ไกลกัน

ทำให้เขาสร้างงานชุดที่สองขึ้นมา อาทิ ภาพแลนด์สเครป ของทางด่วน ทางยกระดับ ถนนใต้สะพานลอย ฯลฯ

“ช่วงนั้นแม้จะทำงานประจำ แต่ผมก็ยังทำงานศิลปะอยู่ เหมือนเราคิดถึงการทำงานศิลปะตลอดเวลา พอทำงานเสร็จก็จะกลับไปพิมพ์ต่อที่สารคาม”

และเมื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงเวลาที่ไตรรัตน์บอกว่า แทบจะไม่อยากกลับเข้าที่พัก แต่เขาก็เกิดแรงบันดาลใจทำงานศิลปะขึ้นมาอีกชุด ซึ่งเป็นภาพหลายชีวิตหลายครอบครัว ต้องมาอาอาศัยอยู่ในอาคารหลังใหญ่ที่เรียกว่าคอนโดมิเนี่ยม และอพาทเม้นท์

“ผมชอบมองออกไปหลังห้อง ก็จะเห็นเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในที่คล้ายๆเรา โดยเฉพาะช่วงกลางคืน บางวันจะพบว่ามีคนกลับเข้าห้องน้อยมาก แล้วคิดไปว่าเขาคงเหมือนเราหรือเปล่าที่ไม่อยากกลับห้อง เพราะกลับมาก็เจอแต่อะไรเดิมๆ ในพื้นที่แคบๆ

ภาพเหล่านี้มันสะท้อนถึงที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ จึงต้องมีการมีการสร้างอาคารเหล่านี้เพื่อรองรับคนที่หลั่งไหลเขามาอยู่ในเมือง

งานของผมไม่ได้นำเสนอให้เหมือนจริงตามทีตาเราเห็นทั้งหมด แต่นำเสนอภาพของช่องสี่เหลี่ยมของห้องแต่ละห้อง มีเสื้อผ้าแขวนอยู่ มีเครื่องปรับอากาศ ที่ดูเหมือนล้นออกมาข้างนอก เนื่องจากพื้นที่ๆแต่ละชีวิตเลือกอาศัยอยู่มีความคับแคบ”

นอกจากนี้ผลงานทีซีทเพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทของไตรรัตน์ก็ยังทำเรื่องคล้ายๆกันนี้ แต่มีภาพในเวลาค่ำคืนของมาผสมอยู่อยู่ด้วย ซึ่งผลงานใช้ชื่อว่า “กลางวันกลางคืนของชีวิตในกล่อง”

“เพราะไม่ว่าจะกลางวันกลางคืน พวกเขาก็ต้องอาศัย ต้องใช้ชีวิต อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมนี้ สีที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาพ เพราะผมรับเอาความรู้สึกมาจากเวลามองออกไปหลังห้องเวลากลางคืน เนื่องจากแต่ละห้องใช้ผ้าม่านและหลอดไฟแตกต่างกัน”

การสร้างภาพที่มีลักษณะคล้ายๆกัน นำมาเรียงต่อเนื่องกันไปเหมือนจะเน้นภาพเดิมๆผู้ชมจดจำ ไตรรัตน์บอกว่าได้รับอิทธิพลมาจากผลงานของศิลปิน Pop Art แอนดี้ วาร์ฮอล

“ ยุคที่อาหารกระป๋องเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนอเมริกา แอนดี้ก็ทำรูปกระป๋องซุปภาพเดียว นำมาเรียงกันเป็นจำนวนมาก ขณะที่งานของผมทำช่องตึก แต่งานผมเน้นเรื่องอารมณ์ ดูเศร้า สีไม่สดใสแบบงานของแอนดี้”





ไตรรัตน์ยอมรับเวลาที่ทำงาน ตนเองก็พลอยหม่นเศร้าไปด้วยเหมือนกัน แต่มองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าหยิบมาทำงานศิลปะเพื่อแลกเปลี่ยนกับผู้ เพื่อให้ทุกคนได้ฉุกคิดกับชีวิตของตนเอง

“ผมเห็นหลายองค์กร ยกปัญหานี้ขึ้นมาพูด แต่ก็แก้ไขไม่ได้ บางองค์กร ก็เสนอแนะแนวทางว่างั้นเรามาใช้ชีวิตแบบใหม่ให้มีความสุขในพื้นที่จำกัดดีกว่า พอถึงเทศกาลก็ค่อยกลับไปเยี่ยมบ้าน ทำให้เกิดคอนโด เกิดอะไรขึ้นเพื่อรองรับคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองเยอะแยะมากมาย

ล่าสุดผมได้ไปดูภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ทางกลับบ้าน” ที่ได้รับรางวัล Young Thai Artist Award

