ART EYE VIEW : นับแต่ที่ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศสิงคโปร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ความดีความชอบที่เขาทำให้กับประเทศในด้านต่างๆ จนต้องถูกขนานนามว่าเป็น “รัฐบุรุษแห่งสิงหะปุระ” ก็ได้ถูกนำเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และโดดเด่นแซงหน้าหลายๆประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่เพียงเล็กๆ และแต่แทบไม่มีอะไรเป็นทุนเดิมดังเช่นประเทศอื่นๆ
คำตอบสวนหนึ่งคงอยู่ที่ “สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา” พร้อมๆไปกับการ “สร้างคนที่มีคุณภาพ”และตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงทราบดีว่า สิงคโปร์ไม่เพียงพยายามพัฒนาประเทศเพื่อจะเป็น HUB ทางด้านการค้า ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังพยายามที่จะเป็น HUB ทางด้านศิลปะอีกด้วย
นอกจากยอมทุ่มเงินเพื่อซื้องานศิลปะของศิลปินต่างชาติที่มีชื่อเสียงมาประดับประดาประเทศ มีสถานที่แสดงงานศิลปะที่เรารู้จักกันดีอย่าง “สิงคโปร์ อาร์ต มิวเซียม” และจัดให้มีเทศกาลศิลปะ “สิงคโปร์ อาร์ต เบียนนาเล่” ที่เลียนแบบมาจาก เทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ที่อิตาลี
ปีนี้ ยังเป็นปีที่สิงคโปร์กำลังจะมีกำหนดเปิดพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ในนาม “เนชั่นแนล มิวเซียม” หลังจากที่ซุ่มทำมาหลายปีและซุ่มซื้องานของศิลปินทั้งในและต่างประเทศไปเก็บไว้ในคอลเลกชั่น
แม้ว่า เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ศิลปินไทยในแดนลอดช่อง เคยให้สัมภาษณ์กับ ART EYE VIEW เมื่อคราวที่กระแสของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเริ่มเป็นที่พูดถึงว่า ในเรื่องของการส่งเสริมและดูแลศิลปินในบ้านของตัวเอง สิงคโปร์ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน ขณะที่รัฐบาลกล้าทุ่มเงินหลายสิบล้าน ซื้องานศิลปะศิลปินชื่อดังจากต่างประเทศมาประดับประดาบ้านเมือง
“ดีในเรื่องการทำเพื่อหน้าตาของประเทศ แต่การสนับสนุนดูแลศิลปินยังไม่ดี ศิลปินสิงคโปร์ก็มีบ่นให้ฟังเหมือนกันว่าทำรัฐบาลไม่สนับสนุน อาจจะสนับสนุน แต่มันสนับสนุนเป็นหย่อมๆ
ขณะที่การออกาไนซ์เก่งมาก ไม่งั้นมันจะเอาซิตี้ฮอลล์ มาทำได้เหรอ สิงคโปร์กำลังมี เนชั่นแนล มิวเซียม ใหญ่โตยังกะของฝรั่ง เพราะเอาซิตี้ฮอลล์เดิมมาทำมิวเซียม เหมือนพวกเนชั่นแนลมิวเซียมที่ลอนดอนเลย ใกล้จะเสร็จแล้ว
คนสิงคโปร์รวมหัวกันพัฒนาประเทศ เพราะว่าเมื่อก่อนเค้าไม่มีอะไร เมื่อ 20 ปีก่อน ผมไปสิงคโปร์ นั่งฟัง ลีกวนยู พูดปาฐกถาออกทีวี ความรู้สึกที่ฟังในตอนนั้น รู้สึกว่าไอ้นักการเมืองมันก็ชั่วกันทุกประเทศแหล่ะวะ เราคิดอย่างนั้น
เค้าพูดว่า เราต้องพัฒนาประเทศให้ไปไกลกว่าประเทศทั้งหมด 20 ปี wii be hub of asia ฟังไปก็ด่าไป …ไอ้ขี้โม้ แต่มาถึงตอนนี้ต้องยอมแล้ว เพราะมันทำจริงๆ”
ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ ในวงเสวนา ก่อนดูภาพยนตร์เรื่อง National Gallery (ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์เก็บผลงานศิลปะยุคเรเนซองส์ ในประเทศอังกฤษ) ในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ครั้งที่ 5
มนุพร เหลืองอร่าม หนึ่งในภัณฑารักษ์ ซึ่งถูกเชิญมาร่วมเสวนา ได้กล่าวถึงเนชั่นแนล มิเซียม ของสิงคโปร์ ว่า
“เนชั่นแนล มิวเซียมของสิงคโปร์ที่จะเปิดในปีนี้ เน้นนำเสนองานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของศิลปินสิงคโปร์และศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสถานที่ เขาใช้ตึกสุพรีม คอร์ท และซิตี้ฮอลล์เก่า มาทำ และมีการทำงานร่วมกับสถาปนิกชาวต่ฝรั่งเศส เพื่อปรับโครงการสร้างของอาคารให้กลายเป็นที่แสดงงานศิลปะ
และก่อนที่จะปิดสถานที่เพื่อปรับปรุงตัวอาคาร ก็ได้เปิดให้คนเข้าไปเยี่ยมชม และเริ่มสะสมงานศิลปะในภูมิภาคเข้าไปอยู่ใสนคอลเลคชั่น”
ขณะที่ในด้านการศึกษา มนุพร บอกด้วยว่าสิงคโปร์เริ่มมีหลักสูตร เพื่อสร้างคนที่จะมาบริหารจัดการด้านศิลปะ
“ประเทศเค้าไม่ได้มีอะไร และเค้ามองว่างานศิลปะและวัฒนธรรมเป็นตัวดึงคน ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว และธุรกิจ สิงคโปร์เป็นเมืองทางการค้า เค้าก็พัฒนาจากตรงนั้น เพื่อที่จะเป็น Hub และรัฐบาลก็มองว่า งานศิลปะคือส่วนหนึ่งที่จะดึงคน
ในแง่บประมาณเราคงจะไปสู้เขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราได้รู้ว่าสิงคโปร์เขาเป็นแบบนี้นะ แล้วประเทศของเราอยู่ในตำแหน่งไหน”
แต่ไม่ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะอยู่ในตำแหน่งไหน สิ่งที่ พิชญา ศุภวานิช อีกหนึ่งภัณฑารักษ์แสดงทัศนะว่า เราไม่ควรรีบเอาอย่างสิงคโปร์ในแง่มีวัตถุ หรือสิ่งปลูกสร้างให้ทัดเทียม แต่ควรเอาอย่างในเรื่องการพัฒนาคุณภาพของคน
“อยากจะให้เราจับกระแส(เอาอย่าง)สิงคโปร์ ในเรื่องการพัฒนาคน
เพราะเรามักจะคิดว่าเราต้องสร้างสิ่งต่างๆหรือวัตถุใดๆ
แต่เราไม่ค่อยมองถึงความสำคัญของการพัฒนาคนจริงๆจังๆ
เพราะท้ายที่สุด คนคือผู้สร้างสิ่งที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าเราเอาเงินไปสร้างสิ่งที่มีคุณภาพ
แต่เราสร้างคนที่มีคุณภาพขึ้นมาก่อน แล้วจากนั้นมันจะต่อเนื่องไปสู่คนที่มีคุณภาพ เป็นผู้สร้างสิ่งที่มีคุณภาพขึ้นมา”
แตกต่างจากประเทศไทยดังที่มนุพรเสริมว่า เราเน้นมีวัตถุก่อนการพัฒนาคน “อย่างหอศิลป์ในเมืองไทยเราจะมีตึกก่อน แต่ว่า ข้างนั้นคืออะไร โปรแกรมคืออะไร คนพัฒนาหรือยัง เราไม่รู้
แต่สิงคโปร์เนี่ย เขาเริ่มวางแผนสี่ปีล่วงหน้า ก่อนที่ตึกจะเสร็จ เริ่มมีการสร้างคนที่จะทำหน้าที่ต่างๆ และสะสมงานศิลปะเข้ามาไว้ในคอลเลกชั่น มีการทำวิจัย และสองปีก่อนที่มิวเซียมจะเปิดทุกอย่างต้องพร้อมแล้ว
แล้วปีนี้เขาก็พร้อมที่จะเปิดแล้ว แต่เราไม่มีการวางแผนแบบนั้น”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.