ผมดูแล้วก็รู้สึกว่าปัญหานี้มันแก้ปัญหาไม่ได้ ภาพยนตร์บอกเล่ากับผู้ชมว่า บางทีเมื่อเราเรียนจบ มันก็เลือกไม่ได้ที่จะต้องกลับไปอยู่บ้านเกิด เขาเลยสรุปว่า งั้นเลือกไม่ได้ก็ใช้ชีวิตให้มีความสุข แล้วหาเวลาไปกลับไปเยี่ยมคนทางบ้าน เขาหาทางเลือกให้เราปรับ ไม่ให้เราหลงอยู่แต่กับชีวิตในชีวิตกรุงเทพฯ

แต่ผมคิดว่า แทนที่จะแก้ลักษณะนี้ เราควรจะแก้ไขเรื่องอาชีพมากกว่า เรื่องค่าครองชีพมากกว่า อย่างเช่น ญี่ปุ่น ค่าครองชีพของเขาทั้งในเมืองและต่างจังหวัดใกล้เคียงกัน ทำให้เขาทำงานที่ไหนเท่ากัน แต่บ้านเราอยู่บ้านนอก ค่าครองชีพต่ำ ประกอบกับการโฆษณาของสื่อส่วนมาก ที่ดึงให้คนเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แต่ถ้าคนเลือกที่จะอยู่ต่างจังหวัด เขาก็อยู่ได้ แต่สื่อดึงให้คนหลงใหลเมืองมากกว่า

คนเมืองหลายคนที่ผมเคยเห็น เขาก็ไปซื้อบ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่ก็ยังเลือกให้ลูกอยู่เมือง ผมก็สงสัยว่าทำไมเขาไม่พาลูกไปอยู่ต่างจังหวัดเลย อาจจะไม่พร้อม ในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องระบบการศึกษา และ อาชีพ ที่คนมองว่าในเมืองเจริญกว่าพร้อมกว่า

ตอนผมไปอเมริกา ผมเจอชาวสวน เค้าใช้ชีวิตขายผลงานตามรถเข็นข้างถนน เค้าอยู่ได้ พอศุกร์เสาร์อาทิตย์ คนเมืองเขาก็ไปเที่ยวต่างหวัด ประเทศเขาพัฒนา คนทำสวน ทำไร่ ไม่ต้องดิ้นรถเข้ามาในเมือง แล้วคนเมืองก็ไปอุดหนุน แต่บ้านเราสินค้าของชาวสวน ขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง การเมือง และอะไรหลายๆอย่าง”

ซึ่งจุดนี้ไตรรัตน์เห็นว่า น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาคนชนบท อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองยังเป็นเรื่องที่แก้ไขยาก

นิทรรศการ “ภาพพิมพ์ พิมพ์ภาพ” โดย ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์ วันนี้ – 30 มีนาคม พ.ศ.2558 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า






ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์ อายุ 29 ปี เป็นชาวอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย

จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเลยพิทยาคม จ.เลย,ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ระดับปริญญาโท สาขาวิชาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เคยทำงานเป็นนักวิชาการช่างศิลป์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม และ อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขณะที่ปัจจุบัน เป็นศิลปินอิสระและ อาจารย์พิเศษ คณะดิจิตัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ด้านเกียรติประวัติ พ.ศ. 2556 รับทุนสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยศึกษาดูงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ,พ.ศ. 2555 ได้รับคัดเลือกในโครงการ “ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะร่วมสมัย (ทัศนศิลป์)” ไปแสดงผลงาน และทัศนศึกษา ณ ประเทศ สหรัฐอเมริกา

พ.ศ.2554 รับรางวัลสนับสนุนธนาคารกรุงไทย, รางวัลที่ 2 การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 57,พ.ศ. 2553 รับรางวัลพิเศษ การแสดงศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ครั้งที่ 22,พ.ศ.2552 รับรางวัลพิเศษ การแสดงศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ครั้งที่ 21,รับรางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี” การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26,พ.ศ. 2551 รับรางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี” การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 25 ,พ.ศ. 2550 รับรางวัลพิเศษ การแสดงศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ครั้งที่ 19,รับรางวัลดีเด่น (ประเภทศิลปะ2มิติ) การแสดงศิลปกรรม Young Thai Artist Award 2007

พ.ศ. 2549 รับรางวัลพิเศษ การแสดงศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ครั้งที่ 18,รับรางวัลสนับสนุนศิลปินรุ่นเยาว์ การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 23 และรับทุนมูลนิธิซิเมนต์การแสดงศิลปกรรม Young Thai Artist Award 2005


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It